เมื่อ ‘เทศกาลหนังร็อตเตอร์ดัม’ หวนรำลึกวัฒนธรรม ‘วิดีโอ-วีเอชเอส’

คนมองหนัง

เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติร็อตเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ประจำปีนี้ (จัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 มกราคม-9 กุมภาพันธ์) ได้เชิญชวนให้ผู้ชมคนดูย้อนเวลากลับไปยังยุคสมัยที่ร้าน/สื่อ “วิดีโอ” เคยมีสถานภาพเป็นจุดศูนย์กลางของวัฒนธรรมการชมภาพยนตร์ทั่วโลก

ผ่านการจัดโปรแกรมพิเศษที่มีชื่อว่า “Hold Video In Your Hands” (เตรียมม้วนวิดีโอไว้ในมือของคุณ) ซึ่งจะให้ความสำคัญกับ “วัฒนธรรมวิดีโอ” ในหลากหลายมิติและกิจกรรม

เริ่มตั้งแต่การจัดฉายหนังสารคดีสองเรื่อง ที่มีเนื้อหาว่าด้วย “วัฒนธรรมม้วนวิดีโอวีเอชเอส”

เรื่องแรก คือ “Videoheaven” โดย “อเล็กซ์ รอสส์ เพอร์รี” ซึ่งมุ่งสำรวจตรวจสอบความสำคัญของวัฒนธรรมการเสพมหรสพแบบนี้ ที่มีต่อวงการภาพยนตร์และโทรทัศน์สหรัฐโดยรวม

เรื่องที่สอง คือ “Videotheek Marco” ของ “ไคซ์ ลา ริวิแยร์” ซึ่งหวนรำลึกถึงยุคสมัยอันเบ่งบานของวัฒนธรรมแบบเดียวกันในเนเธอร์แลนด์

นับเป็นเรื่องน่าบังเอิญไม่น้อย ที่หนังสารคดีทั้งสองเรื่อง ซึ่งเปิดตัวเป็นครั้งแรกที่ร็อตเตอร์ดัม ต่างถูกสร้างขึ้นในบริบทใกล้เคียงกัน

“เรื่องที่ตลกมากๆ ก็คือเมื่อฤดูใบไม้ผลิที่แล้ว ผมไปอยู่ที่นิวยอร์ก วันหนึ่ง ผมเดินเข้าไปในร้านวิดีโอ แล้วก็เจอเขา (รอสส์ เพอร์รี) เขาบอกผมว่า เขากำลังทำหนังเกี่ยวกับร้านเช่าวิดีโอ ส่วนผมก็บอกว่า เฮ้ย! ผมก็กำลังทำเหมือนกัน” ลา ริวิแยร์ บอกเล่าแบบขำๆ

“โอลาฟ โมลเลอร์” โปรแกรมเมอร์และภัณฑารักษ์ของโปรแกรมพิเศษนี้ เปิดเผยว่า เมื่อเขาลองนำเสนอไอเดียที่จะย้อนรำลึกถึง “วัฒนธรรมวิดีโอ” ไปเล่าให้เพื่อนๆ ซึ่งเป็นคณะผู้จัดงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติร็อตเตอร์ดัม รับฟัง ทุกคนต่างตื่นเต้นกับแนวคิดดังกล่าว

“ทุกคนในทีมต่างบ้าคลั่งกันไปเลยเมื่อได้ยินไอเดียนี้ เพราะทุกคนล้วนมีประวัติศาสตร์บางส่วนเสี้ยวที่ข้องเกี่ยวกับม้วนวิดีโอทั้งสิ้น เราทุกคนต่างเติบโตขึ้นมาในยุคสมัยของวีเอชเอส”

สำหรับโมลเลอร์ ช่วงเวลาที่เคยมีร้านเช่าวิดีโอกระจายไปทั่วทุกหัวระแหง แม้แต่ในเมืองเล็กๆ นั้นถือเป็นห้วงยามแห่ง “การแบ่งปัน” สำหรับคนรักหนัง

เช่นตัวเขาเองที่ได้พบรักกับหนังญี่ปุ่น ได้ค้นพบหนังชั้นยอดจากอิหร่าน ผ่านทางม้วนวิดีโอวีเอชเอส ที่พบเจอจากร้านเช่าวิดีโอ ขณะที่เพื่อนๆ วัย 40-50 ปี ซึ่งร่วมจัดเทศกาลกับเขา ก็มีประสบการณ์น่าประทับใจคล้ายคลึงกัน

นอกจากการรำลึกความหลังเฉพาะตน นักจัดเทศกาลหนังผู้นี้ยังมีไอเดียบรรเจิดไกลไปกว่านั้น

“ผมอยากจะสำรวจมุมมองในเรื่องนี้จากทั่วทุกมุมโลก เพราะวัฒนธรรมวิดีโอ มีความหมายที่หลากหลาย ในพื้นที่ที่แตกต่างกัน

“สำหรับผม ผมสนใจมากๆ ว่าวัฒนธรรมแบบนี้ส่งผลอย่างไรต่อสังคมอินเดีย เช่น วัฒนธรรมวิดีโอมีบทบาทอย่างไรต่อวัฒนธรรมหนังฮินดีในทศวรรษ 1980

“หรือมันจะน่าสนใจมาก ถ้าเราเจาะลึกลงไปยังหนังโป๊อย่าง ‘Raw! Uncut! Video!’ ที่ช่วยเผยให้เห็นอีกโฉมหน้าหนึ่งของวัฒนธรรมวีเอชเอส”

โปรแกรมพิเศษ “Hold Video In Your Hands” ยังจะจัดฉายภาพยนตร์หลากหลายแนว ซึ่งมีท้องเรื่องเกิดขึ้นใน “ร้านวิดีโอ” ทั้งหนังที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการพากย์เสียงและการละเมิดลิขสิทธิ์ หนังสยองขวัญ หนังโป๊เกย์ หนังกังฟูจากโครเอเชีย หนังแอนิเมชั่น ตลอดจนผลงานเรื่องล่าสุดของผู้กำกับฯ ชื่อดัง “เดวิด โครเนนเบิร์ก”

ภาพยนตร์อีกเรื่องที่จะจัดฉายในโปรแกรมนี้ คือ “Dawn Of A New Day : The Man Behind VHS” ของคนทำหนังญี่ปุ่น “ซาซาเบะ คิโยชิ” ซึ่งถ่ายทอดชีวประวัติของวิศวกรบริษัทเจวีซี ซึ่งเป็นผู้ออกแบบให้ระบบ “โฮมวิดีโอ” กลายมาเป็น “สินค้ามวลชน” ที่เข้าถึงได้ง่ายสำหรับคนหมู่มาก

ขณะเดียวกัน ยังมีหนังสารคดีไทยจากเมื่อ 11 ปีก่อน ที่ได้รับคัดเลือกไปร่วมฉายในเซ็กชั่นนี้ด้วย

นั่นคือ “เดอะมาสเตอร์” (พ.ศ.2557) โดย “นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์” ที่ประมวลความทรงจำว่าด้วย “ร้านแว่นวิดีโอ” ร้านจำหน่ายวิดีโอภาพยนตร์นอกกระแสจากต่างประเทศแบบละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งกลายเป็นแหล่งบ่มเพาะรสนิยมและความรู้ด้านภาพยนตร์ของนักทำหนัง (ทั้งในระบบอุตสาหกรรมและแนวอินดี้อิสระ) รวมถึงนักวิจารณ์ไทย ในยุคสมัยหนึ่ง

ที่พิเศษสุด คือ ทางเทศกาลได้จัดกิจกรรมเสริมที่เชิญชวนชาวร็อตเตอร์ดัมให้ย้อนกลับไป “ขุดกรุ” ม้วนวิดีโอเก่าๆ ในบ้านของตน แล้วเลือกม้วนเทปวีเอชเอสที่โปรดปรานที่สุดมาเปิดฉายในพื้นที่สาธารณะที่จัดเตรียมไว้

ต้องเรียกว่าเป็น “กาละ” และ “เทศะ” เฉพาะ-พิเศษ ที่เปิดโอกาสให้คนดูหนังได้ทดลองกดปุ่ม “พอส” แล้ว “รีไวนด์” ตัวเอง ไปสู่หมุดหมายสำคัญจุดหนึ่งของวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมภาพยนตร์โลก •

 

ข้อมูลจาก https://www.screendaily.com/news/video-culture-comes-into-focus-at-rotterdam-we-all-grew-up-in-the-vhs-period/5201434.article

ภาพประกอบ https://iffr.com/en/iffr/2025/films/the-master

 

| คนมองหนัง