ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 14 - 20 กุมภาพันธ์ 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | จ๋าจ๊ะ วรรณคดี |
ผู้เขียน | ญาดา อารัมภีร |
เผยแพร่ |
ขึ้นชื่อว่า ‘เสือ’ นอกจากหมายถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม กินเนื้อเป็นอาหาร ส่วนใหญ่ออกหากินในเวลากลางคืน มีหลายชนิดตั้งแต่เสือโคร่ง เสือดำ เสือดาว
ความหมายที่แฝงอยู่ในคำนี้มีตั้งแต่ความเก่งกล้าสามารถ ความดุร้ายเหี้ยมโหด อำนาจ ไปจนถึงเล่ห์กล
คำว่า ‘เสือ’ ในถ้อยคำสำนวนที่เกี่ยวกับคน แม้จะเป็น ‘เสือในร่างสมัน’ ก็ยังไว้ใจไม่ได้ เนื่องจากหมายถึงคนร้ายที่แฝงมาในร่างของคนดี ‘เสืออากาศ’ คือ นักบินที่ขับเครื่องบินรบอย่างสามารถ ส่วนผู้ที่เก่งและใช้ความสามารถกอบโกยผลประโยชน์ให้ตนเองอย่าง ‘เสือหิว’ มีความหมายว่า คนมีอำนาจหน้าที่ระดับสูง ฉ้อราษฎร์บังหลวงทุกเรื่องที่มีโอกาส ทุจริตเชิงนโยบายอย่างเนียนๆ
‘เสือลำบาก’ เป็นได้ทั้งเสือจริงๆ และคนที่ถูกทำร้ายจนบาดเจ็บไปแอบหลบซ่อนตัวอยู่ ทั้งสัตว์และคนที่ตกอยู่ในสภาพดังกล่าวมักดุร้ายกว่าปกติธรรมดา
สำนวนที่ไม่เคยตกยุค มีใช้อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ‘เสือสิงห์กระทิงแรด’ หมายถึง บรรดาคนชั่วร้ายมากเล่ห์เพทุบาย และบรรดาคนคดโกงเหลี่ยมจัดนั่นเอง หรือแค่ ‘เสือลากหาง’ ก็ทำเอาผู้คนหวาดหวั่นได้
ในบทละครนอกเรื่อง “สังข์ทอง” รัชกาลที่ 2 ทรงเล่าถึงหกนางที่เอาแต่กลุ้มรุมเย้ยหยันลงไม้ลงมือกับนางรจนา น้องนุชสุดท้อง เมียของเจ้าเงาะ เจ้าเงาะจึงรีบแก้ไขสถานการณ์ทันที
“เมื่อนั้น เจ้าเงาะเห็นวุ่นวางเข้ากางกั้น
ทำบอกใบ้ให้รู้สำคัญ แกล้งกระชั้นกระโชกโบกมือ
ก้มลงหลอนหลอกกลอกคอ หกนางด่าทอก็ไม่ถือ
ทำเหมือนบ้าใบ้ได้แต่อือ ตบมือหัวร่อล้อเลียนนาง”
เจ้าเงาะแก้เผ็ดแกล้งล้อเลียนหกสาวแสบ ปากสารพัดพิษ และสอนนางรจนาให้ทำตาม
“เห็นพี่เมียชำเลืองเคืองค้อน ก็ฉุดเมียมาสอนให้ค้อนบ้าง
ถือไม้เท้าก้าวเดินเป็นท่าทาง ทีเสือลากหางให้นางกลัว”
‘เสือลากหาง’ ในที่นี้คือ ทำท่าทางอย่างเสือลากหางเพื่อขู่ให้กลัว สำนวนนี้มีความหมายเปรียบเทียบว่า คนที่แสร้งทำเซื่องซึมเป็นกลอุบายให้อีกฝ่ายตายใจ แล้วทำการอย่างใดอย่างหนึ่งโดยไม่ให้ทันรู้ตัว
‘เสือ’ ยังเกี่ยวกับเรื่องเพศได้ด้วย เช่น ‘เสือผู้หญิง’ หมายถึง ชายเจ้าชู้หลอกทำลายผู้หญิงเรื่อยไป ‘เสือใบ’ เป็นภาษาสแลง ใช้เรียกชายที่เป็น bi-sexual คือ มีอารมณ์เพศหลากหลายทั้งกับชายและหญิง สามารถตอบสนองได้ทั่วถึง ทำนองหญิงก็ได้ ชายก็ดี
คําว่า ‘เสือเก่า’ หมายถึง คนเก่งที่เคยมีอำนาจหรือความสามารถมาก่อน ส่วน ‘เสือเฒ่า’ คือ นักเลงเก่าที่ยังมีคนยำเกรง มีสำนวน ‘เสือเฒ่าจำศีล’ และ ‘เสือเฒ่าเจ้าเล่ห์’ ใช้กันอย่างแพร่หลาย เสือเฒ่า ก็คือ เสือแก่ที่มากด้วยอายุ อุบาย และประสบการณ์เชี่ยวชาญช่ำชองการล่าเหยื่อ สำนวน ‘เสือเฒ่าเจ้าเล่ห์’ คำว่า ‘เจ้าเล่ห์’ บอกถึงกลอุบายเล่ห์เหลี่ยมชั้นเชิงแพรวพราวไว้ใจยาก ช่างคิดหาเล่ห์เหลี่ยมพลิกแพลงจนได้ผลตามต้องการ
ในบทละครรำเรื่อง “อิเหนา” ตอนที่ปันหยีชนไก่กับอุณากรรณ ตำมะหงงคนของอุณากรรณบอกประสันตาว่าตนชรา ตาหูไม่ดีจะเลือกไก่ชนจากปันหยี (อิเหนา) ได้อย่างไร ชนไก่ครั้งนี้ไม่มีทางชนะ ประสันตาเกิดหมั่นไส้ขึ้นมาด้วยรู้ดีว่า คนยิ่งแก่มากเท่าไหร่ เล่ห์เหลี่ยมชั้นเชิง ประสบการณ์ไหวพริบย่อมมากขึ้นเท่านั้น ประสันตาคนของปันหยีจึงเหน็บแนมตำมะหงงอย่างไม่เกรงใจว่า
“น้อยฤๅเชิงชั้นช่างผันแปร แยบแก่ชอบกลเป็นพ้นไป
ทำประหนึ่งเสือเฒ่าเจ้าเล่ห์ สมคะเนจะเทพกฤๅไฉน”
สํานวน ‘เสือเฒ่าเจ้าเล่ห์’ หรือ ‘เสือเฒ่าจำศีล’ มีความหมายเดียวกัน หมายถึง คนเจ้าเล่ห์ที่มีท่าทีสงบเสงี่ยม ความหมายของประสันตา คือ ตำมะหงงทำทีเหมือนชายสูงวัยที่สงบเสงี่ยมน่านับถือ แต่มีเล่ห์เหลี่ยมแต้มคูแพรวพราวราวใครไม่รู้เท่า
สำนวน ‘เสือเฒ่าเจ้าเล่ห์’ มาจากนิทานสุภาษิตเรื่องที่ 2 ใน “หิโตปเทศ” และมาจากนิทานโบราณเรื่องหนึ่งซึ่งรวมอยู่ใน “นิทานอิหร่านราชธรรม” ว่าด้วยเรื่องราวของเสือเฒ่าจำศีล บทละครรำเรื่อง “อิเหนา” นำพฤติกรรมเจ้าเล่ห์เพทุบายของเสือเฒ่ามาเปรียบกับคน ที่เสือเฒ่าต้องเจ้าเล่ห์ก็เพราะความจำเป็น แก่แล้วไม่มีกำลังพอที่จะจับสัตว์กิน ต้องหันมากินคนแทน จึงต้องเสแสร้งทำเป็นสงบเสงี่ยม สำรวมตนดังถือศีลตบตาคน เพื่อหาโอกาสกินคนเป็นอาหาร
นิทานสุภาษิตว่าด้วยเรื่อง “เสือเฒ่าจำศีล” นี้ ทั้ง “หิโตปเทศ” และ “นิทานอิหร่านราชธรรม” มีเค้าโครงเรื่องทำนองเดียวกัน เป็นเรื่องของเสือโคร่งแก่ตัวหนึ่ง ฟันฟางหัก ไร้เรี่ยวแรงจะหาอาหารเลี้ยงปากท้อง วันหนึ่งเสือลวงคนเดินทางผ่านมาว่าตนเป็นเสือจำศีล ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตและสาธยายธรรมเสียจนคนฟังเคลิ้ม เสือในนิทานอิหร่านราชธรรมบอกว่าจะให้กิ่งไม้ทองคำแก่ผู้มาเยือน
ส่วนเสือในหิโตปเทศจะให้กำไลทอง แต่มีข้อแม้ว่าต้องชำระล้างร่างกายให้สะอาดก่อน คนเดินทางหลงเชื่อ ทันทีที่หลวมตัวลงไปอาบน้ำ ก็จมอยู่ในปลักโคลน ไม่สามารถถอนตัวขึ้นมาได้ เสือเฒ่ามากอุบายจึงกัดกินชายนั้นเป็นอาหาร อิ่มอร่อยสมที่อดอยากปากแห้งมานาน
น่าสังเกตว่าสำนวน ‘เสือเฒ่า’ แพร่หลายเป็นที่รู้จักดีของกวีไทย มีใช้ในวรรณคดีหลายเรื่อง อาทิ “นางนพมาศ” ตอนที่กล่าวถึงความประพฤติของนางสนม
“…บางคนงามรูปงามจริตกิริยา ไว้ท่วงท่าปั้นปึ่ง เป็นผู้ใหญ่ผู้สูง ประพฤติดังเสือเถ้าจำศีล แม้ได้เห็นมัจฉมังสาหารอันควรจะบริโภค ถึงใจจะนึกอยากก็ทำเหมือนไม่อยาก ชม้อยแต่หางตาม่ายๆ เมินๆ ดังนี้ก็มี…” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)
ไม่ต่างจากเรื่อง “มหาเวสสันดรชาดก” กัณฑ์ชูชก ของสำนักวัดสังข์กระจาย ขณะที่พรานเจตบุตรกำลังตระเวนป่าต้นทางที่จะไปเขาวงกต คอยขัดขวางป้องกันมิให้ใครไปรบกวนการบำเพ็ญพรตของพระเวสสันดร พระนางมัทรี และสองกุมารกัณหา ชาลีตามที่กษัตริยเจตราษฎร์ทรงมอบหมาย พลันได้ยินเสียงพร่ำพรรณนาดังก้องป่า จึงพยายามตามหาและด่าทอเจ้าของเสียงอย่างรุนแรงว่า
“…สทฺทํ ปฏิสฺโสสิ ได้ยินเสียงอ้ายเฒ่ามันครวญครื้นครั่นสนั่นไปทั้งไพร เอ๊ะ จะเป็นอะไรฟังไปก็ไม่ได้ศัพท์ ค่อยเอียงเอี้ยเงี่ยหูลงสดับดูก็เห็นหลาก ใครมาทำอะไรเสียงร้องไห้อยู่วากๆ หว่างพงที่ตรงนี้ จำจะเดินเข้าไปดูสักทีย่างแต่ค่อยๆ ย่องเข้าไปทีละนิดชิดเข้าไปทีละหน่อยถอยเข้าไปให้ใกล้ เห็นแล้วก็ฮึดฮื้อ กูนี่นึกว่าใครหรือมิรู้ก็อ้ายจัญไรอ้ายพราหมณ์เฒ่ามันมาร้องไห้หาพระจอมจักรพรรดิพระลูกเจ้าเจตนาอันใดหนอ อ่ออ้ายพรรณนี้ดีแต่ว่าจะขอคนไม่รู้อาย ถ้ากูนิ่งให้เข้าไปหาเห็นจะวุ่นวายเกิดการกลี ถ้าไม่พระโอรสก็พระมเหสีสักสิ่งจริง…ฯลฯ…ทุดอ้ายเฒ่าหือรือโหดหาปัญญามิได้ อกิจฺจการี จะไปรู้เอาใจใส่ทำนาไร่ก็ไม่มีดีแต่จะเที่ยวขอทาน รฏฺฐา วิวนมาคโต นี่ใครบอกแก่มึงจึ่งดึงดันซมซานเซอะเซิงออกมาถึงนี่ ใครเขาจะปรานีอ้ายชาติข้า ราชปุตฺตํ คเวสนฺโต ยังจะมาทำโอโอดโรทนาร้องไห้หาจอมกษัตริย์แสร้งพิไร”
“นี่มึงจะทำอะไรหรือ มึงนี้สุดแท้แต่ว่าใครเขายิ่งให้ก็จะไปฮือแห่โหมเอาให้สิ้น อ้ายเสือเฒ่าจำศีลใครเลยจะรู้เล่ห์…”
สํานวน ‘เสือเฒ่าจำศีล’ แม้สื่อความหมายถึงเสือแก่ที่ภายนอกแลดูสงบเสงี่ยมมีศีลธรรม แต่ภายในใจซ่อนเร้นเล่ห์เหลี่ยมกลอุบายลึกซึ้งยากคาดเดา
ทั้ง ‘เสือเฒ่าเจ้าเล่ห์’ และ ‘เสือเฒ่าจำศีล’ ถึงจะแก่ แต่ความร้ายกาจยังมี มีโอกาสเพียงน้อยนิด ก็สามารถพลิกวิกฤตเป็นโอกาสทองได้ ยิ่งไปกว่านั้นมีการกระทำสวนทางกับคำพูด จึงไม่ควรเชื่อถือหรือไว้ใจ อันตรายอาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ
ต่อให้กลายเป็น ‘เสือสิ้นลาย’ ความร้ายหายหดหมดทางเยียวยาจากผลการกระทำของตนเอง ก็ยังไว้ใจวางใจไม่ได้ เพราะ ‘เสือ’ ก็เป็น ‘เสือ’ วันยังค่ำ •
จ๋าจ๊ะ วรรณคดี | ญาดา อารัมภีร
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022