บ้านใหญ่, ผู้มีอิทธิพล และประชาธิปไตย

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

บทความพิเศษ | ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

https://www.facebook.com/sirote.klampaiboon/

 

บ้านใหญ่, ผู้มีอิทธิพล และประชาธิปไตย

 

เป็นฉันทานุมัติไปแล้วว่าการเลือกตั้ง อบจ.ปี 2568 จบลงด้วยความเสื่อมถอยของคุณทักษิณ ชินวัตร, ความพ่ายแพ้ที่คะแนนยังไปต่อได้ของพรรคประชาชน รวมทั้งการแผ่อิทธิพลเกินคาดของพรรคภูมิใจไทย และถึงแม้กองเชียร์บางพรรคอาจไม่ชอบฉันทานุมัติแบบนี้ แต่ภาพที่คนส่วนใหญ่รู้สึกต่อผลเลือกตั้งก็เป็นแบบนี้จริงๆ

คุณทักษิณไม่ใช่สมาชิกพรรคเพื่อไทย แต่พรรคเพื่อไทยกลับใช้กำลังคนนับสิบเพื่อยืนยันว่าคุณทักษิณยังไม่เสื่อมถอย คำอธิบายของเพื่อไทยคือพรรคได้ อบจ.เยอะจนแปลว่าทักษิณไม่เสื่อมถอย ทั้งที่ประเด็นเรื่องเสื่อมถอยเกิดจากคุณทักษิณไม่สามารถทำให้พรรคชนะทุกเขตที่ไปช่วยหาเสียงแบบที่ประกาศเท่านั้นเอง

พูดตรงๆ ถ้าแยกเรื่องคุณทักษิณกับพรรคเพื่อไทยออกจากกัน ปัญหานี้ก็ไม่มีอะไรสลับซับซ้อนเลย นั่นก็คือ พรรคเพื่อไทยครองแชมป์นายก อบจ.เท่ากับพรรคภูมิใจไทย แต่คุณทักษิณบารมีหดจนนำทัพแพ้พรรคภูมิใจไทยและพรรคประชาชนไป 4 จังหวัด พรรคจึงยังคงแข็งแรงแน่ๆ ส่วนคุณทักษิณอ่อนแอลง

ส.ส.เพื่อไทยบางคนหงุดหงิดว่าทำไมไม่มีใครบอกว่าพรรคประชาชนสิ้นมนต์ที่ชนะนายก อบจ.แค่ที่ลำพูน ประเด็นคือพรรคประชาชนไม่มีเงิน, ไม่มีอำนาจ, ไม่มีเครือข่ายบ้านใหญ่, ไม่เคยประกาศว่าพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ไปจังหวัดไหนต้องชนะหมด ฯลฯ จึงไม่มีใครมองว่าพรรคนี้มีมนต์ จนแพ้ก็ไม่มีทางเกิดประเด็น “สิ้นมนต์”

 

นอกจากประเด็น “สิ้นมนต์” ซึ่งไม่มีประโยชน์อะไรนอกจากการวิเคราะห์ทางการเมือง เรื่องที่ต้องคิดต่อจากการเลือกตั้ง อบจ.คือจำนวนบัตรเสียและบัตรไม่ประสงค์เลือกใครที่บางจังหวัดทะลุแสน, ผู้ใช้สิทธิที่หลายจังหวัดไม่ถึง 40% รวมทั้งการจัดเลือกตั้งวันเสาร์ หรือสรุปสั้นคือๆ เรื่องโกงและเรื่อง กกต.

อย่างไรก็ดี ทั้งที่ปัญหาเรื่องโกงและประสิทธิภาพ กกต.เป็นเรื่องใหญ่ที่ทุกพรรคต้องหาทางแก้ไขร่วมกัน แต่ข้อเท็จจริงคือมีแต่พรรคประชาชนและนักวิชาการพูดเรื่องนี้ ส่วนพรรคเพื่อไทย, พรรคภูมิใจไทย และพรรคอื่นไม่พูดเรื่องนี้เลย เหมือนกับที่มีแต่พรรคประชาชนพูดเรื่องจีนเทา, ตัดไฟพม่า, ส่วยสติ๊กเกอร์ ฯลฯ

“บ้านใหญ่” เป็นอีกเรื่องที่ถกเถียงกันมากหลังเลือกตั้ง อบจ. เพราะมีการตั้งข้อสังเกตว่าพรรคเพื่อไทยและพรรคภูมิใจไทยระดมเครือข่าย “บ้านใหญ่” จนชนะ สื่อบางค่ายระบุว่าผู้ชนะเลือกตั้งที่แท้จริงคือ “บ้านใหญ่” และมีแม้คนที่บอกว่าพรรคประชาชนควรจับมือกับ “บ้านใหญ่” ให้มากขึ้นเพื่อชัยชนะระยะยาว

ยิ่งพรรคการเมืองร่วมขบวนเถียงเรื่อง “บ้านใหญ่” ข้อถกเถียงเรื่อง “บ้านใหญ่” ก็เป็นเรื่องที่เถียงกันอลวน ตัวอย่างเช่น คุณณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เถียงว่าเพื่อไทยไม่ใช่บ้านใหญ่ และ “บ้านใหญ่” ไม่ใช่ปัญหา ส่วนพรรคประชาชนถึงไม่มีใครพูดเรื่อง “บ้านใหญ่” ตรงๆ แต่ก็มี “ปิยบุตร แสงกนกกุล” ที่พูดเรื่องนี้ออกมา

 

“บ้านใหญ่” คืออะไร เป็นเรื่องที่แต่ละคนนิยามไม่ตรงกัน ยิ่งไปกว่านั้นคือ “บ้านใหญ่” ก็เป็นเรื่องซึ่งเพิ่งจะมีการพูดถึงอย่างกว้างขวางหลังการเลือกตั้ง 2562 จนถึงจุดสูงสุดในการเลือกตั้ง อบจ.2568 ซึ่งแปลว่า “ปรากฏการณ์บ้านใหญ่” เพิ่งจะเป็นเรื่องที่รบกวนสังคมไทยจนคนเถียงกันหนักๆ ในช่วงไม่กี่ปีนี้เอง

ความมั่วของการถกเถียงเรื่อง “บ้านใหญ่” ตอนนี้คือการถือว่าทุกคนที่เป็นลูกหลานนักการเมืองคือ “บ้านใหญ่” แนวคิดนี้เลอะเทอะเพราะแปลว่า ส.ส.เขต 400 คน และนายก อบจ. 76 คน คือ “บ้านใหญ่” ซึ่งหากรวมกลุ่ม ส.ส.สอบตกและนายก อบจ.สอบตกอีกเกือบ 1,000 ก็เท่ากับประเทศมีบ้านใหญ่ราว 1,500 คน

“บ้านใหญ่” คือครอบครัวนักการเมือง แต่ไม่ใช่ครอบครัวนักการเมืองทุกคนจะเป็น “บ้านใหญ่” ต่อให้จะชนะเลือกตั้งหลายสมัยหรือเคยเป็นรัฐมนตรีมาแล้ว เพราะถ้าเป็นแบบนั้น ผมซึ่งมีพี่เป็น ส.ส.หลายสมัย ซ้ำเคยเป็นทั้งรัฐมนตรีและเลขาฯ นายกฯ ก็ควรเข้าข่าย “บ้านใหญ่” ไปด้วย ทั้งที่สารรูปผมไม่มีทางเป็นได้เลย

“บ้านใหญ่” คือ “ตระกูลการเมือง” กลุ่มที่มีการสืบทอดอำนาจผ่านสายเลือดหรือเครือญาติ การเลือกตั้งเป็นเพียงเครื่องมือเข้าสู่อำนาจ แต่ต่อให้ไม่มีการเลือกตั้งหรือแพ้เลือกตั้ง “บ้านใหญ่” ก็สามารถสืบทอดอำนาจด้วยวิธีอื่นอย่างการสังกัดพรรคทหารหรือ “ตระกูลการเมือง” ที่ใหญ่กว่าอีกลำดับขึ้นไป

“บ้านใหญ่” รักษาอำนาจด้วยการผูกขาดบทบาทการเมืองในพื้นที่ตัวเองให้มากที่สุด “ตระกูลการเมือง” ที่เป็น “บ้านใหญ่” จึงต้องเป็น “ผู้มีอิทธิพล” เพราะพื้นที่ที่บ้านใหญ่ครอบครองมักไม่มีใครกล้าลงเลือกตั้งแข่ง เพราะอาจถูกขู่ ถูกยิงทิ้ง ถูกยัดคดี ถูกจ่ายเงินให้ถอนตัว หรือแม้แต่ติดสินบนให้มาเป็นพวกเดียวกัน

 

เพื่อให้เห็นภาพยิ่งขึ้น ผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคก้าวไกลหาเสียงในจังหวัดใหญ่ภาคเหนือในช่วงเลือกตั้ง 2566 เช่นเดียวกับการเลือก อบจ.2568 โดยถูกขู่, เจ้าของสถานที่ถูกสั่งห้าม, กำนันผู้ใหญ่บ้านขอประชาชนอย่าไปฟังปราศรัย และหลายคนต้องไม่เปิดเผยแม้แต่กำหนดการหาเสียงล่วงหน้าเพราะกลัวอันตราย

“ตระกูลการเมือง” ที่มีอิทธิพลจนเป็น “บ้านใหญ่” ใช้ประชาธิปไตยเป็นหนึ่งในประตูเข้าสู่อำนาจ คนเหล่านี้จึงพร้อมร่วมมือกับคณะรัฐประหารทุกชุดในการตั้งพรรคทหารทุกยุค เช่นเดียวกับความพร้อมทรยศพรรคเก่า, “นายเก่า” หรือแม้แต่ “ศัตรูเก่า” เพื่อเปิดประตูสู่อำนาจในอีกช่องทาง

สำหรับคนที่รักประชาธิปไตยจริงๆ ไม่ใช่รักเฉพาะเวลาพวกตัวเองเป็นรัฐบาล “ตระกูลการเมือง” ที่เป็น “บ้านใหญ่” คือคนกลุ่มที่ไม่มีความตั้งมั่นกับประชาธิปไตย คนเหล่านี้ลงเลือกตั้งเวลามีเลือกตั้ง ประจบทหารเวลารัฐประหาร ไม่ต่อต้านเผด็จการเวลาประชาชนสู้ และพร้อมเข้าพรรคทหารเพื่ออำนาจการเมือง

“บ้านใหญ่” ที่เป็น “ผู้มีอิทธิพล” ยิ่งใหญ่ในพื้นที่ตัวเองทั้งช่วงมีเลือกตั้งและไม่เลือกตั้ง อดีตรัฐมนตรีบางคนของพรรคใหญ่ในภาคเหนือคือคนที่ผู้ว่าและนายตำรวจต้องไปคารวะเวลาเข้ารับตำแหน่ง ข้าราชการต้องเข้าเฝ้าเวลาโยกย้าย และทุกคนตอบแทน “บ้านใหญ่” โดยไม่แตะต้องธุรกิจสีเทาของบ้านใหญ่เลย

 

“บ้านใหญ่” รักษาอำนาจในท้องถิ่นโดยส่งคนในตระกูลหรือลูกน้องเป็น อบจ., อบต. และเทศบาล คนเหล่านี้จึงมี “เครือข่าย” อำนาจทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่นที่ทุกคนเป็นคนของ “ตระกูลการเมือง” หมด อดีตรัฐมนตรีที่สนิทกับ “นายใหญ่” จึงเป็น ส.ส.ที่ลูกและลูกสะใภ้เป็น ส.ส.และลูกสาวเป็นนายก อบจ.

“บ้านใหญ่” จำนวนมากทำธุรกิจสีเทาและใช้อำนาจเพื่อจรรโลงธุรกิจสีเทา ตระกูลการเมืองจังหวัดริมอ่าวไทยรวยจากการขนส่งสินค้าเถื่อน, อาวุธเถื่อน และน้ำมันเถื่อนตั้งแต่รุ่นปู่เมื่อ 50 ปีที่แล้ว บางตระกูลการเมืองภาคเหนือทำบ่อนและซ่อง ส่วนบางตระกูลอีสานทำหวยเถื่อนและเงินกู้นอกระบบจนปัจจุบัน

เมื่อคนในตระกูลเป็นทั้งรัฐมนตรี, ส.ส., นายก อบจ. และเป็นคนใกล้ชิดพ่อนายกฯ, นายกฯ, ผู้ว่าฯ, ผู้การ, ผู้กำกับ, แม่ทัพภาค ฯลฯ โอกาสที่รัฐบาลหรือข้าราชการจะเอาผิดธุรกิจสีเทาของคนพวกนี้จึงแทบไม่มีเลย

“บ้านใหญ่” หรือตระกูลการเมืองที่เป็น “ผู้มีอิทธิพล” มักขยายธุรกิจสีเทาสู่กิจการถูกกฎหมายที่อาศัยสัมปทานหรือใบอนุญาตจากหน่วยงานรัฐระดับต่างๆ รายได้ของตระกูลเหล่านี้อีกส่วนจึงมาจากสัมปทานเหมืองแร่, สัมปทานป่าไม้, สัมปทานขนส่งสาธารณะ, โรงกำจัดขยะ, รับเหมาก่อสร้าง, ตัดถนน ฯลฯ

ยิ่งมีตำแหน่งในสภา, ในทำเนียบ, ในรัฐบาล, ในกรรมาธิการงบประมาณ, ใน อบจ. หรือในเทศบาล โอกาสที่จะจัดสรรงบประมาณเข้าสู่ธุรกิจของ “บ้านใหญ่” ก็ยิ่งง่ายขึ้นเป็นทวีคูณ พรรคใหญ่บางพรรคจึงมี “ขาประจำ” บางคนเป็นกรรมาธิการงบประมาณตลอดชาติ ไม่ว่าจะสอบตกหรือสอบได้ก็ตาม

 

ด้วยโครงสร้างทำมาหากินแบบนี้ “บ้านใหญ่” หรือตระกูลการเมืองที่เป็น “ผู้มีอิทธิพล” จำนวนหนึ่งจึงพบจุดจบจากคดีทุจริตงบประมาณทั้งสิ้น ตัวอย่างเช่น กำนันเป๊าะ-สมชาย คุณปลื้ม โดนคดีซื้อที่ดินเทศบาล หรือคุณวัฒนา อัศวเหม โดนคดีบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับการมีข้าราชการที่ไม่กลัวอิทธิพล “บ้านใหญ่” หรือไม่มี

สำหรับคนที่ไม่อวยพรรคการเมืองจนขาดสติ “บ้านใหญ่” ซึ่งเป็นผู้มีอิทธิพลนั้นเป็นปัญหาการเมืองแน่ๆ เพราะคนกลุ่มนี้เชื่อมโยงกับอิทธิพลเหนือผู้รักษากฎหมาย, การผูกขาดอำนาจในจังหวัด, ธุรกิจสีเทา, การสนับสนุนเผด็จการทหาร และไม่มีตรงไหนเลยที่แสดงความผูกพันเป็นพิเศษกับประชาธิปไตย

อย่างไรก็ดี “ตระกูลการเมือง” ทุกคนไม่ใช่ “บ้านใหญ่” และนายก อบจ. กับ ส.ส.ทุกคนก็ไม่ใช่ “บ้านใหญ่” ไปด้วย เพราะเงื่อนไขสำคัญที่สุดของความเป็นบ้านใหญ่คือการเป็น “ผู้มีอิทธิพล” ที่สืบทอดอำนาจทางเครือญาติด้วยวิธีต่างๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่นายก อบจ.หรือ ส.ส.ทุกคนจะเข้าข่ายนั้นอย่างแน่นอน

ใครที่บอกว่า “บ้านใหญ่” คือสัญลักษณ์ของประชาธิปไตย หรือนักการเมืองที่ช่วยประชาชน คนนั้นถ้าไม่พูดเพื่อปกป้องพรรคตัวเองจนเลอะ ก็คือคนที่เป็นเครือข่าย “บ้านใหญ่” จนสูญเสียสติสัมปชัญญะทางการเมือง