จดหมาย

จดหมาย | ประจำวันที่ 7 -13 กุมภาพันธ์ 2568

 

• กลัว คนไม่รักการอ่าน

เรียน คุณธงทอง จันทรางศุ

อ่านบทเรียนของการ “ลาจาก” ในคอลัมน์หลังลับแลมีอรุณรุ่ง กรณีทรัพย์มรดกที่เป็นหนังสือแล้ว เชื่อว่าอาจารย์คงมีมาก อาจจะแบ่งปันให้หอสมุดหรือห้องสมุดของสถาบันการศึกษาต่างๆ โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาในต่างจังหวัด หรือถ้าให้แคบลงมาอาจจะเป็นห้องสมุดของที่เกี่ยวกับนิติศาสตร์

อีกแห่งหนึ่งที่น่าสนใจคือศูนย์สารสนเทศสิทธิมนุษยชนที่อยู่ศูนย์ราชการตึก B ก็ได้ เชื่อว่าสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รู้คุณค่าของหนังสือ เพราะว่ารางวัลห้องสมุดเฉพาะดีเด่น ปี 2564 คงรับประกันคุณภาพได้ ดีกว่าหลายหน่วยงานราชการในตึกนี้ ที่ไม่ต้อนรับคนรักการอ่าน แถมบางหน่วยงาน ยุบปิดห้องสมุดก็มี

จากคนรักการอ่าน

 

คุณ “คนรักการอ่าน” ส่งจดหมายมาถึง อ.ธงทอง

หลังอ่านบทความแล้วคง “อิน”

ขอหนังสือของอาจารย์ธงทอง บริจาคให้ห้องสมุดเสียอย่างนั้น

ยินดีเผยแพร่ให้ แต่ก็อยากให้ใจเย็นๆ อย่าเพิ่งเรียกร้องอาจารย์บริจาคหนังสือเลย

เพราะอาจารย์ยังแอ็กทีฟ เขียนบทความ-สอนหนังสือให้สาธารณชนอ่านอยู่

ให้อาจารย์ท่านไว้อ้างอิง หาข้อมูลไปก่อนเถิด แหะๆ

คนที่จะสนับสนุนเรื่องหนังสือได้จริงจัง เห็นจะเป็นภาครัฐ

คณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ทั้งหลาย ฝากด้วย…

เห็นไหม ยังมีคนรักการอ่านอยู่มาก

แต่ประโยคท้ายๆ อ่านแล้วจี๊ด หน่วยงานราชการในกรุงเทพฯ เองแท้ๆ

ยุบห้องสมุด ไม่ต้อนรับคนอ่านได้ยังไงเนี่ย…หุหุ

 

• กลัว หนี้ครัวเรือน

บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด แถลงสถิติการจำหน่ายรถยนต์ปี 2567 พร้อมคาดการณ์ตลาดรถยนต์ไทยปี 2568 เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2568

ภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในปี 2567 ยังคงอยู่กับสถานการณ์ที่ท้าทายเป็นอย่างมาก จากสภาวะโดยรวมและทิศทางของตลาดในปีที่ผ่านมา สะท้อนมายังตลาดรถยนต์ในประเทศ โดยมีตัวเลขยอดขายรวมในปี 2567 อยู่ที่ 572,675 คัน หรือลดลง 26.2% เมื่อเทียบกับปี 2566

ปริมาณการขายรวม 572,675 คัน -26.2%

รถยนต์นั่ง 224,148 คัน -23.4%

รถเพื่อการพาณิชย์ 348,527 คัน -27.9%

รถกระบะ 1 ตัน (รวมรถกระบะดัดแปลง) 200,190 คัน -38.4%

รถกระบะ 1 ตัน (ไม่รวมรถกระบะดัดแปลง) 163,347 คัน -38.3%

มีปัจจัยหลากหลายด้านที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางของตลาดในปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นกำลังซื้อที่ลดลงตามสถานการณ์ปัจจุบันของเศรษฐกิจ รวมถึงค่าครองชีพ อัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อที่ทรงตัวสูง ตลอดจนความเข้มงวดของมาตรฐานในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ตลาดรถยนต์ภายในประเทศยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่

อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่น่าสนใจ ซึ่งส่งผลต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในปีที่ผ่านมา อาทิ การที่ตลาดรถยนต์พลังงานทางเลือก โดยเฉพาะรถยนต์ไฮบริด (HEV) ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น เป็นแรงส่งสำคัญในช่วงที่ตลาดยังไม่ฟื้นตัว เห็นได้จากการที่รถยนต์ไฮบริดในไทยมียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้น 29% แสดงให้เห็นถึงทางเลือกเทคโนโลยีของผู้บริโภคที่หลากหลายขึ้น

แนวโน้มอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในปี 2568 คาดว่าจะยังคงอยู่ในสภาวะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป

อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องเฝ้าดูสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่อาจส่งผลต่อการส่งออก ตลอดจนสถานการณ์ที่ทางสถาบันการเงินอาจยังคงเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์เนื่องจากความกังวลต่อความสามารถในการชำระหนี้จากภาวะหนี้ครัวเรือนที่ยังคงสูงและอัตราหนี้เสียที่คาดว่าจะอยู่ในระดับสูงต่อไป และทิศทางของนโยบายอัตราดอกเบี้ย ทำให้คาดการณ์ว่ายอดขายรถยนต์ในปี 2568 จะอยู่ที่ 600,000 คัน หรือเพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

ในปี 2567 โตโยต้าได้ส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปไปจำนวน 338,107 คัน ลดลง 11% จากปี 2566 โดยยอดรวมการผลิตรถยนต์สำหรับการขายภายในประเทศและการส่งออกในปี 2567 มีจำนวนทั้งสิ้น 536,145 คัน หรือลดลง 14% จากปี 2566

บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด

 

หนี้ครัวเรือนน่ากลัวจริงๆ

ตัวเลขจากเอกชนรายใหญ่ของไทยด้านรถยนต์ล่าสุดน่าสนใจ

จำเป็นต้องติดตาม หาสาเหตุปัญหา เพื่อการแก้ปัญหาในอนาคตได้ถูกต้อง

เกาให้ถูกที่คัน

จะเห็นว่าค่ายญี่ปุ่นเขาไม่ได้กลัวค่ายรถอีวีจีนมากที่สุด

สาเหตุจริงๆ ที่อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยซบเซาอย่างหนัก

คือหนี้ครัวเรือนต่างหาก

พอคนหนี้เยอะ แบงก์ก็ไม่ปล่อยสินเชื่อ ลามต่อเป็นทอดๆ

ทางแก้หนี้ก็ไม่ใช่การไปขอลดดอกเบี้ยอย่างเดียว มันไม่ยั่งยืน

ก็ต้องทำให้คนมีรายได้

โตโยต้าเขียนไว้แล้ว น่าจะเห็นโอกาสทำรายได้

ไหนๆ สู้เรื่องอีวีจีนไม่ทันแล้ว

ในเมื่อรถยนต์ไฮบริด (HEV) ความนิยมพุ่ง

อีวียังไม่เสถียร คนยังไม่พร้อมเสี่ยงเป็นนักสู้หน้าตู้ชาร์จ

ก็ทำไทยเป็นศูนย์กลางผลิตรถยนต์ไฮบริด (HEV) ไปเลยสิ…

• กลัว ฝุ่น

เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจของประชาชน เรื่อง ‘กรุงเทพฯ เมืองในฝุ่น’ สำรวจระหว่างวันที่ 27-28 มกราคม 2568 จาก 1,310 หน่วยตัวอย่าง

จากการสำรวจเมื่อถามประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ถึงความรุนแรงของวิกฤตฝุ่นละออง PM 2.5 ตัวอย่างร้อยละ 74.43 ระบุว่า มีความรุนแรงมาก รองลงมาร้อยละ 18.55 ระบุว่า ค่อนข้างมีความรุนแรง, ร้อยละ 5.88 ระบุว่า ไม่ค่อยมีความรุนแรง

สำหรับการให้ประชาชนใช้บริการรถเมล์และรถไฟฟ้า BTS-MRT ฟรี 7 วัน ช่วยแก้ไขปัญหาวิกฤตฝุ่นละออง PM 2.5 ในกรุงเทพฯ พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 34.89 ระบุว่า ช่วยแก้ไขปัญหาได้น้อยมาก รองลงมาร้อยละ 33.89 ระบุว่า ไม่ช่วยแก้ไขปัญหาเลย, ร้อยละ 24.50 ระบุว่า ช่วยแก้ไขปัญหาได้พอสมควร และร้อยละ 6.72 ระบุว่า ช่วยแก้ไขปัญหาได้มาก

นิด้าโพล

 

โดยสรุป คนไทยกลัวฝุ่น PM 2.5 มาก

แต่มีคน 68.78% ที่เห็นว่า

นโยบายให้ขึ้นรถเมล์-รถไฟฟ้าฟรี

ช่วยแก้ได้น้อยมาก จนถึงไม่ช่วยอะไร

เข้าทางรัฐบาลที่ไม่ได้อยากต่ออายุอยู่แล้วพอดี อิอิ •