ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 14 - 20 กุมภาพันธ์ 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | Biology Beyond Nature |
ผู้เขียน | ภาคภูมิ ทรัพย์สุนทร |
เผยแพร่ |
Biology Beyond Nature | ภาคภูมิ ทรัพย์สุนทร
ข้าวสีทอง ภาค 2/2
(ประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมไบโอเทค)
การทดลองระดับแปลงปลูกรอบแรกเริ่มต้นตอนปี 2004 ณ เมือง Crowley มลรัฐ Louisiana ที่นับเป็นศูนย์วิจัยข้าวแห่งแรกของสหรัฐตั้งแต่เกือบร้อยปีที่แล้ว ผลการทดลองโดยใช้ข้าวสีทองเวอร์ชั่นแรกพบว่าได้เบต้าแคโรทีนสูงกว่าการทดลองในระดับห้องแล็บถึงสี่เท่า ส่วนลักษณะอื่นๆ ของต้นข้าวและระดับผลผลิตใกล้เคียงสายพันธุ์ดั้งเดิม
ปี 2004 ยังเป็นปีเดียวกับที่องค์การสหประชาชาติประกาศให้เป็นปีแห่งข้าวสากล (International Year of Rice) และปีที่บริษัท Syngenta ประกาศเลิกสนใจพัฒนาข้าวสีทองเพื่อการค้าเพราะมองแล้วว่าไม่คุ้มทุน แต่จะยังคงให้การสนับสนุนงานวิจัยเพื่อมนุษยธรรมและบริจาคทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องทั้งหมดให้ส่วนรวม
ปี 2005 ข้าวสีทองเวอร์ชั่นสอง (ที่ใช้ยีนเอนไซม์จากข้าวโพดและให้ผลผลิตเบต้าแคโรทีนสูงกว่าเวอร์ชั่นแรก) ถูกนำมาทดสอบระดับแปลงปลูกที่ Crowley เช่นกัน

Cr. ณฤภรณ์ โสดา
อย่างไรก็ตาม ข้าวสีทองที่ผ่านการทดสอบระดับแปลงปลูกเหล่านี้พัฒนามาจากข้าวตระกูล Oryza sativa japonica ที่ง่ายต่อการนำส่งดีเอ็นเอ และเหมาะกับการปลูกในแถบภูมิอากาศอบอุ่น ในขณะที่เขตร้อนแบบในประเทศปลายทางจะเหมาะกับข้าวสายพันธุ์ Oryza sativa indica มากกว่า ดังนั้น อีกก้าวสำคัญที่ต้องทำก็คือถ่ายโอนชุดยีนผลิตเบต้าแคโรทีนนี้สู่สายพันธุ์ indica
งานอีกส่วนที่จำเป็นต้องทำคือการทดสอบความปลอดภัยและคุณค่าทางอาหาร ด้วยข้อจำกัดเรื่องข้อห้ามต่างๆ ในการปลูกทำให้ผลผลิตข้าวได้น้อยกว่าจะเอาไปทดสอบในสัตว์ทดลองตามปกติ ทีมวิจัยจึงได้เพียงวิเคราะห์ส่วนประกอบทางชีวเคมีเพื่อดูว่ามีสารแปลกปลอมตัวไหนที่อาจก่ออันตรายหรือไม่ งานวิจัยตีพิมพ์หลายชิ้นช่วง 2006-2009 ยืนยันว่าไม่มี แม้แต่ “ดีเอ็นเอแปลกปลอม” ที่ตัดต่อใส่เข้าไปมาจากพืชหรือแบคทีเรียที่มนุษย์บริโภคทางตรงหรือทางอ้อมในอาหารอยู่แล้ว
หนึ่งในงานวิจัยที่สำคัญที่สุดคืองานวิจัยของ Guangwen Tang นักวิจัยเชื้อชาติจีนในสหรัฐ ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการมนุษย์และเป็นหัวหน้าศูนย์วิจัยด้านแคโรทีนอยกับสุขภาพจากมหาวิทยาลัย Tufts

Cr. ณฤภรณ์ โสดา
งานวิจัยส่วนแรกที่ตีพิมพ์ในปี 2009 ทำในอาสาสมัครวัยผู้ใหญ่ห้าคนจากเขต Boston ลองกินข้าวสีทองเพื่อวัด ประสิทธิภาพการเปลี่ยนเบต้าแคโรทีนในข้าวเป็นวิตามินเอ ผลการวัดออกมาอยู่ที่ 3.8:1 ซึ่งด้วยประสิทธิภาพเท่านี้และระดับเบต้าแคโรทีนในข้าวจะประมาณได้ว่าข้าวสารสีทอง 100 กรัมให้วิตามินเอมากอยู่ที่ราว 55-70% ของปริมาณที่ต้องการต่อวันในผู้ใหญ่ แม้จะเป็นข่าวดีแต่ข้อจำกัดของงานนี้คือกลุ่มทดลองเล็กเกินไป ทดสอบการกินแค่ครั้งเดียว อาสาสมัครได้รับไขมันช่วยการดูดซึมเบต้าแคโรทีน และที่สำคัญคือสายพันธุ์ข้าวที่ใช้ยังคงเป็น japonica
งานวิจัยส่วนต่อมาของ Tang ทำร่วมกับทีมวิจัยจากจีน เด็กประถมชาวจีนจำนวน 68 คนแบ่งเป็นสามกลุ่ม กลุ่มละ 22-23 คน กลุ่มแรก กินเบต้าแคโรทีนแบบแคบซูล กลุ่มสอง กินข้าวสีทอง กลุ่มสาม กินผักโขม ผลการทดสอบปรากฏว่าประสิทธิภาพการเปลี่ยนเบต้าแคโรทีนเป็นวิตามินเอในกลุ่มแคปซูลกับข้าวสีทองอยู่ใกล้เคียงกันที่สัดส่วน 2:1 และเหนือกว่าผักโขมซึ่งมีประสิทธิภาพการเปลี่ยนเบต้าแคโรทีนเป็นวิตามินเออยู่ที่ 7.5:1
งานวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์ในปี 2012 ในวารสาร The American Journal of Clinical Nutrition และเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่สุดที่ยืนยันถึงประสิทธิภาพของข้าวสีทอง ด้วยกลุ่มทดลองที่ใหญ่ขึ้น ไม่มีการเสริมไขมันในอาหาร แถมข้าวสีทองสายพันธุ์ที่ใช้ยังเป็นกลุ่ม indica

Cr. ณฤภรณ์ โสดา
เพียงหนึ่งเดือนหลังงานนี้ได้รับการตีพิมพ์กลุ่ม Greenpeace ภาคเอเชียตะวันออกไปแถลงการณ์ประณามว่า Tang เอาเด็กชาวจีนเป็นหนูทดลองอาหารจากพืชปรับแต่งพันธุกรรมที่ “อาจจะ” มีอันตราย เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นร้องเรียนที่มีการสอบสวนกันใหญ่โตทั้งทางศูนย์วิจัยฝั่งจีน มหาวิทยาลัย Tufts และวารสาร
งานวิจัยของ Tang มีช่องโหว่จริงในเรื่องจริยธรรมในการทดลองในมนุษย์ เช่น ไม่ได้แจ้งให้ผู้ปกครองเด็กทราบชัดเจนก่อนเป็นลายลักษณ์อักษรว่าข้าวที่นำมาทดลองผ่านการปรับแต่งพันธุกรรม และทางทีมวิจัยมีการปรับการรายละเอียดบางส่วนของขั้นตอนการทดลองจากที่ส่งให้คณะกรรมการจริยธรรมพิจารณา
วารสารตัดสินใจให้ถอดงานวิจัยชิ้นนี้ออกในปี 2015 ด้วยเหตุผลว่า “ทีมวิจัยไม่มีหลักฐานเพียงพอว่างานวิจัยนี้ได้ผ่านกรรมการจริยธรรมในระดับท้องถิ่นอย่างเหมาะสมและ ผู้ปกครองกับเด็กไม่ได้รับข้อมูลที่เพียงพอในแบบฟอร์มยินยอมให้ทำการวิจัย” คณะกรรมการจากมหาวิทยาลัย Tufts ลงโทษทางวินัยกับ Tang ในประเด็นเดียวกันแต่ก็ประกาศชัดเจนว่าจากการสืบสวนแล้วไม่ได้พบข้อผิดพลาดอะไรในแง่ของการออกแบบการทดลองและข้อสรุปในทางวิทยาศาสตร์ว่าข้าวสีทองเป็นแหล่งวิตามินเอได้จริง
Greenpeace ออกมาประกาศชัยชนะและย้ำว่านี่ไงข้าวสีทองจีเอ็มโอเป็นเรื่องลวงโลกจริงๆ ด้วย ผ่านมาเกือบยี่สิบปีแล้วยังไม่เห็นเป็นผลงานอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน
การถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ประเทศปลายทางดำเนินคู่ขนานไประหว่างช่วงเวลานี้ ประเทศที่ดูน่าจะไปได้ไกลสุดคือฟิลิปปินส์ประเทศแรกที่ได้รับถ่ายเทคโนโลยีตั้งแต่ปี 2001 แต่กว่าจะมีกฎหมายรองรับพร้อมเริ่มการทดสอบข้าวสีทองตระกูล indica ในระดับแปลงปลูกก็ลากยาวไปจนถึงปี 2008 และยังคงเป็นการทดสอบสเกลเล็ก มีต้นข้าวแค่หลักร้อยต้น ณ แปลงทดสอบแห่งเดียวที่มีความพร้อมโดยเฉพาะในแง่การรักษาความปลอดภัยกันมีรั้วรอบขอบชิด เขตกันชน เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังยี่สิบสี่ชั่วโมง เพื่อป้องกันการรั่วไหลของข้าวปรับแต่งพันธุกรรมสู่สิ่งแวดล้อม กว่าจะได้เริ่มทดสอบแบบหลายแปลงพร้อมกันจริงๆ ก็ปาเข้าไปปี 2013 ระหว่างนั้นก็โดนกลุ่มนักอนุรักษ์โดยเฉพาะ Greenpeace ก่อกวนประท้วง ฟ้องร้อง ออกข่าวประณาม ที่ฟิลิปปินส์ช่วงปี 2013 นี้ถึงขั้นมีผู้ประท้วงหัวรุนแรงบุกเข้าไปทำลายต้นพืชถึงในแปลงทดลอง
กว่าเอกสารขออนุญาต ผลทดสอบความปลอดภัยต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมจะครบ ผ่านคณะกรรมการชุดแล้วชุดเล่าจนทางการฟิลิปปินส์ไฟเขียวอนุญาตให้ข้าวสีทองใช้เป็นอาหารบริโภคได้ก็ต้องรอถึงปี 2018 และกว่าจะได้รับอนุญาตให้ปลูกเพื่อการค้าเป็นประเทศแรกของโลกก็ไปถึงปี 2021 แล้ว
ระหว่างนั้นข้าวสีทองก็เหมือนจะมีข่าวดีเข้ามาต่อเนื่องรัวๆ ทั้งการผ่านการยอมรับด้านความปลอดภัยจากองค์การอาหารและยาในสหรัฐ แคนาดา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ รางวัลสิทธิบัตรดีเด่นเพื่อมวลมนุษยชาติ แม้แต่สันตะปาปายังมาช่วยอวยพรหวังจะให้ข้าวสีทองได้การยอมรับจากคนฟิลิปปินส์ซึ่งนับถือคาทอลิกกันถึงราวแปดสิบเปอร์เซ็นต์
กระนั้นกลุ่มนักอนุรักษ์โดยเฉพาะ Greenpeace ก็ยังไม่เลิก ไปฟ้องศาลต่อเรื่องว่าหลักฐานความปลอดภัยต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมยังไม่เพียงพอ จนนำมาสู่ตัดสินยกเลิกคำอนุญาตให้ปลูกในฟิลิปปินส์เมื่อต้นปี 2024 ที่ผ่านมา นับเป็นความเสียหายครั้งใหญ่ที่สุดอีกครั้งหนึ่งของวงการไบโอเทคการเกษตร
ยี่สิบกว่าปีผ่านไป ข้าวสีทองยังช่วยชีวิตใครไม่ได้แม้แต่คนเดียว
บทเรียนสำคัญหนึ่งจากเรื่องข้าวสีทองและดราม่าจีเอ็มโอคือด้านมืดของหลักการ “precautionary principle” ที่ให้น้ำหนักเสียเยอะกับผลเสียที่ “อาจจะเกิด” แต่ไม่คิดเรื่องการคิดถึงต้นทุนค่าเสียโอกาส
ลองคิดเปรียบเทียบง่ายๆ ว่าทุกๆ ปี อุบัติเหตุบนท้องถนนคร่าชีวิตคนทั่วโลกเกินล้านคน และอีกหลายสิบล้านคนต้องบาดเจ็บหรือพิการ แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่าเราควรจะยกเลิกการใช้ถนนและยานพาหนะทั้งหมดจนกว่าเราจะพัฒนาถนนและยานพาหนะที่ไม่มีวันเกิดอุบัติเหตุได้ เช่นเดียวกันกับเทคโนโลยีแทบทุกอย่างของมนุษย์ ไฟฟ้า อินเตอร์เน็ต ยา วัคซีน เครื่องมือแพทย์ เคมีภัณฑ์ ไปจนถึงเครื่องใช้ทั่วไปในบ้าน ไม่มีเทคโนโลยีไหนที่เราการันตีความปลอดภัยไร้ผลกระทบใดๆ ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เราก็ยังเลือกที่จะใช้เพราะชั่งน้ำหนักแล้วเห็นว่าประโยชน์ที่ได้นั้นยังคุ้มกับความเสี่ยงและผลกระทบที่ได้รับ
สามทศวรรษหลังจากพืชจีเอ็มโอต้นแรกออกสู่ท้องตลาด พื้นที่เพาะปลูกพืชจีเอ็มโอปัจจุบันอยู่ที่กว่า 1.2 พันล้านไร่ ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ชัดๆ สักชิ้นเดียวที่บ่งชี้ว่าพืชจีเอ็มโออันตรายต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมมากกว่าพืชที่ได้จากวิธีการผสมพันธุ์แบบดั้งเดิม แต่เรารู้แน่ๆ ว่าปัญหาการขาดแคลนวิตามินเอเป็นเรื่องจริง อันตรายจากเคมีการเกษตร และหายนะจากศัตรูพืชเป็นเรื่องจริง เรามีตัวเลขคนป่วยคนตายมีตัวเลขผลกระทบทางเศรษฐกิจที่จับต้องได้ มีเหตุผลและหลักฐานรองรับแน่นหนาน่าเชื่อถือ
ทุกๆ ความล่าช้าและทุกช่วงเวลาแต่ละปีผ่านไป สิ่งที่เสียไปเหล่านี้เรียกกลับคืนมาไม่ได้อีกแล้ว
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022