ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 7 - 13 กุมภาพันธ์ 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | ผี-พราหมณ์-พุทธ |
ผู้เขียน | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง |
เผยแพร่ |
ปีนี้ผมไหว้ตรุษจีนอยู่เงียบๆ ที่เงียบหมายความว่าไม่ได้เขียนเล่าเรื่องราวประเพณีอะไรในสื่อเพราะได้เคยเขียนลงไว้ในปีที่แล้ว ยังได้เห็นกองบรรณาธิการยกบางบทความเอามาปัดฝุ่นใหม่ให้คนอ่านกัน
กระนั้น ถึงจะเป็นบทความเดิมก็หวังใจว่ายังมีผู้อ่านอีกมากที่ยังไม่เห็น ใครย้อนอ่านก็น่าจะได้ประโยชน์ครับ อีกด้วยผมยังไม่ได้รวบรวมความรู้ใหม่ๆ ปีนี้จึงคิดว่าจะไม่เขียนอะไรเกี่ยวกับตรุษจีนแล้ว
ทว่า ไม่นานนี้ มีกระแสในโลกโซเชียล อาจารย์สอนธรรมสายดุเดือดท่านหนึ่งออกมาพูดถึงเรื่องการไหว้ตรุษจีนในเชิงวิพากษ์วิจารณ์จนกลายเป็นไวรัล หลายคนเดือดดาล หลายคนชื่นชอบ ผมได้ลองฟังดูก็รู้สึกว่า ตนเองในฐานะทั้งคนไหว้เจ้า ไหว้ผีบรรพชน และถือว่าตัวเป็นชาวพุทธ (ไม่แท้) กับเขาด้วยคนหนึ่ง ก็น่าจะได้ลองแสดงทัศนะบ้าง
แม้ว่าอาจารย์ท่านนั้นจะออกตัวว่าไม่ได้ด้อยค่าประเพณีตรุษจีนหรือใครจะไหว้ก็ไหว้ไป แต่ผมคิดว่าเหตุใดการไหว้เจ้ากับความเป็นชาวพุทธจะไปด้วยกันไม่ได้ หรืออย่างน้อยๆ ก็คิดว่าเมื่อเราจะวิจารณ์ประเพณีหรือความเชื่อใด หากเรามีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งต่อเรื่องนั้นก่อน การวิจารณ์ของเราก็น่าจะมีคุณภาพดีกว่าที่เป็นอยู่มิใช่หรือ
ก่อนจะไปทำความเข้าใจเรื่องนี้ ผมอยากลองตอบประเด็นที่ท่านวิจารณ์สักนิด แล้วจะชวนไปเข้าใจว่าเหตุใดหลายคนจึงไหว้เจ้าหรือบรรพชน สิ่งนี้มีคุณค่าอย่างไร
ประการแรก ที่ท่านบอกว่า บางคนไหว้เจ้าทั้งที่ตัวดำ ดูแล้วไม่น่าใช่คนจีน รวมทั้งคนจีนสมัยใหม่ที่เป็นเพื่อนกับอาจารย์เองนั้นก็เลิกไหว้เจ้าไปแล้ว เรื่องรูปร่างหน้าตาจะเอามาตัดสินว่าใครมีเชื้อจีนหรือไม่นั้นยาก เพราะที่มาของบรรพชนของแต่ละคนล้วนร้อยพ่อพันแม่ บางคนก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวมีเชื้อจีน จึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรเอามาเป็นประเด็น
ส่วนที่คนจีนสมัยใหม่ไม่ได้ไหว้เจ้ากันแล้ว โดยมากก็ถูกหล่อหลอมจากแนวคิดและอิทธิพลคอมมิวนิสต์ในจีน มิใช่จากพุทธศาสนา จึงไม่น่าแปลกใจ และเอาเข้าจริงก็ยังมีคนจีนอีกมากในเมืองจีนที่ยังไหว้เจ้าอยู่
ส่วนการที่ท่านบอกว่า คนไหว้เจ้าโดยมากก็หวังขอพร หวังรวย หวังมีโชคทั้งนั้น อย่ามาตอบว่าเพื่อระลึกถึงบรรพบุรุษ เพราะถึงไม่ต้องไหว้ก็ระลึกถึงได้ ผมคิดไปในสองทางครับ คือถ้าเขาหวังรวย หวังมีโชคโดยการไหว้ขอพรอย่างเดียวแล้วไม่ทำมาหากิน อันนี้ใครๆ ก็เห็นว่าเป็นเรื่องไร้สาระ ไม่ใช่แค่อาจารย์คนเดียวดอก คนจีนเขาก็คิด
ทว่า ชาวจีนนั้นมีธรรมเนียมปฏิบัติในทางวัฒนธรรมอยู่ประการหนึ่ง คือการกล่าวคำสวัสดิมงคลหรือคำขอพรในโอกาสต่างๆ ที่ต้องกล่าวด้วยเหตุว่าเป็นการแสดงถึงวาระพิเศษอันเป็นมงคล มิใช่คนที่เขากล่าวนั้นเขาจะต้องเอาเป็นเอาตายว่าจะต้องได้พรนั้นจริงๆ
อีกประการที่สำคัญมากๆ การขอพรคือสิ่งเชื่อมโยง “ความสัมพันธ์” ระหว่างบรรพชนหรือผู้อาวุโสกับลูกหลาน ที่จริงมนุษย์เราสัมพันธ์กันด้วยอะไรหลายอย่าง ด้านหนึ่งคือจิตใจและอารมณ์ความรู้สึกที่ยากจะอธิบายด้วยคำพูด มนุษย์แต่โบราณจึงคิด “ขนบจารีต” มาเป็นสิ่งที่จะแสดงตัวความรู้สึกในจิตใจออกมาให้เหมาะสม ด้วยเหตุนี้เวลาเราชอบใครเราจึงไม่เอาไม้ไปตีหัวเขาแล้วลากเข้าถ้ำตามสัญชาตญาณ แต่เราพึงหยิบดอกไม้ให้แล้วกล่าวมธุรสวาจาอันเป็นขนบที่ดีกับเขาแทน
การเซ่นไหว้บรรพชนแล้วกล่าวคำขอพรจึงเป็น “ขนบจารีต” ที่สะท้อนความสัมพันธ์นั้น เราตระเตรียมของเซ่นไหว้อย่างดีเพื่อแสดงความรู้สึกที่เคารพรักเรามีต่อบรรพชน หากท่านยังมีชีวิตอยู่เราย่อมได้รับคำพรจากท่านกลับมาโดยมิต้องร้องขอ แต่เมื่อท่านสิ้นชีพไปแล้วท่านจะให้พรเองก็ไม่ได้
การขอพรของเราในแง่หนึ่งช่วยแสดงให้เห็นความปรารถนาว่าบรรพชนเองก็น่าจะอยากให้พรหรือแสดงแสดงความรักตอบกลับมาผ่านการขอของเราเช่นเดียวกัน
แม้แต่พุทธศาสนาก็มีขนบธรรมเนียมเช่นนี้ เมื่อพระออกเดินขออาหารหรือบิณฑบาตจากญาติโยม เมื่อได้รับอาหารมาแล้ว ก่อนจะขบฉันท่านก็ให้พรญาติโยมอย่างยืดยาว แถมยังประพันธ์ด้วยความไพเราะเพราะพริ้ง ก็บท “ยถาสัพพีฯ” นั่นไง ครับ “ขอความจัญไรทั้งปวงจำบำราบ ขอโรคทั้งปวงของท่านจงหาย ฯลฯ” หากการขอและให้ “พร” เป็นเรื่องไร้สาระ เหตุใดพุทธศาสนาทุกๆ นิกายจึงยังคงรักษาธรรมเนียมเช่นนี้อยู่ ผมจึงอยากให้ลองมองว่า เรื่องให้และขอ “พร” อันที่จริง คือเรื่องของการแสดงความปรารถนาดีต่อกันและกันมากกว่า
นอกจากนี้ แนวคิดแบบขงจื่อซึ่งผูกพันฝังแน่นในคนจีนนั้นให้ความสำคัญกับขนบจารีตเป็นอย่างมาก เพราะมองว่า ขนบจารีตนี่แหละที่ทำให้เราเป็นมนุษย์ เป็นมนุษย์ในความสัมพันธ์กับผู้อื่น และเป้าหมายสูงสุดของแนวคิดขงจื่อคือการมีสังคมที่ดีงาม มีทั้งมนุษยธรรมและขนบจารีต ซึ่งอาจมีจุดเน้นต่างกับพุทธศาสนาตรงที่ขงจื่อนั้นไม่เห็นด้วยกับการออกไปหลีกลี้สังคม (เช่น ไปบวชหรือไปปลีกวิเวกปฏิบัติธรรม) ในเมื่อมีเป้าหมายต่างกันตั้งแต่ต้น จึงไม่แปลกที่จะมีแนวปฏิบัติต่างกัน
การเซ่นไหว้บรรพชนหรือเทพเจ้า (ซึ่งก็ปนๆ อยู่กับบรรพชน) จึงเป็นหัวใจของการฝึกฝนเรียนรู้ขนบจารีตและมนุษยธรรม คนจีนนั้นพูดน้อยกว่าทำ หมายความว่า บางครั้งมิได้อธิบายในเชิงหลักการเหตุผล แต่ให้เรียนรู้ผ่านการกระทำเลย
ดังนั้น เรื่องความกตัญญูรู้คุณ ความนบนอบ ความมีระเบียบ การเอาใจใส่ ความละเอียดอ่อน ฯลฯ หรือบรรดาคุณธรรมทั้งหลาย จึงถูกฝึกฝนขัดเกลาผ่านพิธีกรรมและจารีตเหล่านี้เอง
พูดอีกอย่างว่า การเซ่นไหว้นอกจากจะเป็นขนบจารีตแล้ว ยังเป็นการฝึกฝนตนเองในทางคุณธรรมด้วย
นี่เพราะผมเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยและเป็นคนสมัยใหม่ จึงอธิบายเรื่องนี้ได้ยืดยาวเป็นฉากๆ แต่หากไปถามอาอี๊อาม่าถึงเหตุผลของการไหว้ ท่านก็อาจมิสามารถอธิบายขยายความอย่างผมหรือพูดจาแบบที่คนสมัยใหม่ชอบ อาจบอกแค่ไหว้ ก็ไหว้แล้วโชคดีมีความสุข หรือก็ทำๆ กันมาแบบนี้
แต่ก็มิได้หมายความว่าท่านโง่ หรือจะมีคุณธรรมด้อยกว่าหรือถูกฝึกฝนมาน้อยกว่าพวกเราแต่ประการใด เผลอๆ จะมากกว่าด้วยซ้ำ
บางท่านอาจย้อนถามกลับมาว่า ที่ผมพูดคงเป็นเพียงพิธีเซ่นไหว้ในอุดมคติ จะมีสักกี่คนกี่บ้านที่ยังคงไหว้ด้วยความคิดแบบนี้อยู่ ผมคิดว่ามันแฝงฝังอยู่โดยที่อาจไม่รู้ตัว แต่เมื่อทำไปด้วยจิตใจที่ละเอียดอ่อน มันก็ค่อยๆ มีผล อย่างผมเอง ถ้าถามจริงๆ ว่า ทำไมถึงเซ่นไหว้ คำตอบง่ายๆ คือผมรักแม่ของผม และแม้ท่านจะจากโลกนี้ไปแล้ว ผมก็ยังผูกพันและอยากสานสัมพันธ์กันต่อ และหนึ่งในวิธีที่บรรพชนคิดไว้ให้แล้วก็คือการเซ่นไหว้นี่เอง แต่ใครจะมีวิธีอื่นๆ ผมก็ไม่ขัดหรือเห็นแย้งนะครับ
คำถามที่สำคัญถัดมาคือ ถ้าเราเป็นพุทธ เราจำเป็นต้องใช้คำอย่างอาจารย์ท่านนั้นกล่าวไว้ว่า ต้องลาออกจากพุทธศาสนาก่อนเพราะสนับสนุนให้ฆ่าสัตว์มาเซ่นไหว้หรือไม่ ผมคิดว่าเราคงไม่จำเป็นต้องลาออกจากพุทธศาสนาหรอกครับ
พุทธศาสนามีแนวคิดเรื่องนี้อยู่สองแบบ แบบแรก พุทธศาสนาโดยเฉพาะฝ่ายเถรวาทมองว่า เราอาจมิได้เป็นเหตุโดยตรงของการได้มาซึ่งเนื้อสัตว์ที่เรากินหรือการฆ่า จึงมีบัญญัติว่าพระภิกษุสามารถรับอาหารเนื้อสัตว์ที่ไม่ได้เห็นเขาฆ่า ได้ยินเขาฆ่า หรือเจาะจงฆ่าเพื่อเราได้ ถ้าใช้เหตุผลแบบเดียวกันนี้ การที่เราไปซื้อเนื้อสัตว์มาเซ่นไหว้และสุดท้ายก็กินกันนั้นก็น่าจะเข้าเกณฑ์ เช่นเดียวกับที่เราทำกับข้าวกินหรือใส่บาตรนั่นแหละครับ
ส่วนฝ่ายมหายานมองว่า จะอย่างไรเสียเราก็เป็นที่มาไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อมของการฆ่าสัตว์นั้น ท่านจึงสอนให้กินเจเสีย แต่ในจีนพระท่านก็มิได้ด่าสาดเสียเทเสียชาวบ้านที่ไหว้บรรพชน แต่มักแนะนำให้ชาวบ้านปรับเปลี่ยนมาเซ่นไหว้ด้วยอาหารเจหรือลดเนื้อสัตว์ลง
สุดท้าย ประเด็นอีกอย่างที่อาจารย์ท่านนั้นมักจะพูดคือ ท่านบอกว่าตัวท่านนั้นพูด “สัจธรรมความจริง” ใครก็เถียงไม่ขึ้น ใครจะชอบไม่ชอบก็ไม่เกี่ยว ในทางปรัชญา สิ่งนี้เรียกว่าการอ้างความจริงสูงสุด (Truth claim) ซึ่งมักก่อให้เกิดความขัดแย้งในทางศาสนาอยู่บ่อยๆ เพราะใครก็ล้วนอ้างว่าตนถือความจริงสูงสุดทั้งนั้น พุทธก็มีของตัวเอง อิสลาม คริสต์ ฮินดู หยู ฯลฯ ต่างก็มีความจริงสูงสุดที่แตกต่างกัน แล้วใครกันแน่ที่ถูกต้องที่สุด?
จริงๆ จะเชื่อแบบนี้ในใจ ในกลุ่มก้อนศาสนิกพวกตนนั้นไม่แปลก แต่เมื่อป่าวประกาศออกมาอย่างแข็งกร้าวรุนแรง ผมคิดว่าท่าทีเช่นนี้อาจมีปัญหาได้ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เราพยายามสร้างการยอมรับความแตกต่างหลากหลาย
ที่กล่าวมานั้นผมเป็นห่วง ไม่อยากให้ชาวพุทธบางส่วนทำให้พุทธศาสนาซึ่งเคยโอบรับ เปิดกว้าง ยอมรับความไม่สมบูรณ์แบบของผู้คนแล้วปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมที่หลากหลายกลายเป็นสิ่งรุนแรง แข็งกร้าว ไล่ตัดสินผู้คนที่เห็นต่าง เราอาจแสดงถึงความเมตตาด้วยบุคลิกลักษณะที่หลากหลายได้ แต่เราจะเมตตาได้อย่างไรจากทัศนคติที่คับแคบเช่นนั้น
ไฉนเราถึงไม่อาจเพ่งมองคนไหว้เจ้าไหว้บรรพชนด้วยความละเอียดอ่อนและเมตตา และด้วยความเข้าใจที่ลึกซึ้งจากการศึกษาก่อนที่จะวิพากษ์วิจารณ์ มองให้เห็นว่า ในทางหนึ่งแม้คนเหล่านี้ก็อาจมีบ้างที่หวังโภชผลจากการไหว้ แต่ส่วนมากแล้วก็ล้วนทำไปด้วยความเคารพรัก และเมื่อเป็นเช่นนั้น ทำไมถึงจะไม่สอดคล้องกับคำสอนของพุทธศาสนา ผมคิดว่าถึงมีบางสิ่งที่ขัดแย้ง แต่ก็ไม่ได้รุนแรงถึงขั้นเข้ากันไม่ได้ จึงควรแนะนำอย่างกัลยาณมิตร
พระพุทธะนั้นมีมหากรุณาธิคุณและยังเปี่ยมไปด้วยอุปายะวิธี เมื่อจะสอนสั่งสรรพสัตว์ ก็มองเห็นธรรมชาติที่แตกต่างกันแล้วเลือกใช้วิธีการที่หลากหลาย
ครูบาอาจารย์ที่สอนธรรมก็ควรเลียนแบบพุทธจริยา มิใช่จะใช้เพียงวิธีการเดียวแบบหว่านแห เช่น ต้องพูดจารุนแรงราวกับเป็นสิ่งที่เปลี่ยนไม่ได้เท่านั้น แต่ควรเลือกเอาวิธีที่หลากหลายตามสภาพการณ์ที่เหมาะสมจึงจะเกิดประโยชน์
ขอฝากทิ้งท้ายไว้เช่นนี้ครับ •
ผี พราหมณ์ พุทธ | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022