“ดราม่า” ศึกเลือกตั้งนายก อบจ. “ทักษิณ” ได้มากกว่าเสีย ? | ลึกแต่ไม่ลับ

จรัญ พงษ์จีน

ลึกแต่ไม่ลับ | จรัญ พงษ์จีน

“ดราม่า” ศึกเลือกตั้งนายก อบจ.

“คณะกรรมการการเลือกตั้ง” หรือ “กกต.” สรุปผลการเลือกตั้ง “นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด” (นายก อบจ.) ที่จัดการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 จำนวน 47 จังหวัด ออกมาเรียบร้อยแล้ว ปรากฏว่ามีผู้มาใช้สิทธิ 16,362,185 คน คิดเป็น 58.45 เปอร์เซ็นต์ บัตรดี 14,272,694 ใบ คิดเป็นร้อยละ 87.23 เปอร์เซ็นต์

แต่มีประเด็นที่ทำให้คอการเมืองพากันเป็นงงมากที่สุด คือ จำนวนบัตรเสียจากศึกเลือกตั้งครั้งนี้ 931,290 ใบ คิดเป็นร้อยละ 5.69 กับบัตรที่กาไม่เลือกผู้สมัครผู้ใดจำนวน 1,158,201 ใบ คิดเป็นร้อยละ 7.08

เอาสัดส่วนบัตรเสียกับไม่เลือกผู้ใด มาจับรวมเป็นข้าวต้มมัด ยอดทะลุ 2 ล้านกว่าใบ หรือร้อยละ 12.77 ของผู้มาใช้สิทธิ เรียงร้อยจังหวัดที่ผู้มาใช้สิทธิ แยกบัตรดี-บัตรเสีย-โหวตโน หรือไม่เลือกใคร เบอร์ต้นๆ ได้แก่

“นครราชสีมา” มีผู้มาใช้สิทธิ 1,155,142 คน บัตรดี 972,902 ใบ บัตรเสีย 71,306 ใบ ร้อยละ 6.17 โหวตโน 110,934 ใบ ร้อยละ 9.60

“ยะลา” ผู้มาใช้สิทธิ 224,707 คน บัตรดี 176,840 ใบ บัตรเสีย 18,533 ใบ ร้อยละ 8.25 โหวตโน 29,334 ใบ ร้อยละ 13.05

“สงขลา” ผู้มาใช้สิทธิ 687,944 คน บัตรดี 572,496 ใบ บัตรเสีย 28,593 ใบ ร้อยละ 4.16 โหวตโน 86,855 ใบ ร้อยละ 12.63

เหตุที่เป็นเยี่ยงนี้ แสดงว่า ชาวบ้านเอือมระอา เกรดผู้สมัครทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ ไม่มีคนโดนใจ ปกติแล้ว ถ้าเบื่อหน่ายคนหน้าเดิม เลือกมาแล้ว ทำอะไรไม่เข้าตา ก็สามารถไปกาเลือกผู้สมัครรายอื่นได้ แต่กลับพร้อมใจกันเทกระจาด ใช้สิทธิ “แต่ไม่เลือกผู้ใด” กันจำนวนมากในหลายจังหวัด

สรุปผลศึกเลือกตั้งนายก อบจ.ทั่วประเทศ 75 จังหวัด ยกเว้นสนามกรุงเทพมหานคร ล็อตแรก แทนบุคคลที่ลาออกก่อนครบวาระ 29 จังหวัด เหลือยอดยกสุดท้าย 47 จังหวัด หะแรกดังที่ทราบ “ค่ายเสื้อแดง-พรรคเพื่อไทย” กับ “สีน้ำเงิน-ภูมิใจไทย” ยึดพื้นที่ได้มากที่สุดไปค่ายละ 11 ที่นั่ง ที่เหลือพรรคอื่นเก็บเบี้ยใต้ถุนร้านกันคนละเล็กน้อย

ขณะที่ “พรรคประชาชน” หรือ “ก้าวไกลเดิม” แชมป์เลือกสนามใหญ่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ยอด ส.ส.ทะลุละลวง 151 ที่นั่งจาก 2 ระบบ คือเขตเลือกตั้งและบัญชีรายชื่อ มิต่างอะไรกับนักรบแต่เท้าไม่เคยแตะสนามรบอีกครั้ง กับศึกเลือกตั้งนายก อบจ. “ค่ายสีส้มสะกดคำว่าชัยชนะไม่เป็น” โดยเฟสแรก ส่งผู้สมัครลงวัดดวง 12 จังหวัด แพ้ป่าราบทั้งหมด

ล็อตสุดท้าย “พรรคส้ม” ปูพรมส่งผู้สมัครชิงนายก อบจ.ทั่วประเทศ จำนวน 17 จังหวัด และสมาชิก อบจ. อีก 33 จังหวัด วางพื้นที่เป้าหมายไว้ 5-6 ที่นั่ง แต่เข้าป้ายประสบชัยชนะมาเป็น “ไข่แดง” ได้เพียงหนึ่งเดียวคือ “นายวีระเดช ภู่พิสิฐ” จากลำพูนที่สามารถโค่นแชมป์เก่า “นายอนุสรณ์ วงศ์วรรณ” จากพรรคเพื่อไทยลงไปได้ แบบหืดจับ

แต่ถือว่ามีค่าและมีความหมายกับ “พรรคประชาชน” มาก ที่จะยึด อบจ.ลำพูนเป็นไอดอลในการบริหารรูปแบบใหม่ และหวังว่าจะไม่ใช่ “สนามเด็กเล่น” เป็นอันขาด

 

มีการแยกย่อยจำนวนและสัดส่วนนายก อบจ.ที่ได้รับเลือกตั้งเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พรรคการเมืองต้นสังกัดที่ส่งเข้าประกวด พรรคเพื่อไทย คาดหวัง 12-14 ที่นั่ง ได้มาต่ำกว่าเป้า 11 ที่นั่ง “ภูมิใจไทย” จุดคาดหวัง 7 ที่นั่ง ทะลุเกินเป้าได้ 9 ที่นั่ง นำไปผสมผสานกับของเก่าที่ได้รับเลือกตั้งมาก่อนหน้านี้ “ค่ายเสื้อแดง” มี อบจ.ในสังกัด 22 ที่นั่ง “สีน้ำเงิน” หายใจรดต้นคอ 20 ที่นั่ง “ประชาชน” 1 ที่นั่ง “รวมไทยสร้างชาติ” 5 ที่นั่ง “พลังประชารัฐ” 4 ที่นั่ง “ประชาธิปัตย์” 3 ที่นั่ง “ประชาชาติ” กับ “ชาติไทยพัฒนา” พรรคละ 2 ที่นั่ง ที่เหลือเป็น “ค่ายบ้านใหญ่” ประมาณ 20 จังหวัด

ทีนี้ตามไปดูประเด็นดราม่า ว่าด้วยปม “ทักษิณ ชินวัตร” ตูดกลวง รีดสีดวงรับประทาน กระแสนิยม สิ้นมนต์ขลัง คาถาเสื่อม คะแนนเสียงถดถอย อุตส่าห์ถ่อสังขารอันไม่เที่ยงไปตะลอนทัวร์ สวมบท “ผู้ช่วยหาเสียง” ในหลายพื้นที่ หลายเวที เรียกว่าที่พี่แกไปเดินสายจัดการให้ รวมศิโรราบ 11 จังหวัด ปรากฏว่า ผู้สมัครที่สังกัดพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งได้นายก อบจ.แค่ 7 เวที แพ้ถล่มทลายมากถึง 4 จังหวัด มนต์จึงไม่ขมังเวทย์ดุจเดิม

ที่ชนะเลือกตั้ง คือ เชียงใหม่ ได้ “พิชัย เลิศพงศ์อดิศร” ลำปาง “ดวงรัตน์ โล่ห์สุนทร” นครพนม “อนุชิต หงษาดี” มหาสารคาม “พลพัฒน์ จรัสเสถียร” อุดรธานี “ศราวุธ เพชรพนมพร” อุบลราชธานี “กานต์ กัลป์ตินันท์” หนองคาย “วุฒิไกร ช่างเหล็ก”

ที่แพ้ยับเยิน 4 เวที เชียงราย “สลักจฤฎดิ์ ติยะไพรัช” สอบตก ลำพูน “อนุสรณ์ วงศ์วรรณ” บึงกาฬ “ภูมิพันธ์ บุญมาตุ่น” แพ้เจ้าถิ่นเก่า และที่ไปจับหนูตีงูเห่า หน้าแหกเป็นริ้วปลาช่อนแม่ลา “วิวัฒน์ชัย โหตระไวทยะ” แพ้ไม่เห็นฝุ่น

หากไม่อคติ มีทัศนคติในแงลบ หรือคิดเชิงลบซ้ำซาก ศึกเลือกตั้งนายก อบจ.ปี 2568 “ทักษิณ ชินวัตร” ถือว่าเป็นตัวช่วยปลุกให้สนามเลือกตั้งภูมิภาค เพิ่มสีสันและความคึกคักมากว่าครั้งใดๆ เวทีที่เดินทางไปปราศรัยในฐานะผู้ช่วยหาเสียง มีผู้มาฟังล้นหลาม ไม่เงียบวังเวงเป็นป่าช้าเรไรเหมือนที่ผ่านๆ มา

ขณะเดียวกันสนามเลือกตั้ง อบจ.ที่ไปขึ้นเวทีปราศรัย แต่ผู้สมัครพรรคเพื่อไทยแพ้ป่าราบ โดยเฉพาะที่ไปไล่หนูตีงูเห่า จ.ศรีสะเกษ ผู้สมัครของค่ายสีแดง “วิวัฒน์ชัย” กระดูกคนละเบอร์กับ “วิชิต ไตรสรณกุล” ของภูมิใจไทย คะแนนที่ออกมาทิ้งห่างกันเป็นทุ่งๆ

เช่นเดียวกับบึงกาฬ “ภูมิพันธ์” ที่เพื่อไทยส่งเข้าประกวด ห่างชั้นกับ “แว่นฟ้า ทองศรี” ภรรยาของ “ทรงศักดิ์ ทองศรี” ดีกรีเป็นถึงรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และเป็นแชมป์เก่า จึงยากแก่การโค่นล้ม

จะเสียรังวัดจริงๆ ก็คงเป็น “ลำพูน” ที่ลูกชายเจ้าของใบยาสูบ ยึดครองสนามมายาวนาน “อนุสรณ์” ไปพลาดท่าพ่ายให้กับ “วีระศักดิ์ ภู่พิสิฐ” กับเชียงรายที่ “สลักจฤฎดิ์” ผ่าทางตันโค่น “อทิตาธร วันไชยธนวงศ์” แชมป์เก่าไม่สำเร็จ

แต่หลายสนามของศึกชิงนายก อบจ.ครั้งนี้ หาก “ทักษิณ” ไม่ปรากฏตัว โอกาสแพ้คู่แข่งสูง ไล่มาตั้งแต่ “อุดรธานี” สนามแรก ตามด้วย “อุบลราชธานี” ที่ช่วงแรกๆ คะแนนยังตามหลังคู่แข่งอยู่

เช่นเดียวกับที่หนองคาย หาก “เสี่ยโทนี่” ไม่ไปกู้กระแสโค่งสุดท้าย “วุฒิไกร ช่างเหล็ก” คงผ่าด่าน “ยุทธนา ศรีตะบุตร” นายกเก่า 5 สมัยลำบาก

และสนามหินอีกศึกคือ นครพนม ถ้าไม่มีตัวช่วยที่ชื่อ “ทักษิณ” เชื่อหัวเณรเรืองได้ว่า “อนุชิต หงษาดี” ล้มช้าง “ศุภพานี โพธิ์สุ” ลูกสาวสหายแสง “ศุภชัย โพธิ์สุ” ยาก

สรุปศึกเลือกตั้งนายก อบจ.ครั้งนี้ “ทักษิณ” ได้มากกว่าเสียครับ