ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 7 - 13 กุมภาพันธ์ 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | ในประเทศ |
เผยแพร่ |
บทความในประเทศ
นัยยะการเมืองตัดไฟเพื่อนบ้าน
เพื่อไทย-ภูมิใจไทย
งัดข้อ-วัดพลัง?
ต้องยอมรับว่า ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ได้สร้างผลกระทบและสร้างความเสียหายให้กับประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อจากการถูกหลอกลวงจากกลุ่มแก๊งมิจฉาชีพดังกล่าวมาเป็นระยะเวลานานหลายปี
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลออกมายืนยันว่าประเทศไทยไม่ใช่ต้นทางของขบวนการคอลเซ็นเตอร์ ตามที่มีการรายงานข่าวอ้างอิงว่าประเทศไทยมีส่วนทำให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์เติบโต
ทั้งนี้ รัฐบาลชุดปัจจุบัน นำโดย “นายกฯ อิ๊งค์” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไม่ได้นิ่งนอนใจ เร่งหามาตรการเพื่อป้องกันและแก้ปัญหาทุกมิติ สั่งระดมสรรพกำลัง กวดขันและจับกุมผู้กระทำความผิด เพื่อหวังหยุดวงจรอุบาทว์ที่สร้างความเสียหายให้กับประชาชนและส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองสแกมเมอร์ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ และแหล่งอาชญากรรม
มาตรการที่รัฐบาลเอาจริง และเริ่มดำเนินการแล้ว นั่นคือ มาตรการยกระดับความปลอดภัย “Mobile Banking” โดยชื่อบัญชีต้องตรงกับซิม เพื่อแก้ไขและสกัด “บัญชีม้า” และกลโกงผ่านออนไลน์
ขณะที่พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ พ.ร.ก.ไซเบอร์ ฉบับใหม่ ได้เพิ่มเติมมาตรการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์และมิจฉาชีพ
กระทั่งล่าสุด ช่วงเช้าวันที่ 5 กุมภาพันธ์ เวลา 09.00 น. การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้ดำเนินการตัดกระแสไฟฟ้า จำนวน 5 จุด ตามมติที่ประชุมสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2568 เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568 ที่แจ้งว่าการจำหน่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ให้สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา หลังพบข้อมูลที่มีการนำไฟฟ้าไปใช้ไม่เป็นไปตามสัญญา ส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของประเทศ
ทั้งนี้ สภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช.ได้รวบรวมข้อมูลทุกฝ่ายทุกส่วนแล้วเห็นว่าเป็นเรื่องที่กระทบต่อความมั่นคงของประเทศ มีประชาชนเสียหายทั้งหมด 557,500 กว่าคดี รวมเงิน 86,000 กว่าล้านบาท แต่ละวันมีความเสียหาย 80 ล้านบาท ถือเป็นการสรุปชัดเจนจากหน่วยงานด้านข่าวที่เกี่ยวข้องว่าเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อพี่น้องประชาชน และทั่วโลก จึงมีมติให้ตัดไฟ ตัดอินเตอร์เน็ต ตัดน้ำมัน ตั้งแต่เวลา 09.00 น. ของวันที่ 5 กุมภาพันธ์เป็นต้นไป
โดยทยอยตัดทีละจุด เริ่มที่จุดแรกในเวลา 09.00 น. กฟภ.ได้เริ่มตัดไฟจาก 1.จุดซื้อขายบริเวณบ้านพระเจดีย์สามองค์-เมืองพญาตองซู รัฐมอญ 2.จุดซื้อขายไฟฟ้าบริเวณสะพานมิตรภาพไทย-พม่า-เมืองท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน 3.จุดซื้อขายไฟฟ้าบริเวณบ้านเหมืองแดง-เมืองท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน 4.จุดซื้อขายไฟฟ้าบริเวณสะพานมิตรภาพไทย-พม่า แห่งที่ 2-เมืองเมียวดี และ 5.จุดซื้อขายไฟฟ้าบริเวณบ้านห้วยม่วง-เมืองเมียวดี
ซึ่งจุดสุดท้ายนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้เดินทางมากดสวิตช์ปิดกระแสไฟฟ้าด้วยตัวเองในเวลา 09.34 น.
รวมการตัดกระแสไฟฟ้าทั้งห้าจุด 20.37 เมกะวัตต์
โดยการตัดไฟทั้ง 5 จุดเป็นระบบสั่งการอัตโนมัติควบคุมระยะไกล ซึ่งทันทีที่กดปิดระบบ แผงวงจรที่แสดงบนหน้าจอปุ่มจ่ายไฟจากสีแดงจะเปลี่ยนเป็นสีเขียว และจำนวนวัตต์ที่จ่ายไฟจะเปลี่ยนเป็น 0 แอมป์ทันที
ทว่า หากเช็กปฏิกิริยาในแง่มุมทางการเมือง กว่าจะมีคำสั่งตัดไฟเมียนมาออกมาได้นั้น เหตุใดใช้เวลาพิจารณาพอสมควร จนสังคมเกิดคำถามและข้อสงสัย อีกทั้งก่อนหน้านี้ก็เหมือนกับโยนกันไปโยนกันมา เกี่ยวกับปัญหาข้อกฎหมายต่างๆ
วันประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยอมรับว่าเรื่องนี้ไม่สบายใจที่มีการโยนกันไปมาว่าไม่สั่งมาแล้วทำไม่ได้ อีกฝ่ายบอกยังไม่รู้ยังไม่ได้ดำเนินการอะไร ทั้งที่มีข้อมูลสืบทราบได้ว่ามีปัญหา ให้สั่ง สมช.เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาคุย และยืนยันว่ากระทบความมั่นคงจริง ที่จริงไม่ต้องให้ สมช.ชี้ และตนรับรายงานว่ามีการใช้ไฟฟ้าที่มากขึ้นกว่าปกติ รวมถึงมีปัญหาเรื่องแก๊งคอลเซ็นเตอร์ก็ควรเข้าไปดำเนินการ ไม่ใช่สนใจแต่การขายไฟฟ้าอย่างเดียว หากจะค่อยๆ ตัดไฟจะช้าเกินไป เพราะปัญหารุนแรง ตนจะสั่งการ สมช.ให้แจ้ง กฟภ.และหน่วยที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการตัดไฟทันที ไม่ใช่รอและโยกไปโยกมา
“วันนี้ชัดเจนแล้วว่า สั่งการให้ตัด ไม่ต้องมาถามว่าเป็นเพราะอะไร กฟภ.ถึงไม่ตัด หรือมัวแต่สนใจขายไฟอย่างเดียว มีเรื่องที่เกิดขึ้นซึ่งเสียหายมากกว่าไฟที่ขายได้ ส่วนจะมีนอกมีในหรือไม่ ตนไม่รู้ แต่ให้ไปจัดการเรื่องนี้ให้จบ” นายภูมิธรรมระบุ
ขณะที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ให้สัมภาษณ์สื่อ โดยระบุว่า “หากมีข้อสั่งการอย่างไรมาก็พร้อมจะปฏิบัติตาม แต่ไม่ใช่ว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ กฟภ.จะไปหยุดจ่ายไฟเองได้ทันที ซึ่งไม่ใช่อย่างแน่นอน พร้อมย้ำว่าหากนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เซ็นคำสั่งเราก็พร้อมที่จะตัดไฟในทันที เพราะถือเป็นการสั่งการที่มีกฎหมายรองรับ”
กระทั่งช่วงค่ำวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ในการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ ประเด็นการตัดไฟในพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา เพื่อสกัดการดำเนินการของขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติ และแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ได้มีมติตัดไฟ-น้ำมัน-อินเตอร์เน็ต 5 จุด ชายแดนไทย-เมียนมา เริ่ม 09.00 น.วันที่ 5 กุมภาพันธ์
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ยืนยันว่า เรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องการเมืองหรือประโยชน์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เรื่องนี้เกี่ยวกับความมั่นคงและเรื่องของการรับข้อสั่งการจากรัฐบาลซึ่งเป็นฝ่ายนโยบาย และยืนยันมาตั้งแต่วันแรกที่เป็นประเด็นแล้วว่าเมื่อใดก็ตามที่มีข้อสั่งการที่ กฟภ.เชื่อว่าเป็นข้อสั่งการที่ถูกต้องตามกฎหมาย กฟภ.ก็จะดำเนินการทันที แล้วเราก็พิสูจน์ให้เห็นวันนี้แล้ว เมื่อคืนสั่งการมาให้ตัดไฟฟ้าตั้งแต่ 09.00 น. เป็นต้นไป พอ 09.00 น. ทางทีมงานก็ตัดกันแล้ว ไม่ต้องรอตนมาด้วย ถึงเวลาก็ตัด
“ต้องขอเรียนว่าเราไม่ได้โยนกันไปมาว่าเป็นหน้าที่ใคร กฟภ.มีหน้าที่จ่ายไฟฟ้า แต่ไม่ได้มีหน้าที่ประเมินว่ากระทบกับความมั่นคงทางพลังงานหรือไม่อย่างใด หากเกี่ยวกับเรื่องความมั่นคงก็จะเป็นเรื่องภายใต้การพิจารณาของ สมช.” นายอนุทินระบุ
อย่างไรก็ตาม มหากาพย์ตัดไฟสกัดแก๊งคอลเซ็นเตอร์และปัญหาอาชญากรรมถือว่าจบแล้ว แต่ทว่าในแง่ของการเมือง ทุกฝ่ายต่างพุ่งเป้าและจับจ้องความสัมพันธ์ของ 2 พรรคร่วมรัฐบาล คือ พรรคเพื่อไทย (พท.) และพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ว่าจะมีฉากตบ-จูบ กันเช่นนี้ต่ออีกหรือไม่
รวมทั้งเชื่อมโยงไปถึงผลการเลือกตั้งสนามท้องถิ่น โดยเฉพาะเก้าอี้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดหรือนายก อบจ.
ที่หลายจังหวัดผู้สมัครนายก อบจ.สังกัดพรรคเพื่อไทย (พท.) ต้องพ่ายต่อผู้สมัครนายก อบจ. กลุ่มบ้านใหญ่ค่ายสีน้ำเงินในหลายพื้นที่
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022