ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 7 - 13 กุมภาพันธ์ 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | ในประเทศ |
เผยแพร่ |
บทความในประเทศ
ถอยหลังเข้า
‘บ้านใหญ่’
ในวงวิชาการสังคมศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องอำนาจ-อิทธิพล ระบบการเมืองท้องถิ่น รู้กันดีแล้วว่า การมาของนายทักษิณ ชินวัตร ในเมื่อปี 2544 สร้าง “การเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ” ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่
จาก “บ้านใหญ่” เครือข่ายอิทธิพลเจ้าพ่อครองอำนาจนำ ทักษิณใช้ความสามารถส่วนตัว ดึงหลายกลุ่มมาร่วมใต้อำนาจนำของตัวเอง จนชนะเลือกตั้งถล่มทลายในยุครัฐบาลไทยรักไทย 1
ด้วยชัยชนะที่เด็ดขาด “การเมืองบ้านใหญ่” กลายเป็นฐานรองรับให้รัฐบาลไทยรักไทยของนายทักษิณ สร้างการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์การเมืองไทยอย่างมีนัยยะสำคัญ
โฉมหน้าการเมืองเปลี่ยน นโยบายพรรคการเมืองที่มาจากการหาเสียงจับต้องได้ ทรัพยากรจากส่วนกลาง กระจายสู่มือคนส่วนใหญ่ของประเทศได้จริง
“การเมืองบ้านใหญ่แบบเดิม” ลดความสำคัญลง การเมืองเรื่องนโยบายพรรค เพิ่มความสำคัญขึ้นเป็นครั้งแรก
ในมุมของ “บ้านใหญ่” ต้องปรับตัว จากเคยพึ่ง “กระสุน” ต้องหันมาพึ่ง “กระแส”
ต่อมา การเลือกตั้งปี 2548 แทบจะเรียกได้ว่า ทักษิณครองอำนาจนำ “บ้านใหญ่” เกือบทั่วประเทศได้แบบเบ็ดเสร็จ (ยกเว้นภาคใต้) จนชนะเลือกตั้งถล่มทลายมากสุดในประวัติศาสตร์
เมื่อเกิดขบวนอนุรักษนิยมเคลื่อนไหวล้มนายทักษิณ การเมืองท้องถิ่น เครือข่ายบ้านใหญ่ ก็เป็นหนึ่งในหัวข้อเป้าหมายที่ถูกวิจารณ์อย่างหนักไปด้วย
ครานั้น นักวิชาการบางส่วนช่วยกันดึงสติ ยืนยันว่า บางครั้ง “บ้านใหญ่” ก็จำเป็นในช่วงเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตย แค่ต้องปล่อยให้ระบบเลือกตั้งและประชาธิปไตยทำงานต่อ บ้านใหญ่จะค่อยๆ ปรับตัวเอง มิใช่ล้มระบบเลือกตั้ง ด้วยอ้างว่าเพียงเพื่อไม่ให้มี “บ้านใหญ่”
แต่ในท้ายที่สุดพลังอนุรักษ์นิยมชนะ คณะทหารในนาม คสช.เข้ามายึดอำนาจ แช่แข็งการเลือกตั้งไว้ทั้งหมดเป็นเวลาหลายปี ก่อนจะออกแบบกติกา ทำรัฐธรรมนูญใหม่ ปูทางให้คณะรัฐประหารมีอำนาจต่อ ลงเลือกตั้งในนามพรรคการเมือง รวมระยะเวลากว่า 10 ปี
“บ้านใหญ่” แตกกระจาย หยุดนิ่งหมดพลัง บ้างเจอพลังดูด บ้างถูกกดดัน เปลี่ยนข้างไปอยู่กับขั้วอนุรักษนิยมอำนาจเก่า บ้างก็กระเด็นไปอยู่พลังประชารัฐ บ้างก็ไปอยู่ภูมิใจไทย
อย่างไรก็ตาม ช่วงปลายของรัฐบาลทหาร เกิดการประท้วงครั้งใหญ่ พลังของฝ่ายเสรีประชาธิปไตยเคลื่อนขบวนลงถนนประท้วง ก็เกิดจุดเปลี่ยน
ในปี 2563 ชื่อ “ทักษิณ” ถูกพูดถึงใหม่ในนามฝ่ายประชาธิปไตยที่ถูกกระทำ “คนเสื้อแดง” กลายเป็นฮีโร่ในประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมือง
แต่การมาของทักษิณในสนามการเมืองไทยปี 2567 ไม่เหมือนเดิม
เป็นการมาภายใต้ดีลพิเศษ ส่งผลให้เกิดคำถามเรื่องความชอบธรรม
การขยับทางการเมืองแต่ละครั้งของเพื่อไทย ถูกมองแต่ต้นว่าเป็นการเดินเกมเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนขั้วเปลี่ยนข้างการเมือง แลกดีลพิเศษ
ความไม่เชื่อใจ ส่งผลให้พรรคคู่แข่งที่เคยเป็นพรรคพันธมิตรสู้ คสช.ด้วยกันมา ชนะเลือกตั้งเพื่อไทยแบบทิ้งห่าง 14.4 ล้านเสียง ต่อ 10 ล้านเสียง
ทักษิณและรัฐบาลเพื่อไทย จึงมีแต่ “เจตจำนงทางเศรษฐกิจ” แต่ “เจตจำนงทางการเมือง” หายวับไปหลายเรื่อง
เมื่อเลือกตั้ง อบจ.มาถึง เป็นจังหวะให้ทักษิณลงไปลุยเอง หวังฟื้นคืนแต้มทางการเมือง
อาศัยยุทธศาสตร์เดียวกับ ปี 2544 ดึงการเมือง “บ้านใหญ่” เข้ามาอยู่ในพรรคใช้เป็นฐานเสียง สะสมกำลังทางการเมืองเพื่อชัยชนะในการเลือกตั้งปี 2570
แต่ปัญหาคือรอบนี้ “ไม่ได้ผลเหมือนเดิม”
ผลการเลือกตั้งนายก อบจ. 47 จังหวัดที่ผ่านมา โดยสถิติ แชมป์เก่าสามารถป้องกันแชมป์ได้เพียบ บ้านใหญ่ที่ลงเลือกตั้งทั้งแบบสังกัดพรรค และแบบไม่สังกัดพรรค (แต่มีพรรคหนุนหลัง) กวาดชัยชนะทั้งหมด
นั่นสะท้อนว่าระบบ “บ้านใหญ่” ยังแข็งแรง
แต่ที่น่าสนใจคือพรรคเพื่อไทย ที่นายทักษิณลงไปช่วยหาเสียง ขึ้นเวทีปราศัยดุเดือด ทั้งประกาศยุทธศาสตร์ “ไล่หนูตีงูเห่าภาค 2” ทั้งประกาศยุทศศาสตร์ “แดงกินส้ม”
ใช้ยุทธศาสตร์ “บ้านใหญ่” ชนกับ “ทีมสีน้ำเงิน” และ “ทีมสีส้ม” ผลการเลือกตั้งออกมาไม่เป็นตามคาด ชนะกับแพ้พอๆ กัน ที่ชนะในหลายจังหวัด ก็ชนะแบบเฉียดฉิว
ใน “เกมการเมืองบ้านใหญ่”
ทักษิณและพรรคเพื่อไทย กำลังเจอกับคู่ต่อสู้สำคัญคือทีมสีน้ำเงิน ที่พละกำลังใกล้เคียงกัน
ทีมสีน้ำเงินวันนี้ชำนาญ “การเมืองแท็กติก” สไตล์บ้านใหญ่ เล่นเกมเลือกตั้งแบบลับลวงพรางอย่างคล่องแคล่ว ไม่ต้องประกาศอะไรให้เสียงดัง แต่เก็บชัยชนะเงียบๆ เป็นกอบเป็นกำ
ดูจากการศึกเลือกสภาบนปีก่อนดูก็ได้
เป็นอันว่าใน “เกมบ้านใหญ่” ทักษิณอ่อนกำลังลงไปเยอะ วันนี้มีคนที่อาจจะเชี่ยวชาญกว่าเกิดขึ้นแล้ว
หันดู “เกมการเมืองกระแส”
ทักษิณและเพื่อไทย พ่ายศึกสนามท้องถิ่นให้กับทีมสีส้มเป็นครั้งแรก
รอบนี้เกิดขึ้นที่ลำพูน ซึ่งเป็นฐานที่มั่นการเมืองค่ายสีแดงอย่างยาวนาน
หากไปดูในหลายจังหวัด แม้แต่เชียงใหม่ คะแนนของทีมสีส้มก็พุ่งไล่ตามขึ้นมาติดๆ (แถมยังซิวเก้าอี้ ส.จ.ไปหลายเขต)
ดังนั้น ศึกเลือกตั้ง อบจ.รอบนี้ ถ้ามองด้วยแว่น “เกมบ้านใหญ่” ค่ายสีแดงก็เริ่มเป็นรองสีน้ำเงิน ขณะที่มองในแว่น “เกมกระแส” เพื่อไทยก็พ่ายศึกเป็นครั้งแรกให้กับผู้ท้าชิงหน้าใหม่
ดูผลเลือกตั้งแล้วถอยกลับไปมองพัฒนาการการเมืองไทย
ความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้คือคือสนามท้องถิ่นยังเป็นของ “การเมืองบ้านใหญ่” เครือข่ายอำนาจ-อิทธิพลท้องถิ่น
ตอบโดยทฤษฎี ยืนยันว่า “บ้านใหญ่” ไม่ได้ผิด
ช่วงเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตย เราเลี่ยงการเมืองบ้านใหญ่ไม่ได้ บางครั้งก็เป็นความจำเป็น
แต่เพราะการเมืองไทยถูกแช่แข็งด้วยคณะรัฐประหารนานนับสิบปี แม้ตัวผู้ก่อการรัฐประหารจะลงจากอำนาจไป แต่ยังทิ้งมรดกเป็นกติกา โครงสร้างกฎหมายในลักษณะ “ถอยหลังลงคลอง” ไว้ให้คนไทยใช้ต่อ
นั่นส่งผลให้ “การเมืองเชิงนโยบาย” “การกระจายอำนาจที่เป็นเงื่อนไขของสังคมประชาธิปไตย “การลดเรื่องอิทธิพลในสังคมการเมือง” “การสร้างระบบที่ดีลดความสัมพันธ์แบบพึ่งพิงตัวบุคคล” ไม่คืบหน้าเท่าที่ควร
อย่าว่าแต่เปลี่ยนแปลงบ้านใหญ่หลังไหน แค่กลไกอำนาจเก่าของรัฐรวมศูนย์ รัฐบาลเพื่อไทยยังเข้าไปแตะไม่ได้
ต่างจากปี 2545-2548 ที่เรายังได้เห็นนายทักษิณขณะนั้นเข้าไปแตะต้องกลไกมหาดไทย ปฏิรูปเป็นผู้ว่าฯ ซีอีโอ
วันนี้ “บ้านใหญ่ทางการเมือง” แตกกระจายเป็นหลายกลุ่ม ไม่จำเป็นต้องแข่งขันทำงาน ก็สามารถเข้ามาแชร์อำนาจ แชร์ทรัพยากรจากรัฐได้ ผ่านกลไกการเมืองสีอื่น ไม่จำเป็นต้องเข้าหานายทักษิณฝ่ายเดียวเช่นในปี 2544-2548
ตัวกติกา ผู้บังคับใช้กฎหมาย ก็เอื้อให้การเมืองแบบบ้านใหญ่เติบโต และไม่ได้เป็นอุปสรรคในการทำงานแต่ประการใด
ขณะที่นายทักษิณเองวันนี้เห็นชัดว่า ก็ยังต้องพึ่งกลไกบ้านใหญ่เพื่อใช้สู้ศึกเลือกตั้งไปจนถึงปี 2570
ส่วนเรื่องนโยบายก็ต้องยอมรับว่าไม่เด่นชัดเท่าปี 2544-2548 ส่วนใหญ่พุ่งเป้าไปเรื่องเศรษฐกิจ แทบไม่พูดถึงปัญหาการเมือง
วันนี้แทบทุกพรรคต่างเดินหน้าสร้างมูลค่าการเมืองด้วยการสะสมพลังจากบ้านใหญ่ เพื่อให้สู้สึกเลือกตั้งครั้งหน้า
เพราะที่ผ่านมาพิสูจน์แล้ว ด้วยการเลือกตั้งในกติกาแบบนี้ “โมเดลบ้านใหญ่” ยังได้ผล
การเลือกตั้งนายก อบจ.ที่ผ่านมา นับเป็นจุดสตาร์ตอย่างไม่เป็นทางการของการเลือกตั้งใหญ่ปี 2570
ระยะเวลา 2 ปีกว่าจากนี้ จึงเป็นการขับเคี่ยว “แย่งชิงทางการเมืองบ้านใหญ่” ของทีมสีแดง และทีมสีน้ำเงิน ซึ่งจะเปิดศึกกันดุเดือดขึ้นมากแน่นอนจากนี้
“การเมืองเรื่องบ้านใหญ่” จึงจะยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อความเป็นบ้านใหญ่มีผลมากขึ้นต่อชัยชนะทางการเมือง ก็ส่งผลโดยตรงให้ “การเมืองเรื่องนโยบาย” “การเมืองเรื่องการสร้างระบบที่ดีมากกว่าการพึ่งตัวบุคคล” อาจจะค่อยๆ ลดความสำคัญลง
แนวโน้มการเมืองท้องถิ่นไทยวันนี้ จึงยังคงวนเวียน ถกเถียงกันเรื่อง “พวกใคร บ้านใหญ่หลังไหน” มากกว่าจะ “ถกเถียงเรื่องนโยบาย”
กลับไปเป็นคล้าย “การเมืองบ้านใหญ่” ก่อนยุคก่อนไทยรักไทย 1
วันนี้อยากชนะทางการเมือง เดินหน้าด้วยนโยบายเป็นหลักไม่พอซะแล้ว
ต้องถอยหลัง กลับเข้า “บ้านใหญ่” เป็นหลักตุนไว้ก่อน
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022