ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 7 - 13 กุมภาพันธ์ 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | ในประเทศ |
เผยแพร่ |
บทความในประเทศ
ลำพูน – ลำ ‘พัง’
ถอดบทเรียน ‘พรรคส้ม’
ได้แค่ อบจ. หนึ่งเดียว
โอกาสหรือความเสี่ยง?
ผลการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) 47 จังหวัดทั่วประเทศ พรรคประชาชนส่งผู้สมัครรวม 17 จังหวัด ผลปรากฏว่ามีเพียงจังหวัดลำพูนจังหวัดเดียวเท่านั้น ที่พรรคประชาชนชนะการเลือกตั้ง สิ่งนี้คือความสำเร็จหรือความล้มเหลวของพรรคประชาชน และสิ่งนี้จะส่งผลอย่างไรต่อภูมิทัศน์การเมืองไทยจากนี้หรือไม่
เทพไท เสนพงศ์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร วิเคราะห์ผลการเลือกตั้งในรายการ The Politics ข่าวบ้านการเมือง ทางช่อง Youtube มติชนทีวี ระบุว่า การที่พรรคประชาชนชนะการเลือกตั้งที่ลำพูนเพียงจังหวัดเดียว เป็นผลจากนโยบายการสรรหาผู้สมัครของพรรค โดยไม่คำนึงถึงบริบทที่แตกต่างกันของสนามเลือกตั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น
เทพไทระบุว่า ในการเมืองระดับชาติ ประชาชนผู้ลงคะแนนเสียงจะตัดสินใจเลือก โดยใช้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเป็นปัจจัยในการตัดสินใจเลือกผู้สมัครจากพรรคก้าวไกล เพราะต้องการให้พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกฯ จึงสามารถสร้างกระแสได้ทั้งประเทศ แต่เมื่อเป็นการเมืองท้องถิ่น มันเป็นเรื่องของจังหวัดนั้นๆ ไม่สามารถสร้างกระแสระดับประเทศในทิศทางเดียวกันได้ทั้งหมด
แต่กรณีของพรรคประชาชน เวลาคัดเลือกผู้สมัคร เลือกจาก 1.ภาพลักษณ์ดี มั่นคงในจุดยืนอุดมการณ์ของพรรค บางคนเป็นนักวิชาการอยู่กรุงเทพฯ ไม่ได้อยู่กับชาวบ้าน เมื่อมาเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง แต่ผู้เลือกตั้งไม่ได้มีความรู้สึกร่วมด้วย เขาก็ไม่เลือก เขาจะเลือกคนที่ทำให้เขารู้สึกว่าเป็นที่พึ่งของเขาได้ เช่น เคยมาช่วยงานศพ หรือฝากลูกเข้าโรงเรียนได้ เป็นบริบทใกล้ๆ ตัว
ยกตัวอย่าง นายก อบจ.ลำพูน ที่พรรคประชาชนชนะเลือกตั้ง “วีระเดช ภู่พิสิฐ” ผู้สมัครจากพรรคประชาชนก็ไม่ใช่ประเภทนักวิชาการ แต่มีความลูกทุ่งพอสมควร เป็นลูกของอดีตนายก อบจ. ซึมซับการเมืองคลุกคลีกับชาวบ้านพอสมควร
เทียบกับกรณีจังหวัดเชียงใหม่ น่าเสียดายที่พรรคประชาชนไม่ส่ง “ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์” ที่มีจุดยืนอุดมการณ์ตรงกับพรรคประชาชน และมีจุดแข็งในสนามเลือกตั้งจังหวัดเชียงใหม่ เป็นอดีต ส.ส. หลายสมัย มีเครือข่ายและฐานเสียงในพื้นที่ จากผลแพ้ชนะที่คะแนนห่างกันราว 20,000 คะแนน เชื่อว่าหากเป็นคุณทัศนีย์ อาจจะพลิกชนะได้
แต่เมื่อผู้สมัครเป็น “พันธุ์อาจ ชัยรัตน์” คนก็ถามว่า แล้วพันธุ์อาจมาจากไหน บ้านอยู่ตรงไหน ฯลฯ ซึ่งเท่าที่ตรวจสอบดูพบว่า คนในเมืองพอจะรู้จักอาจารย์พันธุ์อาจอยู่บ้าง แต่ว่าพอเป็นต่างอำเภอคนจะรู้จักน้อย
แต่ที่ผลเลือกตั้งคะแนนออกมาค่อนข้างสูสี เป็นเพราะคะแนนของคนที่ “ไม่เลือกทักษิณ” ไม่เอาพรรคเพื่อไทย หันมาเทคะแนนให้พรรคประชาชน ทั้งที่ไม่รู้จักอาจารย์พันธุ์อาจด้วยซ้ำไป ส่วนอีกราว 50,000 กว่าใบที่ไม่ประสงค์ลงคะแนน คือประชาชนที่ไม่เลือกทักษิณแล้ว แต่ว่าจะเลือกพันธุ์อาจก็ไม่รู้จักอีกว่าพันธุ์อาจคือใคร เลยกาช่องไม่ประสงค์ลงคะแนนดีกว่า
หลายคนอาจจะโต้แย้งว่า พรรคประชาชนมีมาตรฐานในการคัดเลือกผู้สมัคร อย่าไปลดเพดานของเขา ผมขอถามกลับว่า ถ้าอย่างนั้นคุณจะหวังผลชัยชนะหรือเปล่า ถ้าคุณลงสมัครเพื่อทดสอบกระแส หรือเพื่อดูบริบทการเมืองท้องถิ่น ผมไม่ว่า แต่ถ้าหากว่าคุณคิดว่าคุณต้องการชนะเลือกตั้ง คุณก็ต้องคิดว่าทำอย่างไรให้ชนะ
ถ้าผมเสนอเขาได้ ผมคิดว่าพรรคประชาชนทำการเมืองระดับชาติดีกว่า เอามาตรฐานนี้เป็นการเมืองระดับชาติไปเลย แล้วก็พอเข้าสู่อำนาจรัฐได้แล้ว ค่อยมาเปลี่ยนการเมืองท้องถิ่น เพราะหากพรรคประชาชนยังส่งผู้สมัครที่มีคุณสมบัติแบบนี้ คงหวังผลชนะยาก เพราะด้วยบริบทในท้องถิ่นยังเป็นอีกแบบหนึ่งอยู่
นอกจากนี้ ในส่วนของจังหวัดลำพูนที่พรรคประชาชนชนะเลือกตั้งมาได้ ก็ยังมีเรื่องกังวล เพราะเป็นชัยชนะที่มาพร้อมกับความคาดหวังของสังคม หากพรรคประชาชนทำได้ตามที่หาเสียงไว้ก็เป็นเรื่องดี แต่เป็นห่วงว่าเมื่อเข้าไปบริหารจริงๆ จะทำได้แค่ไหน เพราะ อบจ.ลำพูนมีขนาดเล็ก มีงบประมาณแค่ 300-400 ล้านบาท อาจจะทำอะไรได้ไม่มากเมื่อเทียบกับจังหวัดใหญ่ๆ เช่น ชลบุรี ที่มีงบประมาณระดับ 4,000 ล้านบาท
เมื่อความคาดหวังสูง ถ้าหากบริหารไม่ได้ตามที่คนคาดหวัง อาจจะสักครึ่งเทอม หากไม่มีผลงานอะไรออกมาเพราะงบประมาณจำกัด ก็จะมีคนพูดว่า เห็นไหมล่ะ เลือกไปแล้วก็ทำอะไรไม่ได้ อันนี้ประเด็นที่หนึ่ง
ส่วนประเด็นที่สอง ขอมองโลกในแง่ร้ายไว้ก่อน สมมุติว่าได้เป็นนายกสักครึ่งเทอม แล้วมีความรู้สึกว่าทำไมพรรคมาครอบ มาควบคุม มาบังคับให้นายกทำโน่นทำนี่ แล้วเกิดกรณีนายกแหกคอกขึ้นมา ไม่ทำตามพรรคแล้ว อย่างนี้เดี๋ยวก็ไปกันไม่ได้อีก
ด้านพิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ผู้อำนวยการหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) มีมุมมองที่แตกต่างออกไปว่า ให้ลองนึกถึงภาพว่าการเมืองท้องถิ่นที่ตกอยู่ภายใต้การครอบงำของบ้านใหญ่ เปรียบเสมือนเป็นป้อมปราการของบ้านใหญ่ในการเมืองระดับท้องถิ่น แต่ว่าในการเลือกตั้งครั้งนี้ ป้อมปราการนั้นเกิดรอยร้าวขึ้นมาแล้วที่จังหวัดลำพูน เกราะแข็งแกร่งที่แต่เดิมการเมืองแบบนโยบาย หรือนักการเมืองหน้าใหม่ที่อาศัยนโยบาย อาศัยกระแสต่างๆ ในการหาเสียงไม่เคยเจาะทะลุกำแพงนี้ไปได้ แต่ว่าในครั้งนี้เจาะทะลุเข้าไปแล้ว แม้ว่าอาจจะไม่ได้ตามเป้าหมายที่พรรคประชาชนคาดหวัง แต่ก็เกิดรอยร้าวขึ้นมาแล้ว
เมื่อเกิดรอยร้าวแล้วมันไปเร็ว สิ่งหนึ่งที่พรรคประชาชนทำทันทีที่รู้ว่าชนะการเลือกตั้งที่ลำพูน คือการเสนอแผนงานหรือยุทธศาสตร์ในการบริหารโดยทันที ซึ่งในฐานะที่เป็นคนสอนการบริหารเชิงยุทธศาสตร์ คือเห็นภาพที่เขาเสนอ ก็ต้องเอามาสอนให้นักศึกษาดูเป็นตัวอย่างว่า ดูในแผนที่จังหวัดลำพูนที่เขานำเสนอ เขาพล็อตตำแหน่งหมู่บ้านต่างๆ พล็อตตำแหน่งโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) พล็อตตำแหน่งหมู่บ้านต่างๆ พล็อตตำแหน่งพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก พล็อตตำแหน่งจุดความร้อนต่างๆ (เกี่ยวข้องกับการเกิดไฟป่า)
ข้อมูลเหล่านี้ทำให้เกิดการจำแนกแยกแยะว่าพื้นที่ใดเป็นพื้นที่ที่มีปัญหามาก ซึ่งก็เป็นวิธีการกำหนดพื้นที่ในเชิงยุทธศาสตร์เพื่อที่จะทำงาน และมีการจัดลำดับความสำคัญของปัญหาในการที่จะลงไปจัดการแก้ไข ว่าจุดไหนที่เป็นปัญหาและเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่จะต้องแก้ไข
การใช้เทคโนโลยีแบบนี้มาช่วย ก็คือใช้การบริหารในเชิงยุทธศาสตร์ โดยอาศัยข้อมูลเชิงประจักษ์มาเป็นฐานในการบริหารงาน สิ่งนี้แตกต่างจากการบริหาร อบจ.ที่ผ่านมาอย่างสิ้นเชิง การบริหาร อบจ.ที่ผ่านๆ มาบริหารในสไตล์บ้านใหญ่ คือบริหารจัดสรรผลประโยชน์ตามเครือข่ายสายสัมพันธ์ของพวกพ้อง เมื่อเจอกับสไตล์การบริหารแบบใหม่ ที่มีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยบริหารมากขึ้น จะทำให้เกิดแรงกดดันต่อนายก อบจ.ในจังหวัดอื่นๆ
พิชายอธิบายว่า การเมืองแบบบ้านใหญ่มี 2 ขั้นตอน คือ 1.คว้าชัยชนะโดยใช้กลยุทธ์ที่อาศัยเครือข่าย สายสัมพันธ์ ทุ่มทรัพยากรต่างๆ เข้าไป 2.เมื่อได้ชัยชนะมาก็บริหารแบบเอื้อประโยชน์แก่พวกพ้องเป็นหลัก แจกจ่ายกันในเครือข่าย
ความเข้าใจอันหนึ่งที่ได้ยินอยู่บ่อยๆ และมีส่วนถูกอยู่เหมือนกัน คือการบอกว่าคนต่างจังหวัดยังนิยมบ้านใหญ่ เพราะว่าบ้านใหญ่เข้าไปช่วยเรื่องความสัมพันธ์ส่วนตัว แต่จริงๆ แล้วเรื่องนี้ไม่ได้เป็นประเด็นที่จะไปชี้ขาดชัยชนะในการเลือกตั้ง
ลองนึกภาพตามว่าบ้านใหญ่ที่ไปช่วยประชาชน ช่วยได้สักกี่คน ช่วยได้เป็นหมื่นเป็นแสนหรือเปล่า ก็คงไม่ใช่ แต่เป็นการช่วยคนในเครือข่าย แล้วคนในเครือข่ายนั้นก็อาจจะเอาไปพูดต่อ ส่วนใหญ่ก็เป็นชนชั้นนำท้องถิ่นซึ่งอาจจะมีอิทธิพลทางความคิด ทำให้เกิดมายาคติเรื่องความช่วยเหลือของบ้านใหญ่ขึ้นมา สิ่งนี้ครอบงำความคิดของชาวบ้านอยู่ แล้วนักวิชาการก็ไปตอกย้ำความคิดแบบนี้ แล้วไม่ชี้ให้เห็นว่าความช่วยเหลือจำกัดเฉพาะแวดวงที่อยู่ในเครือข่ายของเขาเท่านั้น
พรรคประชาชนที่สามารถคว้าเก้าอี้นายก อบจ. มาได้ 1 จังหวัดเป็นความสำเร็จหรือล้มเหลว เป็นโอกาสหรือความเสี่ยง แต่ละคนคงมีมุมมองที่แตกต่างกัน ผลงานเท่านั้นที่จะเป็นคำตอบที่แท้จริง
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022