อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : แลนด์อาร์ต ผลงานศิลปะบนผืนปฐพี แรงบันดาลใจเบื้องหลังงานศิลป์หนัง The Square

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
1. Spiral Jetty (1970) ภาพจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Spiral_Jetty 3. Chalk Mirror Displacement, 1969 Collection: Art Institute of Chicago ภาพจาก https://www.pinterest.com/pin/356769601715417700/ o ภาพจาก

ผลงานศิลปะจัดวางที่ประกอบด้วยกองก้อนกรวดหลายกองบนพื้นพิพิธภัณฑ์ ที่ปรากฏอย่างโดดเด่นในหนัง The Square นั้น

ไม่ได้เป็นผลงานที่ผู้กำกับฯ หรือฝ่ายศิลป์ของหนังมโนสร้างขึ้นมาเอง

แต่อันที่จริงแล้ว มันได้แรงบันดาลใจมาจากผลงานของศิลปินตัวจริงเสียงจริง ผู้มีชื่อเสียงโดดเด่นเป็นเอก ที่ล่วงลับไปแล้วผู้หนึ่ง

ซึ่งชื่อของเขาถูกเอ่ยอ้างขึ้นมาในหนังด้วย

ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า

โรเบิร์ต สมิธสัน (Robert Smithson)

ศิลปินอเมริกันผู้ทรงอิทธิพล เขาเป็นที่รู้จักในฐานะผู้บุกเบิกกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะแบบแลนด์อาร์ต (Land Art)*

ความสนใจของเขาครอบคลุมประเด็นกว้างขวางตั้งแต่ปรัชญา ศาสนา ไปจนถึงประเด็นเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์อย่างธรณีวิทยา และแร่วิทยา

ในช่วงแรกเขาทำผลงานจิตรกรรมในสไตล์แอบสแตร็กเอ็กซ์เพรสชั่นนิสต์ ก่อนที่จะได้พบกับศิลปินมินิมอลลิสม์และคอนเซ็ปช่วล อย่าง คาร์ล อังเดร (Carl Andre), โดนัลด์ จัดด์ (Donald Judd), คเลยส์ โอเดนเบิร์ก (Claes Oldenburg) และ แนนซี โฮลต์ (Nancy Holt) (ซึ่งกลายเป็นภรรยาของเขาในภายหลัง) ในต้นทศวรรษ 1960 ซึ่งส่งอิทธิพลให้เขาหันมาทำงานประติมากรรมที่ใช้วัสดุอุตสาหกรรม และวัสดุธรรมชาติ

ในช่วงปลายทศวรรษ 1960 เขาเริ่มขยายขอบเขตการทำงานศิลปะของเขาออกจากพื้นที่หอศิลป์สู่พื้นที่กลางแจ้ง

ช่วงทศวรรษ 1970 เขาริเริ่มทำงานศิลปะบนผืนแผ่นดินโลก หรือที่เรียกกันในชื่อว่า แลนด์อาร์ต ขึ้นมา

ด้วยงานศิลปะรูปแบบใหม่นี้ สมิธสันเสาะหาหนทางในการละทิ้งขนบธรรมเนียมของการทำงานประติมากรรมแบบเดิมๆ และมักจะสร้างสรรค์ผลงานประติมากรรมขึ้นจากเศษวัสดุเหลือใช้ หรือแม้แต่วัสดุเก็บตกจากธรรมชาติ ในพื้นที่ธรรมชาตินอกหอศิลป์หรือพิพิธภัณฑ์

ผลงานของเขากระตุ้นให้ผู้ชมตั้งคำถามว่าจริงๆ แล้ว ที่ทางของศิลปะควรจะอยู่ที่ไหนกันแน่?

ผลงานส่วนใหญ่ของสมิธสันก่อร่างสร้างขึ้นมาจากความสนใจเกี่ยวกับแนวคิดของเอนโทรปี กฎข้อที่สองของอุณหพลศาสตร์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับกระบวนการทางกายภาพที่เกิดขึ้นเองทางธรรมชาติ ที่มีแนวโน้มที่จะทำให้ความแตกต่างของอุณหภูมิ แรงดัน ความหนาแน่น หรือค่าอื่นๆ ในระบบของสิ่งต่างๆ ค่อยๆ น้อยลงจนกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน (ยกตัวอย่างเช่น การละลายของน้ำแข็งในน้ำ เป็นต้น)

จนนำไปสู่บทความชิ้นสำคัญของเขาอย่าง Entropy and the New Monuments (1969) ที่เปรียบเทียบระหว่างเหมืองแร่, ห้างสรรพสินค้า และบ้านจัดสรร ในนิวเจอร์ซีย์

ว่าท้ายที่สุดแล้ว วันหนึ่ง สถานที่เหล่านี้ก็จะเสื่อมสลายและกลายสภาพไปเป็นกองหินกองกรวดไปในที่สุด

ผลงานแลนด์อาร์ตที่โด่งดังและเป็นที่รู้จักที่สุดของสมิธสันก็คือ Spiral Jetty (1970) ประติมากรรมจัดวางรูปขดก้นหอย ที่ทำขึ้นบนพื้นที่ธรรมชาติของทะเลสาบเกรตซอลต์ ในรัฐยูทาห์ ในพื้นที่ทางทิศเหนือของทะเลสาบ ที่ถูกปนเปื้อนจากการก่อสร้างทางรถไฟแปซิฟิกใต้ในปี 1959 จนทำให้น้ำกลายเป็นสีม่วงแดงอันเป็นเอกลักษณ์ ที่เกิดจากการปนเปื้อนไปกระตุ้นให้แบคทีเรียและสาหร่ายที่ทนต่อเกลือได้ดี เติบโตและขยายตัวเป็นจำนวนมากในพื้นที่บริเวณนี้ของทะเลสาบ

การติดตั้งงานประติมากรรมจัดวาง Spiral Jetty ลงไปบนพื้นที่ส่วนที่ปนเปื้อนของทะเลสาบ

http://en.wikipedia.org/wiki/Spiral_Jetty

รวมถึงการใช้เพียงวัสดุธรรมชาติที่พบในพื้นที่ทะเลสาบเท่านั้น ในการสร้างสรรค์ผลงานชิ้นนี้

ทำให้มันดึงดูดความสนใจของสาธารณชน ให้หันมามองปัญหาเกี่ยวกับการทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก

นอกจากนั้น ผลงานชิ้นนี้ของเขายังสื่อให้เห็นถึงความสำคัญของห้วงเวลา ในการกัดกร่อนและเปลี่ยนสภาพแวดล้อมบนโลกของเรา

โครงสร้างรูปขดก้นหอยที่ดูคล้ายกับเครื่องหมายคำถามของงานชิ้นนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากรูปแบบการเติบโตของผลึกแก้วในธรรมชาติ

นอกจากนั้น มันยังดูคล้ายกับสัญลักษณ์ในยุคดึกดำบรรพ์ ซึ่งทำให้ภูมิทัศน์ในผลงานดูเก่าแก่โบราณ แต่ในขณะเดียวกันก็ดูล้ำยุคล้ำสมัยไปพร้อมๆ กัน

2. Chalk Mirror Displacement, 1969 Oxted chalkpit quarry, Surrey ภาพจาก http://www.tate.org.uk/context-comment/articles/nancy-holt-and-robert-smithson-england-1969

นอกจากทำงานศิลปะแล้ว สมิธสันยังเป็นนักเขียนและนักวิจารณ์ผู้ทรงอิทธิพล เขาเขียนบทความให้กับนิตยสารศิลปะชั้นนำของอเมริกาอย่าง Artforum เป็นอาทิ

แนวคิดในการสร้างงานบนพื้นที่นอกหอศิลป์ และทำการบันทึกภาพและเก็บข้อมูลเพื่อนำมาแสดงในหอศิลป์ในภายหลังของสมิธสัน เป็นแนวทางสำคัญที่กำหนดรูปแบบของการทำงานแลนด์อาร์ตในช่วงปี 1960 จนถึงปัจจุบัน

ข้อถกเถียงของเขาเกี่ยวกับความเที่ยงแท้ถาวรและความเสื่อมสลายของวัตถุทางศิลปะในบทความของเขา มีส่วนกระตุ้นให้ศิลปินรุ่นหลังหลายคนตั้งคำถามใหม่ๆ เกี่ยวกับบทบาทของงานศิลปะในพื้นที่สาธารณะ

น่าเศร้าที่ในวันที่ 20 กรกฎาคม ปี 1973 ขณะที่กำลังเดินทางสำรวจพื้นที่ทำงานศิลปะแห่งใหม่บนท้องฟ้าด้วยเครื่องบิน ก็เกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น

นั่นก็คือเครื่องบินที่เขาโดยสารเกิดอุบัติเหตุตกลงที่เมืองอมาริลโล รัฐเท็กซัส เป็นเหตุให้สมิธสันเสียชีวิตลงในวัยเพียง 35 ปี เท่านั้น

ถึงแม้จะมีอายุและช่วงเวลาการทำงานศิลปะที่แสนสั้น

แต่ผลงานของเขาก็สร้างแรงบันดาลใจให้แก่ศิลปินรุ่นหลัง

รวมถึงนักสร้างสรรค์ในสาขาอื่นๆ อีกมากมายนับไม่ถ้วน

ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ รูเบน ออสลุนด์ ผู้กำกับหนัง The Square นั่นเอง

*Land Art คือขบวนการศิลปะที่เริ่มขึ้นในสหรัฐอเมริการาวปลายทศวรรษ 1960 ถึง 1970 โดยสร้างงานศิลปะในพื้นที่ธรรมชาติ โดยส่วนใหญ่เป็นงานชั่วคราวหรือบางครั้งก็เป็นงานที่ทําขึ้นถาวรแต่ปล่อยทิ้งไว้ให้เสื่อมสลายไปตามธรรมชาติ โดยบันทึกเป็นหลักฐานไว้แต่เพียงภาพถ่ายหรือวิดีโอเท่านั้น

อนึ่ง ศิลปิน Land Art ไม่ได้ทํางานศิลปะวางอยู่ในภูมิทัศน์หรือธรรมชาติ หากแต่ใช้ภูมิทัศน์หรือธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยสําคัญที่ก่อให้เกิดงานศิลปะขึ้นมา