พิพิธภัณฑสถานสร้างชาติ (5)

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด | ชาตรี ประกิตนนทการ

 

พิพิธภัณฑสถานสร้างชาติ (5)

 

การปฏิวัติ 2475 โดยคณะราษฎร แม้จะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมหลายอย่าง แต่หากพิจารณาเฉพาะในงานด้านพิพิธภัณฑ์ กลับพบว่าแทบไม่มีความเปลี่ยนแปลงอะไรที่มีนัยยะสำคัญนัก

แน่นอนว่า หากพิจารณาในเชิงโครงสร้างการบริหารและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับงานด้านพิพิธภัณฑ์ ในยุคคณะราษฎร (พ.ศ.2475-2490) เราอาจเห็นความเปลี่ยนแปลงพอสมควร ได้แก่ การจัดตั้งกรมศิลปากรขึ้นใหม่เมื่อ พ.ศ.2476 จัดตั้งกองพิพิธภัณฑ์และโบราณคดี (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น กองพิพิธภัณฑ์และโบราณวัตถุ และเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น กองโบราณคดี) ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการดำเนินการจัดตั้งและดูแลพิพิธภัณฑสถาน ตลอดจนขุดค้นบูรณะและดูแลรักษาโบราณวัตถุสถานทั่วประเทศ

รวมไปถึงการประกาศใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยโบราณสถาน ศิลปวัตถุ โบราณวัตถุ และการพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ 2477 และพระราชบัญญัติว่าด้วยโบราณสถาน ศิลปวัตถุ โบราณวัตถุ และการพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2486

อย่างไรก็ตาม ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงที่ดูเสมือนมีมากมายข้างต้น แต่ถ้าลองพิจารณาลงไปที่ “โครงเรื่อง” ในการเล่าอธิบายโบราณวัตถุและศิลปวัตถุ ตลอดจนรูปแบบการจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์ ซึ่งส่วนตัวมีความเห็นว่าเป็นหัวใจที่สำคัญที่สุดของงานด้านพิพิธภัณฑ์ เรากลับไม่พบความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกิดขึ้นเลย

แม้ในปี พ.ศ.2477 จะมีการเปลี่ยนชื่อ “พิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร” มาเป็น “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร” ซึ่งการใส่คำว่า “แห่งชาติ” เข้ามา ย่อมสื่อนัยยะที่น่าคิดว่า นับจากนี้ พิพิธภัณฑ์จะเปลี่ยนมาเป็นการจัดแสดงวัตถุเพื่อบอกเล่า “ความเป็นชาติ”

แต่ในความเป็นจริงที่เกิดขึ้น เนื้อหาการจัดแสดงและวิธีการเล่ากลับดำเนินไปในแบบเดิมตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็นพิพิธภัณฑ์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

การจัดแสดงพระบรมรูปรัชกาลที่ 5 พระแท่น ฉัตร และเครื่องสูง ภายในพระที่นั่งวายุสถานอมเรศ เมื่อ พ.ศ.2469-2500
ที่มา : หนังสือ 149 ปี ราชพิพิธภัณฑ์

จากหลักฐานที่มีอยู่ชี้ให้เห็นตรงกันว่า ในช่วง 15 ปีที่คณะราษฎรมีอำนาจ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ไม่มีการปรับวิธีการจัดแสดง วิธีการเล่าเรื่อง หรือแม้แต่ตีความใหม่ให้แก่วัตถุจัดแสดง ใดๆ ในลักษณะที่พยายามจะเชื่อมโยงวัตถุจัดแสดงเข้าสู่อุดมการณ์ใหม่หลังการปฏิวัติเลย (ดูรายละเอียดการจัดแสดงในช่วงเวลาดังกล่าวใน หนังสือ 149 ปีราชพิพิธภัณฑ์)

ควรกล่าวไว้ก่อนนะครับว่า ในช่วงดังกล่าว คงมีการปรับในแง่รายละเอียดบ้าง เช่น เพิ่มลดวัตถุจัดแสดงเล็กน้อย เปลี่ยนป้ายที่ชำรุด ย้ายที่ตั้งวัตถุบางชิ้น และอื่นๆ เล็กๆ น้อยๆ บ้าง (ไม่ขอกล่าวในที่นี้) แต่ทั้งหมดไม่ได้กระทบสาระสำคัญและความหมายหลักของการจัดแสดงเดิมแต่อย่างใด

น่าแปลกนะครับ เพราะขณะที่มิติอื่นในสังคม คณะราษฎรพยายามอย่างยิ่งที่จะเปลี่ยนนิยามของชาติ จากความหมายเดิมที่มีศูนย์กลางอยู่ที่สถาบันกษัตริย์ มาสู่ศูนย์กลางที่เป็นประชาชน มากบ้างน้อยบ้างผสมปนเปกันไป

แต่การเล่าเรื่องในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กลับไม่มีการปฏิวัติหรือปฏิรูปทางความหมายในลักษณะนั้นเกิดขึ้นเลย มีเพียงการเปลี่ยนชื่อโดยเติมคำว่า “แห่งชาติ” เข้ามาเท่านั้น

 

หากมองเปรียบกับสังคมอื่น เมื่อเกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองหรือมีการปฏิรูปใหญ่ทางสังคมเกิดขึ้น รูปแบบและโครงเรื่องการจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ มักเกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

ที่สำคัญและมักถูกพูดถึงอยู่เสมอคือ พิพิธภัณฑ์ลูฟท์หลังการปฏิวัติฝรั่งเศส ที่มีการปรับใหญ่ใหญ่ทั้งในแง่รูปแบบ วัตถุจัดแสดง และวิธีการเล่าเรื่องที่ได้รับการออกแบบใหม่อย่างสอดคล้องกับอุดมการณ์ชุดใหม่ (ดูเพิ่มประเด็นนี้ใน บทความ From the Princely Gallery to the Public Art Museum: The Louvre Museum and the national Gallery, London โดย Carol Duncan)

ผมเคยคุยประเด็นนี้กับนักวิชาการบางท่าน ท่านเหล่านั้นมองว่าอาจเป็นเพราะเพิ่งจะมีการปรับการจัดแสดงครั้งใหญ่ไปเมื่อ พ.ศ.2469 เลยทำให้หลังการปฏิวัติ ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องปรับการจัดแสดงใหม่

ส่วนตัวไม่เห็นด้วยเท่าไรนัก เพราะดังที่เคยเขียนไปในตอนก่อนนี้แล้วว่า การจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ของสังคมไทยนั้น บทบาทที่สำคัญที่สุดมีอยู่ 2 ประการหลัก

 

หนึ่ง ใช้พิพิธภัณฑ์เพิ่อแสดงความยิ่งใหญ่และเก่าแก่ของ “รัฐ/ชาติ” ต่อสายตาต่างชาติ

และสอง คือ ปลูกฝังอุดมการณ์ “รัฐ/ชาติ” ให้แก่พลเมืองผ่านการจัดแสดงสิ่งของวัตถุในพิพิธภัณฑ์

ดังนั้น เมื่อรูปแบบรัฐและนิยามชาติเปลี่ยน ย่อมเป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่เปลี่ยนเนื้อหาการจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ ยิ่งหากมองในเชิงการสร้างความหมายและความชอบธรรมทางการเมืองให้แก่ระบอบใหม่แล้ว การปล่อยให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเล่าเรื่องในแบบเดิม ตอบสนองอุดมการณ์ชุดเดิม ย่อมถือเป็นนโยบายที่ผิดพลาดอย่างยิ่งของคณะราษฎร

หากมองเทียบเคียงกับการเขียนประวัติศาสตร์ชาติในยุคหลังการปฏิวัติ เราก็จะยิ่งพบความแตกต่างที่น่าสนใจ เพราะในด้านหนึ่ง แม้ยุคคณะราษฎรจะยังคงรักษาโครงเรื่องประวัติศาสตร์แบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไว้แทบทั้งหมดก็ตาม แต่เราก็พบความพยายามในการแทรกเพิ่มประวัติศาสตร์สามัญชนเข้ามาในโครงเรื่องประวัติศาสตร์ชาติอยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็น ท้าวสุรนารี และบางระจัน เป็นต้น

แต่ในกรณีการจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เรากลับไม่พบสิ่งเหล่านี้เลยแม้เพียงเล็กน้อย

 

นอกจากไม่มีการเล่าเรื่องอย่างใหม่แล้ว สิ่งที่น่าสนใจคือ การปล่อยให้พื้นที่จัดแสดงขนาดใหญ่ที่สุดส่วนหนึ่งยังคงทำหน้าที่สื่อสารความหมายภายใต้อุดมการณ์ “ราชาชาตินิยม” ตามแนวคิดของ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ อย่างเต็มที่ เหมือนเมื่อครั้งยังเป็นพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนครในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

พระที่นั่งวายุสถานอมเรศ พระที่นั่งองค์ใหญ่สุดใน “หมู่พระวิมาน” ที่ตั้งอยู่ในตำแหน่งแนวแกนประธานของกลุ่มอาคารทั้งหมด อีกทั้งยังอยู่ในแนวแกนตรงดิ่งทอดต่อเนื่องมาจาก พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ซึ่งสะท้อนความสำคัญทั้งในเชิงตำแหน่งและความหมายมากที่สุดของห้องจัดแสดงห้องนี้

ภายในห้องดังกล่าว เมื่อปี พ.ศ.2469 (และเรื่อยมาจนหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง) จัดแสดงพระบรมรูปรัชกาลที่ 5 ที่พิมพ์จำลองเท่าจริงจากพระบรมรูปที่ประดิษฐานภายในปราสาทพระเทพบิดรภายในพระบรมมหาราชวัง โดยจัดแสดงรายล้อมด้วยเครื่องสูง และโบราณวัตถุที่เกี่ยวข้องกับเจ้านายฝ่ายวังหน้า

ส่วนผนังทั้ง 4 ด้านของพระที่นั่ง จัดแสดงโคลงภาพพระราชพงศาวดารสยามที่รัชกาลที่ 5 รับสั่งให้เขียนไว้ตั้งแต่เมื่อ พ.ศ.2430 มีจำนวนทั้งหมด 92 แผ่น เนื้อหาหลักๆ คือ การแสดงภาพเหตุการณ์ประวัติศาสตร์สำคัญในสมัยอยุธยา สมัยธนบุรี และสมัยรัตนโกสินทร์ (ถึงรัชกาลที่ 3)

ภาพชุดนี้แรกเริ่มเขียนขึ้นสำหรับประดับพระเมรุท้องสนามหลวงเพื่อให้ประชาชนชม ในช่วงงานพระเมรุสมเด็จฯ เจ้าฟ้าพาหุรัดมณีมัย ต่อมาติดประดับอยู่ในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยภายในพระบรมมหาราชวัง (และพระราชวังบางปะอิน) จนเมื่อมีการปรับปรุงพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร พ.ศ.2469 ก็ได้มีการย้ายภาพในส่วนที่เคยแขวนไว้ภายในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมาจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์

 

นัยยะของสิ่งของการจัดแสดงในห้องนี้ แม้จะมีวัตถุจัดแสดงอื่นผสมอยู่บ้าง แต่ก็ชัดเจนว่า ความหมายหลักคือการเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 5 โดยตรง ทั้งในฐานะปัจเจกบุคคล และในฐานะสัญลักษณ์ของสถาบันกษัตริย์

นอกจากนี้ หากเดินชมห้องต่างๆ ที่เหลือโดยรอบของหมู่พระวิมาน เราก็จะพบสิ่งของจัดแสดงหลักที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น พระราชยาน, หุ่นละครหลวง, หัวโขน, เครื่องสูง, ฉลองพระองค์, สิ่งของเครื่องใช้ส่วนพระองค์ ฯลฯ

มองในเชิงการเมืองวัฒนธรรม เป็นเรื่องน่าแปลกและน่าคิดพอสมควรที่การจัดแสดงเช่นนี้ยังคงอยู่ได้ในช่วงหลังการปฏิวัติ

สิ่งนี้อาจสะท้อนให้เราเห็นว่า คณะราษฎรมีลักษณะประนีประนอมมากกว่าที่หลายคนคิด อย่างน้อยก็ในมิติงานด้านพิพิธภัณฑ์

ยิ่งไปกว่านั้น ในปี พ.ศ.2483 รัฐบาลคณะราษฎรยังได้ทำการเปิดพิพิธภัณฑ์แห่งใหม่ขึ้น ณ ตึกศาลาสหทัยสมาคมในพระบรมมหาราชวัง ชื่อว่า “ราชพิพิธภัณฑ์” ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงเฉพาะทรัพย์สินที่เป็นของกษัตริย์ทั้งสิ้น อีกทั้งการจัดแสดงยังเน้นการจัดแสดงสิ่งของที่ต้อง

“…ให้เป็นที่เคารพบูชา เพื่อเทอดทูนพระเกียรติ์ของพระมหากษัตริย์…” (อ้างถึงใน กรมศิลปากร, ราชพิพิธภัณฑ์. (พระนคร : โรงพิมพ์พระจันทร์, 2483), 3)

 

นอกจากการตั้ง “ราชพิพิธภัณฑ์” ขึ้นใหม่แล้ว ในยุคนี้แทบไม่มีการจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขึ้นใหม่เลย ที่จัดตั้งใหม่และสำคัญมากหน่อยก็คือ พิพิธภัณฑ์ที่วัดมหาธาตุ อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อ พ.ศ.2478 เท่านั้น ซึ่งก็มิได้มีการจัดแสดงอะไรแปลกใหม่ ยังคงเป็นรูปแบบเดิมที่ไม่ต่างจากสมัยของ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ

จากทั้งหมดที่กล่าวมา ผมอยากสรุปว่า งานด้านพิพิธภัณฑ์ในยุคหลังการปฏิวัติ 2475 มีความแตกต่างอย่างมากจากนโยบายด้านอื่นของคณะราษฎร โดยภาพรวมมีลักษณะสานต่อแนวคิดและอุดมการณ์เดิมแทบทั้งหมด ทั้งการจัดแสดงโบราณวัตถุและศิลปวัตถุที่สะท้อนการสร้างความชอบธรรมให้แก่ขอบเขตดินแดนสยามสมัยใหม่ที่เพิ่งสถาปนาขึ้นราวกลางพุทธศตวรรษที่ 25 และการผลิตซ้ำความหมาย (ไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม) ที่ยังคงตอบสนองอุดมการณ์แบบรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่มีกษัตริย์เป็นศูนย์กลาง มิใช่รัฐประชาชาติ (ชาติคือประชาชน) แต่อย่างใด