MatiTalk อนาคตการเมืองไทย ในสายตา ก่อแก้ว พิกุลทอง มองภูมิใจไทยไม่ใช่คู่แข่ง ขัดแย้ง มีตบจูบ แต่ประคองครบเทอม!

MatiTalk อนาคตการเมืองไทย

ในสายตา ก่อแก้ว พิกุลทอง

มองภูมิใจไทยไม่ใช่คู่แข่ง

ขัดแย้ง มีตบจูบ แต่ประคองครบเทอม!

 

“เลือกตั้ง อบจ.ครั้งนี้ คือครั้งแรกที่พรรคเพื่อไทยได้ส่งผู้สมัครที่เป็นตัวแทน แล้วส่งคนไปช่วยหาเสียง แล้วก็เป็นนายห้างด้วยที่ไปช่วยในหลายเขต ก็ชูความเป็นพรรคเพื่อไทยในทุกพื้นที่ เพื่อให้มีการทำงานร่วมกันระหว่าง อบจ.กับรัฐบาลส่วนกลาง

แต่การที่เราพลาดในบางจังหวัดที่ไม่ได้อย่างที่เราตั้งใจ สิ่งนี้มันไม่ใช่ความล้มเหลวหรือความพ่ายแพ้ แต่เป็นสิ่งที่เราต้องกลับมาคิดว่าหลายจังหวัด ชาวบ้านเองยังมีความผูกพันกับผู้สมัครนายก อบจ.เดิมที่เขาคุ้นเคย ที่เขาคิดว่าเวลามีปัญหา-เดือดร้อนไปพึ่งพาได้ เขายังไม่ได้วาดภาพที่จะต้องมาทำงานร่วมกับรัฐบาลส่วนกลางอย่างที่เราวาดหวังไว้ บางจังหวัดเลยยังเลือกคนเดิมอยู่ ซึ่งตรงนี้เป็นภาพที่ปรากฏอยู่”

มุมมองหลังศึก อบจ.ในสายตา ก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.)

บางสื่อตั้งคำถาม “ทักษิณ” เสื่อมมนต์ขลัง?

คิดต่าง ที่จริงพรรคเพื่อไทยส่ง 14+2 คือในนามพรรคเพื่อไทย 14 อีก 2 เขตในนามสมาชิกพรรค เราได้มา 10 จังหวัด พลาดไป 6 จังหวัด แต่ที่จริงก่อนหน้านี้เราคาดหวังไว้ที่ 13 คือ 10 ที่ชัวร์ อีก 3 เขตลุ้นหน่อย

การที่ได้ 10 ก็ไม่ได้ต่ำกว่าที่เราวาดหวังไว้ จริงๆ การเลือกตั้ง อบจ.หนนี้เราเสียแชมป์ไปจังหวัดเดียวก็คือลำพูน เราได้เพิ่มใหม่มาอีก 5 จังหวัด ทั้งมหาสารคาม, สกลนคร, หนองคาย, นครพนม และปราจีนบุรี เราได้มากกว่าที่เราสูญเสียไป ดังนั้น ที่บอกว่าอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ที่เป็นผู้ช่วยหาเสียงของพรรคเพื่อไทยระดับ VIP สิ้นมนต์นั้น ไม่จริง เชื่อว่าถ้าไม่ใช่เพราะท่านไปช่วยหาเสียง ในบางจังหวัดเราอาจจะไม่ชนะ

จากสนาม อบจ.นี้เอง พวกเราตระหนักดีว่าในสนามเลือกตั้งใหญ่ เลือกตั้ง ส.ส.นั้นพรรคเพื่อไทยต้องสร้างผลงานให้หนักขึ้นกว่านี้ แล้วก็ต้องนำเสนอนโยบายที่โดนใจหรือทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่าเป็นพรรคที่เขาคาดหวังว่าจะขับเคลื่อนนโยบายอะไรที่อาจจะเป็นเชิงปฏิรูป ที่ทำให้ประเทศไทยมีความเป็นเสรีนิยมได้ในระดับสากล เพราะว่าในช่วงการเลือกตั้งที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยพยายามเสนอนโยบายหลายๆ เรื่อง

แต่ว่าพรรคคู่แข่งบางพรรคอย่างพรรคประชาชนเสนอนโยบายบางอย่างที่พรรค พท.อาจจะมองข้ามไปหรือไม่กล้านำเสนอ

 

มุมมองต่อ “พรรคคู่แข่ง”

ส่วนตัวมองว่าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ยังไม่ใช่คู่แข่งในการเลือกตั้งครั้งหน้า คู่แข่งจริงๆ ก็ยังเป็นระหว่างเพื่อไทยกับพรรคประชาชน ซึ่ง “สะวิงโหวต” ที่น่าสนใจคือกลุ่มคนที่เป็นฝ่ายเสรีนิยมเป็นประชาธิปไตย นักธุรกิจ หรือกลุ่มที่อยากเห็นระบบของประเทศไทยมีความเปลี่ยนแปลงในเชิงก้าวหน้าแล้วก็เป็นธรรมมากกว่านี้

ก็ยังมองว่าพรรคภูมิใจไทยยังไม่ถึงขั้นที่จะไปเบียดเป็นลำดับ 1-2 กับพรรคเพื่อไทยหรือพรรคประชาชน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องดูปัจจัยที่กระทบต่อพรรคประชาชนด้วย เพราะอย่าลืมว่าพรรคประชาชนถึงแม้มีนโยบายหลายเรื่องที่โดนใจประชาชนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ว่าเขาเองก็บอบช้ำจากสถานการณ์ภายในพรรคที่เสนอนโยบายที่บางครั้งเรียกว่าโฉบเฉี่ยวแล้วถูกยุบพรรค กรรมการบริหารถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง ซึ่งการโดนไป 2 รอบ ทำให้บุคลากรสำคัญหายไปเยอะ แล้วรอบนี้ก็มีคดีที่คงค้าง มี ส.ส. 44 ท่านที่ได้เคยลงชื่อแก้กฎหมายตกอยู่ในความเสี่ยงถูกกล่าวหาในเชิงลบ ซึ่งอาจจะได้รับผลกระทบได้

ทำให้บุคลากรเด่นๆ ของพรรคหายไปอีกเยอะ จะทำให้กระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อพรรคในอนาคต

ส่วนภูมิใจไทย เขาไม่ได้เล่นเกมใหญ่ แต่เล่นเกมเรื่อยๆ รุกกิน กินทีละนิด เขาไม่ค่อยได้เน้นโปรโมตตัวเองว่าเลือกตั้งต้องผลักดันคุณอนุทิน ชาญวีรกูล เป็นนายกฯ แล้ว ที่ผ่านมาไม่ได้ชูแบบนั้น เขาอาจจะมีความสุขหรือความสบายใจในการอยู่แบบนี้ แต่เมื่อจังหวะเวลาเอื้ออำนวยต่อเขา เขาจะเล่นการเมืองแบบว่าไม่เร่งรีบ แต่ถ้าถูกจังหวะเวลา เขาก็พร้อมที่จะเป็นนายกฯ ต้องยอมรับว่าการเมืองแบบภูมิใจไทยทำงานการเมืองแบบนุ่มนิ่ม แต่หนักแน่น

พรรคภูมิใจไทยเขาทำงานแบบสไตล์บ้านใหญ่ เขาก็ทำการเมืองแบบค่อนข้างเงียบๆ แต่ว่าพยายามรุกในพื้นที่ที่เขาคิดว่ามีโอกาส ไม่ได้รุกแบบวงกว้าง เขาใช้วิธีว่ามีบ้านใหญ่มาคอยดูแลในแต่ละโซน

สมมุติภาคใต้ก็จะมีนายหัวใหญ่ๆ มาดู เขตนี้ เขตนั้น เขาก็เลือกมาเลยว่า ที่พอจะต่อสู้ได้มีกี่เขต แล้วถ้านายหัวคนไหนทำได้ตามเป้าก็ได้เป็นรัฐมนตรี ภท.ก็ใช้สไตล์แบบนี้

แต่เทียบอย่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาชนทำงานคนละสไตล์กัน พรรคเพื่อไทยทุกท่านก็รู้ว่าเราใช้นโยบายนำและทำให้เป็นจริง ทำให้ชาวบ้านได้ประโยชน์ ทำให้ชาวบ้านได้ชื่นชมและก็ชื่นชอบศรัทธาพรรคเพื่อไทย

ส่วนพรรคประชาชนวันนี้เขาพยายามเดินการเมืองแนวใหม่ด้วยการนำเสนอนโยบายที่ค่อนข้างก้าวหน้า แบบก้าวหน้ามาก หลายนโยบาย พท.เคยเสนอมาก่อน แต่บางนโยบายเพื่อไทยเห็นว่าทำได้ยากหรือว่ามันมีปัญหาในในเชิงของการขับเคลื่อนทางการเมืองก็เลยนิ่งๆ หรือไม่พูดอะไร แต่พรรคประชาชนเขาจะเดินนโยบายที่ขายฝันมากกว่า ในเชิงปฏิรูป ในเชิงเสรีนิยม คนรุ่นใหม่อาจจะชื่นชอบตรงนั้น เขาเลยได้ ส.ส.ในพื้นที่ที่เป็นหัวเมืองใหญ่ๆ ที่โซเชียลมีเดียเข้าถึงมาก เพราะว่าเขาสามารถประชาสัมพันธ์ได้อย่างต่อเนื่องแล้วโปรโมตกันได้ตลอดเวลา

ส่วนพรรคเพื่อไทย ชาวบ้านที่ได้รับอานิสงส์จากนโยบายและมีความยึดมั่นศรัทธา ชื่นชอบ รวมถึงนักธุรกิจที่มองว่าพรรคเพื่อไทยน่าจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจได้ดีที่สุดในบรรดาทุกพรรคที่มีตอนนี้

กลิ่นความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาล

ที่จริงความกระทบกระทั่งดูเหมือนมากขึ้นหลังจากการเลือก ส.ว.เสร็จสิ้น ซึ่งภาพที่ปรากฏคือ ส.ว.สายสีน้ำเงินเข้ามาเยอะ ทำให้พรรคภูมิใจไทยมีความแข็งแกร่งทางการเมือง ทำให้ทุกคนมองว่ามีการสนับสนุนจาก ส.ว.ที่มีสายสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ทำให้น้ำหนักในการเจรจาดูเหมือนว่าเท่ากันกับเพื่อไทย

ดังนั้น สิ่งที่ภูมิใจไทยเคยไม่เห็นด้วยในหลายเรื่องเขาก็กล้าพูดกล้าแสดงออกมากขึ้น โดยเฉพาะนโยบายบางอย่างที่เพื่อไทยกำลังจะขับเคลื่อน เชื่อว่าจะมีความเห็นต่างกันมากขึ้น เพราะรัฐบาลปัจจุบันมีเพียงพรรคเพื่อไทยที่โดดเด่นในเรื่องความเป็นเสรีนิยม ส่วนพรรคอื่นค่อนข้างไปทางอนุรักษนิยม

ดังนั้น แนวคิดในเรื่องการขับเคลื่อนต่างๆ อาจมีความเห็นแย้งกันได้ เช่น ในปี 2568 สิ่งที่จะเกิดขึ้นแน่ๆ คือพรรคเพื่อไทยจะขับเคลื่อนเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ โดยจะมีการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา แต่ทั้งนี้ เพื่อไทยก็ต้องทำไม่ให้เกิดความขัดแย้งกับพรรคร่วม โดยเสนอไปว่าจะไม่มีการแตะหมวด 1 หมวด 2 หรือเรื่องที่กำลังมีความเห็นต่างอยู่ เช่น เรื่องกาสิโนที่เป็นส่วนหนึ่งของ Entertainment Complex แต่ว่าบางคนพยายามพูดถึงกาสิโนเป็นหลัก ทั้งที่ความจริงเป็นเสี้ยวเดียวเท่านั้น เราจะเห็นว่ามีความเห็นต่างกันอยู่ แต่ว่าน่าจะเจรจาพูดคุยให้เกิดความเข้าใจกันในมุมมองของพรรคเพื่อไทยได้ แรงต้านก็เบาบางลง

มองว่าปีนี้ เป็นปีที่พรรคเพื่อไทยต้องขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ เพื่อให้รัฐบาลได้มีผลงานออกมาแล้วก็สร้างรายได้เข้าประเทศมากขึ้น ส่วนความขัดแย้งระหว่างภายในพรรคร่วมก็ต้องคุยหาทางออกเจรจากันเพื่อให้มันผ่านกันไปให้ได้ เพราะถ้าผ่านกันไปไม่ได้ รัฐบาลไม่สามารถผลักดันนโยบายออกมาให้เห็นผล มันกระทบต่อทุกพรรค

สถานการณ์การเมืองที่เกิดขึ้น มองว่าทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคภูมิใจไทยไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากประคอง อันนี้พูดตามข้อเท็จจริง เพราะว่าโจทย์ภายใต้สถานการณ์ที่พรรคประชาชนถูกกีดกันไม่ให้เข้ามาเป็นรัฐบาล พรรคที่เหลืออยู่ต้องกอดคอกัน บางครั้งทะเลาะกันบ้าง ตบตีกันบ้าง แต่มันก็เหมือนต้องตบจูบตบจูบไปเรื่อยๆ มีอะไรก็เคลียร์กันไป ความขัดแย้งมันก็แค่มุมมองที่แตกต่างกัน ไม่ถึงขั้นที่ว่าขัดแย้งและมีความแตกต่างเรื่องแนวนโยบายจนถึงขั้นต้องแตกหัก เพราะว่าความขัดแย้งทุกวันนี้เป็นความขัดแย้งเรื่องการขับเคลื่อนนโยบาย ไม่ได้เป็นมิติของการทุจริต ไม่มีความขัดแย้งในเรื่องของมิติผลประโยชน์ มันเป็นเรื่องของแนวความคิดเรื่องการขับเคลื่อนนโยบายที่แต่ละพรรคเองก็มีบุคลากรหลากหลาย มีมุมมองที่แตกต่างกันบ้าง เห็นต่างแต่ว่ามันไม่ได้แตกแยก มีอะไรก็ต้องคุยกัน

เชื่อว่ารัฐบาลชุดนี้จะกอดคอกันไปเรื่อยๆ จนครบเทอม ยกเว้นว่าปีสุดท้ายถ้ามีความขัดแย้งบ่อยจะรำคาญกัน แล้วปีสุดท้ายมันใกล้จบเทอมก็ไม่ต้องไปต่อกัน แล้วยุบสภาให้ประชาชนตัดสินใจใหม่ อันนั้นอาจจะเป็นไปได้