ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 7 - 13 กุมภาพันธ์ 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | ของดีมีอยู่ |
เผยแพร่ |
หลังทราบผลชัดเจนจากการเลือกตั้งท้องถิ่นในระดับ อบจ. เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์
พรรคการเมืองใหญ่ๆ ในบ้านเราทั้งสามพรรค ต่างประกาศเคลม “ชัยชนะ” ด้วยกันทั้งนั้น แม้ “ขนาดของชัยชนะ” ที่แต่ละพรรคได้รับ จะไม่เท่าเทียมกันเสียทีเดียว
ขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งของ “ชัยชนะ” ยังซ่อนแฝงไว้ด้วย “ปัญหา” “จุดอ่อน” หรือ “บาดแผล” ที่ผิดแผกแตกต่างกันไปของพรรคการเมืองเหล่านั้น
ขออนุญาตเริ่มต้นจากพรรคการเมือง ซึ่งได้รับชัยชนะในระดับ “เล็กน้อยมหาศาล” ที่จังหวัดลำพูน แต่มี “บาดแผล” ใหญ่ ที่มองเห็นกันได้อย่างชัดเจน นั่นคือ “พรรคประชาชน”
แม้ยังไม่อยากฟันธงว่า พรรคการเมืองสีส้มอยู่ในช่วง “กระแสตก” หรือ “ขาลง” ชนิดฟื้นตัวไม่ขึ้นแล้ว จริงหรือไม่?
(เพราะภายหลังประสบความสำเร็จเกินคาดในการเลือกตั้ง 2562 “พรรคอนาคตใหม่” ก็ทั้งโดนยุบ พ่ายแพ้ศึกเลือกตั้งนายก อบจ. แบบได้ “ศูนย์” ที่นั่ง และล้มเหลวในศึกเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แต่ไปๆ มาๆ “พรรคก้าวไกล” กลับชนะศึกเลือกตั้งใหญ่ 2566 อย่างเซอร์ไพรส์หนักกว่าเดิม)
แต่เรื่องที่ปฏิเสธได้ยาก ก็คือ พรรคสีส้มมี “การบ้าน” ต้องทำเพิ่มเติมอีกหลายข้อ (แม้กระทั่งต้องมา “ตั้งโจทย์” หรือเปลี่ยน “วิธีการแก้สมการ” กันใหม่หมด) หากคิดจะสู้ต่อในสนาม “การเมืองท้องถิ่น”
เนื่องจากเป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่า วิธีการหรือแนวทาง “การทำงานการเมืองท้องถิ่น” ตั้งแต่ตอนยังเป็น “คณะก้าวหน้า” มาตราบถึงปัจจุบันนี้ ต้องมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ “ไม่เวิร์ก” แน่ๆ พิสูจน์ด้วยผลเลือกตั้งที่ออกมา
หรือถ้าจะมองว่าการเลือกตั้ง อบจ. หนนี้ คงมีความยึดโยงกับการเลือกตั้งระดับชาติบ้างไม่มากก็น้อย
ผลลัพธ์ที่พรรคประชาชนประสบกับ “ความพ่ายแพ้” มากกว่า “ชนะ” ก็อาจมีสภาพเป็นเหมือน “ผลการเลือกตั้งครึ่งเทอม” ซึ่งใช้ประเมินประสิทธิภาพการทำงานของ ส.ส.พื้นที่ ในหลายจังหวัด (เช่น ทุกจังหวัดในภาคตะวันออกและภูเก็ต) ของพรรคส้มได้เช่นกัน
มาที่ฝั่งเพื่อไทย แม้ “ความพ่ายแพ้” ในหลายจังหวัด จะเป็นเพียง “ความปราชัยของผู้ท้าชิง” ตามการอธิบายของ “สรวงศ์ เทียนทอง” เลขาธิการพรรค
ทว่า “บาดแผล” ที่เด่นชัดหน่อย น่าจะเกิดขึ้นที่โซนภาคเหนือ “ตอนบน” ซึ่งอดีตนายกรัฐมนตรีและคนเชียงใหม่แท้ๆ อย่าง “ทักษิณ ชินวัตร” ขึ้นไป “กระชับพื้นที่” หลายครั้งซ้ำไปซ้ำมาด้วยตัวเอง
แต่การณ์กลับกลายเป็นว่า พรรคเสื้อแดงคว้าชัยชนะที่เชียงใหม่ได้แบบฉิวเฉียด ชนิดเจ็บเนื้อเจ็บตัวไปมากพอสมควร (ถ้าเทียบกับกีฬามวย ก็คล้ายถูกนับแปดช่วงยกต้นๆ ด้วยซ้ำ)
ประสบความล้มเหลวกับการแย่งชิงเก้าอี้ที่เชียงราย และถึงกับสูญเสียพื้นที่ในลำพูน อย่างที่ทุกคนแทบไม่ได้คาดการณ์เอาไว้
นำมาสู่คำถามว่า เกิดอะไรขึ้นกับคะแนนนิยมในภาคเหนือส่วนบนของพรรคเพื่อไทยและอดีตนายกฯ ทักษิณ?
และเมื่อมองในภาพรวม (ไปถึงการปะทะชนกับพรรคการเมืองหลักอีกพรรคที่ภาคอีสาน) คำถามใหญ่กว่านั้น คือ พรรคเพื่อไทยจะขยายขนาดตัวเองจากการเลือกตั้ง 2566 ได้มากน้อยเพียงใด?
ปิดท้ายด้วย “เครือข่ายสีน้ำเงิน-พรรคภูมิใจไทย”
แม้ถ้ามองในภาพกว้าง จากการที่ได้ครอบครองกระทรวงใหญ่ๆ ซึ่งเข้าถึงมวลชนในพื้นที่ท้องถิ่นได้อย่างไพศาลและซึมลึก มาต่อเนื่องยาวนานหลายปี, การครอบครองวุฒิสภาได้อย่างแทบจะเบ็ดเสร็จเด็ดขาด มาจนถึงการมีส่วนกับชัยชนะของนายก อบจ. ในหลายจังหวัด
ภาพลักษณ์ทางการเมือง ณ ปัจจุบัน ของภูมิใจไทยจะดู “อู้ฟู่” ชวนว้าวมากๆ
แต่อีกด้าน พรรคสีน้ำเงินก็เป็นพรรคการเมืองที่ “อ่านได้ง่าย” ในสนามเลือกตั้ง คือ หากมองจากแผนที่ว่า ภูมิใจไทยจะชนะหรือมีลุ้นที่ไหน ผลลัพธ์ก็มักต้องตรงกับการพยากรณ์ล่วงหน้าอย่างไม่ค่อยผิดเพี้ยน
เพราะเครือข่าย-องคาพยพทางอำนาจของพรรคภูมิใจไทย สามารถ “ออกแบบ” ผลเลือกตั้งเอาไว้ได้อยู่แล้ว ตั้งแต่ก่อนวันเลือกตั้ง
อย่างไรก็ดี บนเหรียญอีกด้านหนึ่ง ทุกคนล้วนทราบดีว่า พรรคการเมือง “ที่หวังผลได้” เช่น ภูมิใจไทย นั้นไม่สามารถเอาชนะใจประชาชนอย่างน้อยอีกประมาณ “ครึ่งประเทศ” ได้ ไม่ว่าขณะนี้หรือขณะไหน ทั้งด้วยแนวทางการทำงานทางการเมือง และการที่ “ผู้นำพรรค” ยังไม่มีภาพเป็น “ผู้นำระดับชาติ” ที่โดดเด่น
นี่จึงกลายเป็น “ข้อจำกัด” ของพรรคภูมิใจไทยในการเลือกตั้ง ส.ส. เสมอมา
จากวันนี้ไปสู่ปี 2569-2570 ต้องจับตาว่า ทั้งพรรคประชาชน พรรคเพื่อไทย และพรรคภูมิใจไทย จะมีกระบวนการ “แก้ไขจุดอ่อน” “สมานบาดแผล” และ “รักษาจุดแข็ง” ของตนเอง กันอย่างไรบ้าง? •
ของดีมีอยู่ | ปราปต์ บุนปาน
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022