ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 14 - 20 กุมภาพันธ์ 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งพาตนเอง |
เผยแพร่ |
นํ้าคู่กับปลา ฟ้าคู่กับนก แล้ว “เซียน” คู่กับอะไร
คำตอบคือ “หูหลู” หรือ “ลูกน้ำเต้า” ซึ่งกลายเป็นผลไม้วิเศษของเหล่าเซียนและเทพเจ้า นับเป็นปกรณัมคลาสสิคในอารยธรรมจีนอันเก่าแก่ถึง 5,000 ปี แต่ก็ยังมีข้อสันนิษฐานว่าน้ำเต้ามีอายุเก่าแก่กว่านั้นก่อนยุคประวัติศาสตร์เสียอีก คือมีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในทวีปแอฟริกาซึ่งเป็นจุดกำเนิดของมนุษย์ดึกดำบรรพ์ น้ำเต้าจึงเป็นพืชผักสวนครัวรั้วกินได้ชนิดแรกๆ ที่มนุษย์นำเมล็ดติดตัวไปขยายพันธุ์ในที่ต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้งในอุษาคเนย์ด้วย
เชื่อกันว่าชนชาติไทลาวลุ่มแม่น้ำโขงมีกำเนิดจากน้ำเต้าปุงหรือน้ำเต้ายักษ์มาแต่ครั้งขุนบรมปฐมกาลที่เริ่มมีเผ่าพันธุ์มนุษย์เข้ามาตั้งรกรากในดินแดนโคตรบูร ดังหลักฐานปรากฏในนิทานขุนบรมอันเป็นคติชนวิทยาปรัมปราของชุมชนลุ่มแม่น้ำโขงซึ่งมีบันทึกอยู่ใน “พงศาวดารล้านช้าง” ที่ว่าด้วยน้ำเต้าแหล่งให้กำเนิดมนุษย์ตอนหนึ่งว่า
“คนทั้งหลายฝูงเกิดในผลหมากน้ำเต้า ฝูงนั้นก็ร้องนี่นั่นมากนักในหมากน้ำเต้านั้นแล ยามนั้น ปู่ลางเชิงจึงเผาเหล็กชีแดง (เหล็กแหลมเผาไฟจนร้อนแดง) ชี (เจาะ) หมากน้ำเต้านั้น คนทั้งหลายจึงบุเบียดกันออกมาจากทางฮู (รู) ที่ชี (เจาะ) นั้น ก็บ่เบิ่งคับคั่งกัน ขุนคานจึงเอาสิ่วไปสิ่วฮู (ตอกเจาะรู) ให้เป็นฮูแควนใหญ่ (รูร่องใหญ่) แควนกว้าง (ร่องกว้าง) คนทั้งหลายก็ลุไหลออกมา นานประมาณ 3 วัน 3 คืน จึงหมดหั้นแล…”
ถอดความได้ว่า “เมื่อผลน้ำเต้าปุง (น้ำเต้ายักษ์) นั้นแก่จัดเต็มที่แล้ว ก็ได้ปรากฏมีมนุษย์จำนวนมากมายเกิดอยู่ในผลน้ำเต้านั้น ปู่ลางเชิง (มนุษย์ 1 ใน 3 คนของพระยาแถนที่รอดชีวิตจากน้ำท่วมโลก) จึงเผาเหล็กจนร้อนแดงแล้วจี้ทะลุผิวของผลน้ำเต้ายักษ์นั้นให้เป็นรู เหล่ามนุษย์ที่ออกจากรูจึงมีผิวพรรณที่คล้ำเพราะถูกรมด้วยควันที่ถูกเหล็กแดงจี้ ส่วนขุนคาน (มนุษย์ 1 ใน 3 คนของพระยาแถนที่รอดชีวิตจากน้ำท่วมโลก) ก็ได้นำเอาสิ่วมาตอกเจาะผิวของผลน้ำเต้ายักษ์นั้นเป็นร่องจนทะลุ เหล่ามนุษย์ที่ออกมาจึงมีผิวพรรณที่ไม่คล้ำ และเป็นนายของพวกมนุษย์ผิวคล้ำที่ออกมาจากน้ำเต้าลูกแรก มนุษย์ทั้งหลายที่อยู่ในน้ำเต้ายักษ์นั้นก็เบียดเสียดกันออกมานานถึงสามวันสามคืนจึงหมด”
เชื่อกันว่ากลุ่มชนทั้งหลายที่ถือกำเนิดออกจากน้ำเต้ายักษ์เหล่านี้แหละก็คือบรรพบุรุษของกลุ่มชาติพันธุ์ไทลาวนั่นเอง
น่าแปลกที่นิทานคติชนวิทยาของหลายเชื้อชาติก็เชื่อว่าน้ำเต้าเป็นประหนึ่งมดลูกศักดิ์สิทธิ์ที่ให้กำเนิดชาติพันธุ์ของพวกตน โดยที่ลูกน้ำเต้าก็มีรูปลักษณ์คล้ายมดลูกอีกด้วย
นํ้าเต้าจึงเป็นวัตถุบูชาดั้งเดิมของมนุษย์หลายชาติพันธุ์ ในฐานะเป็นสัญลักษณ์ของ “กายแม่” การบูชาน้ำเต้าก็คือการเคารพบูชาแม่ผู้ให้กำเนิด แต่ที่มีความหมายล้ำลึกกว่านั้นก็คือ เมื่อคนเรากำเนิดมาจากน้ำเต้าก็ย่อมกลับคืนสู่น้ำเต้าเมื่อตายแล้ว
ดังนั้น วัฒนธรรมของชนกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขงจึงมีเครื่องดนตรีที่เป็นสัญลักษณ์ของน้ำเต้า บรรเลงในพิธีปลงศพ เช่น พิณน้ำเต้า แคนน้ำเต้า ปี่น้ำเต้า กลองมโหระทึก เป็นต้น
ทั้งยังเก็บกระดูกไว้ในภาชนะรูปทรงเลียนแบบน้ำเต้าอีกด้วย เดี๋ยวนี้คนไทยยุคใหม่คงไม่สนใจคตินิทานโบราณเรื่องน้ำเต้ากันแล้ว แต่ยังมีสำนวนเก่าแก่ที่คนไทยจดจำกันได้ในเพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา ที่กล่าวถึงน้ำเต้าว่า
“ผู้มีศีลจะเสียซึ่งอำนาจ นักปราชญ์จะตกต่ำต้อย กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย น้ำเต้าอันลอยนั้นจะถอยจม”
แถมยังมีสร้อยเติมอีกว่า “ผู้ดีจะเดินตรอก ขี้ครอกจะเดินถนน” ซึ่งนอกจากจะเปรียบน้ำเต้าเป็นฝ่ายผู้ดีแล้ว ยังบ่งบอกคุณสมบัติพิเศษของน้ำเต้าว่าเป็นภาชนะกลวงเบา ซึ่งคนไทยสมัยโบราณคุ้นเคยกับการใช้ผลน้ำเต้าแห้งทำเป็นทุ่นประกอบเครื่องมือการจับปลา เช่น เบ็ดน้ำเต้าหรืออวนล้อมผูกทุ่นน้ำเต้า เป็นต้น ดังนั้น ถ้าน้ำเต้าน้อยถอยจมก็ถือเป็นเรื่องผิดธรรมชาติเอามากๆ ตรงนี้เองที่ทำให้ผลน้ำเต้าแตกต่างจากผลของพืชเถาล้มลุกจำพวกฟักแฟงแตงที่อยู่ในวงศ์ Cucurbitaceae ด้วยกัน
กล่าวคือ ผลผักจำพวกฟักแฟงแตงทั้งหลายเมื่อแก่จัดแล้วเปลือกและเนื้อในจะแห้งเหี่ยวจนลีบ ในขณะที่ผลน้ำเต้าแก่จัดเมื่อตากแห้งแล้วเปลือกจะแข็งโป๊กคงรูปลักษณ์เดิม แต่เนื้อในจะแห้งฟ่อกลายเป็นโพลงกลวงคงเหลือแต่เมล็ดแห้งมากมายอยู่ภายใน เขย่าเสียงดังกรอกแกรกเหมือนสั่นลูกแซก (มาราคัส) เครื่องดนตรีเก่าแก่ที่เคยทำจากผลน้ำเต้า ที่เป็นเช่นนี้เพราะผลน้ำเต้าสดมีน้ำเป็นองค์ประกอบถึง 95% (ผลน้ำเต้าหนักหนัก 100 กรัม มีน้ำเป็นส่วนประกอบ 95.5 มิลลิลิตร) ดังนั้น เมื่อน้ำในผลน้ำเต้าแห้งเหือดไป ภายในจึงกลวงเหลือแต่เปลือก เป็นภาชนะรูปทรงแจกันหรือขวด ตามชื่อเรียกสกุลทางพฤกษศาสตร์ว่า Largenaria (ภาษากรีก lagenos แปลว่า “แจกัน”) และยังมีชื่อสามัญภาษาอังกฤษว่า Bottle Gourd หรือฟักทรงขวด
เชื่อว่าน้ำเต้าเป็นภาชนะแรกที่มนุษย์นิยมใช้ใส่น้ำพกพา และเป็นต้นแบบของน้ำต้นดินเผาและน้ำขวดพลาสติกในยุคต่อมา
นํ้าเต้าเป็นพืชจำพวกผักโบราณที่ให้ผลและใบกินได้ ปลูกง่ายขยายพันธุ์เร็ว ไม่มีแมลงรบกวน ทนทานต่อศัตรูพืช ไม่ต้องลงทุนดูแลมาก กระทั่งมีคำกล่าวเก่าแก่ว่า ครอบครัวใดมีลูกหลานมากและฐานะยากจนให้ปลูกน้ำเต้า เพราะนอกจากไม่ต้องลงทุนดูแลมากแล้ว ยังจะได้ผลน้ำเต้ามากมายเพียงพอสำหรับเลี้ยงเด็กๆ อย่างแน่นอน น้ำเต้าน่าจะเป็นพืชสวนครัวที่ป๊อปปูลาร์พอควร ขนาดฝรั่งนักบันทึกอย่างหมอบรัดเลย์ยังบัญญัติศัพท์ไว้ในหนังสือ “อักขราภิธานศรับท์” พ.ศ.2416 ของท่านโดยให้คำจำกัดความไว้ว่า
“น้ำเต้า : คือผักอย่างหนึ่ง ลูกกลมๆ คอคอด ต้มแกงกินได้ เช่น น้ำเต้าที่แกงเลียงกิน” นอกจากผลน้ำเต้าอ่อนแล้ว ใบและยอดน้ำเต้ายังใช้ปรุงอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงมาก คืออุดมด้วยวิตามินและแร่ธาตุอีกหลากหลายชนิด เช่น วิตามินซี วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 6 สังกะสี ทองแดง แมงกานีส ที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกาย
อาหารพื้นบ้านที่นิยมใช้น้ำเต้าอ่อนปรุงเป็นผักก็คือ แกงเลียง แกงส้ม ผัดน้ำมัน และต้มเป็นผักจิ้ม เป็นต้น
ปัจจุบันยังมีการคิดค้นสูตรอาหารน้ำเต้าและขนมน้ำเต้าเมนูเด็ดใหม่ๆ อีกนับร้อยเมนู
แต่ที่น่าสนใจในที่นี้คือ สรรพคุณสามัญทางยาที่ไม่ธรรมดาของน้ำเต้าพืชผักสวนครัวใกล้ตัว เอาเฉพาะในตำรายาหลวงทั้งแพทยศาสตร์สงเคราะห์และตำราพระโอสถพระนารายณ์ มีตำรับยาที่ใช้ส่วนต่างๆ ของน้ำเต้า เช่น ใบ ผล เปลือกผล ราก หรือแม้กระทั่งส่วนที่เรียกว่ามือน้ำเต้า (คือหนวดจากเถาที่ใช้จับเกาะเกี่ยว) เพื่อประกอบยาถึง 24 ตำรับ ส่วนใหญ่เป็นยาเย็นดับพิษทรางเจ้าเรือน ทรางจรในเด็ก ยาแก้อาโปธาตุพิการและยาแก้ตรีโทษ เป็นต้น แต่หากใช้น้ำเต้าอย่างเดียวทำยาตามภูมิปัญญาโบราณมีสรรพคุณรักษาอาการโรคต่างๆ คือ
น้ำต้มรากน้ำเต้าแก้อาการบวมน้ำตามร่างกาย
ใบอ่อนลวกกินเป็นยาระบายอ่อนๆ
น้ำต้มใบกับน้ำตาลกรวดดื่มแก้โรคดีซ่าน
ใบสดผสมสุราและขี้วัวสดหรือแห้งตำคั้นเอาน้ำพอกทาแก้เริม ไฟลามทุ่ง งูสวัด ลมพิษพุพอง ฟกบวม และถอนพิษได้
ผลและเปลือกต้มเป็นยาเย็นดับพิษไข้ ขับปัสสาวะ ขับนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ใช้สระผมหรือสุมหัวเด็กทารกแก้ไข้ได้
โคนขั้วผลกินเป็นยาแก้อาการปวดท้อง
เมล็ดแก่บดกินเป็นยาขับพยาธิและแก้อาการบวมน้ำ
น้ำมันจากเมล็ดใช้นวดศีรษะแก้อาการผิดปกติทางประสาท
ปัจจุบันมีงานวิจัยศึกษาเรื่อง ความสามารถในการลดไขมันและต้านอนุมูลอิสระในผู้ที่มีภาวะไขมันในเลือดสูงของสารสกัดจากผลน้ำเต้า พบว่าสารฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) ในผลน้ำเต้าช่วยควบคุมไขมันในเลือด โดยสารฟลาโวนอยด์ที่กินเข้าไปจะถูกย่อยสลายเป็นกรดฟีนอลิก (Phenolic acid) ที่สามารถกำจัดอนุมูลอิสระได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเกี่ยวกับหัวใจ และช่วยควบคุมโรคเบาหวานได้ผลดี
ผ่านปีใหม่ฝรั่ง เข้าปีใหม่จีนแล้ว นอกจากจะใช้น้ำเต้าเป็นวัตถุมงคลเพื่อดูดทรัพย์และสร้างพลังบวกตามความเชื่อโบราณแล้ว
น้ำเต้ายังเป็นพืชผักสวนครัวใกล้ตัวใช้ปรุงอาหารสุขภาพและเป็นยาเย็นดับพิษร้อนถอนพิษไข้ ช่วยขับปัสสาวะในเด็กและผู้ใหญ่อย่างปลอดภัยและได้ผลดี •
สมุนไพรเพื่อสุขภาพ | โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งพาตนเอง
มูลนิธิสุขภาพไทย www.thaihof.org
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022