ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 7 - 13 กุมภาพันธ์ 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | ฝนไม่ถึงดิน |
ผู้เขียน | ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี |
เผยแพร่ |
ฝนไม่ถึงดิน | ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี
เมื่อการเลือกตั้งชุบชีวิตท้องถิ่น
การหาจุดเชื่อม
กับการปฏิรูปประกันสังคมแรงงานอิสระ
แม้ว่าผลการเลือกตั้งที่ออกมาจะเป็นสภาพ Negative Sum ของทั้งค่ายสีส้มและสีแดง กล่าวคือ สองพรรคการเมืองที่ใหญ่ที่สุดของประเทศดูแล้วไม่ประสบความสำเร็จในเวทีการเลือกตั้งนายก อบจ.
กล่าวคือ ทางค่ายสีส้มของพรรคประชาชนแม้จะได้จำนวน ส.จ.อย่างมีนัยยะสำคัญในหลายพื้นที่ แต่การได้นายก อบจ.เพียงจังหวัดเดียวถือว่าต่ำกว่าคาดการณ์ไว้ประมาณ 3-5 จังหวัด
และขณะเดียวกันค่ายสีแดงของเพื่อไทยในฐานะพรรคแกนนำรัฐบาลการได้นายก อบจ. 10 และสูญเสียหลายพื้นที่ฐานเสียง ก็ดูไม่ใช่เป้าหมายของการเลือกตั้งครั้งนี้ และมองย้อนลงไปในหลายพื้นที่ ณ ปัจจุบัน ก็ยังคงมีการเคลมกันอย่างอลวนว่า จริงๆ แล้วผู้ได้ตำแหน่งนายก อบจ. ได้รับสนับสนุนจากค่ายใด
อย่างไรก็ตาม นับว่าการเลือกตั้งนายก อบจ.ครั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งสำคัญที่ทำให้ความสนใจการเมืองท้องถิ่นถูกจับตาในระดับสาธารณะ และจากนี้ ก็จะเป็นกระบวนการสำคัญที่ต้องมีการแข่งขันทางนโยบายที่สาธารณะจับตาทั้งในพื้นที่ และข้ามพื้นที่
ปัญหาของ อบจ.ทุกจังหวัด ส.จ.ย่อยลงมาในระดับตำบลแต่ละพื้นที่ของไทย ไม่ต่างกันมากนัก แม้จะมีความหลากหลายของพื้นที่ หลากหลายทางภูมิศาสตร์ เศรษฐกิจและอาชีพ แต่ส่วนที่เหมือนกันคือความเปราะบางทางเศรษฐกิจของผู้คนในพื้นที่ การขยายตัวของแรงงานอิสระ สังคมผู้สูงอายุ และแม้เด็กจะเกิดน้อยแต่ก็ไม่สามารถเข้าถึงการเลี้ยงดูและสวัสดิการที่ดีได้ ท้องถิ่นมักมีข้อจำกัดด้านงบประมาณเมื่อพูดถึงการปฏิรูปสวัสดิการ ซึ่งทุกคนต่างตระหนักว่าสำคัญ แต่ไม่รู้จะเริ่มที่จุดใด
ผมขอใช้พื้นที่ตรงนี้สื่อสารให้เห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการปฏิรูปสวัสดิการของผู้คนในระดับท้องถิ่น ผ่านเงื่อนไขสวัสดิการผ่านระบบประกันสังคมสำหรับแรงงานอิสระ
หากเราพูดถึงอำนาจของ อบจ. และ ส.จ. โดยสรุปก็คือการเป็นส่วนเติมเต็มสำหรับงานประจำของระดับเทศบาล หรือตำบล ที่มีงานประจำพื้นฐาน ภาระงานใดที่มีข้อจำกัดทั้งพื้นที่ กฎหมาย ทรัพยากร ทาง อบจ.ก็จะมีบทบาทในการเข้ามาเป็นส่วนเสริมเติมเต็ม ในแง่สวัสดิการก็เช่นกัน หากเราสามารถบูรณาการโครงสร้างสวัสดิการของประกันสังคมที่มีเข้าสู่ระดับท้องถิ่นจะเป็นอย่างไร
ปัจจุบันคนไทยส่วนมากเป็นแรงงานอิสระและมีปริมาณมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และรวมถึงแรงงานสูงอายุ แรงงานดูแลคนในบ้าน แรงงานอิสระดั้งเดิมในภาคเกษตร รวมถึงแรงงานกลุ่มใหม่ๆ ที่เป็นแรงงานตามระบบแพลตฟอร์ม หรือเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กที่มีพฤติการณ์เป็นแรงงาน เช่น กลุ่มธุรกิจขายของออนไลน์ ขยายอยู่ทุกตำบล ทุกอำเภอ ทุกจังหวัด
แต่เมื่อถามว่าส่วนท้องถิ่นมีนโยบายสำหรับคนจำนวนมหาศาลกลุ่มนี้ในด้านรูปธรรม อันเป็นมากกว่าเครือข่ายเฉพาะของกลุ่มการเมืองท้องถิ่นก็จะเห็นได้ว่ามีอย่างจำกัดมาก
ข้อเสนอที่ผมอยากหยิบยกคือจะเกิดอะไรขึ้น หากส่วนท้องถิ่นเป็นเจ้าภาพในการสมทบให้กลุ่มแรงงานอิสระเหล่านี้ เพื่อเข้าสู่การเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40
แม้สิทธิประโยชน์ ม.40 หรือประกันสังคมภาคสมัครใจจะเป็นสิทธิพื้นฐานที่ไม่หวือหวามากนัก แต่ก็มีความสำคัญและค่าใช้จ่ายไม่สูง กล่าวคือ เริ่มต้น 840 บาทต่อปี แต่สามารถคุ้มครอง ค่าเดินทางพบแพทย์ ค่าชดเชยเมื่อต้องพักฟื้นอยู่บ้าน หรือนอนโรงพยาบาล ชดเชยทุพพลภาพตลอดชีวิต ค่าชดเชยการตั้งครรภ์ รวมถึงค่าทำศพหลักหมื่นบาท
แน่นอนว่าหากส่วนท้องถิ่นต้องแบกรับภาระส่วนนี้ก็จะสามารถคาดเดางบประมาณได้ยาก และในขณะเดียวกัน ม.40 เป็นโครงการของรัฐที่ไม่ปฏิเสธผู้ประกันตน ไม่มีการยกเลิกกรมธรรม์
ทั้งนี้ ระบบการบริหารจัดการของ ม.40 แตกต่างจาก ม.33 ที่เป็นแรงงานที่มีเงินเดือนประจำ กล่าวคือ เป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการดูแลระยะสั้น ไม่ได้เน้นไปที่ส่วนบำนาญ การบริหารจัดการมีความคล่องตัวอยู่มาก
แต่จากประสบการณ์ที่ศึกษาและได้รับข้อมูลมา ปัญหาใหญ่สำคัญของการบริหารประกันสังคม ม.40 เป็นอีกเรื่องหนึ่ง คือผู้ประกันตนไม่สมทบอย่างต่อเนื่อง ด้วยความไม่แน่นอนของรายได้ เมื่อไม่สมทบต่อเนื่องก็ทำให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ ไม่สามารถใช้ได้เต็มที่ ดังนั้น ปัญหาไม่ใช่การจ่ายสิทธิประโยชน์เยอะเกินไป แต่คือไม่ได้จ่ายสิทธิประโยชน์ออก โดยสิทธิประโยชน์หลักที่ได้จ่ายไปคือ ค่าชดเชยการเสียชีวิต
ผมลองพิจารณาดูในพื้นที่ตำบลบ้านผมที่นนทบุรี แม้จะเป็นตำบลที่รองรับชุมชนที่อยู่อาศัยคนรุ่นใหม่ แต่ความต้องการสวัสดิการมีอยู่ไม่น้อยทีเดียว
หากเราสามารถออกแบบเริ่มต้นการสมทบแก่แรงงานอิสระที่อายุ 60-65 ปี ให้ส่วนท้องถิ่นเป็นผู้สมทบให้ เราจะใช้งบประมาณเพียง 1,280,160 บาท สำหรับผู้สูงอายุ 60-65 ปี ประมาณ 1,000-2,000 คน ในพื้นที่ตำบล สรุปผลรวมทางเศรษฐกิจ ซึ่งอาจสร้างผลตอบแทนทางสังคม 6-8 ล้านบาท/ปี ในกรณีการชดเชยที่สามารถบรรเทาค่าใช้จ่ายในกรณีเจ็บป่วย ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต และเมื่อส่วนท้องถิ่นพร้อมใจกันก็จะทำให้ ม.40 ขยายตัวขึ้นและออกแบบสิทธิประโยชน์ได้หลากหลายมากขึ้น
การใช้ท้องถิ่นเป็นก้าวแรกของรัฐสวัสดิการ ผ่านการจัดระบบประกันสังคม ม.40 ถ้วนหน้าให้กับประชาชน นอกจากการรับประกันชีวิตพื้นฐานแล้วยังเป็นกระบวนการที่โปร่งใส มากกว่าการจัดสวัสดิการแบบพุ่งเป้า หรือจัดซื้อผ่านระบบประกันเอกชนต่างๆ ที่อาจมีความไม่มั่นคงในภายหลัง
หากส่วนท้องถิ่นใดจะนำนโยบายนี้ไปใช้ ไม่สงวนลิขสิทธิ์ สามารถใช้ได้ทุกที่ ทุกสี ทุกค่ายครับ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022