ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 7 - 13 กุมภาพันธ์ 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว |
ผู้เขียน | มุกดา สุวรรณชาติ |
เผยแพร่ |
หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว | มุกดา สุวรรณชาติ
หลังศึก อบจ.
เลือก ส.ส.ปี 2570
ใครได้เปรียบ
ศึกเลือกตั้งปี 2570 เริ่มแล้ว
เมื่อกำลังคู่ต่อสู้ปรากฏชัด
ผลของการเลือกตั้ง อบจ.ได้ชี้ทิศทางการเมืองในอนาคต ทีมวิเคราะห์การเมือง ยังคงคาดการณ์ว่า การเลือกตั้ง ส.ส.จะเกิดขึ้นประมาณปี 2570 เพราะเป้าหมายของรัฐบาลชุดนี้คือการอยู่จนครบวาระหรือเกือบครบวาระ และพรรคร่วมรัฐบาลคงจะลากพากันไปได้อีก 2 ปี ถ้าไม่มีเหตุการณ์ที่หนักหนาสาหัสจริงๆ คงไม่มีใครอยากให้ยุบสภาผู้แทนราษฎร เพราะโดยคะแนนเสียงของแต่ละฝ่ายล้วนแล้วแต่ไม่มีใครพรรคไหนที่สามารถคุมชัยชนะได้อย่างเด็ดขาด และการเลือกตั้งแต่ละครั้งเหนื่อยมาก ใช้ทรัพยากรเยอะมาก
การเลือกตั้งเร็วไม่มีใครเป็นฝ่ายได้เปรียบ ทุกพรรคไม่มีใครมีผลงานเด่น การวิเคราะห์จึงจับตามองไปที่ 3 พรรคใหญ่ คือพรรคเพื่อไทย พรรคประชาชน และพรรคภูมิใจไทย ส่วนพรรคอื่นๆ ที่เหลือ ก็เป็นองค์ประกอบของการแข่งขันแต่จะมีความจำเป็นในการตั้งรัฐบาลผสม
ผลการเลือกตั้ง อบจ.ครั้งนี้ยืนยันว่าทิศทางการเมืองจะเป็นคล้ายหลังการเลือกตั้งใหญ่ 2566 คือไม่มีพรรคใดได้คะแนนมากมายจนมาตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ ดังนั้น ทุกพรรคการเมืองจึงรู้ว่ารัฐบาลผสมจะต้องเกิดขึ้น และจะอยู่ในรูปแบบรัฐบาลปัจจุบัน โดยจะมีพรรคร่วมรัฐบาลไม่น้อยกว่า 4-5 พรรค การมี ส.ส.มากหรือน้อยก็จะมีผลในการต่อรองตำแหน่งทางการเมือง
บทเรียนการถูกหลอกคราวที่แล้วก็คือการเลือกตั้ง ส.ว. มีพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลประกาศว่าปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ เมื่อพรรคอื่นไม่ทันระวังตัว ถึงเวลาเลือกสายสีน้ำเงินกินเรียบ พอยึดวุฒิสภาได้ อำนาจต่อรองก็สูงขึ้นอย่างมากมาย คราวนี้ไม่มีใครรอถึงสองปี
ยังคงเป็นศึกสามก๊ก 4 กลุ่ม
การประเมินทิศทางการเมือง และกำลังของกลุ่มการเมืองยังคงเหมือนเดิมเมื่อก่อนมีการเลือกตั้ง อบจ. คือ 3 ก๊ก
ก๊กที่ 1 ยังคงเป็นพรรคเพื่อไทย ซึ่งปัจจุบันเป็นแกนนำของรัฐบาลและมีอำนาจมากที่สุด
ก๊กที่ 2 ก็คือพรรคประชาชน การถูกยุบพรรคและเปลี่ยนชื่อจากก้าวไกลดูแล้วยังไม่มีผลบั่นทอนในเชิงอุดมการณ์หรือความตั้งใจของพรรคนี้
ก๊กที่ 3 คือพรรคภูมิใจไทยซึ่งปัจจุบันมี ส.ว.เป็นแนวร่วมเกินครึ่งของวุฒิสภา
ส่วนกำลังกลุ่มที่ 4 ไม่เรียกว่าก๊กเพราะประกอบด้วยพรรคขนาดเล็กหลายพรรค ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งหน้าก็ยังมีหวังร่วมรัฐบาลผสม
ตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 การเลือกตั้งครั้งหน้า ส.ว.ไม่มีบทบาทในการเลือกนายกรัฐมนตรีอีกแล้ว ดังนั้น ส.ส. 500 คนจึงเป็นตัวชี้ขาด ถ้าดูโดยกระแสการเมือง ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 100 คน พรรคประชาชนมีโอกาสได้ไปมากที่สุด แต่พรรคการเมืองอื่นๆ ก็ได้แบ่งไปเช่นเดียวกัน
แต่กำลังสำคัญยังอยู่ที่ ส.ส.เขต 400 คน ดังนั้น การวางยุทธศาสตร์ว่าจะเลือกต่อสู้ที่ไหนบ้าง แกนนำพรรคจะต้องกำหนดให้ดี สถานการณ์แบบนี้ไม่มีใครลงทุนลงแรงสู้ทุกเขต และต้องรู้กำลังคู่ต่อสู้ในแต่ละเขต
การวางยุทธศาสตร์ขณะนี้อาจวางได้ถึง 70% อีก 30% ต้องเผื่อไว้ช่วงใกล้เลือกตั้งเพราะอาจจะมีการโยกย้ายสับเปลี่ยน ในการเมืองมีความขัดแย้งเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
เป้าหมายพรรคเพื่อไทย…
ตัวเลขไม่สำคัญ เท่ากับต้องชนะที่ 1
เนื่องจากเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลและยังต้องการเป็นนายกฯ ต่อไป เป้าหมายการเลือกตั้ง 2570 จึงควรจะได้ ส.ส.มากที่สุด มองการเลือกตั้งปี 2566 เพื่อไทยได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ 10.9 ล้านคะแนน แพ้พรรคก้าวไกลไปประมาณ 3.5 ล้านคะแนน มองจากศึก อบจ.ครั้งนี้ก็รู้ว่าในการศึกครั้งหน้า ตัวที่ตัดกำลังภาคพื้นดินของพรรคเพื่อไทยคือพรรคภูมิใจไทยนั่นเอง
ขณะเดียวกันสงครามทางอากาศพรรคประชาชนก็ปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง การจะประกาศชูอุดมการณ์ประชาธิปไตยของพรรคเพื่อไทยทำไม่ได้ เท่ากับพรรคประชาชนที่ส่งเสียงตะโกนออกมาได้ค่อนข้างดัง แม้จะไม่เต็มที่เหมือนเมื่อก่อน
พรรคเพื่อไทยมีจุดอ่อนเมื่อตั้งรัฐบาลข้ามขั้วและการบริหารงานก็ยังต้องเกรงใจอำนาจรัฐซ้อน การหาเสียงของพรรคเพื่อไทยต่อไปนี้ จึงไม่สามารถใช้คำพูดเฉยๆ ได้ แต่จะต้องมีผลงานจริงออกมาพิสูจน์ ซึ่งในยุคนี้ไม่ใช่ทำกันง่ายๆ
ดูจากการเลือกตั้ง อบจ.ครั้งนี้ คะแนนเบียดกันมาก แพ้-ชนะกันประมาณ 5% หลายเขต การจะได้ ส.ส.เกิน 200 คนในการเลือกตั้งใหญ่ครั้งหน้าไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้น เป้าหมายที่เป็นจริงของพรรคเพื่อไทย คือการเอาชนะพรรคประชาชนให้ได้ จะได้ ส.ส.มากกว่า 5-10 คนก็ยังพอจะได้ชื่อว่าเป็นพรรคที่ได้ ส.ส.มากที่สุด
ส่วนเป้าหมายที่รองลงมาก็คือต้องชนะพรรคภูมิใจไทยให้ได้มากพอสมควร อย่างน้อยต้องเกินกว่า 50 คน เพื่อไม่ให้ภูมิใจไทยขึ้นมาเทียบชั้นเตรียมแข่งขันการเป็นนายกรัฐมนตรี และถ้าดูจากการพ่ายแพ้ อบจ. ก็รู้ว่าภูมิใจไทยจะรุกมายึดอีกหลายพื้นที่
เป้าหมายพรรคประชาชน
ต้องได้ ส.ส.มากกว่าเดิม
ถ้าน้อยกว่าจะเสียหาย
ถ้าวิเคราะห์จากผลคะแนนจะพบว่าความนิยมของพรรคประชาชนก็ยังคงใช้ได้ ถือว่าทรงๆ เพียงแต่คะแนนที่ได้รับยังไม่มากพอ จนถึงระดับที่จะได้รับชัยชนะ ต่อให้แพ้แค่ 2-3% ก็คือแพ้ไม่ได้รับตำแหน่งอะไรทั้งสิ้น
ลองย้อนดูคะแนน Party List ของพรรค ทั้งประเทศสมัยที่เป็นพรรคก้าวไกล ได้คะแนน 14.4 ล้านคะแนน ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์มากที่สุด แต่ความนิยมที่แบ่งออกมาเป็นจังหวัดหรือเป็นเขตเลือกตั้งแล้วไม่แน่ว่าจะชนะคู่แข่ง ดังนั้น การแข่งขัน อบจ.ที่เพิ่งผ่านไปจึงได้รับชัยชนะแค่ลำพูนจังหวัดเดียว ยิ่งถ้าแบ่งเป็นเขตเลือกตั้ง 400 เขต ก็จะต้องแข่งขันตามสภาพความเป็นจริงของแต่ละพื้นที่
ในการเลือกตั้งครั้งหน้าคู่แข่งจะเตรียมตั้งรับอย่างแข็งแรง ถ้าพรรคร่วมรัฐบาลสับหลีกกันมากขึ้น โอกาสที่จะได้รับชัยชนะก็จะยากขึ้น
คาดว่าแกนนำพรรคประชาชนน่าจะใช้แนวทางการต่อสู้แบบเดิมชูอุดมการณ์ประชาธิปไตย เน้นเรื่องความซื่อสัตย์ แนวทางการทำงานแบบใหม่ เพราะนั่นคือสิ่งที่ทำให้เขาได้คะแนนมาตลอด ถ้าเปลี่ยนไปจากนี้ลำบากแน่ ส่วนจะชนะได้มากี่เสียงนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งเพราะพรรคประชาชนไม่มีความจำเป็นจะต้องไปนับจำนวน ส.ส.เพื่อเป็นอัตราส่วนกับจำนวนรัฐมนตรี เพราะคงไม่ได้เป็นพรรคร่วมรัฐบาล ถ้าจะได้เป็นรัฐบาลก็ต้องชนะให้ได้ถึง 260 คน
เป้าหมายที่แท้จริงก็คือให้ได้ ส.ส.มากที่สุด จะได้ถึง 200 คนหรือไม่ก็ไม่เป็นไร แต่จุดที่อันตรายของพรรคประชาชนก็คือ จะได้ ส.ส.น้อยกว่าเดิมไม่ได้ ทางการเมืองคนจะมองว่าเริ่มเสื่อมถอยแล้ว การได้ ส.ส. 170-250 คน กองเชียร์ยังยอมรับได้ แต่ถ้าได้ต่ำกว่า 150 คนคือเสียหายทางการเมือง
ภูมิใจไทย เป้าหมายคือ 100 ส.ส.
ส่วนพรรคภูมิใจไทย ทีมเสนาธิการได้วางแผนมาตลอดและเดินเป็นขั้นตอน เนื่องจากรู้ตัวดีว่าต้นทุนทางชื่อเสียงของพรรคตัวเองไม่ได้ดีเด่นอะไร จึงวางแผนรุกตั้งแต่การเลือก ส.ว.
ดูคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ทั้งประเทศเมื่อปี 2566 ก็ได้แค่ 1.13 ล้านคะแนนเท่านั้น ดังนั้น การโฆษณาชื่อเสียงอุดมการณ์ซึ่งเป็นสงครามทางอากาศจึงไม่เน้น แต่บุกภาคพื้นดินอย่างเดียว
การเลือก อบจ.ครั้งนี้ก็เช่นกัน ไม่ได้ประกาศว่าส่งใครลงสมัครเลยแม้แต่จังหวัดเดียว แต่นายก อบจ.สายสีน้ำเงินก็โผล่ขึ้นมาเป็นตับ การวางตัวต่อรองเพื่อรับตำแหน่งรัฐมนตรีมหาดไทยของพรรคภูมิใจไทย ตอนร่วมรัฐบาลถือว่าทำได้มากจนเกินคุ้ม
เป้าหมายของพรรคภูมิใจไทยในการเลือกตั้งครั้งหน้าไม่จำเป็นจะต้องได้ที่ 1 ต่อให้ได้ที่ 2 หรือที่ 3 ก็สามารถเก็บประโยชน์ทางการเมืองและผลประโยชน์อื่นจนเกินคุ้ม แต่ความคาดหวังก็คือตัวเลข ส.ส. 100 คน นั่นหมายถึงว่าพรรคภูมิใจไทยอาจจะต้องชนะ ส.ส.เขตถึง 90 เขต
สภาพความเป็นจริงจากการขัดแย้งทางการเมือง ภูมิใจไทยมั่นใจว่าเขาจะได้ร่วมรัฐบาลแน่นอน เพราะในศึกสามก๊ก เขาสามารถจะตัดกำลังพรรคเพื่อไทยให้อ่อนลงได้อีก ในขณะเดียวกันก็จะตัดกำลัง พรรคการเมืองขนาดเล็กอื่นๆ โดยดึง ส.ส.เอามาเป็นคนของภูมิใจไทย เมื่อเป็นแบบนี้เกมการต่อรองในการจัดตั้งรัฐบาลภูมิใจไทยก็จะมีน้ำหนักมากที่สุด
ที่ภูมิใจไทยกังวลจากวันนี้ไปก็คือพรรคที่จะมาแย่งดึง ส.ส.จากพรรคการเมืองเล็ก คือเพื่อไทย นั่นหมายความว่าภูมิใจไทยจะต้องเพิ่มแรงม้าในการดึงดูด
การกำหนดยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีของพรรคต่างๆ จากนี้จะซับซ้อนกว่าเดิม ระบบหัวคะแนนช่วงสั้นจะกลายเป็นการดูแลต่อเนื่อง และอาจมีการใช้ AI มาช่วยในการหาเสียง
โอกาสหน้าจะมานำเสนอต่อไป
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022