ปริศนาโบราณคดี : เงื่อนงำแห่งอมตะวาจาครูบาเจ้าศรีวิชัย “หากน้ำปิงไม่ไหลย้อน จักไม่ขอเหยียบนครเชียงใหม่” (จบ)

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ตอน 1 ตอน 2

ฉบับที่แล้วเปิดประเด็นทิ้งไว้ถึงเรื่อง “กู่อัฐิของครูบาเจ้าศรีวิชัย” ว่าได้มีการกระจายไว้ที่ไหนกันบ้าง เนื่องจากได้เกิดข้อถกเถียงกันมากมาย

บ้างก็ว่า ให้ยึดตามจากที่แบ่งไว้อย่างเป็นทางการโดยผู้ว่าราชการจังหวัดของแต่ละแห่งมาเซ็นรับมอบ

คำถามที่ตามมาก็คือ มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ว่าผู้ว่าราชการจังหวัดไหนบ้างที่มาเซ็นรับ และรับจากใคร แต่ละจังหวัดได้อัฐิครูบาส่วนไหนกันไปบ้าง

แน่นอนว่าหลังจากเสร็จงานฌาปนกิจศพของครูบาเจ้าศรีวิชัย คงเกิดเหตุการณ์ชุลมุนโกลาหลกันน่าดู เพราะใครๆ ก็อยากได้อัฐิหรือแม้แต่เถ้าถ่านของท่านไปไว้บูชา

จังหวัดลำพูนเดือดร้อนใจ จึงต้องทำหนังสือด่วนไปถึงผู้บังคับบัญชาการทหารบกจังหวัดเชียงใหม่ที่ค่ายกาวิละ เพื่อขอกำลังทหารไปรักษาการ

ซึ่งก็มอบนายทหารมาตรึงกำลังสองคันรถ

 

เป็นไปตามคาดการณ์ ว่าคนที่ไปร่วมงานนั้น ต่างคนต่างก็อยากได้ เบียดตะลุมบอนยื้อแย่ง

แล้วจะใช้วิธีการแบ่งอย่างไรจึงจะเป็นที่ยุติ

เอกสารหลายเล่มระบุเพียงแต่ว่า ในที่สุดได้หาทางออกที่ลงตัวด้วยการแบ่งออกเป็น 6 ส่วน

ส่วนแรกสำคัญที่สุดมอบให้วัดบ้านปาง ต.ศรีวิชัย อ.ลี้ จ.ลำพูน เนื่องจากเป็นวัดบ้านเกิด

อีก 5 ส่วน คณะกรรมการจัดงานฌาปนกิจศพครูบา มอบให้ผู้ว่าราชการจังหวัดของแต่ละแห่งมาเซ็นรับมอบ ดังนี้

ส่วนที่ 1 ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูนรับมอบ แล้วนำมาเก็บไว้ที่วัดจามเทวี หลายคนบอกว่าส่วนนี้คือส่วนที่มีปริมาณมากที่สุด เพราะเป็นสถานที่ทำการฌาปนกิจศพ และยังเป็นวัดสุดท้ายที่ครูบาสร้าง พร้อมมารักษาตัวขณะอาพาธ

ส่วนที่ 2 ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่รับมอบ นำไปไว้ที่วัดสวนดอก ต่อมาส่วนนี้เองได้แตกแขนงแบ่งแยกย่อยไปยังวัดต่างๆ อีกหลายแห่ง เกิดจากการที่ครูบาอภิชัยขาวปี ศิษย์เอกมือขวาของครูบาเจ้าศรีวิชัยดำริจะจัดงานมหรสพการแสดงให้ชาวเขาที่มาช่วยงานฌาปนกิจครูบาเจ้าศรีวิชัยได้ชมกันที่วัดสวนดอก แต่เนื่องจากไม่มีทุนทรัพย์ ช่วงนั้นมีพ่อเลี้ยงชื่อ “นายอิน วิลเลี่ยม” ศรัทธาวัดหมื่นสาร ย่านถนนวัวลาย เป็นคหบดีใหญ่ อาสาเป็นเจ้าภาพออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการจัดงานมหรสพ และรับจัดทำผอบเครื่องเงินสำหรับบรรจุอัฐิให้ โดยขอแบ่งอัฐิส่วนหนึ่งไปไว้ที่วัดหมื่นสาร

ซึ่งต่อมาทางวัดเชียงหมั้น วัดที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยเคยมาร่วมบูรณะพระวิหาร ได้ทราบข่าวนี้ ก็เดินทางไปขอแบ่งที่วัดจามเทวี แต่ทางนั้นบอกว่าได้ปิดกรุของกู่อัฐิไปหมดแล้ว วัดเชียงหมั้นจึงมาขอแบ่งจากวัดหมื่นสารอีกต่อหนึ่ง นี่คือเท่าที่ทราบเท่านั้นนะคะในสายวัดสวนดอกว่ากระจายไปที่ไหนบ้าง

ส่วนที่ 3 ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางรับมอบ นำไปบรรจุฝังไว้ในแท่นแก้ว (ฐานชุกชี) ที่รองรับพระพุทธรูปประธานภายในพระวิหารหลวงวัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม จากนั้นมีการนำรูปปั้นครูบาเจ้าศรีวิชัยมาประดิษฐานทับปิดไว้ แต่ต่อมามีผู้พยายามขโมยงัดขุดเจาะฐานรูปปั้นดังกล่าว ทำให้ปัจจุบันเจ้าอาวาสวัดพระแก้วดอนเต้าได้ย้ายอัฐิครูบาไปเก็บรักษาอย่างปลอดภัยในกุฏิ

ณ วัดพระแก้วดอนเต้านี้เอง ได้มีการแบ่งอัฐิครูบาส่วนหนึ่งไปให้แก่วัดพระธาตุดอยน้อย อำเภอเกาะคา ด้วยเช่นกัน

ส่วนที่ 4 ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายรับมอบ นำไปบรรจุในกู่อัฐิที่วัดพระเจ้าตนหลวง (ศรีโคมคำ) สมัยก่อนยังเป็นอำเภอพะเยา ขึ้นกับเชียงราย เป็นวัดสำคัญยิ่งที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยทุ่มเทในการบูรณะเสนาสนะต่างๆ นานหลายเดือน

ต่อมาเมื่อมีการยกอำเภอพะเยาขึ้นเป็นจังหวัด ทำให้จังหวัดเชียงรายได้ขอแบ่งอัฐิครูบาเจ้าศรีวิชัยส่วนหนึ่งมาไว้ที่วัดพระธาตุเจ้าดอยตุง อำเภอแม่สาย ที่แห่งนี้ก็เช่นกัน ได้ฝังอัฐิของครูบา ในแท่นแก้วประดิษฐานพระพุทธรูป แล้วนำรูปเหมือนครูบาเจ้าศรีวิชัยในท่ายืนมาปิดวางทับกู่อัฐินั้น

ส่วนที่ 5 ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่รับมอบ ได้นำมาบรรจุในกู่อัฐิวัดพระธาตุช่อแฮ ซึ่งเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของครูบาเจ้าศรีวิชัยคือปีขาล เป็นวัดแห่งเดียวในจังหวัดแพร่ที่มีความผูกพันกับครูบาเจ้าศรีวิชัย และถือได้ว่าเป็นวัดที่อยู่ตะวันออกสุดของล้านนาที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยเดินทางไปบูรณปฏิสังขรณ์พระอาราม

(ไม่ปรากฏหลักฐานใดๆ ในจังหวัดน่านเลย)

ที่เขียนๆ กันมาก็มีเพียงเท่านี้คือ วัดบ้านปาง + ผู้ว่าฯ รับมอบห้าจังหวัด

แต่แล้วราวสิบปีที่ผ่านมา กระแสช่วงที่การท่องเที่ยวอำเภอปายกำลังมาแรง ข้อมูลตามเว็บไซต์ต่างๆ กลับมีการเขียนเพิ่มเติมว่า กู่อัฐิครูบา ยังมีการแบ่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนส่วนที่ 6 อีกส่วนหนึ่ง และได้นำไปไว้ที่วัดน้ำฮู (น้ำออกรู) อำเภอปาย

เมื่อผู้เขียนได้ลงพื้นที่ศึกษาสำรวจ สัมภาษณ์เจ้าอาวาสและรองอาวาสวัดน้ำฮู เมื่อกลางปีกลาย ได้สอบถามถึงเรื่องกู่อัฐิครูบาเจ้าศรีวิชัย ตามที่มีการเขียนกันไปต่างๆ นานาจนว่อนเน็ต

ปรากฏว่าทางวัดปฏิเสธ บอกว่าที่วัดน้ำฮูไม่เคยมีกู่อัฐิครูบา มีแต่เรื่องราวว่าครูบามาบูรณะพระเจดีย์องค์หนึ่ง ซึ่งอาจเป็นที่บรรจุพระอัฐิของพระพี่นางสุพรรณกัลยา ในสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เท่านั้นเอง

ข้อมูลตรงนี้รบกวนเว็บต่างๆ ทั้งหลายช่วยกันแก้ไขให้ถูกต้องด้วยนะคะ หากยังคาใจควรลงพื้นที่เก็บข้อมูลสัมภาษณ์เจ้าอาวาสวัดด้วยตัวเองอีกครั้ง

ปัจจุบันมีวัดนั้นวัดนี้อ้างกันว่า ได้เก็บรักษาอัฐิของครูบาเจ้าศรีวิชัยไว้มากมายหลายแห่ง

แล้วเราจะอธิบายอย่างไร จะพิสูจน์ตรวจสอบกันอย่างไร จะให้ปฏิเสธเสียทั้งหมดเลยหรือ โดยใช้เหตุผลว่าไม่เชื่อ เพราะไม่ได้อยู่ในลิสต์รายชื่อ หรือในข่ายการรับมอบจากผู้ว่าราชการของแต่ละจังหวัด

ผู้เขียนไม่เชื่อว่า การแบ่งอัฐิครูบาเจ้าศรีวิชัยจะถูกจำกัดแค่ 6 ส่วนเท่านั้น อย่างน้อยที่สุด เจ้านายฝ่ายเหนือทั้งของลำพูน เชียงใหม่ ก็น่าจะมีสิทธิได้รับมอบไว้บ้าง รวมทั้งคณะกรรมการจัดงานฌาปนกิจศพ ใจคอจะยกมอบให้ผู้ว่าฯ ไปทั้งหมดเลยหรือโดยไม่เก็บกันไว้บ้างตามสิทธิอันชอบธรรม

อย่ามองข้ามความใกล้ชิด ความผูกพัน การสั่งเสียด้วยวาจา ในลักษณะ “พินัยกรรม” ของครูบาเจ้าศรีวิชัยที่มีต่อศิษยานุศิษย์รูปสำคัญ ซึ่งสิ่งนี้ไม่มีการบันทึกกล่าวอ้าง แต่เป็น “พันธสัญญาทางใจ” ที่มีคุณค่าอยู่เหนือกว่าการส่งมอบให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละแห่งอย่างเป็นทางการเสียอีก

ในบรรดาลูกศิษย์ครูบาเจ้าศรีวิชัย ก็ยังมีสายต่างๆ อีกหลายสาย

เขตเชียงราย-พะเยา มีกู่อัฐิครูบาเจ้าศรีวิชัยกระจายมากมาย มีทั้งที่ขอแบ่งจากวัดพระเจ้าตนหลวง กับวัดพระธาตุดอยตุงโดยตรง และมีทั้งชาวบ้านได้ดั้นด้นเดินทางไปขอแบ่งมาจากลูกศิษย์ครูบาเจ้าศรีวิชัย ที่ได้รับมอบไว้ส่วนตัวส่วนหนึ่งอีกด้วย ดังเช่นที่วัดศรีถ้อย (โพธาราม) อ.แม่ใจ จ.พะเยา มีพ่อสล่าหนานใจ วรรณจักร ผู้เป็นช่างก่อสร้างช่วยครูบาบูรณะวัดพระเจ้าตนหลวง เมื่อทราบข่าวการมรณภาพของครูบา ก็ไปขอแบ่งอัฐิมาจากวัดพระเจ้าตนหลวง

ที่อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ครูบาศรีนวลชาวแจ้ห่ม (ลำปาง) เดินทางไปร่วมงานศพครูบา ที่วัดจามเทวีด้วยตนเอง ได้รับการแบ่งอัฐิในส่วนหัวเข่ามาบรรจุไว้ที่วัดเจริญเมืองด้วย เป็นต้น

นอกจากนี้แล้วกลุ่มเชียงราย-พะเยา ยังเป็นเขตที่ “ครูบาอานันท์ พุทธธัมโม” อดีตเคยอยู่วัดบ้านปาง ได้นำอัฐิครูบาเจ้าศรีวิชัยจากวัดบ้านปางมาบรรจุไว้ตามสถานที่ต่างๆ อีกมากกว่า 5 แห่ง

ซึ่งขณะนี้ผู้เขียนกำลังติดตามศึกษาเรื่องนี้อยู่อย่างละเอียด

ครูบาดวงดี วัดท่าจำปี ที่อำเภอสันป่าตอง เชียงใหม่ หนึ่งในลูกศิษย์รูปสำคัญได้รับแบ่งตั้งแต่ที่วัดจามเทวีเจ้าอาวาสวัดท่าจำปีปัจจุบันเล่าว่าเมื่อครูบาดวงดีได้รับมอบอัฐิครูบาฯ มาแล้ว ก็แหนหวงยิ่งชีวิต นำใส่ผอบแก้วบูชาโดยนำเอาพระรอดวัดมหาวันมาบรรจุทับทำฝาครอบเป็นกรวยแหลม ไม่มีประวัติว่าได้แบ่งให้วัดอื่นใดเลย เนื่องจากอัฐิที่ได้รับก็มีขนาดเล็กอยู่แล้ว คือเท่าแค่นิ้วหัวแม่มือเท่านั้น จนกระทั่งวาระใกล้มรณภาพมีความวิตกห่วงใยว่าจักสูญหาย จึงได้นำใส่ผอบทองคำบรรจุไว้ในกู่อัฐิประดิษฐานอยู่ท้ายวิหารวัดท่าจำปี ฉะนั้น หากมีวัดใดมาแอบอ้างว่าได้ส่วนแบ่งอัฐิครูบา มาจากวัดท่าจำปี เห็นทีว่าไม่น่าเชื่อถือได้

ยังมีลูกศิษย์สายลำพูน-ลำปางแถบตอนใต้ ตั้งแต่อำเภอทุ่งหัวช้างไปจนถึงกลุ่มอำเภอเถิน แม่พริก มีนามว่า “ครูบาก้อน” ก็เป็นอีกรูปที่ได้รับแบ่งอัฐิครูบาไว้จำนวนหนึ่ง ท่านได้จำแนกแจกจ่ายไปยังครูบาอิ่นแก้ว นำไปบรรจุในกู่อัฐิวัดป่าแงะวาลุการาม อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ที่นี่เป็นอัฐิส่วนนิ้วมือข้างขวาแต่ไม่ทราบแน่ชัดว่านิ้วใด

ที่อำเภอดอยสะเก็ดยังมีกู่อัฐิครูบา อีกแห่งหนึ่ง คือวัดดอยกู่ บ้านดอกแดง แห่งนี้ก็กล่าวว่าเป็นส่วนของนิ้วมือข้อใดข้อหนึ่งเช่นกัน

ในเขตเชียงใหม่มีกู่อัฐิครูบาเจ้าศรีวิชัยกระจายอยู่อีกหลายแห่ง อาทิ วัดพระธาตุกลางใจเมืองพร้าว นำมาโดยพ่อหนานปั๋น (นายประสิทธิ์ อินทร์คำ ผู้ใหญ่บ้าน) นำส่วนข้อมือด้านซ้ายมาจากการไปร่วมงานศพที่วัดจามเทวีโดยไม่ได้แบ่งมาจากครูบารูปใด

ที่ปากถ้ำเมืองออน ใกล้วัดพระบาทผาตั้ง อำเภอแม่ออน ก็มีกู่อัฐิครูบา นำมาโดยครูบาคำแสน แห่งวัดเชตวันหนองหมู ลำพูน ซึ่งน่าจะขอแบ่งมาจากครูบาอภิชัยขาวปี๋ และผ้าขาวดวงตา (เป็นชีปะขาว เคยเป็นพระมาก่อนต่อมาสึกนุ่วห่มผ้าขาว เหมือนกันครูบาขาวปี)

เมื่อเอ่ยนามของ “ผ้าขาว” สองรูปนี้ ก็ชวนให้เกิดคำถามว่าทำไม จึงมีการนำอัฐิส่วนหนึ่งมาบรรจุไว้ที่วัด “หนองป่าครั่ง” รอยต่ออำเภอเมืองเชียงใหม่สู่อำเภอสันกำแพงด้วย ทั้งๆ ที่วัดนี้หาได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับครูบาเจ้าศรีวิชัยไม่ อีกทั้ง “ผ้าขาว” ทั้งสองรูปก็เป็นคนเมืองลำพูน ไม่ใช่คนบ้านหนองป่าครั่ง

ส่วนนี้ยังเป็นปรัศนีคาใจผู้เขียนอยู่

และในที่สุดก็ถึงจุดไคลแมกซ์ของบทความ นั่นคือการคลี่คลายปมปริศนาแห่งอมตะวาจาว่าด้วย “หากสายน้ำไม่ปิงไม่ไหลย้อน จักไม่ขอหวนกลับมาเหยียบนครเชียงใหม่” นั้น

พ.ศ.2489 ปีเดียวกันกับที่มีการฌาปนกิจศพของครูบาเจ้าศรีวิชัยนั่นเอง ครูบาอภิชัยขาวปี และผ้าขาวดวงตา ผู้เป็นชาวอำเภอบ้านธิ ได้นำเอาอัฐิครูบาเจ้าศรีวิชัยในส่วนหน้าผากมาบรรจุไว้บนยอดดอยสูงลิบลิ่ว ชื่อว่า “ดอยงุ้ม” (อ่านแบบสำเนียงชาวยองลำพูน) หรือ “ดอยง้ม” (ดอยโง้ม) อันเป็นสถานที่ที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยเคยเดินธุดงค์ผ่านมา และนั่งกัมมัฏฐานในถ้ำที่มี “พระธาตุนมผา” บรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้าตามที่ตำนานพระเจ้าเลียบโลกระบุไว้

ครูบาเจ้าศรีวิชัย ได้เคยสั่งเสียกับครูบาอภิชัยขาวปีว่าสถานที่แห่งนี้ คือบุญเขตอันเยี่ยม หากวันใดที่ท่านละสังขารขอให้นำอัฐิของท่านมาไว้ที่นี้

ในขณะที่วัดอื่นๆ นั้นครูบาท่านไม่ได้ระบุไว้ หากแต่เป็นความประสงค์ของคนที่อยู่ข้างหลังที่ต่างก็ต้องการได้อัฐิของท่านไว้เป็นเครื่องรำลึกบูชา

ผ้าขาวทั้งสองจึงได้ดั้นด้นบ่ายหน้าสู่ยอดดอยทุรกันดาร รอยต่อระหว่างอำเภอบ้านธิ ซึ่งเป็นอำเภอที่อยู่เขตเหนือตอนบนสุดของจังหวัดลำพูน จรดกับอำเภอสันกำแพง ในเขตเชียงใหม่ ซึ่งเราสามารถขึ้นสู่ยอดเขาลูกนี้ได้ประมาณ 2-3 เส้นทางมีทั้งทางเท้าเดินเขาป่ายปีนสูงชัน และทางรถเลียบหน้าผาซึ่งสร้างถนนค้างไว้แค่ครึ่งสาย

เมื่อผินพักตร์จากจุดที่ประดิษฐานกู่อัฐิ มองออกไปสู่หน้าผากว้างไกล จักสามารถมองเห็นตัวเมืองลำพูนจรดเขตแดนเชียงใหม่ชัดเจนสุดลุกหูลูกตาเท่าเทียมกันทั้งสองนคร

และนี่คือเจตนารมณ์ของครูบาเจ้าศรีวิชัยที่แท้จริง ที่ปรารถนาจะให้อัฐิของท่านเฝ้าสถิตเสถียร ณ รอยต่อเขตแดนลำพูน-เชียงใหม่

แผ่นดินหนึ่งท่านได้ถือกำเนิดและละสังขาร กับอีกแผ่นดินหนึ่งที่ท่านฝ่าชะตากรรมด้วยผลงานชิ้นก้องหล้าคือถนนขึ้นสู่ดอยสุเทพเพื่อพิสูจน์ตนเองถึงคำว่า “มารบ่มี บารมีบ่แก่กล้า” และท่านจำต้องยอมอัปเปหิตนเองออกมาจากนครเชียงใหม่ วังวนแห่งการเป็นเป้าสายตาให้ฝ่ายบ้านเมืองสบช่องใส่ร้ายป้ายสีได้ถนัด อันอาจส่งผลกระทบกระเทือนต่อลูกศิษย์และศรัทธาประชาชนผู้บริสุทธิ์

แต่ในที่สุดอัฐิของท่านได้รับการนำกลับมาไว้ตามสถานที่ต่างๆ ทั่วเชียงใหม่ก่อนปี พ.ศ.2507 นานโข โดยมิพักต้องรอให้น้ำแม่ปิงในเขื่อนภูมิพลไหลย้อน หรือต้องรอให้มีการอัญเชิญอนุสาวรีย์ที่ปั้นโดยศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี สู่นครเชียงใหม่แต่อย่างใดเลย

การสร้างทางขึ้นสู่ดอยสุเทพเต็มไปด้วยขวากหนามฉันใด การจะขึ้นไปกราบนมัสการกู่อัฐิส่วนสำคัญยิ่งคือนลาฏ ที่รวมความเห็นจำคิดรู้ของครูบาเจ้าศรีวิชัย ณ ดอยงุ้ม ก็ยังคงเต็มไปด้วยอุปสรรคนานัปการ

ผู้เขียนเคยเดินทางขึ้นไปดอยแห่งนี้มาแล้วถึง 3 ครั้ง พบว่าหนทางยังวิบากกันดาร จึงได้ปวารณาตัวขอเป็นส่วนหนึ่งของผู้ร่วมสร้างทางขึ้นสู่ดอยงุ้ม

ท่านใดสนใจร่วมสร้างกุศลเพื่อผลานิสงส์เดินตามรอยครูบาเจ้าศรีวิชัย เชิญสอบถามรายละเอียดเคาะกล่องเฟซบุ๊กของผู้เขียนได้โดยใช้นามจริง