‘ฮาโจ’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

หลังจากทำงานในป่ามาระยะเวลาหนึ่ง เดินทางไปทั่ว ไปทุกที่ ซึ่งมีข่าวว่าพบสัตว์ป่าที่กำลังตามหา ออกเดินทางทันทีไม่ว่าจะเป็นเวลาใด เพียงได้ข่าวว่าไกลจากบ้านนับพันกิโลเมตร มีนกที่อยากพบเดินทางมา

ผมเคยเขียนถึงการกระทำของตัวเองแบบนี้ว่า “คล้ายกับวิ่งไล่ตามเงา” อีกทั้งการได้เห็นเพียงชั่วครู่ ก็ดูจะไม่ได้ทำให้ “รู้จัก” หรือเข้าใจอะไรมากขึ้น

ผมเปลี่ยนวิธีการ ใช้เวลาอยู่ที่เดิมนานนับปี เฝ้าดูชีวิตต่างๆ ซึ่งไม่ได้เป็นชีวิตที่หายาก เป็นชีวิตธรรมดาๆ ที่มีวิถีธรรมดาอยู่ในป่า

ผมเฝ้าดูชีวิตต่างๆ เหล่านี้ อยู่ในเครื่องมือที่เรียกว่า ซุ้มบังไพร แคบๆ

อยู่ในที่แคบ ทำให้เห็นโลกกว้างด้านนอก

กายอยู่กับที่ แต่คล้ายกับ “ข้างใน” เดินทางไปได้ไกล

 

สถานที่หนึ่ง ซึ่งผมนึกถึงบ่อย เป็นที่ซึ่งอยู่ที่นั่น ผมรู้สึกราวกับอยู่ต่างถิ่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผู้คน วัฒนธรรม อาหาร ภาษา ทุกอย่างล้วนแตกต่างไปจากถิ่นที่ผมคุ้นเคย เป็นที่ซึ่งผมได้รับความอบอุ่น และมิตรภาพ

ในช่วงเวลาที่ผมอยู่ เป็นเวลาที่มีเสียงปืน เสียงระเบิด และมีเสียงอาซาน ให้คนร่วมละหมาดจากมัสยิดในหมู่บ้านก้องกังวาน

ที่นั่น ที่เขาบูโด

 

แสงจันทร์ทอทาบยอดไม้ซึ่งแต่ละต้นสูงราว 30 เมตร เสียงสายน้ำไหลรินแทรกด้วยเสียงกบภูเขา ร้องเป็นจังหวะ สูง-ต่ำไพเราะ

ผมลืมตา เพราะรู้สึกเหมือนโดนไฟส่องหน้า ลืมตาเพื่อพบว่า ที่ส่องอยู่คือแสงจันทร์นวล

ผมอยู่ในแคมป์กับมัสบูด ชายหนุ่มซึ่งเป็นหนึ่งในคนที่ช่วยงานโครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือกส่วนภาคใต้

แคมป์อยู่ริมลำห้วยสายเล็ก เป็นบริเวณที่ลำห้วยเล็กๆ สองสายไหลมาบรรจบกัน บนระดับความสูงจากน้ำทะเลราว 340 เมตร ที่นี่เราใช้เวลาเดินขึ้นตามทางชันๆ จากหมู่บ้านมากว่าสองชั่วโมง

ต้นไม้สูงลิบลิ่ว ความสูงช่วยให้ได้รับแสง แถวๆ โคนต้นจึงไม่รกทึบนัก ที่นี่จึงเป็นแคมป์อันค่อนข้างสบาย ท้องฟ้าไร้ฝน ทำให้ผูกเปลนอนโดยไม่ต้องกางผ้ายาง

ผมมีความสบายเพิ่มมากยิ่งขึ้น เมื่อมีบัสบูด ผู้คล่องแคล่ว อยู่ด้วยในแคมป์

ไม่เพียงเขาจะปีนป่ายต้นไม้ ชนิด “คล่องเหมือนลิง” อย่างที่ทุกคนเห็น ทักษะในการหากินในป่าเขาก็มีมาก

“ยุงแถวนี้ไม่ค่อยมี ปลามันกินลูกน้ำหมดแล้ว” ปลาที่เขาหมายถึง คือ ปลาดุก ผอมๆ หัวโต ที่บางวันเขาใช้เวลาครึ่งวัน ตกได้หนึ่งตัว

นกเงือกหัวแรด – การแสดงความรักของนกเงือกเกิดขึ้นบ่อยๆ บริเวณต้นพืชอาหาร หลังจากนี้ ตัวเมียจะเข้าไปอยู่ในโพรงแคบเพื่อวางไข่ และดูแลลูก ตัวผู้จะทำหน้าที่นำอาหารมาให้ จนกระทั่งลูกโตแข็งแรงพอที่จะออกจากโพรง

ภารกิจของเราคือ ทำห้างบนต้นสะหยา เพื่อเฝ้าดูและบันทึกภาพนกเงือกหัวแรด ที่จะใช้โพรงเพื่อวางไข่และเลี้ยงดูลูกของต้นตะเคียน

ตำแหน่งห้าง อยู่สูงจากพื้นกว่าตึกสี่ชั้น

มัสบูด เชี่ยวชาญการใช้อุปกรณ์ปีนต้นไม้ เขาเป็นลูกศิษย์อาแซ มาเสะ ที่เราเรียกว่า บาบอ หรือครู

“ตอนนี้ ตัวผู้ชายเริ่มพาตัวผู้หญิงมาดูโพรงแล้ว” มัสบูดบอก เราจึงต้องเร่งทำห้างให้เสร็จ

นกเงือก แม้ว่าจะเป็นนกซึ่งเมื่อจับคู่แล้วจะอยู่ร่วมกันไปจนตาย

แต่ทุกฤดูแห่งความรัก ช่วงเวลาที่จะสร้างรังวางไข่ นกตัวผู้จะต้องเริ่ม “จีบ” ตัวเมียใหม่ หาอาหารดีๆ มาให้ พามาดูโพรงที่ตัวเมียจะต้องเข้าไปอยู่

“ช่วงนี้แหละ ตัวผู้หญิงจะเล่นตัวเต็มที่” มัสบูดนินทา

 

อุปกรณ์ที่จะทำห้างและใช้ทำงาน มีไม่น้อย การแบกขึ้นภูเขาไม่ง่าย บาบอให้คนมาช่วยหลายคน ระหว่างเดินเราหยุดพักบ่อยๆ เหนื่อย แต่เสียงหัวเราะไม่เคยจางหาย

ดูเหมือนว่า พวกเขาจะมีเรื่องคุยกันอย่างไม่มีหมด

“เราคุยถึงเพื่อนคนหนึ่งที่เข้าไปอยู่ในเมือง” บาบอบอกผมที่ฟังเรื่องที่พวกเขาคุยไม่รู้เรื่องเท่าใดนัก

เราใช้เวลาสองวันในการทำห้างความคล่องแคล่วของมัสบูด และทักษะช่างของบาบอทำให้ห้าง หรือซุ้มบังไพรบนต้นสะหยาดูมิดชิด กลมกลืนกับสภาพรอบๆ

“รับรอง อยู่ได้ทั้งปี” บาบอบอก

“ตรีมอกาแซะ” ผมขอบคุณ บาบอยิ้มกว้าง

ห้างอยู่ห่างแคมป์ขึ้นเนินชันไปราวครึ่งชั่วโมง ปลาดุกตัวผอมหัวโตที่มัสบูดทอดให้กรอบก่อนนำมาผัดอร่อยพอสมควร

 

ผมลืมตา แสงจันทร์คล้ายจะสว่างมากขึ้นเมื่ออยู่ในตำแหน่งที่ป่าเปิดโล่งเป็นช่อง

ภายใต้แสงจันทร์นวล ผมนอนอยู่บนเปล มีคำถามเกิดขึ้นในใจ

“อะไร” เป็นสิ่งที่ควรกลัว ตอนหัวค่ำ มีเสียงระเบิดแว่วมา เสียงเฮลิคอปเตอร์บินวน

อันตรายจากระเบิด ปืน มีความรุนแรงเกิดขึ้นเสมอ ในพื้นที่ที่เราอยู่

เสือ ช้าง ความมืดมิด ความลึกลับของป่า อะไรที่จะทำให้หวั่นไหว

ผมอยู่ท่ามกลางความอบอุ่น มีมิตรภาพ มีคนช่วยดูแล สิ่งเหล่านี้จึงไม่ใช่สิ่งที่ควรจะกลัว

และแน่นอนว่า วันหนึ่ง ความรุนแรงนี้จะจบสิ้น

ถ้าไม่ใช่สิ่งเหล่านี้ที่จะต้องกลัว แล้วมันคืออะไร?

“ดวงจันทร์” เป็นคำตอบที่ผมมีให้กับตัวเอง

แสงนวลของดวงจันทร์นี่เอง

 

นอนบนเปล อยู่บนภูเขา รายล้อมด้วยป่ารกทึบ ห่างไกลจากที่จากมา

แสงจันทร์นวลนี่แหละ ที่ดูเหมือนจะทำให้ผู้ชายที่คล้ายจะแข็งกล้า จากบ้านมาไกล “ฮาโจ” •

 

หมายเหตุ : “ฮาโจ” ในภาษาถิ่นยาวี หมายถึง “สลาย, ละลาย”

 

หลังเลนส์ในดงลึก | ปริญญากร วรวรรณ