ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 7 - 13 กุมภาพันธ์ 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | ต่างประเทศ |
เผยแพร่ |
บทความต่างประเทศ
แผนบริหารจัดการ ‘กาซา’
ตามแบบฉบับ โดนัลด์ ทรัมป์
สงครามที่ฉนวนกาซา ซึ่งเชื่อมโยงถึงความขัดแย้งที่ใหญ่โตกว่า ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ และอิสราเอลกับโลกอาหรับ ได้รับการยอมรับในหมู่ผู้สันทัดกรณีทั้งหลายว่า เป็นความขัดแย้งที่หาทางออกได้ยากเย็นที่สุด ไร้โอกาสที่จะมีสันติภาพถาวร หรือความสงบที่ยั่งยืนใดๆ ได้
ที่น่าสนใจคือ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาใหม่หมาด ก็มีแผนเพื่อการบริหารจัดการฉนวนกาซาในอนาคตกับเขาด้วย แม้ว่าตอนที่ผู้นำอเมริกันปริปากเรื่องนี้ออกมาเป็นครั้งแรกเมื่อราว 10 วันก่อนหน้านี้ จะไม่มีใครแยแสหรือใส่ใจก็ตามที
ทรัมป์เปรยๆ เอาไว้ในตอนนั้นว่า กาซานับว่าเป็นพื้นที่ที่ตกอยู่สภาพ “ถูกทำลายล้าง” ซึ่งต้องการการ “ทำความสะอาดเสียใหม่ให้หมดจด”
แผนของทรัมป์อยู่นอกโฟกัสเรื่อยมา จนถึงวาระที่เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล เดินทางเยือนสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ แนวทางของทรัมป์จึงปรากฏชัดออกมา แล้วก็กลายเป็นประเด็นให้ถูกคัดค้านและวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่ายอยู่ในขณะนี้ เมื่อทุกคนได้ตระหนักว่า แผนการของทรัมป์ไม่เพียงไม่แยแสต่อหลักการและข้อเท็จจริงใดๆ รวมทั้งความถูกผิดตามกฎหมายระหว่างประเทศเท่านั้น ทรัมป์ยังจริงจังกับแนวทางของตนอย่างยิ่งอีกด้วย
ทรัมป์กับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐอเมริกาเรียกแนวทางจัดการกับปัญหานี้ของตนว่า เป็นการ “โยกย้ายชาวปาเลสไตน์ทั้งหมดออกไปตั้งหลักแหล่งใหม่นอกกาซาเป็นการถาวร” โดยถือว่าเป็นการให้ความช่วยเหลือ “ด้วยมนุษยธรรม” เนื่องจากปาเลสไตน์ในกาซาไม่มีทางเลือกเป็นอย่างอื่นอีกต่อไปแล้ว เพราะ กาซา “คือที่ที่ถูกทำลายทิ้ง” ไปจนหมดสิ้นแล้ว
ทรัมป์ไม่แยแสว่า ตามกฎหมายระหว่างประเทศแล้ว การบีบบังคับให้โยกย้ายประชากรออกจากถิ่นอาศัยใดๆ ถือเป็นพฤติกรรมที่ “ต้องห้ามเด็ดขาด” ไม่ใส่ใจด้วยซ้ำไปว่า ปาเลสไตน์และชาติอาหรับทั้งหลายจะถือว่าข้อเสนอของทรัมป์ไม่ต่างอะไรกับการขับไล่ปาเลสไตน์จากถิ่นอาศัยแต่เดิม และเทียบเคียงได้กับการ “กวาดล้างกลุ่มชาติพันธุ์” ปาเลสไตน์ออกไปจากมาตุภูมิ
เป็นที่แน่นอนว่า บรรดาชาติอาหรับทั้งหลายพากันทยอยออกมาปฏิเสธ ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ โดยเฉพาะข้อเสนอที่ว่า อียิปต์กับจอร์แดนควรเป็นประเทศที่จะรับเอาชาวปาเลสไตน์จากฉนวนกาซาไปตั้งถิ่นฐานใหม่ที่นั่น
อียิปต์, ซาอุดีอาระเบีย, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, กาตาร์, องค์กรปกครองตนเองปาเลสไตน์ และสันนิบาติอาหรับ ออกแถลงการณ์อย่างเป็นทางการ เตือนว่า การดำเนินการตามแนวทางของทรัมป์ “มีแต่จะคุกคามต่อเสถียรภาพของภูมิภาค เสี่ยงต่อการทำให้ความขัดแย้งลุกลามขยายตัว และทำลายโอกาสที่จะเกิดสันติภาพและการอยู่ร่วมกันโดยสันติระหว่างประชากรในภูมิภาคไป”
อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ไม่เพียงไม่ใส่ใจกับเสียงคัดค้าน แต่ในระหว่างการแถลงข่าวร่วมกับเนทันยาฮู ผู้นำอเมริกันยังขยายแผนการของตนเพิ่มเติมว่า หลังจาก “โยกย้าย” ปาเลสไตน์ทั้งหมดออกไปแล้ว สหรัฐอเมริกาก็จะเข้าไปควบคุมพื้นที่ฉนวนกาซาทั้งหมด และสร้างกาซาใหม่ขึ้นมา
เมื่อถูกซักต่อว่า แล้วชาวปาเลสไตน์จะได้รับอนุญาตให้กลับเข้าไปใช้ชีวิตอยู่หรือไม่
ทรัมป์บอกว่า “ประชากรของโลก” จะใช้ชีวิตอยู่ใน “สถานที่ที่เป็นสากล อันเหลือเชื่อ” แห่งนี้ ก่อนที่จะเพิ่มเติมในตอนท้ายว่า “ปาเลสไตน์ก็ด้วยเช่นกัน”
ปัญหาคือ ก่อนหน้านั้นเล็กน้อย สตีฟ วิตคอฟฟ์ ทูตพิเศษประจำตะวันออกกลางของทรัมป์ บรรยายสรุปเกี่ยวกับแนวทางของทรัมป์เอาไว้อย่างชัดเจนว่า จะเป็นการรังสรรค์กาซาขึ้นมาใหม่ทั้งหมด โดยไม่ลืมย้ำว่า ทรัมป์ ซึ่งเป็น “ผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์” บอกเอาไว้ว่า ในท้ายที่สุดแล้ว กาซาจะกลายเป็น “ริเวียร่า แห่งตะวันออกกลาง” ในระนาบเดียวกับริเวียร่า ชายหาดท่องเที่ยวเลื่องชื่อของยุโรป
ผู้สื่อข่าวสอบถามทรัมป์ต่อว่า ทหารอเมริกันจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเข้าควบคุมฉนวนกาซาตามแผนที่วางเอาไว้หรือไม่ คำตอบของผู้นำสหรัฐอเมริกาก็คือ “เราจะดำเนินการเท่าที่จำเป็น”
ข้อเสนอของทรัมป์ในครั้งนี้ดูเหมือนสอดคล้องต้องกันเป็นอย่างดีกับแนวทางที่กลุ่มยิวชาตินิยมสุดโต่งต้องการให้เกิดขึ้น กลุ่มนี้ต้องการขับไล่ปาเลสไตน์ออกไปจากกาซาและเปิดทางให้ชาวอิสราเอลเข้าไปตั้งหลักแหล่งแทน ทั้งยังเรียกร้องให้รัฐบาลอิสราเอลทำสงครามกับกลุ่มฮามาสต่อไปไม่สิ้นสุด เพื่อปูทางให้ชาวยิวเข้าไปในฉนวนกาซา และไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการหยุดยิงและแลกเปลี่ยนตัวประกันที่เกิดขึ้นอยู่ในเวลานี้
ปาเลสไตน์หลบหนีการสู้รบเข้ามาปักหลักในบริเวณฉนวนกาซาตั้งแต่ปี 1948 เมื่อมีการประกาศก่อตั้งประเทศอิสราเอล จำนวนผู้ตั้งถิ่นฐานเพิ่มขึ้นในทุกครั้งที่เกิดการสู้รบ โดยปัจจุบันนี้มีรวมแล้วมากกว่า 2 ล้านคน ที่จำเป็นต้องถูกโยกย้ายออกไปเพื่อ “ตั้งหลักแหล่งใหม่ โดยถาวร” ไม่ที่ใดก็ที่หนึ่งในอนาคตอันใกล้ หากทุกอย่างดำเนินไปตามแผนการของทรัมป์
แผนของทรัมป์ไม่เพียงทำลายหลักการ “อยู่ร่วมกันอย่างสันติ” ที่สหรัฐอเมริกายึดถือมาช้านานเท่านั้น ยังทำให้ข้อเสนอที่จะใช้แนวทางการก่อตั้งประเทศปาเลสไตน์ขึ้นคู่ขนานไปกับประเทศอิสราเอล เพื่อแก้ไขปมขัดแย้งนี้ เป็นไปไม่ได้โดยสิ้นเชิงด้วยอีกต่างหาก
กลุ่มชาตินิยมสุดโต่งของอิสราเอลอาจมองว่า แผนของทรัมป์คือชัยชนะตามเป้าหมายการทำให้กาซา “ไม่ใช่ภัยคุกคาม” ของอิสราเอลอีกต่อไป แต่สำหรับชาวปาเลสไตน์ธรรมดาทั่วไป
แผนนี้ของทรัมป์ ไม่ต่างอะไรกับการถูกลงทัณฑ์ซ้ำอีกครั้งเท่านั้นเอง
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022