ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 14 - 20 กุมภาพันธ์ 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | ทะลุกรอบ |
ผู้เขียน | ดร. ป๋วย อุ่นใจ |
เผยแพร่ |
ทะลุกรอบ | ป๋วย อุ่นใจ
ไบโอแฮ็กเกอร์
กับ ชีวะ (ห้าม) ลอกเลียนแบบ…
ในห้องอันมืดสลัว มีแค่แสงไฟจากเคาน์เตอร์ครัวที่พอจะให้สว่างแก่ของที่อยู่ในห้อง โจไซอาห์ เซย์เนอร์ (Josiah Zayner) หรือที่หลายคนมักเรียกสั้นๆ ว่า โจ เพ่งมองไปยังตัวอย่างสีน้ำตาลในโกร่งบดยาอย่างพินิจพิจารณา ก่อนที่จะหยอดน้ำเกลือลงไปในโกร่งอย่างเบามือ
โจสวมถุงมือสีฟ้า คว้าสากขนาดเล็กขึ้นมาแล้วเริ่มกวนและบดตัวอย่างในโกร่งจนเลอะเปรอะ
“ผมว่ามันมีอะไรแข็งๆ อยู่ในนี้ อาจจะเป็นชิ้นผักก็ได้” โจสาธยาย “บางทีร่างกายอาจจะย่อยไม่หมด”
ใช่แล้วครับ ของเหลวที่อยู่ในโกร่งคือ “อุจจาระ” ที่เขาเปิดเผยว่าได้มาอย่างยากลำบากจากเพื่อนคนหนึ่ง
ถามว่าโจไปเอาอุจจาระของเพื่อนมาทำไม?
คำตอบคือ ในตอนนี้ ในหัวของโจมีแผนสุดเพี้ยน เขาอยากที่จะทำการทดลองเปลี่ยนสังคมจุลินทรีย์หรือที่เรียกว่าไมโครไบโอมทั้งหมดในตัวของเขาให้เหมือนกับของเพื่อนของเขา

โจมองว่านี่เป็นเรื่องเล็ก เขาเปรียบว่าไมโครไบโอมก็เหมือนกับเสื้อผ้า ถ้าไม่ดีก็ถอดทิ้ง แล้วหาตัวใหม่ใส่ และสำหรับเขาที่มีอาการท้องไส้ปั่นป่วนจนเป็นนิจสิน ไมโครไบโอมของเขานั้นเป็นอะไรที่ซอมซ่อ และน่ารังเกียจ ของเพื่อนเขาน่าสนใจกว่าเยอะ
โจเชื่อว่าการทดลองนี้จะทำให้คุณภาพชีวิตของเขาดีขึ้นอย่างมหาศาล
โจบรรจงบดสารละลายอุจจาระอย่างขะมักเขม้น ก่อนที่จะฉีดลงไปในแคปซูลที่ทำมาจากเจลาตินอย่างเบามือ… “ในนี้มันมีกากเหลืออยู่ มันทำให้แคปซูลเฮงซวยนี่ล้นและแตก” โจสบถ
ในบทสัมภาษณ์ของเขาโดย เอเรียล ดูเฮม-รอส (Arielle Duhaime-Ross) ที่ลงในนิตยสาร Verge บรรยายไว้ชัดเจนว่าในเวลานั้น โจเริ่มสิ้นหวัง จนถึงขนาดที่ว่ามีอยู่ชั่วขณะหนึ่ง เขาคิดว่าจะกระเดือกของเหลวนั้นลงไปตรงๆ แล้วกลืนลงไปเลย
แต่ด้วยรู้อยู่เต็มอกว่าของเหลวนั้นคืออะไร เขาทำแบบนั้นกับตัวเองไม่ลง
โจเริ่มหาวิธีอื่นที่จะบรรจุอาจมลงไปในแคปซูล เขาตัดสินใจที่จะใช้วิธีที่ง่ายและตรงไปตรงมาที่สุด เขาคว้าลูปเขี่ยเชื้อแล้วตักอุจจาระในถุงซิปล็อก แล้วอัดเข้าไปในแคปซูลในทันที

แคปซูลบรรจุอุจจาระเหล่านี้แหละที่จะเป็นแหล่งไมโครไบโอมที่จะเปลี่ยนสังคมของจุลินทรีย์ในลำไส้ของเขาให้เหมือนของเพื่อน ซึ่งโจเชื่อว่าน่าจะบรรเทาอาการของโรคท้องไส้ปั่นป่วนที่เขาจำต้องทนมาหลายปีได้
กระบวนการนี้คล้ายกับกระบวนการที่ทำกันจริงในเชิงคลินิกที่เรียกว่าการปลูกถ่ายไมโครไบโอมในลำไส้ (จากอุจจาระ) หรือที่เรียกว่า Fecal Matter Transplant (FMT) ที่เริ่มได้รับการยอมรับมากขึ้นในวงการแพทย์
แต่แม้ว่าการปลูกถ่ายไมโครไบโอมจากอุจจาระจะมีประวัติศาสตร์มายาวนานตั้งแต่ยุคอียิปต์และจีนโบราณ อีกทั้งยังมีรายงานไว้ชัดเจนตั้งแต่ปี 1958 โดยศัลยแพทย์ เบน ไอส์แมน (Ben Eiseman) ว่าสามารถนำมาใช้รักษาโรคลำไส้อักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย Clostridioides difficule ได้ผลเป็นที่น่าสนใจ
“ในคนไข้บางคน อาการของพวกเขาดีขึ้นภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง!” เบนให้สัมภาษณ์
ทว่า ความนิยมของเทคโนโลยีการปลูกถ่ายอุจจาระกลับต่ำเตี้ยเรี่ยดิน อาจจะด้วยความยี้ของเทคโนโลยี ที่ไม่ว่าจะกินหรือว่าสอดอุจจาระของคนอื่น เข้าไปในตัว คนไข้ส่วนใหญ่ถ้าไม่หนักจริงก็จะถอยกรูด
จนกระทั่งสามสิบปีต่อมา เทคโนโลยี FMT ถึงเริ่มได้รับความสนใจกลับมาอีกครั้ง ในยามที่แบคทีเรียดื้อยา โดยเฉพาะ Clostridioides difficile เริ่มสร้างปัญหาหนักในวงการสาธารณสุข จนเริ่มมีการรายงานความสำเร็จของเทคโนโลยีนี้มากขึ้นเรื่อยๆ และโปรโตคอลในการปลูกถ่ายก็เริ่มเป็นมาตรฐาน

ร็อบ ไนต์ (Rob Knight) ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนวัตกรรมไมโครไบโอม มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานดิเอโก (the University of California San Diego Center for Microbiome Innovation) เผยว่าในปัจจุบัน อัตราการรักษาการติดเชื้อ Clostridioides difficile หายขาดของการปลูกถ่ายอุจจาระนั้นมากถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งดีกว่ามากเมื่อเทียบกับการรักษาโดยใช้ 30 เปอร์เซ็นต์
ซึ่งถ้ามองในมุมของโจ แผนของเขาควรจะเวิร์ก
แต่ทว่า ในมุมของผู้เชี่ยวชาญ สิ่งที่โจอยากจะทำถือเป็นการทดลองที่สุ่มเสี่ยงมาก “ในท้ายที่สุดแล้ว โจอาจจะลงเอยกับอาการป่วยที่หนักหนาสากรรจ์กว่าที่คิดก็เป็นได้” อลิซาเบธ ฮอฮ์แมนน์ (Elizabeth Hohmann) จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) กล่าว “นี่ไม่ใช่แค่การล้างจุลินทรีย์ออกจากร่างกายด้วยการอาบยาปฏิชีวนะ แล้วเอาเชื้อที่ได้มาจากเพื่อนมาทาถูๆ ให้ทั่วๆ”
การปลูกถ่ายอุจจาระจริงๆ ในทางการแพทย์ต้องทำโดยผู้เชี่ยวชาญและต้องมีการพิจารณาถึงปัจจัยต่างๆ มากมาย ทั้งนี้เพราะว่าที่จริงแล้ว ในร่างกายของมนุษย์นั้น มีจำนวนเซลล์ของจุลินทรีย์ในไมโครไบโอม มากเสียยิ่งกว่าเซลล์มนุษย์เองเสียอีก
จากการประมาณการของร็อบ “ในร่างกายของคน จะมีเซลล์ของมนุษย์อยู่เพียงแค่ราวๆ สามสิบล้านล้านเซลล์ แต่มีเซลล์ของจุลินทรีย์ในไมโครไบโอมโดยเฉลี่ยมากถึงสามสิบเก้าล้านล้านเซลล์”
ถ้าว่ากันตามจริง “ร่างกายของเรามีความเป็นคนเพียงแค่ 43 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง” นั่นหมายความว่าแผนของโจมีเป้าหมายที่จะปรับเปลี่ยนเซลล์ในร่างกายมากถึง 53 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นอะไรที่เสี่ยงมาก
ในความเห็นของอลิซาเบธ แนวคิดนี้ของโจทั้งตื้นเขิน และน่ากังวล ไม่ใช่แค่เรื่องสุขภาวะของโจทั้งในระหว่างการทดลอง และหลังการทดลอง แต่เป็นเรื่องของการเลียนแบบโดยผู้ที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์
และนั่นเป็นประเด็นจริงๆ ที่น่าเป็นห่วง เพราะจุดมุ่งหมายในการเผยแพร่การทดลองนี้ของโจนั้นมันช่างบ้าระห่ำ เพราะโจต้องการให้ทุกคนสามารถทำเลียนแบบได้ที่บ้าน แบบ DIY – Do it yourself at home
สําหรับโจ วิทยาศาสตร์ต้องเป็นของปวงประชา ทุกคนควรมีสิทธิอย่างเท่าเทียมกันในการทำทดลองทางวิทยาศาสตร์ ถ้าไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน โจมุ่งมั่นที่จะ democratize science
“ผมอยากจะอยู่ในโลกที่ผู้คนสามารถที่จะเมาหัวราน้ำแล้วแทนที่จะไปสักลาย แต่เป็นฉันเมา และฉันอยากจะแก้ไขยีนตัวเอง อาจจะฟังดูบ้าบอ แต่ผมเชื่อว่ามันจะเป็นโลกที่น่าสนใจ” โจกล่าว เขาเชื่อว่าเครื่องมือทางเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าอย่างคริสเพอร์ (CRISPR) ที่ใช้ในการแก้ไขพันธุกรรม ควรจะต้องเข้าถึงได้ง่ายสำหรับประชาชน และประชาชนควรจะทำอะไรก็ได้ที่พวกเขาอยากทำ ไม่ใช้ถูกควบคุมและผูกขาดโดยพวกนักวิชาการ แพทย์ และบริษัทเภสัชภัณฑ์
เริ่มที่โรงรถของเขา โจตัดสินใจเปิดบริษัทโอดิน (the Odin) เพื่อขายชุดทดลองแก้ไขยีน (CRISPR) แบบทำเองได้ที่บ้าน และขายชุดตัดแต่งพันธุกรรมยีสต์หมักเบียร์ให้เรืองแสงสีเขียว (โดยใช้ยีนจากแมงกะพรุน) รวมถึงออกมาสาธิตการทำการทดลองเทคโนโลยีชีวภาพแบบห่ามๆ อีกหลายครั้ง ทั้งพยายามแก้ไขพันธุกรรมตัวเองด้วยการฉีดคริสเพอร์เข้าร่าง
แต่คำถามที่ต้องคิดคือ เรื่องแบบนี้ มันควรปล่อยให้ทำได้อย่างอิสระจริงหรือ? มีประเด็นอื่นอีกมั้ยที่ต้องคิด? การทดลองพวกนี้นอกจากจะเป็นความเสี่ยงแก่ผู้ทดลองแล้ว ยังเป็นความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมด้วยหรือไม่?
จะมีผลกระทบไหนที่จะสะเทือนเป็นเหมือนโดมิโนหรือเปล่า เช่น จะมีเชื้อตัวไหนโดนแก้ไขแล้วหลุดออกมาเป็นโรคระบาดใหญ่แบบโควิดได้มั้ย?
คำตอบคือมี…
ยังไม่ต้องไปถึงเรื่องการแก้ไขยีน ปรับแต่งพันธุกรรม แค่เรื่องการปลูกถ่ายอุจจาระ ในปี 2019 มีรายงานในวารสาร New England Journal of Medicine จากทีมวิจัยของโรงพยาบาลแมสซาชูเซตส์ เจเนรัล (Massachusetts General Hospital) นำโดย ซาชาริยาห์ เดฟิลิป (Zachariah DeFilip) และอลิซาเบธ เปิดเผยถึงเคสผู้ป่วยที่ทำ FMT แล้ว ติดเชื้อแบคทีเรีย Escherichia coli ดื้อยาจนเสียชีวิต
และนั่นทำให้ข้อกังวลของอลิซาเบธมีประเด็นชัดเจน!
ไม่ใช่ว่าควรห้ามไม่ให้คนไข้ได้ทำ FMT การปลูกถ่ายแบบนี้ทำได้ หากจำเป็น แต่ต้องมีการควบคุมและดูแลอย่างเข้มงวดจากแพทย์ และนักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญ ตั้งแต่กระบวนการรับบริจาค ผู้บริจาคอุจจาระจะต้องผ่านการตรวจสุขภาพ ตรวจเลือด เช็กโรคติดเชื้อ มะเร็งและโรคติดต่ออื่นๆ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงไม่คาดคิดให้มากที่สุดเสียก่อน ไปจนถึงกรรมวิธีการปลูกถ่าย วิธีการติดตามผล และอีกสารพัด
ถามว่าทำไมผมถึงได้เลือกเขียนเรื่องนี้…
สาเหตุเป็นเพราะว่าเมื่อไม่นานมานี้ มีอีกหนึ่งเคสที่น่าสนใจ นั่นคือเคสของบีตา ฮาลาซซี (Beata Halassy) นักไวรัสวิทยาชาวโครเอเชียจากมหาวิทยาลัยซาเกร็บ (University of Zagreb) ผู้ซึ่งเลือกที่จะทดลองฉีดไวรัสปรับแต่งพันธุกรรมเข้าไปในตัวเองเพื่อรักษาโรคมะเร็งที่กลับซ้ำ
นี่เป็นการตัดสินใจที่เด็ดเดี่ยวที่สุดที่คนคนหนึ่งจะทำได้ ทางเลือกของเธอไม่ต่างอะไรไปจากการทอยลูกเต๋าชี้เป็นชี้ตาย แต่เธอเลือกถูก เธอก็หายจากการเป็นมะเร็งระยะที่สาม!!
แต่ไม่ใช่ทุกคนจะโชคดีเช่นเธอ
ที่ตายก็มี อย่างในเคสของอเล็กซานเดอร์ บอกดานอฟ (Alexander Bogdanov) จากการถ่ายเลือดให้ตัวเองเพื่ออายุขัยที่ยืนยาว และเจสซี ลาเซียร์ (Jesse William Lazear) จากการพยายามศึกษากลไกการติดเชื้อไวรัสไข้เหลืองด้วยตัวเขาเอง
ผมยกตัวอย่างโจ เพราะโจคือหนึ่งในไบโอแฮ็กเกอร์ที่โด่งดังที่สุด…และมีแนวคิดแหกคอกมากที่สุด และโจเองก็เคยออกมายอมรับในปี 2019 ว่าเขาเองก็เสียใจในหลายๆ สิ่งที่ได้ทำไปอย่างเช่น การโชว์การฉีดคริสเพอร์สำหรับสาธารณชน
เพราะแม้ว่าวิทยาศาสตร์จะเป็นของประชาชน แต่การทดลองบางอย่างอาจส่งผลมากกว่าที่คิด และถ้าปล่อยปละละเลยคือการไม่มีความรับผิดชอบต่อประชาชน
เพราะการทดลองบางอย่าง ก็ไม่ควรจะทำตามหรือลอกเลียนแบบ…
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022