‘เด็กๆ’ กับวิกฤตโลกเดือด

ทวีศักดิ์ บุตรตัน
A young girl walks in the Kaweni slum on the outskirts of Mamoudzou, in the French Indian Ocean island of Mayotte, Thursday, Dec. 19, 2024, after Cyclone Chido. (AP Photo/Adrienne Surprenant)

กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือยูนิเซฟ เปิดเผยตัวเลขเด็กๆ ทั่วโลกราว 1 พันล้านคนจากทั้งหมด 2,200 ล้านคน กำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์โลกเดือดทั้งจากอากาศเป็นพิษ น้ำท่วม โคลนถล่ม พายุ คลื่นความร้อน พายุทะเลทราย แน่นอนในอนาคตจะส่งผลต่อสุขภาพจิต สุขภาพกายของเด็กๆ

ในผลสำรวจของยูนิเซฟพบว่า เด็กๆ ในทวีปยุโรปและเอเชียกลางราว 160 ล้านคน ตกอยู่ในภาวะเครียด กดดันทางจิตใจ เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

เมื่อ 4 ปีที่แล้ว มีเด็กในยุโรปและเอเชียกลางราว 6,400 คนเสียชีวิตก่อนวัยอันควร เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศสูง และยังมีเด็กเกือบครึ่งหนึ่งเจอกับคลื่นความร้อน อุณหภูมิพุ่งสูงถึง 2 เท่า

ปัญหาที่ท้าทายที่สุดคือมลพิษในอากาศซึ่งมีผลกระทบกับเด็กสูงมาก เพราะเด็กจะสูดอากาศมากเป็น 2 เท่าเมื่อเทียบกับผู้ใหญ่ เด็กๆ ต้องการสูดออกซิเจนเข้ามาหล่อเลี้ยงอวัยวะที่อยู่ในห้วงเจริญพันธุ์ แต่แทนที่จะสูดออกซิเจน เด็กกลับสูดก๊าซพิษที่มาจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสซิล

ยูนิเซฟพบว่า เด็กๆ ในยุโรปและเอเชียตอนกลางที่อายุต่ำกว่า 20 ปี เสียชีวิตเพราะสูดอากาศเป็นพิษมากถึง 85 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากภูมิภาคแถบนั้นใช้ถ่านหินในอัตราที่สูงกว่าแถบอื่นๆ การเผาถ่านหินทั้งในโรงงานอุตสาหกรรมและในบ้านพักอาศัยทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สะสมในชั้นบรรยากาศ

วิกฤตการณ์โลกเดือดทำให้เกิดคลื่นความร้อน น้ำท่วม พายุถล่ม มีผลต่อเด็กๆ ทั่วโลกอย่างมาก

 

เมื่อปีที่แล้วยูนิเซฟสำรวจเด็กนักเรียนในประเทศเคนยา เผชิญกับอากาศแปรปรวนสุดขั้ว พบว่ามีเด็กกว่า 2 ล้านคนทั่วประเทศได้รับผลกระทบ ไม่ได้ไปโรงเรียนเพราะฝนตกหนัก น้ำท่วม โคลนถล่ม ในช่วงระหว่างเดือนมีนาคม-สิงหาคม

ช่วงเดือนมีนาคม ฝนตกลงมาอย่างหนักและมีน้ำท่วมใหญ่ทำลายบ้านเรือน ถนนหนทาง โรงเรียนจมอยู่ใต้น้ำ อุปกรณ์การเรียนการสอนพังยับ เป็นฝนที่ตกนานมากลากยาวไปถึงเดือนพฤษภาคม พอมาถึงเดือนสิงหาคม ฝนถล่มอีกระลอก โรงเรียนประกาศหยุดเรียนเป็นเวลานานหนึ่งสัปดาห์

วิกฤตการณ์โลกเดือดมีผลกับสภาพภูมิอากาศของเคนยาเต็มๆ และเด็กๆ ก็พลอยรับกรรมไปด้วยทั้งที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่กับวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น

เมื่อเด็กหยุดเรียนมีผลต่ออนาคตของเด็ก คุณภาพการเรียนก็ลดลง เด็กบางคนเมื่อหยุดเรียนแล้วไม่ได้ไปโรงเรียนอีก ปัญหาตามมาเป็นพรวน เช่น เด็กๆ ไปหางานทำ ไปแต่งงานก่อนวัยอันควร เด็กติดยา ฯลฯ

ส่วนสภาพภูมิอากาศที่ร้อนจัด มีผลโดยตรงกับการเรียนการสอน อุณหภูมิพุ่งสูง ทำให้เหงื่อไหลโชก เด็กขาดสมาธิในการเรียน

ในระยะหลังมานี้ หลายประเทศต้องประกาศหยุดการเรียนการสอนเพราะอากาศร้อนจัด

 

ล่าสุดเมื่อเดือนเมษายน 2567 ประเทศฟิลิปปินส์ อินเดีย บังกลาเทศ ศรีลังกา เมียนมา ลาว และกัมพูชา สั่งปิดโรงเรียนเนื่องจากอากาศร้อนมาก อุณหภูมิสูงเกือบ 50 องศาเซลเซียส

อากาศร้อนจัดในช่วงเพียงไม่กี่สัปดาห์ส่งผลกระทบกับเด็กนักเรียนกว่า 40 ล้านคนต้องหยุดไปโรงเรียน

โรงเรียนในบ้านเราก็ได้รับผลกระทบจากอากาศที่ร้อนจัด บางโรงเรียนต้องปรับเปลี่ยนการเรียนการสอน เป็นเรียนออนไลน์ ออนแอร์

นอกจากอากาศร้อนจัดแล้วเด็กไทยยังเผชิญกับฝุ่นพิษ พีเอ็ม 2.5 โดยเฉพาะเด็กในกรุงเทพมหานคร

วิกฤตฝุ่นพิษเมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา รุนแรงมาก ปริมาณฝุ่นในอากาศที่ปกคลุม กทม.สูงกว่าค่ามาตรฐานมาก มีผลกระทบต่อสุขภาพ ผู้ว่าฯ กทม.ต้องประกาศปิดโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร 4 วัน 195 แห่ง

อากาศเย็นมากเท่าไหร่ ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ยิ่งแผลงฤทธิ์รุนแรงมากเท่านั้น เนื่องจากเกิดความกดอากาศสูงปกคลุมพื้นที่ เมื่อสภาพอากาศปิด ไม่ถ่ายเท ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ไม่สามารถลอยขึ้นไปได้

 

ปัญหาฝุ่นพิษกลายเป็นวงจรอุบาทว์ของประเทศไทย เพราะฤดูฝุ่นพิษเกิดขึ้นทุกปี ต้นเหตุก็อย่างที่รู้ๆ กันว่ามาจากการเผาป่า เผาหญ้า ฟางข้าว อ้อย ควันจากรถยนต์ ควันจากโรงงานอุตสาหกรรม

แต่ไม่มีรัฐบาลชุดไหนสามารถสกัดยับยั้งปัญหาฝุ่นพิษ พีเอ็ม 2.5 ได้เลย ในทางกลับกันปัญหารุนแรงขึ้น หนักขึ้น

ถ้าเอาวิกฤตฝุ่นพิษมาคลี่ดูว่ามีผลกระทบกับอะไรบ้าง นอกจากเด็กนักเรียนต้องหยุดเรียน โรงเรียนปิดสอนแล้ว ฝุ่นยังส่งผลต่อสุขภาพ ผู้คนเจ็บป่วยเป็นภูมิแพ้ เป็นหวัดมากขึ้น

กระทรวงสาธารณสุขออกมาแถลงว่า ช่วง 4 สัปดาห์แรกของปี 2568 มีผู้ป่วยเกี่ยวเนื่องกับฝุ่นพีเอ็ม 2.5 มากกว่า 127,000 คน

ฝุ่นมีผลต่อสินค้าที่เป็นอุปกรณ์ฟอกอากาศ อุปกรณ์ดูดฝุ่น และหน้ากากอนามัย เนื่องจากบริษัทที่ขายสินค้าประเภทดังกล่าวฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาเพราะความต้องการมากขึ้น รัฐบาลชุดนี้ถึงขั้นต้องออกประกาศให้เครื่องฟอกอากาศและเครื่องดูดฝุ่นเป็นสินค้าควบคุม

 

ปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ส่งผลต่อการขนส่งคมนาคม รัฐบาลคุณแพทองธาร ชินวัตร สั่งให้รถไฟฟ้า รถเมล์ บริการฟรี 7 วันเพื่อลดปัญหาการใช้รถใช้ถนน และรัฐบาลเตรียมขออนุมัติจ่ายเงินชดเชยกว่า 190 ล้านบาท มาตรการนี้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันสนั่นว่า แก้ปัญหาถูกจุดหรือเปล่า

คนเดินไปขึ้นรถไฟฟ้าและใช้บริการรถเมล์ ขสมก. เป็นคนละกลุ่มกับคนขับรถเก๋งไปทำงาน รัฐบาลใช้เงินมาละเลงอย่างนี้ ไม่เกิดผลลัพธ์ ปริมาณฝุ่นไม่ได้ลดลงซะเท่าไหร่ และระหว่างใช้มาตรการขึ้นรถไฟฟ้าฟรี รถเมล์ฟรี การจราจรใน กทม.หนาแน่นติดขัดเหมือนเดิม

ยังมีคำถามตามมาอีกว่า ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ไม่ได้อาละวาดแค่ กทม. แต่มีกว่า 50 จังหวัดทั่วประเทศไทยที่เจอฝุ่นพิษ ทำไมรัฐบาลจึงจัดมาตรการเฉพาะคน กทม.เท่านั้น?

 

ในมิติทางเศรษฐกิจ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า คน กทม.ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ ระบบทางเดินหายใจไม่ต่ำว่า 2.4 ล้านคน ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ไปให้หมอตรวจรักษาอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง เสียค่าใช้จ่ายราว 1,800-2,000 บาท

เมื่อประเมินผลจากค่าเสียโอกาส ค่าใช้จ่ายจากปัญหาฝุ่นพิษจะตกราวๆ 3,000 ล้านบาท ถ้ารวมถึงการหยุดเรียน การท่องเที่ยว การทำงานที่บ้าน แน่นอนว่าจะมีผลกระทบทางเศรษฐกิจที่สูงกว่านี้

ส่วนธนาคารโลก ศึกษาคนไทยที่เสียชีวิตจากฝุ่นพีเอ็ม 2.5 เมื่อปี 2565 พบว่าอยู่ที่ 57 คนต่อประชากร 1 แสนคน ประเมินผลความเสียหายจากฝุ่นพิษที่มีต่อสุขภาพคนไทย จะอยู่ที่ 26,260 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเกือบ 1 ล้านล้านบาท

ฝุ่นกลายเป็นวาระอาเซียนไปแล้ว รัฐบาลไทยต้องส่งรัฐมนตรีบินไปเจรจาขอความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านรอบๆ ที่เผาป่า เผาพืชไร่ทำให้ปริมาณฝุ่นหนาแน่นและพัดใส่พื้นที่ประเทศไทย

 

กล่าวโดยสรุปแล้ว สำหรับประเทศไทย วิกฤตการณ์โลกเดือดและปัญหาฝุ่นพิษเป็นประเด็นสำคัญที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญมากกว่าที่ทำอยู่ในเวลานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตั้งงบประมาณเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม มีน้อยมาก ช่วงระหว่างปี 2560-2566 รัฐจัดงบฯ ไว้เพียง 0.270-0.491 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับงบประมาณแผ่นดินทั้งหมด

ผลกระทบและความเสียหายที่เกิดจากวิกฤตโลกเดือด-ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 สูงมาก แต่รัฐกลับจัดงบฯ แค่หยิบมือเดียว

ถามว่าอีกกี่ปีจึงจะแก้ปัญหาได้สำเร็จ? •

 

สิ่งแวดล้อม | ทวีศักดิ์ บุตรตัน

[email protected]