ทรัมป์ 2.0 เปิดฉาก ‘สงครามการค้า’ โลกป่วน-หุ้นทั่วโลกระเนระนาด เศรษฐกิจไทยสั่นสะเทือน

บทความพิเศษ | ศัลยา ประชาชาติ

 

ทรัมป์ 2.0 เปิดฉาก ‘สงครามการค้า’

โลกป่วน-หุ้นทั่วโลกระเนระนาด

เศรษฐกิจไทยสั่นสะเทือน

 

ณ นาทีนี้ต้องถือว่า “สงครามการค้า” ทรัมป์ 2.0 เริ่มต้นขึ้นแล้ว

ข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนคือ เมื่อวันจันทร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ 2568 ตลาดหุ้นทั่วโลกปั่นป่วน ขณะที่ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวลงยกแผงรวมทั้งตลาดหุ้นไทยที่เปิดมาดิ่งทันทีกว่า 40 จุด

หลังจากที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา “โดนัลด์ ทรัมป์” ลงนามคำสั่งขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากเม็กซิโกและแคนาดาในอัตรา 25% ส่วนภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเพิ่มในอัตรา 10% มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการวันที่ 4 กุมภาพันธ์

ขณะที่รัฐบาลแคนาดาตอบโต้ด้วยการประกาศจะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ ที่อัตรา 25% รวมมูลค่าประมาณ 155,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่เม็กซิโกเตรียมเก็บภาษีในอัตรา 5% ถึง 20% สำหรับสินค้าหลายรายการจากสหรัฐ ด้านรัฐบาลจีนประกาศเตรียมยื่นฟ้องต่อองค์การการค้าโลก (WTO) เกี่ยวกับมาตรการขึ้นภาษีของทรัมป์ในครั้งนี้

 

อย่างไรก็ดี ไม่กี่ชั่วโมงก่อนเข้าสู่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐ ได้ประกาศ “ระงับ” การขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากแคนาดาและเม็กซิโก (25%) เป็นการชั่วคราว โดยเลื่อนการบังคับใช้ออกไป 30 วัน หลังมีการต่อสายกับผู้นำแคนาดาและเม็กซิโก

ซึ่งสามารถต่อรองจนสองประเทศยอมเพิ่มมาตรการความปลอดภัยชายแดน และยับยั้งการหลั่งไหลของผู้อพยพและยาผิดกฎหมายที่จะเข้ามายังสหรัฐ

แต่ยังคงมาตรการเก็บภาษีนำเข้าอัตรา 10% จากจีนต่อไป

โดยทรัมป์โพสต์บนโซเชียลว่า ในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐ นับเป็นความรับผิดชอบของตนที่จะรับประกันความปลอดภัยของชาวอเมริกันทั้งหมด และตนกำลังทำอยู่ และหลังพูดคุยทางโทรศัพท์กับผู้นำแคนาดาและเม็กซิโก ทรัมป์กล่าวว่าเขาจะพยายามเจรจาข้อตกลงทางเศรษฐกิจในช่วงเดือนหน้ากับสองประเทศ หุ้นส่วนการค้ารายใหญ่ที่สุดของสหรัฐ

แนวรบด้านแคนาดาและเม็กซิโกคลี่คลายลงระดับหนึ่ง แต่การเผชิญหน้ากับคู่ต่อกรสำคัญอย่างจีน เริ่มต้นขึ้นแล้ว

 

ขณะที่ “จีน” ซึ่งกลายเป็นประเทศเดียวที่ถูกทรัมป์เรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนในอัตรา 10% (มีผลเวลา 00:01 น. ของวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568)

ดังนั้น ไม่กี่นาทีหลังจากคำสั่งทรัมป์มีผล กระทรวงการคลังของจีนก็ตอบโต้ด้วยการประกาศว่า จัดเก็บภาษีสหรัฐในอัตรา 15% สำหรับถ่านหินและก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และอัตรา 10% สำหรับน้ำมันดิบ อุปกรณ์ทางการเกษตร และรถยนต์บางรุ่น

ถือเป็นการเปิดฉาก “สงครามการค้า” รอบใหม่ระหว่างสองชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลก

นอกจากนี้ จีนได้กำหนดมาตรการควบคุมการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวข้องกับ “แร่หายาก” (rare earths) อย่างทังสเตน เทลลูเรียม รูทีเนียม โมลิบดีนัม เพื่อปกป้องผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของชาติ ซึ่งจีนถือเป็นแหล่งผลิตใหญ่แร่หายากที่สำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด

รวมถึงกระทรวงการคลังของจีนระบุว่า ได้เริ่มการสอบสวนบริษัท อัลฟาเบท ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกูเกิล ต่อกรณีการละเมิดกฎหมายผูกขาด และยังได้ขึ้นบัญชีบริษัท พีวีเอช คอร์เปอเรชั่น (PVH Corp) ซึ่งเป็นโฮลดิ้งของแบรนด์ต่างๆ ของสหรัฐ อาทิ คาลวิน ไคลน์ (Calvin Klein) และอิลลูมินา (Illumina) ไว้ในรายชื่อบริษัทที่ไม่น่าเชื่อถือด้วย

เรียกว่าจีนตอบโต้สหรัฐอเมริกาแบบชุดมาตรการ ทั้งขึ้นภาษี-คุมส่งออกแร่หายาก และสอบสวนการผูกขาดของกูเกิล

 

“คาโรลีน ลีวิตต์” โฆษกทำเนียบขาว เปิดเผยว่า นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ จะมีการหารือกับนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนภายในสัปดาห์นี้ ซึ่งจะเป็นโอกาสในการแลกเปลี่ยนทางการทูตระหว่างผู้นำของสองประเทศ เพื่อหาแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดสงครามทางการค้าขึ้น

ส่งผลให้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยยืนอยู่บนความไม่แน่นอน

เช่นที่ ดร.สันติธาร เสถียรไทย กรรมการในคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวว่า โจทย์ใหญ่ของเศรษฐกิจในปี 2568 คือ “สหรัฐ” ที่ได้นายโดนัลด์ ทรัมป์ กลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง ทำให้เป็นจุดที่เพิ่มความเสี่ยงด้าน “ขาลง” ให้กับเศรษฐกิจโลก

เพราะทรัมป์เป็น Deal Maker ไม่ใช่ Policy Maker ดังนั้น การทำนโยบายของทรัมป์คือจะประกาศไปก่อนเพื่อเจรจา ทำให้ปีแรกในการเข้าดำรงตำแหน่งของทรัมป์ จะเป็นปีแห่งข่าวร้าย เพราะคนที่เป็น Deal Maker จะทุบโต๊ะเพื่อขอราคาที่มากที่สุด

แม้ว่าขณะนี้ประเทศไทยยังไม่ใช่เป้าหมายหลักของสหรัฐอเมริกา แต่ก็โดนหางเลขสั่นสะเทือนตลาดเงินตลาดทุน และความไม่แน่นอนก็ยังทำให้ภาคธุรกิจชะลอการตัดสินใจและการลงทุนใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ทำให้ส่งผลต่อสถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่ยังอยู่ในภาวะอ่อนแออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

ฝ่ายวิจัย KKP Research ของกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ระบุถึงกรณีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยว่า แม้ไทยจะเป็นประเทศเล็กในสายตาของสหรัฐ และดูผิวเผินไม่ใช่เป้าที่จะถูกขึ้นภาษี

แต่ก็มีประเด็นสำคัญ ที่อาจทำให้ไทยเสี่ยงเข้าข่ายตกเป็นประเทศ “เป้าหมายรอง” ของสหรัฐ

ประเด็นแรกคือ การเกินดุลการค้ากับสหรัฐของอาเซียน และไทยมีการเกินดุลการค้ากับสหรัฐ อยู่ที่ 4.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วงปี 2567 ไทยเกินดุลมากที่สุด คิดเป็นอันดับที่ 11 จากประเทศที่เกินดุลกับสหรัฐทั้งหมด

โดยสินค้าของไทยที่มีการเกินดุลในระดับสูง เช่น สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องคอมพิวเตอร์ ฮาร์ดดิสก์ ยางรถยนต์ เป็นต้น

สินค้าเหล่านี้อาจถูกยกขึ้นมาเป็นเป้าหมายของภาษีนำเข้าและเป็นเป้าหมายในการเจรจา หากสหรัฐต้องการที่จะเล่นงานการเกินดุลการค้าของไทย

และอีกประเด็นสำคัญคือ กรณี “สินค้าจีน” ที่ส่งผ่านไทยไปยังตลาดสหรัฐ เพื่อหลบเลี่ยงภาษีนำเข้า ซึ่งนับตั้งแต่สงครามการค้าในยุคทรัมป์ 1.0 ไทยได้ดุลการค้าสหรัฐเพิ่มขึ้น ขณะที่ขาดดุลจีนเพิ่มขึ้น

ทำให้สหรัฐอาจตั้งข้อสงสัยว่า กิจกรรมการค้าบางส่วนที่เพิ่มขึ้นของไทย ส่วนหนึ่งคือการหลีกเลี่ยงภาษีของสินค้าจีนที่มาใช้ไทยเป็นฐานส่งออกแทนไปยังตลาดสหรัฐ และนั่นอาจทำให้กระบวนการทางการค้าในอนาคตมีความยุ่งยากและต้นทุนมากขึ้นจากกำแพงภาษี

ทำให้ความสามารถการแข่งขันของธุรกิจไทยลดลง และซ้ำเติมปัญหาความเปราะบางของเศรษฐกิจไทย

นี่คือความเสี่ยงและความจริงที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ