สุวรรณภูมิ-ทวารวดี [15] เมืองอโยธยา ของชาวสยาม

กู่วุดจีกูพญา สำนักสงฆ์หมั่นกินจอง เมืองมินบู พบงานจิตรกรรมฝาผนังภายในกู่ทั้ง 9 ห้อง เกือบทุกห้องปรากฏอิทธิพลแบบไทยอย่างชัดเจน เช่น ตัวอักษรไทย เขียนว่า “_สังคาตต_รก” หรือการเขียนภาพของ นางรำ เทพนมบนดอกบัว เจดีย์ทรงเครื่องแบบอยุธยาตอนปลาย ภาพของเส้นสินเทาและปราสาท สามารถเปรียบเทียบได้กับงานช่างไทยสมัยอยุธยาตอนปลายถึงต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งยังปรากฏตัวอย่างให้เทียบเคียงได้ในปัจจุบัน

อโยธยามีความเป็นมาของดินแดนและผู้คน ที่แยกไม่ได้จากพัฒนาการตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ของสุวรรณภูมิและอุษาคเนย์หลายพันปีมาแล้ว

เพราะอโยธยาเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย และประเทศไทยมีความเป็นมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ทั้งของดินแดนและผู้คน เป็นส่วนหนึ่งอย่างแยกออกจากกันมิได้ของสุวรรณภูมิในอุษาคเนย์

ไทยมีพื้นที่คาบสมุทรอยู่เกือบกึ่งกลางอุษาคเนย์ เป็นจุดนัดพบของคนนานาชาติพันธุ์ตะวันตก-ตะวันออก นอกจากนั้น อุษาคเนย์มีพื้นที่กว้างขวาง แต่มีคนน้อย บ้านเมืองต่างๆ ต้องการผู้คนเพิ่มเติมด้วยการกวาดต้อนโยกย้ายถ่ายเทตลอดเวลา ยิ่งทำให้มีการผสมปนเปมากขึ้นทางชาติพันธุ์

ดังนั้น ความเป็นไทยในอโยธยามาจากชาวสยาม เป็นลูกผสมคนหลายชาติพันธุ์ เสมือนคำเก่าๆ ว่า “ร้อยพ่อพันแม่”

 

กำเนิดอโยธยาจากการค้า

และศาสนา-การเมือง

เมืองอโยธยามีกำเนิดและมีพัฒนาการเจริญเติบโตก้าวหน้า อันเนื่องจากความเปลี่ยนแปลงทางการค้าและทางศาสนา-การเมือง

1. การค้า ก่อน พ.ศ.1500 (โดยประมาณ) การค้าในอ่าวไทยต้องผ่าน “คนกลาง” คือ มลายู-จาม (“ศรีวิชัย”)

ต่อมาหลัง พ.ศ.1500 จีนต่อสำเภาออกค้าขายเอง กระทั่งเข้าถึงอ่าวไทยโดยไม่ผ่าน “คนกลาง” จึงกระตุ้นให้เกิดบ้านเมืองรุ่นใหม่หลายแห่ง รวมทั้งลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะการเกิดของเมืองอโยธยา

คุณลักษณะของสําเภาจีน มีผู้เชี่ยวชาญศึกษาพบว่ามีระวางบรรทุกสูง และโดยเปรียบเทียบแล้วแข็งแรงกว่าสําเภาชนิดอื่นที่ใช้กันในทะเลจีนและมหาสมุทรอินเดียในช่วงนั้น

ผลก็คือทําให้สินค้าที่กินระวางบรรทุกสูงสามารถส่งไปยังแดนไกลได้มากขึ้น แม้ว่าการค้าสินค้าฟุ่มเฟือยยังมีความสําคัญในการค้าสืบมา แต่สินค้าที่กินระวางบรรทุกก็เข้ามามีสัดส่วนในการค้าทางทะเลเพิ่มมากขึ้นตามลําดับ

ในดินแดนที่เป็นประเทศไทย ซึ่งเคยเป็นผู้ผลิตของป่าที่สําคัญแห่งหนึ่งมาก่อนแล้ว ก็สามารถป้อนของป่าแก่การค้าทางทะเลได้หลากหลายชนิดมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าที่กินระวางบรรทุก เช่น ไม้ฝาง, หนังสัตว์, อาหาร, ผลเร่ว เป็นต้น

ฉะนั้น บ้านเมืองที่อยู่ใกล้ทะเลเกิดการปรับตัวเพื่อสนองความต้องการของตลาดที่มีจีน และสําเภาจีนเริ่มมีบทบาท ส่งผลให้รัฐรุ่นเก่า เช่น ที่อู่ทองลดความสําคัญ แล้วเกิดศูนย์กลางแห่งใหม่บริเวณแม่น้ำท่าจีน

2. ศาสนา-การเมือง ก่อนหน้านั้นบ้านเมืองลุ่มน้ำเจ้าพระยา นับถือศาสนาแบบทวารวดี

ครั้นหลัง พ.ศ.1500 ศาสนาพุทธเถรวาทแบบลังกาเป็นที่นิยมและมีอำนาจมากขึ้น เพราะเกื้อกูลอุดหนุนลักษณะการค้าใหม่ โดยเฉพาะการค้าจีน ชนชั้นนำรุ่นใหม่ของบ้านเมืองต่างๆ นับถือมากขึ้นในศาสนาพุทธ เถรวาทแบบลังกา (ยกย่องรามเกียรติ์) พร้อมกับการขยายตัวของการค้าทางบก

ช่วงเวลาเดียวกันนี้ภาษาไท-ไตเริ่มแพร่หลายมากขึ้นในดินแดนที่เป็นประเทศไทยปัจจุบัน ซึ่งนักวิชาการวิจัยพบว่าปัจจัยสําคัญที่สุดน่าจะเป็นการค้าภายใน เนื่องจากพวกไท-ไตตั้งภูมิลําเนาในหุบเขาขนาดเล็กมาก่อน เมื่อมีประชากรเพิ่มขึ้นจึงผลิตอาหารไม่พอ ต้องพึ่งพิงการค้าทางไกลเข้ามาช่วยในการดํารงชีพ ฉะนั้น จึงน่าจะมีบทบาทมากในการค้าภายในซึ่งเฟื่องฟูเพิ่มขึ้นในช่วงนี้ และทําให้ภาษาไท-ไตกลายเป็นภาษากลาง อย่างน้อยก็ในการค้าภายในประชาชนที่มีชาติพันธุ์อันหลากหลาย ทั้งที่อยู่ในที่ราบลุ่ม หรือบนที่สูง พอจะเข้าใจภาษาไท-ไตได้ในระดับหนึ่ง

เมืองอโยธยาของชาวสยาม มีหลักฐานมากเกินกว่าจะบอกได้ทั้งหมด ถ้าอยากรู้ให้ดูจากหนังสือ อโยธยา ก่อนสุโขทัย ต้นกำเนิดอยุธยา โดย รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล (สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2567)

ความเป็นเมืองของอโยธยา น่าจะมี 2 สมัย คือ สมัยแรก กับ สมัยหลัง

1. สมัยแรก อโยธยาไม่มีคูน้ำคันดิน เมื่อพุทธศตวรรษที่ 17 ราวหลัง พ.ศ.1600 เป็นชุมชนขนาดใหญ่บนเส้นทางการค้าของดินแดนภายใน มีขึ้นจากการขยายลงมาของเมืองอู่ตะเภา (วัฒนธรรมทวารวดี อ.หนองแซง จ.สระบุรี) ซึ่งอยู่ต่อเนื่องพื้นที่อยุธยา (ด้านทิศเหนือ) และจากการรวมตัวกันของหลายๆ ชุมชนหมู่บ้านบนที่ราบลุ่มบริเวณรอบๆ

วัง ทำด้วยไม้ เหมือนคุ้มหลวง, เรือนจันทน์

วัด แยกเป็นสถูปเจดีย์กับโบสถ์วิหารการเปรียญและกุฏิสงฆ์ สถูปเจดีย์ ทำด้วยอิฐ แต่ถูกสร้างใหม่ครอบ ทำด้วยไม้ที่ย่อยสลายหมดแล้ว

อโยธยามิได้กำเนิดในพริบตาเดียวหรือชั่วข้ามปี แต่ต้องใช้เวลาก่อตัวแล้วมีพัฒนาการนับร้อยๆ ปีก่อนเป็นเมืองมีคูน้ำคันดิน

2. สมัยหลัง เมืองอโยธยามีคูน้ำคันดิน เมื่อพุทธศตวรรษที่ 18 ราวหลัง พ.ศ.1700 แรกมีคูน้ำคันดินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า (ผังเมืองแบบเดียวกันและคราวเดียวกันกับเมืองสุพรรณภูมิ จ.สุพรรณบุรี)

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากการค้ากับจีนขยายตัวกว้างขวางมากกว่าแต่ก่อน เพราะเทคโนโลยีการเดินเรือสมุทรมีสูงขึ้น ขนาดของเรือใหญ่ขึ้น บรรทุกสินค้ามากขึ้น บ้านเมืองมั่งคั่งขึ้น ทำให้กษัตริย์มีทรัพยากรมากพอในการเกณฑ์แรงงานสร้างคูน้ำกำแพงเมือง

อโยธยามีชุมชนขนาดใหญ่ระดับชุมชนเมือง แต่การขุดค้นทางโบราณคดีหาชุมชนชาวบ้านทั่วไปน่าจะไม่พบ หรือพบลำบากมาก เพราะสภาพวิถีชีวิตประจำวันของชาวบ้านไม่เอื้อให้เหลือหลักฐานเพื่อนักโบราณคดีขุดพบ

ในไทยมีประสบการณ์ไม่มากพอต่อการขุดค้นทางโบราณคดีเพื่อศึกษาวิถีชุมชนชาวบ้านทั่วไป เนื่องจากที่ผ่านมาทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดเป็นการขุดค้นหลุมศพ (สมัยก่อนประวัติศาสตร์) และขุดค้นโบราณสถานวัดวังเพื่อการบูรณะเท่านั้น

ส่วนหลักฐานที่นักโบราณคดีขุดพบ “บางแห่ง” เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของชนชั้นนำ หรือเศรษฐีมีทรัพย์ จึงพบภาชนะหลากหลาย โดยเฉพาะเครื่องถ้วยจีน (ซึ่งชาวบ้านทั่วไปไม่มีใช้) ดังนั้น จะใช้เป็นหลักฐานชี้ขาดความเป็นเมืองอโยธยามิได้

ชนชั้นต่างระดับ เครื่องมือเครื่องใช้สมัยอโยธยาเป็นไปตามชนชั้นทางสังคมที่มีต่างระดับ ดังนี้

1. ชนชั้นนำ และเครือญาติชนชั้นนำ มีภาชนะหลากหลายทั้งที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีต่ำในประเทศ และผลิตด้วยเทคโนโลยีสูงจากต่างประเทศ เช่น จีน, เวียดนาม, กัมพูชา เป็นต้น

2. ชาวบ้านทั่วไป อยู่เรือนเครื่องผูก มีพื้นฟากไม้ไผ่ โดยมุงหลังคาด้วยจากและหญ้าคา ไม่มีภาชนะผลิตจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากจีน

ภาชนะที่ใช้ในชีวิตประจำวันผลิตในชุมชนซึ่งมีเทคโนโลยีต่ำ มีหม้อดินเป็นหลักใช้หุงหรือนึ่ง ส่วนภาชนะอย่างอื่นจากธรรมชาติ ได้แก่ กระบอกไผ่, ใบไม้ (เช่น ใบตอง ฯลฯ), กาบกล้วย ฯลฯ ซึ่งย่อยสลายไม่เหลือซาก

ภาชนะดินเผาและเครื่องมือเครื่องใช้ (ของชนชั้นนำ) จากการขุดค้นของนักโบราณคดีไทย ไม่ใช่หลักฐานชี้ขาดการมีชุมชนทั่วไปสมัยก่อนๆ ดังนี้

[หนึ่ง] ภาชนะดินเผาและเครื่องมือเครื่องใช้ที่ได้จากการขุดค้นทางโบราณคดีส่วนมากหรือเกือบทั้งหมด เป็นสิ่งของได้จากหลุมศพชนชั้นนำและเครือญาติตามความเชื่อเรื่องขวัญในศาสนาผี ซึ่งไม่ใช่สมบัติของชาวบ้าน

แม้ภาชนะจีนที่ขุดได้จากชุมชนเดิม (ไม่ใช่หลุมศพ) ก็ไม่ใช่หลักแหล่งทั้งหมดของความเป็นเมือง หากเฉพาะชุมชนคนมั่งมี ซึ่งมิใช่ประชาชนทั้งเมือง

[สอง] ชาวบ้านสามัญชนคนทั่วไปไม่ฝังศพ เมื่อมีคนตายก็เอาศพไปวางสถานที่จัดไว้ให้แร้งกากินตามความเชื่อทางศาสนาผี และไม่พบเศษภาชนะเครื่องมือเครื่องใช้ (ตามกรอบคิดกระแสหลัก) •

 

 

| สุจิตต์ วงษ์เทศ