เกมเปลี่ยน-คนเปลี่ยน

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

การเลือกตั้งนายก อบจ.ที่ผ่านมา ถือเป็น “จุดเปลี่ยน” การเมืองไทยที่น่าสนใจมาก

เพราะ “ดุลอำนาจ” กำลังเปลี่ยนไป

ต้องยอมรับว่าครั้งนี้มี 2 พรรคการเมืองที่ออกตัวแรงมากสำหรับการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น

คือ พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาชน

ส่วนพรรคภูมิใจไทยนั้นไม่ออกหน้า แต่หนุนหลังผู้สมัครในหลายจังหวัดแบบปิดกันให้แซด

ในขณะที่พรรคอื่นๆ จะไม่ค่อยลงมาเล่นมากนัก แต่สนับสนุนผู้สมัครไม่กี่จังหวัดเท่าที่บารมีจะไปถึง

พรรคเพื่อไทยค่อนข้างตั้งความหวังไว้ค่อนข้างมากในสนามเลือกตั้งครั้งนี้

“ทักษิณ ชินวัตร” ออกโรงเต็มตัว

ขึ้นเวทีถึง 9 จังหวัด

บางจังหวัดอย่างเช่น เชียงใหม่ก็ตระเวนหาเสียงถึง 2 วัน ขึ้นปราศรัยหลายเวทีมาก

ราวกับเป็นการเลือกตั้งใหญ่

และแต่ละครั้งที่ขึ้นเวทีปราศรัย “ทักษิณ” ชกแบบหมัดหนัก ไม่เกรงใจพรรคการเมืองไหนเลย

แม้แต่พรรคร่วมรัฐบาลอย่าง “ภูมิใจไทย” หรือพรรคอื่นๆ

ไปศรีสะเกษ ก็พูดถึงการไล่หนู ตีงูเห่า ซึ่งเป็นแคมเปญหาเสียงใหญ่เมื่อครั้งที่ผ่านมา

ทั้งที่ “หนู” อนุทิน ก็เป็นรองนายกฯ ในรัฐบาล

พูดถึงการบริหารในกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งที่ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ น้องชาย “เนวิน” เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

ทำไมคุณทักษิณต้องลงมาเล่นขนาดนี้

 

ผมเชื่อว่าลึกๆ แล้วเขาต้องการโชว์พลังให้เห็นว่าคนชื่อ “ทักษิณ” ยังมีบารมีอยู่

ถามว่าใครคือกลุ่มเป้าหมายของโชว์ครั้งนี้

กลุ่มหนึ่ง น่าจะเป็น “นักการเมือง” ทั้งหลาย

เพราะถ้าเขาเปล่งบารมีให้เป็นที่ประจักษ์

ให้รู้ว่าแบรนด์ “ทักษิณ” ยังขายได้เหมือนสมัยพรรคไทยรักไทย พลังประชาชนและเพื่อไทยในอดีต

“นักการเมือง” ต่างๆ ก็อยากจะเข้าสังกัดพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งครั้งหน้า

ในอดีต นักการเมืองในภาคอีสานและเหนือจะรู้ว่าถ้าสังกัดพรรคเพื่อไทยจะไม่ต้องออกแรงมาก

คนจะเลือกเพราะแบรนด์ “ทักษิณ”

แต่หลังการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา เมื่อพรรคเพื่อไทยพลิกขั้ว กระแสความนิยมในพรรคเพื่อไทยก็ลดน้อยลง

เช่นเดียวกับแบรนด์ “ทักษิณ”

การลงมาเล่นในสนาม อบจ.เต็มตัวก็เพื่อโชว์พลังของแบรนด์นี้

นอกจากนักการเมืองต่างพรรคแล้ว เขายังต้องป้องกัน “เลือดไหลออก” ทางการเมืองด้วย

เพราะถ้าแบรนด์ทักษิณไร้พลัง ส.ส.หลายคนที่มีแสงในตัวเองก็ไม่จำเป็นต้องอยู่พรรคเพื่อไทย

อยู่พรรคอื่นก็ได้

นอกจากโชว์พลังให้นักการเมืองดูแล้ว

“ทักษิณ” คงอยากให้ใครบางคนเชื่อมั่นในตัวเขา

ต้อง “ทักษิณ” คนเดียวเท่านั้นที่จะจัดการทุกอย่างได้

 

ส่วนพรรคประชาชน เขาตั้งความหวังกับการเลือกตั้ง อบจ.ครั้งนี้มาก

ส่งสมัคร 17 จังหวัด

และส่งแกนนำลงหาเสียงอย่างหนัก

อาศัยพลังหนุ่มสาวที่ลุยงานแบบไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย

พรรคประชาชนเชื่อว่าการเลือกตั้งนายก อบจ.เกือบทั้งประเทศในวันเดียวกัน จะเป็นโอกาสให้เขาจะสร้างกระแสพรรคได้

เหมือนกับการเลือกตั้งใหญ่ครั้งที่ผ่านมา

แต่ใครจะไปนึกว่า “ทักษิณ” จะลงมาเล่นเต็มตัว

กลายเป็นว่า “ทักษิณ” ยึดพื้นที่ข่าวทุกครั้งที่ขึ้นเวทีปราศรัย

แทบไม่เหลือพื้นที่ให้พรรคประชาชนเลย

ส่วนพรรคภูมิใจไทยนั้น ข่าวที่ออกสื่อน้อยมาก แต่เคลื่อนไหวในพื้นที่แบบเงียบๆ แต่หนักหน่วง

“ภูมิใจไทย” เป็นพรรคการเมืองที่มีระบบจัดการข้าราชการในกระทรวงที่รับผิดชอบได้ดีมาก

ดูอย่างตอนเลือกตั้ง ส.ว.ครั้งที่ผ่านมา

ที่ ส.ว.สีน้ำเงิน ชนะการเลือกตั้งล้นสภา

ว่ากันว่าเป็นผลมาจากกลไก อสม.ของกระทรวงสาธารณสุข และข้าราชการกระทรวงมหาดไทย

และในที่สุด ผลการเลือกตั้งที่ออกมาก็ทำให้ “สมดุล” ทางการเมืองเปลี่ยนไป

เพราะ 9 จังหวัดที่ “ทักษิณ” ลุยหาเสียง

พรรคเพื่อไทยชนะ 5 จังหวัด คือ เชียงใหม่ ลำปาง นครพนม หนองคาย มหาสารคาม

และแพ้ 4 จังหวัด คือ เชียงราย ลำพูน ศรีสะเกษ บึงกาฬ

ถ้ามองแบบผิวเผิน ชนะ 5 แพ้ 4 ก็ถือว่าชนะมากกว่าแพ้

แต่การชนะแบบหวุดหวิดอย่างนี้

ในทางการเมือง ถือว่า “เสีย” มากกว่า “ได้”

 

ที่น่าสังเกตก็คือ 4 จังหวัดที่พ่ายแพ้นั้น เขาแพ้ให้กับพรรคภูมิใจไทย 3 จังหวัด คือ เชียงราย ศรีสะเกษ และบึงกาฬ

แพ้ธรรมดาไม่เท่าไร

แต่แพ้อย่างขาดลอยทั้ง 3 จังหวัด

ว่ากันว่านี่คือ การเอาคืน “ทักษิณ” อย่างเจ็บปวดที่สุดของพรรคภูมิใจไทย

และโชว์พลังให้นักการเมืองต่างๆ ได้เห็นด้วย

ที่น่าตกใจก็คือ “เชียงใหม่” บ้านเกิดของคุณทักษิณ

พรรคเพื่อไทยชนะพรรคประชาชนแบบฉิวเฉียด

ถือว่ายังรักษาหน้า “ทักษิณ” เอาไว้ได้

เพราะถ้าพรรคเพื่อไทยแพ้ที่เชียงใหม่

ผมไม่รู้ว่าบารมี “ทักษิณ” จะเหลืออยู่แค่ไหน

แต่ที่แน่ๆ ก็คือ หลังการเลือกตั้ง “ดุลอำนาจ” ทางการเมืองน่าจะเปลี่ยนไป

พรรคการเมืองต่างๆ คงเกรงใจ “ทักษิณ” น้อยลง

และพรรคเพื่อไทยจะทำงานยากขึ้น

นับจากนี้เป็นต้นไป

 

พรรคประชาชนนั้นค่อนข้างคาดหวังสนามนายก อบจ.ครั้งนี้มาก

เพราะเขาเพิ่งชนะการเลือกตั้งใหญ่มาก่อน

ยิ่งจังหวัดไหนที่ได้ ส.ส.ยกจังหวัด หรือคะแนนปาร์ตี้ลิสต์สูงๆ

เขาย่อมมั่นใจใน “กระแส”

พรรคประชาชนส่ง 17 จังหวัด

หวังว่าจะได้อย่างน้อย 4 จังหวัด

แต่ผลที่ออกมาได้เพียงจังหวัดเดียวคือ ลำพูน

ด้านหนึ่ง คือ ความพ่ายแพ้อย่างยับเยินของพรรคประชาชน

เพราะหลังการเลือกตั้งใหญ่ พรรคประชาชนไม่เคยชนะทั้งการเลือกตั้งซ่อมหรือนายก อบจ.

พ่ายแพ้ครั้งนี้จึงมีผลกระทบทางความรู้สึกมากทีเดียว

เหมือนว่า “กระแส” จะไม่มีจริง

แต่อีกด้านหนึ่ง การที่ได้ปักธงที่จังหวัดลำพูนก็ถือเป็น “โอกาส”

เพราะที่ผ่านมาพรรคประชาชนจะโดนโจมตีตลอดว่าเก่งแต่พูด ไม่เคยมีผลงานการบริหารเลย

แม้ “ลำพูน” จะเป็นจังหวัดเล็กๆ แต่ถือเป็นการปักธงเพื่อเป็น “โชว์รูม” ของการบริหารสไตล์พรรคประชาชน

ถ้าพรรคประชาชนทำสำเร็จ โชว์ฝีมือการบริหารงานจนเห็นความแตกต่างจากการเมืองเก่า

นี่คือ “โอกาส” ในการสร้าง “กระแส” ครั้งใหม่ในสนามเลือกตั้งครั้งหน้า

เช่นเดียวกับพรรคเพื่อไทย ที่ต้องยอมรับว่ากระแสของ “ทักษิณ” จากผลงานในอดีตนั้นเบาบางลงไปแล้ว

ช่วงเวลาในการเป็นรัฐบาลต่อจากนี้ไป คือ การสร้างผลงานใหม่

แบรนด์ของ “ทักษิณ” จะกลับมาอีกครั้ง

ขึ้นอยู่กับผลงานของรัฐบาลนับจากนี้ไป •

 

ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ | หนุ่มเมืองจันท์

www.facebook.com/boycitychanFC