ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 7 - 13 กุมภาพันธ์ 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | Agora |
ผู้เขียน | กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์ |
เผยแพร่ |
Agora | กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์
วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
www.facebook.com/bintokrit
6 เดือนผ่านไป
ผู้คนทั่วโลกยังคงคลั่งไคล้
ในขณะที่พีต้าประกาศสู้เพื่อหมูเด้ง
เปิดศักราชใหม่มาได้เดือนกว่าๆ แต่ทว่าปรากฏการณ์ “หมูเด้งฟีเวอร์” ก็ยังคงร้อนแรงและดำเนินต่อไปอย่างไม่หยุดหย่อน แม้ฮิปโปโปเตมัสแคระ (pygmy hippopotamus) ตัวมันวาวนี้จะถือกำเนิดมาเป็นเวลามากกว่า 6 เดือนแล้ว หมูเด้งเป็นลูกฮิปโปเพศเมีย เกิดเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ.2567 ที่สวนสัตว์เปิดเขาเขียว ต.บางพระ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี
ปัจจุบันอายุของหมูเด้งกำลังพ้นเดือนที่ 7 เข้าสู่เดือนที่ 8 เธอเป็นลูกสาวของพ่อโทนี่กับแม่โจน่า และมีพี่ชายชื่อหมูตุ๋น ครอบครัวตัวทะเล้นที่ดูมันวาวและลื่นกลมเหล่านี้สามารถเอาชนะใจผู้คนมหาศาลจากสารพัดประเทศได้อยู่หมัด
หมูเด้งดังกระฉ่อนไปทั่วโลกมาตั้งแต่ปีที่แล้วจากกระแสที่เริ่มต้นในโซเชียลมีเดีย กระทั่งแพร่กระจายไปสู่ทุกช่องทาง จนกลายเป็นสิ่งมีชีวิตผู้ทรงอิทธิพลที่สุดตัวหนึ่งของโลก
ด้วยเสน่ห์อันล้นเหลือของหมูเด้งซึ่งดึงดูดผู้คนจากทุกทวีปให้หลั่งไหลเข้ามาต่อคิวรอชมโฉมหมูเด้งอย่างคับคั่งตลอดวัน สร้างรายได้ให้กับสวนสัตว์อย่างมหาศาลตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา
สปอตไลต์จากที่ต่างๆ ทั่วโลกยังคงฉายแสงจับจ้องมายังหมูเด้งไม่หยุด โดยล่าสุดสื่อยักษ์ใหญ่ของโลกซึ่งมีอายุเก่าแก่ถึง 173 ปี อย่าง The New York Times หรือ NYT ได้ลงพื้นที่มาตามติดชีวิตหมูเด้งและนำเสนอผ่านบทความของฮันนาห์ บีช (Hannah Beech) และมุกติตา ซูฮาร์โตโน (Muktita Suhartono) เรื่อง Moo Deng, the Toddler Hippopotamus, Is Still a Star เผยแพร่ทางเว็บไซต์ของ The New York Times เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ทางลิงก์ https://www.nytimes.com/2025/02/01/world/asia/moo-deng-thailand-zoo.html
บีชและซูฮาร์โตโนตั้งคำถามว่าแม้จะผ่านเวลามาหกเดือนแล้วแต่ลูกฮิปโปแคระตัวนี้ก็ยังคงเป็นเซเลบอันดับหนึ่งของไทย ซึ่งทำให้ผู้คนยังคงแห่แหนกันมาห้อมล้อมรอบหมูเด้งอย่างไม่ขาดสาย ทำไมหมูเด้งถึงมีเสน่ห์ได้ถึงเพียงนี้ (The pygmy hippopotamus, now 6 months old, is Thailand’s biggest celebrity, and the crowds keep flocking. What explains her charm?) บีชและซูฮาร์โตโนอธิบายโดยอ้างอิงจากการสัมภาษณ์นักท่องเที่ยวว่าเป็นเพราะความน่ารักของหมูเด้ง ความมีชีวิตชีวา ไร้เดียงสา และดูตื่นเต้นกับสิ่งต่างๆ รอบตัวซึ่งชวนให้ผู้ชมนึกถึงความรู้สึกในวัยเด็ก
ในขณะที่ผู้บริหารสวนสัตว์มีมองมุมที่แตกต่างออกไป อย่างเช่น ณรงวิทย์ ชดช้อย ผู้อำนวยการสวนสัตว์เปิดเขาเขียว กลับคิดว่าปรากฏการณ์หมูเด้งเกิดจากการที่ผู้คนเบื่อหน่ายการเมืองไทยที่ยุ่งเหยิงมานานนับทศวรรษ เมื่อเบื่อสังคม เบื่อข่าวสารบ้านเมืองต่างๆ จึงหันมาหาสิ่งที่สดชื่นแจ่มใสดีต่อใจกว่าแบบหมูเด้ง (ในบทความใช้คำว่า She was a breath of fresh air.)
แต่เหตุผลนี้ดูเป็นเพียงข้อสันนิษฐานที่ยังไม่มีน้ำหนักมากนัก เมื่อพิจารณาจากความหลากหลายของแฟนคลับหมูเด้งที่มาจากทุกชาติทุกภาษา ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา อังกฤษ รัสเซีย จีน เวียดนาม เกาหลี ญี่ปุ่น และไทย ด้วยปูมหลังของแต่ละประเทศที่ไม่เหมือนกันนี่เองจึงทำให้เหตุผลเรื่อง “อาการเบื่อการเมือง” ไม่น่าจะเป็นคำอธิบายที่ครอบคลุมผู้คนทั้งหมดได้
แต่ในขณะที่คนส่วนใหญ่กำลังหลงใหลคลั่งไคล้หมูเด้ง บีชและซูฮาร์โตโนก็เห็นอีกด้านหนึ่งของปรากฏการณ์นี้ด้วย นั่นคือเสียงต่อต้านที่ดังมาจากกลุ่มรณรงค์เรื่อง “สิทธิสัตว์” (Animal Rights) ที่มองว่าการจับสัตว์มาขังกรงภายใต้ข้ออ้างว่าเป็นการอนุรักษ์นั้นไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง เนื่องจากฮิปโปแคระมีถิ่นกำเนิดอยู่ในแอฟริกาตะวันตก เป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ที่ปัจจุบันหลงเหลืออยู่ในธรรมชาติราว 2,500 ตัวเท่านั้น
การที่ฮิปโปเหล่านี้ต้องเดินทางไกลมาอยู่ในสวนสัตว์อีกฟากหนึ่งของโลก ซึ่งแม้จะมีอาณาบริเวณกว้างขวางแต่ก็ทรุดโทรม และมีสภาพแวดล้อมแตกต่างจากถิ่นกำเนิดที่แท้จริง
บทความของบีชและซูฮาร์โตโนส่วนใหญ่แล้วกล่าวถึงปรากฏการณ์หมูเด้งในแง่ดี ไม่ได้ลงรายละเอียดเรื่องการต่อต้านมากนัก แต่เนื้อหาเรื่องนี้ปรากฏอย่างเด่นชัดในบทความประกอบการรณรงค์ขององค์กรพิทักษ์สัตว์พีต้า (PETA) เรื่อง In 2025, Let’s Do Better – the Problem With Moo Deng Being ‘Viral’ เผยแพร่ทางเว็บไซต์ของพีต้าเมื่อวันที่ 3 มกราคม และแก้ไขปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2568 ทางลิงก์ https://www.peta.org/blog/moo-deng-tragic-thai-zoo/ เรียกร้องให้ประชาชนร่วมกันผลักดันต่อสู้เพื่อให้สัตว์ที่ถูกกักขังเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจได้รับการปลดปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ โดยมีหมูเด้งเป็นเป้าหมายสำคัญ
พีต้าอธิบายว่า การที่หมูเด้งกลายเป็นไวรัลไม่ได้มีประโยชน์อะไรกับตัวหมูเด้งเลย ซ้ำร้ายยังมีโทษอีกด้วย เพราะพฤติกรรมตามธรรมชาติของฮิปโปแคระไม่ชอบความพลุกพล่านวุ่นวาย แต่ชอบความสงบเงียบ โดยใช้เวลาส่วนใหญ่นอนกลางวันหรือไม่ก็แช่น้ำที่ลึกกว้าง ก่อนที่จะลุกออกมาหากินในยามราตรี เพราะฉะนั้นการที่หมูเด้งกลายเป็นเซเลบริตี้ที่โด่งดังห้อมล้อมไปด้วยฝูงชนมหาศาลตลอดวัน จึงไม่เป็นผลดีต่อสิ่งมีชีวิตชนิดนี้ พีต้ากล่าวอ้างว่าบางครั้งยังมีคนมือบอนขว้างปาสิ่งของลงไปในบ่อฮิปโป รบกวนหมูเด้งจนอยู่ไม่สุข
นอกจากนี้ ฮิปโปแคระยังมีถิ่นที่อยู่ในแอฟริกาตะวันตกซึ่งมีอาณาบริเวณกว้างขวางและห่างไกลจากประเทศไทยครึ่งค่อนโลก ด้วยเหตุนี้การจับฮิปโปแคระมาขังกรงในสวนสัตว์จึงไม่อาจอ้างว่าเป็นการอนุรักษ์ได้ เพราะถ้าต้องการอนุรักษ์อย่างแท้จริงก็ไม่ควรลำเลียงสัตว์มาไกลถึงศรีราชา แต่ควรอยู่ในศูนย์อนุรักษ์สักแห่งในแถบแอฟริกาตะวันตก และสวนสัตว์เปิดเขาเขียวก็ต้องเปลี่ยนไปดูแลสัตว์พื้นถิ่นแทน ไม่ใช่สัตว์แปลกใหม่ที่มาไกลจากทวีปอื่น
พีต้าไม่เพียงแต่ยกเหตุผลเรื่องพื้นที่อันห่างไกลและสิ่งแวดล้อมที่อึกทึกครึกโครมมาโจมตีเท่านั้น แต่ยังวิจารณ์สวนสัตว์อย่างรุนแรงว่าอันที่จริงแล้วกิจกรรมนี้ไม่ใช่การอนุรักษ์ แต่คือการนำสัตว์มาใช้ประโยชน์เพื่อผลทางธุรกิจเป็นหลัก สัตว์ที่ควรมีสิทธิได้ใช้ชีวิตที่เหมาะสมตามธรรมชาติของสปีชีส์จึงต้องดั้นด้นมาไกลในสวนสัตว์ที่ไม่น่าเชื่อถือหรือไม่ได้รับการรับรองตามมาตรฐาน (Unaccredited Zoo) และอาศัยหมูเด้งเป็นเครื่องมือหากินด้วยการปั้นเป็นดาราทางโซเชียลมีเดียโดยที่เจ้าตัวก็ไม่ได้ต้องการ (unwilling social media star)
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าการรณรงค์ของพีต้าจะไม่ได้รับความสนใจมากนัก และมีแนวโน้มว่าคงไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะแม้ไม่มีใครรู้ใจหมูเด้งได้ดีไปกว่าตัวหมูเด้งเองก็ตาม ทว่า ประชาชนส่วนใหญ่ก็เชื่อว่าหมูเด้งไม่ได้อมทุกข์อมโศก แต่กำลังอยู่ในช่วงเวลาร่าเริงและซุกซนสุดสุดเหมือนเด็กน้อยไร้เดียงสาที่สนุกสนานกับการแกล้งคนอื่นอยู่ตลอด ประกอบกับสีหน้าแววตาใสซื่อ ทะลึ่งทะเล้น และดีดดิ้นอย่างมีจริตจะก้าน ซึ่งทำให้ฝูงชมยิ่งหลงใหลคลั่งไคล้และเอ็นดูหมูเด้งมากกว่าเดิม แล้วมองว่าท่าทีของพีต้าเป็นเรื่องไร้สาระที่ยากจะโน้มน้าวใจใครให้คล้อยตามได้
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022