ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 14 - 20 กุมภาพันธ์ 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ |
ผู้เขียน | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ |
เผยแพร่ |
ฝุ่นถล่มเป็นดาว
การสำรวจผลกระทบจากอำนาจรัฐ
ที่มีต่อประชาชน
ในช่วงเวลาที่ประเทศไทยประสบกับปัญหามลพิษทางอากาศจากฝุ่น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาและความไม่ใส่ใจต่อสวัสดิภาพและความเป็นอยู่ของประชาชนของผู้มีอำนาจรัฐในบ้านเรา
ในทางกลับกัน สถานะของความเป็นฝุ่นที่ว่านี้ ยังถูกสะท้อนในผลงานของศิลปินร่วมสมัยชาวไทยอย่าง ส้ม ศุภปริญญา ศิลปินผู้อาศัยและทำงานอยู่ในเชียงใหม่ ผู้สร้างผลงานทัศนศิลป์หลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะผลงานสื่อศิลปะยุคใหม่อย่าง วิดีโอสารคดี และศิลปะจัดวาง ผลงานส่วนใหญ่ของเธอมีรากฐานมาจากประสบการณ์ตรง ที่มีความเชื่อมโยงกับประเด็นสาธารณะ โดยดึงเอาความเกี่ยวพันแวดล้อมอื่นๆ เข้ามา ทำให้เรื่องส่วนตัวที่ว่าเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการค้นหาและค้นพบโครงสร้างที่ยิ่งใหญ่กว่า
เธอมีงานแสดงทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง และยังได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมเป็นศิลปินพํานักในโครงการศิลปะหลายหลากทั่วโลก
ในนิทรรศการครั้งล่าสุดของเธออย่าง Collapsing Clouds Form Stars หรือในชื่อภาษาไทยว่า ฝุ่นถล่มเป็นดาว ซึ่งเป็นนิทรรศการย้อนมองผลงาน-ขนาดย่อ ของศิลปิน โดยนำเสนอประเด็นทางสังคมการเมือง ผ่านผลงานที่ถูกเลือกมาจัดแสดงในนิทรรศการครั้งนี้
“ถึงแม้ชื่อของนิทรรศการครั้งนี้จะดูพ้องกับสถานการณ์ฝุ่นในประเทศไทยในปัจจุบัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผลงานที่เป็นที่มาของนิทรรศการครั้งนี้ พูดถึงสถานการณ์การเมืองในช่วงปี 2564 ที่เกิดการประท้วงใหญ่ในประเทศไทย ซึ่งตอนนั้น ผู้ประท้วงจะถูกเรียกว่าเป็นเหมือนฝุ่น เราก็เลยอยากทำงานที่แสดงให้เห็นว่า แม้แต่ฝุ่นก็สามารถกลายเป็นดาวได้”
“เพราะตามข้อเท็จจริงแล้ว ดาวต่างๆ ก็เกิดขึ้นจากฝุ่นจริงๆ เป็นฝุ่นที่รวมตัวกัน ผ่านความล้มเหลวแล้วล้มเหลวอีกไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้งจนกลายเป็นดาว ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ เราเลยหยิบเอาประโยคนี้ที่พูดถึงปรากฏการณ์การถือกำเนิดของดาวมาใช้เป็นชื่อนิทรรศการครั้งนี้ ซึ่งเปรียบเปรยถึงประเด็นทางการเมือง”



ในช่วงปี 2564 ที่สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้สังคมมีความอ่อนไหวสูงสุดและสะเทือนไปถึงเหล่าบรรดาเยาวชนที่รวมตัวกันออกมาประท้วงเป็นครั้งแรก จุดกระแสกลายเป็นการชุมนุมใหญ่ในรอบหลายปี ส่งผลให้ผู้ประท้วงเหล่านี้ถูกปราบปราม ควบคุม คุกคาม และดำเนินคดีจากอำนาจรัฐในรูปแบบต่างๆ
สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ส้มตัดสินใจเดินทางไปสำรวจพื้นที่ 24 แห่งทั่วประเทศไทย ที่มีประชาชนผู้ลุกขึ้นมาประท้วงต่ออำนาจกดขี่ของรัฐ และถูกกระทำย่ำยีภายใต้ความขัดแย้งทางความคิดในประวัติศาสตร์ และหยิบเอาเรื่องราวเหล่านั้นมาตีแผ่ให้เป็นที่รับรู้และจดจำของคนในยุคปัจจุบัน ผ่านผลงานที่มีชื่อเดียวกันกับนิทรรศการอย่าง Collapsing Clouds Form Stars (2021, 2025) ในรูปของวิดีโอจัดวางภาพขาวดำ และเสียงประกอบที่สร้างขึ้นจากสัญญาณเสียงรหัสมอร์ส (morse code) และผลงานศิลปะจัดวางจากริบบิ้นจำนวน 279 เส้น (จำนวนเท่ากับมาตราในรัฐธรรมนูญปี 2560) ที่พิมพ์ข้อความจากหนังสือต้องห้าม ข้อความปลุกเร้าความตื่นตัวทางการเมืองจากโลกออนไลน์ รวมถึงข้อความจากป้ายประท้วงทางการเมืองที่ขับเคลื่อนผู้คนในยุคต่างๆ ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา
“ในผลงานชิ้นนี้ เราย้อนภาพกลับไปยังประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา 100 ปี ตั้งแต่ยุคสมัยที่มีการรวมสยามเป็นชาติขึ้นมา ซึ่งเกิดความเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างมากมายและรุนแรงมาก การลุกออกมาเรียกร้องหรือเคลื่อนไหวนั้นเป็นความเป็นความตาย และเป็นความกล้าหาญมากๆ เรากลับไปไล่สำรวจเรื่องราวในประวัติศาสตร์ทั้งหลายเหล่านั้น ว่าเคยเกิดอะไรขึ้นที่ไหนทั่วเมืองไทย เพราะในช่วงเวลาที่เกิดสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 เราไม่สามารถเดินทางไปทำโครงการศิลปะในต่างประเทศได้ ต้องอยู่แต่ในประเทศไทย เราก็เลยถือโอกาสใช้เวลานี้เดินทางไปทั่วประเทศไทย ภาคใต้ กลาง อีสาน ทุกที่ที่เราไม่เคยไป และไม่เคยรู้จักมาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พื้นที่ที่เกิดเหตุการณ์ทางการเมืองในประวัติศาตร์ ซึ่งเหตุการณ์เหล่านั้นส่วนใหญ่จะเกิดตามพื้นที่ตะเข็บชายแดนทั้งหลาย”
“เราก็เลือกมาจำนวน 24 พื้นที่ ว่าที่ไหนมีเหตุการณ์ทางการเมืองที่น่าจดจำ และควรจะต้องระลึกถึง”



“ในช่วงเวลาเดียวกัน เราก็ตามเก็บภาษาและข้อความทั้งหลาย ที่คนใช้ในการเคลื่อนไหวทางการเมือง ไม่ว่าจะในโซเชียลมีเดีย หรือในป้ายประท้วงตามท้องถนน ข้อความปลุกเร้าทางการเมืองที่กลายเป็นไวรัลในช่วงเวลาที่เกิดการประท้วง ที่ดึงให้คนมาร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองในยุคสมัยต่างๆ ไปจนถึงข้อความที่ย้อนกลับไปตั้งแต่ยุครวมประเทศ ที่บ่งบอกถึงการเคลื่อนไหวทางการเมืองในหลายยุคสมัย หรือแม้แต่ข้อความในหนังสือต่างๆ ที่ถูกแบนในประเทศไทย ที่เราสนใจและเริ่มเก็บสะสมมาเรื่อยๆ เราก็ไล่อ่าน ไล่หาทุกอย่างเท่าที่จะหาได้ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน และหยิบเอาข้อความเหล่านั้นมาพิมพ์ลงบนริบบิ้นจำนวน 279 เส้น ซึ่งเป็นจำนวนที่เท่ากับมาตราในรัฐธรรมนูญปี 2560 (อันเป็นผลพวงจากการรัฐประหารปี 2557 นั่นเอง)”
“ผลงานชิ้นนี้เป็นเหมือนกับการบันทึกประวัติศาสตร์ของการเคลื่อนไหวทางการเมืองผ่านงานศิลปะที่เป็นการล้อกันระหว่างองค์ประกอบของผลงานศิลปะจัดวางจากริบบิ้นและผลงานวิดีโอ และสัญญาณเสียงรหัสมอร์ส ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาในประเทศไทยในสมัยที่กองทัพอเมริกามาตั้งฐานทัพในประเทศไทย เพื่อใช้ในการสื่อสารลับในช่วงเวลาสงคราม เราจึงเอาสัญญาณเสียงรหัสมอร์สมาใช้เป็นสัญลักษณ์แทนการสื่อสารในการประท้วง เป็นเหมือนการสื่อสารลับที่ไม่สามารถพูดออกมาโดยตรงในพื้นที่สาธารณะได้ จึงทำเป็นรหัสลับขึ้นมา”
“เนื้อหาในการสื่อสารก็หยิบเอามาจากข้อความต่างๆ ที่พิมพ์ในริบบิ้นนั่นแหละ ผลงานนี้มีที่มาจากโครงการศิลปะ Speeches of the Unheard (2021) ที่เราทำงานศิลปะเสียง (sound art) สำหรับเผยแพร่ทางวิทยุในวาระครบรอบ 100 ปีของศิลปินเยอรมัน โจเซฟ บอยส์ ด้วยการเอาข้อความจากการปราศรัยในการประท้วง หรือบทกวีทางการเมืองที่เราหามาได้มาแปลงให้เป็นเสียงนกในประเทศไทยที่เราสะสมเอาไว้จากทั่วประเทศที่เปล่งออกมาในรูปของสัญญาณเสียงรหัสมอร์ส เพื่ออุปมาถึงสำนวน ‘เสียงนกเสียงกา’ ซึ่งแทนเสียงของนักเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเทศไทยที่ถูกเพิกเฉย หรือแม้แต่ปิดปากโดยอำนาจรัฐ”



ในห้องแสดงงานเดียวกัน ยังมีผลงานชุด Band Books Series (2015-ปัจจุบัน) ที่ศิลปินทำขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2558 ที่ใช้หนังยางสี (rubber band) จำนวนมากพันรอบหนังสือจนมองไม่เห็นว่าเป็นหนังสืออะไร เพื่อเล่นกับความหมายของคำว่า หนังสือต้องห้าม (banned books) นั่นเอง
“เดิมทีเราเริ่มต้นทำผลงานชุดนี้ในช่วงเวลาที่เกิดรัฐประหารปี 2557 ด้วยความที่ประชาชนถูกปิดกั้นทุกอย่าง ทำอะไรไม่ได้ ออกจากบ้านไม่ได้ กิจกรรมทุกอย่างเงียบหมด ไม่มีใครกล้าทำอะไรสักอย่าง เราอึดอัดอยู่กับการทำอะไรไม่ได้มาเรื่อยๆ จนกระทั่งในปีถัดไป เราไปเป็นศิลปินพำนักในประเทศนิวซีแลนด์ ก็เป็นเหมือนการได้อิสรภาพ เราเริ่มต้นค้นหาข้อมูลทางออนไลน์เกี่ยวกับหนังสือที่ถูกแบน (ซึ่งไม่สามารถทำได้ในเมืองไทยในช่วงเวลานั้น) เพื่อทำรายการหนังสือที่ถูกแบน และไปเสาะหาหนังสือที่ถูกแบนที่พอจะหาได้ในนิวซีแลนด์ ทั้งจากร้านหนังสือมือสอง ห้องสมุด แล้วเราก็สั่งทำหนังยางสีต่างๆ มาลองมัดหนังสือ เพื่อเล่นคำระหว่างคำว่า แบน (Banned) กับ rubber band และนำหนังสือนั้นไปจัดแสดงเป็นนิทรรศการ”
“หลังจากนั้นเราก็กลับมาเมืองไทย และทำรายการหนังสือที่ถูกแบนในเอเชีย และหาหนังสือที่ถูกแบนเหล่านั้นมาจัดเป็นนิทรรศการขึ้นที่ The Reading Room กรุงเทพฯ หนึ่งในจำนวนนั้นคือหนังสือ โฉมหน้าศักดินาไทย ของ จิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งเราเลือกเปิดนิทรรศการในวันครบรอบ 50 ปีการตายของ จิตร ภูมิศักดิ์ พอดี ซึ่งปีนั้นเป็นปีที่ไม่มีการจัดงานเกี่ยวกับ จิตร ภูมิศักดิ์ เลย ทั้งๆ ที่เป็นวันครบรอบ 50 ปี วันตายของเขา”
“ปรากฏว่าก่อนวันเปิดหนึ่งวัน และวันเปิดนิทรรศการ ทหารและตำรวจมาเยี่ยมชม มาคอยเฝ้าดูสถานการณ์ และถึงกับยื่นโทรศัพท์ให้เราคุยกับนายของเขา เราก็เลยรู้สึกว่า เราไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าหนังสือจะมีพลังขนาดนี้ แถมเป็นหนังสือแค่เพียงเล่มเดียวเท่านั้นด้วย”


“งานชิ้นนี้จะล้อกับงานชิ้นที่เราร่วมแสดงในเทศกาลศิลปะ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024 แต่จะมุ่งเน้นไปที่แม่น้ำปิงอย่างเดียว ด้วยความที่เราสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงของแม่น้ำสายนี้ เราจึงใช้ภาพเคลื่อนไหวของการล่องแม่น้ำ, ภาพเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ทางภาคเหนือในปี 2567 ซึ่งเป็นเหตุการณ์อุทกภัยที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่ง แต่ถึงกระนั้น ผลกระทบก็ยังไม่เท่ากับคนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน เราก็เลยเอาเพลงจ๊อยซอ หรือเพลงพื้นบ้านของล้านนา ที่เป็นเสียงร้องทุกข์ของชาวบ้านที่มีต่อผลกระทบจากการสร้างเขื่อนยักษ์ในภาคเหนือ มาใช้เป็นเสียงประกอบ”
“ซึ่งในปัจจุบัน ทุกหมู่บ้านในพื้นที่ที่มีการสร้างเขื่อนนั้นจมอยู่ใต้น้ำทั้งหมดแล้ว”



สถานการณ์ที่ถูกนำเสนอในผลงานของ ส้ม ศุภปริญญา ในนิทรรศการครั้งนี้ ก็ไม่ต่างอะไรกับสถานการณ์ฝุ่นที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในปัจจุบัน นั่นคือการที่ภาครัฐละเลยเพิกเฉยต่อหายนภัย ความทุกข์ยากลำบากเดือดร้อนของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ (อันเป็นผลกระทบไม่ทางใดก็ทางหนึ่งจากการที่ผู้มีอำนาจรัฐใช้อำนาจบริหารในทางเอื้อประโยชน์แก่ตนและพวกพ้องด้วยซ้ำไป) เหตุเพราะผู้มีอำนาจเหล่านั้นมองไม่เห็นหัวประชาชนราวกับเป็นเพียงฝุ่นผงใต้เท้าเท่านั้นเอง
นิทรรศการ Collapsing Clouds Form Stars ฝุ่นถล่มเป็นดาว นิทรรศการย้อนมองผลงาน-ขนาดย่อของ ส้ม ศุภปริญญา จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม-22 มีนาคม 2568 ณ แกลเลอรี่เว่อร์ (Gallery VER) ซ.นราธิวาสราชนครินทร์ 22 สอบถามข้อมูลได้ที่ facebook @galleryver อีเมล [email protected] หรือโทร. 0-2103-4067
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก แกลเลอรี่เว่อร์ •

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022