สานฝันให้เป็นจริง กับกฎหมายสมรสเท่าเทียม | ธงทอง จันทรางศุ

ธงทอง จันทรางศุ

ในขณะที่ผมนั่งเขียนบทความคราวนี้อยู่ เป็นช่วงค่ำของวันจันทร์ที่ 21 มกราคม 2568 อีกเพียงสองวันนับจากวันนี้ จะเป็นวันที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ฉบับใหม่ ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่า “กฎหมายสมรสเท่าเทียม” จะมีผลบังคับใช้

ผมได้ทราบจากข่าวสารสาธารณะว่า มีคู่รักที่มีเพศกำเนิดเป็นเพศเดียวกันนัดหมายจะไปจดทะเบียนสมรสในวันที่ 23 มกราคมนี้หลายคู่

และหลังจากวันดังกล่าวไปแล้ว การจดทะเบียนสมรสระหว่าง “บุคคล” กับ “บุคคล” ก็จะเป็นเรื่องปกติสำหรับสังคมไทย

ผมคิดว่าเมื่อถึงวันนั้นย่อมไม่มีความจำเป็นที่การสมรสเท่าเทียมในลักษณะนี้จะต้องเป็นข่าวทุกวันไป

ถ้าขืนต้องเป็นข่าวทุกครั้งไป คนอ่านข่าวจะเบื่อเสียเปล่าๆ

แน่นอนครับว่า ในช่วงที่กฎหมายดังกล่าวเริ่มมีผลบังคับใช้ ย่อมมีความรู้สึกทั้งมุมบวกและมุมลบ

ในทางมุมบวกก็เป็นเรื่องที่มีคนปีติยินดีที่ได้เห็นกฎหมายบ้านเราเปิดใจกว้าง ยอมรับความจริงที่มีอยู่ในสังคมมาช้านานแล้วให้ปรากฏเป็นรูปธรรมขึ้นในระบบกฎหมาย

พูดไปทำไมมี การใช้ชีวิตคู่ระหว่างบุคคลสองคนที่มีเพศกำเนิดเดียวกัน ไม่ได้เพิ่งเริ่มต้นขึ้นในวันที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมมีผลใช้บังคับเสียเมื่อไหร่ การประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้เป็นเพียงการรองรับข้อเท็จจริงที่มีอยู่แล้วให้ปรากฏตัวตนขึ้นในระบบกฎหมายเท่านั้น

เพื่อแก้ข้อขัดข้องจากการที่กฎหมายบ้านเราปิดตาหรือเปิดตาแต่ทำเป็นมองข้ามไม่เห็นข้อเท็จจริงเหล่านี้มานานปี ทำให้ “ครอบครัว” ที่เกิดขึ้นจริงตามธรรมชาติดังกล่าวต้องพบกับปัญหาทางกฎหมายสารพันที่ติดตามมา

ตัวอย่างที่พูดกันมากก็เช่น สิทธิในการจัดการทรัพย์สินร่วมกัน การรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน และข้อสำคัญที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า คือ การให้ความยินยอมหรือคำอนุญาตในการรักษาพยาบาลเมื่อเกิดเหตุวิกฤตขึ้น

นั่นเป็นมุมบวกที่มองเห็นได้ชัดเจน และหลายเวทีก็ได้พูดกันถึงกฎหมายเรื่องนี้มาหลายรอบแล้ว

แต่ผมก็ต้องยอมรับเหมือนกันว่า ในทางตรงกันข้ามก็คงมีคนที่คิดวิตกกังวลไปต่างๆ นานา เช่น เกรงว่าครอบครัวแบบใหม่นี้จะทำให้เกิดปัญหาสังคมที่ไทยเราไม่คุ้นเคยติดตามมา แต่ผมยังนึกไม่ออกนะครับว่าปัญหาอะไรจะเกิดขึ้นจากกรณีนี้ อย่างไรก็ดี เราก็ต้องติดตามคอยดูกันต่อไป

ผมนึกว่าสถานการณ์ในปี 2568 นี้ น่าจะไม่แตกต่างจากการประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ว่าด้วยครอบครัวคราวแรกเมื่อพุทธศักราช 2477

เพราะการออกกฎหมายฉบับใหม่คราวนั้นเป็นเรื่องที่สังคมไทยส่วนหนึ่งยังรู้สึกเก้อเขิน และคิดวิตกไปมากมายว่าจะทำให้ระบบสังคมไทยที่มีครอบครัวแบบเก่าจะต้องได้รับผลกระทบกระเทือน แล้วเมืองไทยของเราจะเป็นอย่างไรหนอ

ครอบครัวของไทยเราก่อนการประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ครั้งนั้น เป็นครอบครัวที่ได้รับการรองรับหรือก่อกำเนิดขึ้นด้วยกฎหมายที่ชื่อว่า “กฎหมายลักษณะผัวเมีย” เริ่มใช้บังคับมาตั้งแต่สมัยกลางกรุงศรีอยุธยาโน่น และก็ใช้บังคับมายาวนานจนกระทั่งถึงต้นรัชกาลที่แปด

ระบบกฎหมายดังกล่าวยอมรับสังคมไทยที่มีครอบครัวประกอบด้วยผู้ชายหนึ่งคนทำหน้าที่เป็นสามี โดยมีหญิงหลายคนทำหน้าที่รับบทบาทเป็นภริยา

ถ้าว่ากันให้ครบถ้วนตามตัวบทกฎหมายภริยาก็มีตั้งแต่ภริยาพระราชทาน เรื่อยลงไปจนถึงทาสภริยา ภริยาแต่ละประเภทแต่ละคนมีสิทธิแตกต่างกัน ลูกที่เกิดมาจากภริยาแต่ละประเภทก็มีสิทธิหรือด้อยสิทธิไม่เหมือนกัน

กฎหมายผัวเมียเช่นว่านั้นสอดคล้องกับยุคสมัยที่ผู้หญิงอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน บทบาทของผู้ชายในสังคมเป็นบทบาทนำอยู่เสมอ ผู้หญิงครั้งนั้นอยู่เดี่ยวตามลำพังโดยไม่รับความคุ้มครองจากพ่อ พี่ชาย สามี หรือลูกชาย เป็นเรื่องที่คนคิดไปไม่ถึงเลยทีเดียว ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้หญิงแล้วร้อยละเกือบร้อยต้องมีผัวมีลูกด้วยกันทั้งสิ้น จะมีข้อยกเว้นอยู่บ้างก็น้อยรายเต็มที

คุณค่าของคำว่า ครอบครัว ในสังคมครั้งนั้น จึงมีความหมายเฉพาะที่เหมาะสมกับบริบททางสังคมตามยุคสมัย ไม่มีใครเห็นแปลกที่ผู้ชายจะมีเมียหลายคน ตรงกันข้าม กลับเห็นแปลกที่ผู้หญิงจะไม่มีผัว

แต่ลองนึกดูนะครับว่าเมื่อวันเวลาผ่านไปหลายร้อยปี ชีวิตของผู้หญิงไม่ได้ถูกจำกัดพื้นที่อยู่แค่ในห้องนอนหรือในห้องครัวเท่านั้นอีกต่อไป แต่ผู้หญิงไทยได้เรียนหนังสือ ได้เห็นโลกกว้าง ได้เห็นทางเลือกที่ไม่เคยเห็นมาแต่ก่อน และแน่นอนว่าหมายความรวมถึง การเห็นคุณค่าของตัวเองว่าไม่ได้ด้อยไปกว่าผู้ชายคนใดคนหนึ่งเลย

ถ้าจะมีครอบครัวของตัวเองก็ตั้งความหวังใหม่ว่าครอบครัวที่ว่านี้ควรจะประกอบด้วยสมาชิกเพียงแค่สองคน เรียกว่าสามีและภริยา

ไม่ใช่สามีและภริยาทั้งปวงอีกต่อไป ฮา!

ผมเคยค้นดูรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในขณะที่พิจารณายกร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัว หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 ใหม่ๆ

การอภิปรายในสภาครั้งนั้นสนุกน่าดูเลยครับ ในขณะที่เสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยกับความเปลี่ยนแปลง และมีทัศนะว่าถึงเวลาแล้วที่ระบบชายมีภริยาได้หลายคนตามกฏหมายผัวเมียต้องถึงจุดสิ้นสุด และครอบครัวยุคใหม่ที่มีเพียงแค่สามีและภริยาจะต้องเกิดขึ้น

แต่พร้อมกันนั้น สมาชิกอีกจำนวนหนึ่งก็มีความวิตกกังวลว่าความเปลี่ยนแปลงเช่นว่านี้จะเป็นการรวดเร็วเกินไปหรือไม่สำหรับเมืองไทยของเรา เพราะคุ้นเคยกับระบบเดิมมาช้านาน อย่าเพิ่งเปลี่ยนแปลงรวดเร็วเลย รออีกหน่อยได้ไหม

การอภิปรายอย่างนี้เป็นเรื่องที่เราพบเห็นได้บ่อยครั้งเมื่อมีการเสนอร่างกฎหมายใหม่ที่เปลี่ยนแปลงหลักคิดเก่าซึ่งใช้มานานปีให้ก้าวเดินต่อไปข้างหน้าเพื่อให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแล้วในสังคมไทยและในโลก จะมีคนจำนวนหนึ่งท้วงติงด้วยความไม่มั่นใจในความเปลี่ยนแปลงที่ตัวเองไม่คุ้นเคยเสมอ

แน่นอนครับว่า การอยู่ที่เดิมไม่ต้องขยับเขยื้อนไปไหน หากมองโดยผิวเผินแล้วอาจเห็นว่าเป็นวิธีการที่ปลอดภัยมาก

แต่ต้องไม่ลืมว่า การอยู่ที่เดิมนานเกินไป ในขณะที่คนอื่นก้าวเดินไปข้างหน้าเรื่อยๆ ก็ไม่ได้แปลว่าคนที่ย่ำเท้าอยู่ที่เดิมจะปลอดภัยเสมอไปนะครับ

สัตว์โลกในอดีตหลายชนิดสูญพันธุ์ไปเพราะชอบอยู่แบบเดิมในที่เดิมนี่แหละครับ

หลังจากอภิปรายกันพอหอมปากหอมคอแล้ว การประกาศใช้กฎหมายฉบับใหม่เมื่อ 90 ปีก่อน ก็ทำให้เรามีระบบกฎหมายที่รองรับคำว่าครอบครัวที่ประกอบด้วยผู้ชายหนึ่งคนผู้หญิงหนึ่งคน ทำหน้าที่เป็นสามีและภริยา และมีระบบการจดทะเบียนสมรสเกิดขึ้น แทนการตั้งครอบครัวแบบเดิมที่อาศัยข้อเท็จจริงเป็นหลักไม่มีทะเบียนรองรับ

ผู้ชายคนไหนที่อยากมีภริยาหลายคนก็ต้องยอมรับความจริงว่า กฎหมายยอมให้มีภริยาตามกฎหมายที่จดทะเบียนสมรสได้เพียงแค่คนเดียว

ถ้าจะมีผู้หญิงอื่นมาช่วยแบ่งปันทำหน้าที่ภริยาแล้ว ผู้หญิงคนนั้นก็ต้องยอมรับสภาพความเป็นภริยานอกกฎหมายของตัว และยอมรับผลทั้งปวงที่จะติดตามมาด้วย

ครั้นมาวันนี้บันทึกทางประวัติศาสตร์ก็ต้องจดไว้ว่า ในเดือนมกราคม 2568 คำว่า “ครอบครัว” ของสังคมไทยในสายตาของกฎหมายได้ก้าวเดินไปข้างหน้าครั้งสำคัญอีกหนึ่งก้าว

ตัวบทกฎหมายที่ประกาศใช้ใหม่คราวนี้ ไม่มีคำว่า “สามี” และ “ภริยา” ปรากฏเหลืออยู่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า กฎหมายไปห้ามไม่ให้ใครใช้คำว่า “สามีและภริยา” ในภาษาปากภาษาพูดของตัวเองนะครับ เหมือนกันกับที่เรายกเลิกกฎหมายลักษณะผัวเมียเมื่อ 90 ปีก่อน แต่ก็ไม่ได้ห้ามพูดคำว่า “ผัวเมีย” เสียที่ไหน

ใครอยากเรียกอยากพูดอะไรก็เชิญตามอัธยาศัยครับ กฎหมายไม่มีปัญญาไปเขียนห้ามแน่

การจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายใหม่ สามารถจดทะเบียนได้ระหว่างบุคคลสองคน ไม่ว่าจะมีเพศกำเนิดอย่างใดก็ตาม จะเป็นชายและหญิงจดทะเบียนสมรสกันตามขนบเดิมก็ทำได้ ไม่มีข้อจำกัดกีดขวาง จะเป็นชายจดทะเบียนสมรสกับชาย หรือหญิงจดทะเบียนสมรสกับหญิง ทุกอย่างเป็นไปได้ทั้งนั้น

และเมื่อจดทะเบียนสมรสแล้ว ก็มีฐานะเป็น “คู่สมรส” ที่ได้รับการรับรองว่าเป็นการตั้งต้นครอบครัวที่ถูกต้องตามระบบกฎหมายของประเทศ

กฎหมายลูกหรืออนุบัญญัติของกระทรวงทบวงกรมใดก็ตามที่ไม่สอดคล้องกับกฎหมายสมรสเท่าเทียม ย่อมเป็นหน้าที่ของผู้มีความรับผิดชอบต้องปรับปรุงแก้ไขให้เป็นที่เรียบร้อยภายในกรอบเวลา 180 วัน นับแต่วันประกาศใช้กฎหมายในราชกิจจานุเบกษา

ซึ่งถึงวันนี้ก็พ้นกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว และควรเข้าใจได้ว่า กฎหมายลูกหรืออนุบัญญัติเหล่านั้นได้มีการแก้ไขปรับปรุงให้เข้าท่าเข้าทางเรียบร้อยแล้ว ถ้าหากยังมีตกหล่นอยู่บ้าง ก็ต้องรีบดำเนินการให้ถูกต้องนะครับ

เมื่อได้พูดคุยกันย้อนอดีตตั้งแต่ปีมะโว้สมัยอยุธยามาจนถึงปีมะเส็ง ซึ่งเป็นปีปัจจุบันแล้ว เราจะเห็นได้ว่า กฎหมายที่ว่าด้วยครอบครัวของเมืองไทยนั้น มีพัฒนาการเดินหน้ามาตามยุคสมัย และตามทัศนะของผมแล้ว กฎหมายไม่ได้ทำอะไรมากไปกว่าการเขียนบทบัญญัติให้สะท้อนความจริงที่มีอยู่ในสังคม

ครอบครัวยุคสมัยนี้เป็นเรื่องของความรักและความตกลงร่วมกันระหว่างคนสองคนว่าจะใช้ชีวิตคู่ด้วยกัน จะมีความฝันและช่วยกันทำฝันนั้นให้เป็นความจริงไปด้วยกัน ตามความเป็นจริงของโลกยุคปัจจุบัน คนสองคนในที่นี้จะเป็นใครก็ได้ ไม่ใช่หน้าที่ของนักกฎหมายที่จะไปเขียนว่า ต้องเป็นอย่างนั้นและต้องไม่เป็นอย่างนี้เท่านั้น จึงจะสมรสกันได้

ผมขอถือโอกาสนี้แสดงความยินดีกับคู่สมรสทุกคู่ ไม่เลือกเฉพาะเจาะจงว่ามีเพศกำเนิดอย่างไร ถ้าคุณสองคนได้ตกลงกันแล้วว่าจะเริ่มสร้างครอบครัวด้วยกัน โดยมีความรักเป็นพื้นฐาน มีทิฏฐิคือความเห็นอันเสมอกันว่าจะใช้ชีวิตด้วยกันอย่างไร

ผมขอให้กฎหมายของเมืองไทยฉบับนี้ ช่วยสานฝันของคุณทั้งสองให้เป็นจริงนะครับ