ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 14 - 20 กุมภาพันธ์ 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | คุยกับทูต |
เผยแพร่ |
คุยกับทูต | วิชยันติ เอทิริสิงเห
ศรีลังกา ‘ไข่มุกแห่งมหาสมุทรอินเดีย’ (3)
“ประเทศไทยมีความเชี่ยวชาญด้านการต้อนรับและการท่องเที่ยว เป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมสำหรับการท่องเที่ยวแห่งหนึ่งของโลก และมีศักยภาพในการดึงดูดนักท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง
ศรีลังกามีความงดงามทางธรรมชาติและวัฒนธรรมอันน่าทึ่ง ซึ่งอาจได้รับแรงบันดาลใจจากความเป็นมืออาชีพของไทยในด้านการท่องเที่ยว โครงสร้างพื้นฐาน การบริการ และกลยุทธ์การตลาดที่ชัดเจน โดยเฉพาะวัฒนธรรมอาหารริมบาทวิถี หรือสตรีตฟู้ดที่ได้มาตรฐานของไทยถือเป็นอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญมาก
สตรีตฟู้ดศรีลังกามีชื่อเสียงในด้านรสชาติอร่อยเป็นเอกลักษณ์อยู่แล้ว แต่เรายังต้องปรับปรุงให้เกิดสุขอนามัยที่ถูกต้องและเพิ่มความหลากหลาย ซึ่งจะช่วยสร้างชื่อเสียงให้ศรีลังกาเป็นมิตรต่อนักท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น”

นางวิชยันติ เอทิริสิงเห (Mrs. E.A.S. Wijayanthi Edirisinghe) เอกอัครราชทูตศรีลังกาประจำประเทศไทยให้ความเห็นเกี่ยวกับการท่องเที่ยวและการพัฒนาในประเทศไทย โดยหวังให้เป็นรูปแบบทางเลือกที่ดีที่สุดในการตัดสินใจ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในประเทศสาธารณรัฐศรีลังกา
“ด้านการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ ประเทศไทยลงทุนระบบรถไฟฟ้าใต้ดินและรถไฟอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นแนวทางให้ศรีลังกาปรับปรุงการเดินทางในเมืองเพื่อลดปัญหาการจราจร
ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทและศูนย์กลางการท่องเที่ยว เป็นตัวอย่างอีกด้านหนึ่งให้แก่ศรีลังกาในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไปพร้อมกับการส่งเสริมพัฒนาการท่องเที่ยว”


มีวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน
“เรามีความคล้ายคลึงกันทางวัฒนธรรมอย่างมาก ความรู้สึกผูกพันระหว่างกันจึงเป็นธรรมชาติและแน่นแฟ้น แก่นแท้ของวัฒนธรรมของเราทั้งสองนั้นได้รับอิทธิพลอย่างลึกซึ้งจากพระพุทธศาสนา ซึ่งหล่อหลอมค่านิยมของเราในเรื่องความมีสติ ความเมตตา และความเคารพ
เราต่างมีความรักและความเคารพต่อประเพณี ไม่ว่าจะเป็นพิธีกรรมทางศาสนาในวัดหรือการเฉลิมฉลองในวาระต่างๆ ซึ่งคล้ายคลึงกันอย่างมาก นับเป็นเรื่องดีที่คนของเรามีความเชื่อมโยงทางจิตวิญญาณนี้ร่วมกัน
วัฒนธรรมทั้งสองประเทศนี้ยังให้ความสำคัญกับครอบครัว ความมีน้ำใจ การต้อนรับที่อบอุ่นและความเอื้ออาทรต่อผู้มาเยือนให้มีความรู้สึกเหมือนอยู่บ้าน


ส่วนในด้านศิลปะแบบดั้งเดิมของศรีลังกา เช่น ระบำพื้นเมืองกันดยัน (Kandyan dance) และการแสดงนาฏศิลป์ไทยประกอบเพลงไทยเดิม ล้วนเป็นการแสดงออกถึงความชื่นชมร่วมกันของเราที่มีต่อความงามทางประวัติศาสตร์และการเล่าเรื่อง
สำหรับงานเทศกาล ทั้งในศรีลังกาและประเทศไทยก็ไม่ได้เป็นเพียงกิจกรรมเท่านั้น แต่ยังเป็นวิธีการรวมตัวกันของชุมชนเพื่อเป็นเกียรติแก่ธรรมชาติและการเฉลิมฉลองให้แก่ชีวิตอีกด้วย
ลักษณะทางวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกันเหล่านี้ เตือนให้เราระลึกได้ว่า แม้จะมีความแตกต่างกัน แต่เราก็มีสิ่งที่เหมือนกันมากกว่าที่คิด และความเชื่อมโยงเหล่านี้เองที่ช่วยเสริมสร้างสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน”


นักการทูตกับชีวิตในต่างแดน
“แน่นอนว่าการใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศนานๆ ทำให้ดิฉันคิดถึงครอบครัว ญาติ พี่น้อง เพื่อนฝูง และงานเฉลิมฉลองที่บ้านเกิดเสมอ เพราะเราสามารถแบ่งปันความสุข ความทุกข์ ได้ที่บ้านของเรา”
การแบ่งเวลางานกับเวลาพักผ่อน
“การจัดตารางงานทางการทูตที่ยุ่งวุ่นวายอาจเป็นเรื่องท้าทาย แต่ดิฉันเชื่อว่า การหาช่วงเวลาแห่งความสมดุลและการพักผ่อนเป็นสิ่งสำคัญ ดิฉันมีความรับผิดชอบในหน้าที่การงาน แต่ก็พยายามแบ่งเวลาให้กับความสุขส่วนตัวบ้าง
ดิฉันชอบสำรวจสิ่งมหัศจรรย์ทางประวัติศาสตร์ มรดกอันมั่งคั่งทางวัฒนธรรมและธรรมชาติของราชอาณาจักรไทย ได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมวัดวาอาราม ชายทะเลที่เงียบสงบและสวยงาม สร้างความเพลิดเพลินและจุดไฟในการทำงานให้ดิฉันในขณะเดียวกันด้วย”

ประสบการณ์ที่น่าสนใจที่สุดในช่วงเวลา 6 เดือน
ตั้งแต่มาประจำประเทศไทย
“การได้ไปพักผ่อนที่หาดชะอำอันเงียบสงบ คลื่นทะเลอันตระการตายามพระอาทิตย์ตก ช่วยผ่อนคลาย ชาร์จพลังให้กลับมาสดชื่น
นอกจากนี้ ดิฉันยังได้รับสิทธิพิเศษสำหรับคณะเอกอัครราชทูตในการทัวร์ เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ ‘บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024’ (Bangkok Art Biennale 2024) โดย มูลนิธิ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ร่วมกับบริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)
การทัวร์ครั้งนี้ทำให้ดิฉันเกิดความซาบซึ้งและประทับใจในศิลปะและวัฒนธรรมไทยเป็นล้นพ้น เนื่องจากเราได้ไปเยี่ยมชมสถานที่สำคัญต่างๆ เช่น วัดโพธิ์ วัดบวรนิเวศวิหาร และสถานที่สำคัญตามเส้นทางแม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป หรือ หอศิลป์เจ้าฟ้า
การที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม เยี่ยมชมสถานที่ประวัติศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ นิทรรศการศิลปะ แลนด์มาร์กสำคัญทางสถาปัตยกรรม และเหตุการณ์ทางวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยเฉพาะการได้สำรวจซากปรักหักพังโบราณของ “กรุงเก่า” จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ถือเป็นประสบการณ์ที่มิอาจลืมเลือน ทำให้ช่วงเวลาในประเทศไทยของดิฉันมีความหมายมากยิ่งขึ้น” •
รายงานพิเศษ | ชนัดดา ชินะโยธิน
Chanadda Jinayodhin
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022