ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 14 - 20 กุมภาพันธ์ 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | มองบ้านมองเมือง |
ผู้เขียน | ปริญญา ตรีน้อยใส |
เผยแพร่ |
หลังจาก มองบ้านมองเมือง ส่งเสียงก้องจากภูเก็ต และจากเชียงใหม่ไปแล้ว มีคนเห็นดีเห็นงาม และส่งเสียงก้องจากเมืองอื่นๆ หลายบ้านหลายเมือง ล้วนมีปัญหารุนแรง จึงอยากจะเป็นเขตปกครองพิเศษแบบ กรุงเทพฯ และพัทยาบ้าง
คงเป็นเพราะการพัฒนาประเทศในช่วงเวลาที่ผ่านมา สถานการณ์ภูมิศาสตร์การเมืองโลกเปลี่ยนไป ผนวกกับการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ทำให้หลายพื้นที่เปลี่ยนสภาพจากความเป็นชนบท สู่ความเป็นเมือง ทำให้โครงสร้างพื้นฐาน ทั้งสาธารณูปโภค สาธารณูปการ ไม่พอเพียง หรือไม่พร้อมรองรับจำนวนคนเมือง หรือวิถีชีวิตแบบเมือง
ยังดีว่า บริการด้านสาธารณสุข และการศึกษา รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกการค้าการพาณิชย์ การโรงแรม รวมทั้งที่อยู่อาศัย ผู้มีรายได้มากพอนั้น ภาคเอกชนเข้ามาร่วมวงด้วยความเต็มใจ หรือการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี ช่วยแก้ปัญหาการสื่อสาร และกิจการสื่อมวลชนได้เกินคาด
แต่เรื่องที่เหลืออยู่ ล้วนเป็นปัญหารุนแรง และยุ่งยากเกินพละกำลังของคนในพื้นที่ และหน่วยงานในพื้นที่ โดยเฉพาะการปกครองส่วนท้องถิ่น
ย้อนอดีตในประวัติศาสตร์ เมื่อความเจริญในประเทศตะวันตกแผ่อิทธิพล ถึงขั้นรุกฆาตบ้านเรา รัฐสยามในตอนนั้น ยังบริหารบ้านเมืองแบบหัวเมืองและประเทศราชอยู่ แต่ละเมืองดูแลโดยเจ้าเมือง หรือผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ ทำให้เกิดความล้าหลังและยากลำบาก
แม้จะมีการปรับเปลี่ยนเป็นหัวเมืองชั้นนอกชั้นใน และส่งคนจากพระนครไปดูแล ก็ยังมีปัญหา ดังที่ปรากฏในพระราชดำรัสแถลง พระบรมราชาธิบาย แก้ไขการปกครองแผ่นดิน ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ.2430 มีความว่า
…การปกครองอย่างเก่านั้น ก็ยิ่งไม่สมกับความต้องการของบ้านเมือง หนักขึ้นทุกที จึงได้มีความประสงค์อันยิ่งใหญ่ ที่จะแก้ไขทำการปกครอง ให้สมกับเวลา ให้เป็นทางที่จะเจริญแก่บ้านเมือง…
อันเป็นที่มาของการเปลี่ยนแปลงระบบบริหารราชการ มาเป็น จังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน รวมทั้งระบบบริหารส่วนท้องถิ่น เป็น เทศบาลนคร เทศบาลเมือง และเทศบาลตำบล ต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้
และเมื่อสี่ห้าสิบปีที่แล้ว เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานต่างๆ พื้นที่ในกรุงเทพฯ คณะปฏิวัติจึงอาศัยอำนาจที่มี ประกาศรวมเทศบาลนครกรุงเทพ และเทศบาลนครธนบุรี เป็น เทศบาลนครหลวง ในตอนแรก และเป็น เขตปกครองพิเศษ กรุงเทพมหานคร ในตอนหลัง
ทุกวันนี้ ความเจริญทางด้านเทคโนเทคโนโลยี สภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนไป ไม่ใช่เฉพาะภูเก็ต หรือเชียงใหม่ ที่มีปัญหา และเรียกร้องเป็นเขตพิเศษ ชุมชนเมืองอีกหลายแห่งที่มีประชากรมากกว่า หรือมีปัญหามากกว่า ล้วนต้องการระบบการบริหารราชการแบบใหม่
อาทิ เทศบาลนครสมเด็จเจ้าพระยาสุรศักดิ์ ที่ศรีราชา ที่เป็นพื้นที่อุตสาหกรรม และคลังสินค้า เทศบาลนครแหลมฉบัง ที่บางละมุง ที่ตั้งท่าเรือน้ำลึกหลักของประเทศ เทศบาลนครรังสิตและเทศบาลนครอ้อมน้อย พื้นที่ชุมชนหนาแน่น รอบนอกกรุงเทพมหานคร เทศบาลนครเกาะสมุย ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล หรือเทศบาลนครแม่สอด ที่เป็นศูนย์การค้าชายแดนฝั่งพม่า
นอกจากระบบการปกครองส่วนท้องถิ่นที่ไม่เหมาะกับสภาวการณ์แล้ว กิจการสาธารณูปโภค อย่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การประปานครหลวง และการประปาส่วนภูมิภาค ล้วนพ้นสมัย ไม่ตอบรับกับความเจริญและเทคโนโลยีปัจจุบัน ยังไม่รวมปัญหาน้ำท่วม ที่เป็นข่าวทุกปี
ไม่รู้ว่าจะต้องย้อนกลับไปอาศัยอำนาจในระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือพึ่งการปฏิวัติครั้งต่อไป ถึงจะเปลี่ยนระบบการบริหาร เพื่อแก้ปัญหาที่เป็นอยู่
ที่แน่นอน ไม่มีความหวังใดจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ที่รู้แต่วิธีการหาเสียงจากนโยบายประชานิยม แต่ไม่ได้แก้ปัญหาที่ประชาชนในแต่ละพื้นที่ที่ส่งเสียงก้องดังทั่วประเทศ •
มองบ้านมองเมือง | ปริญญา ตรีน้อยใส
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022