‘อำนาจ’ ที่พึ่งพาไม่ได้

เมนูข้อมูล | นายดาต้า

 

‘อำนาจ’ ที่พึ่งพาไม่ได้

 

เรื่องหนึ่งที่ดูจะค้างใจคนไทยทั้งประเทศ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ คือ “ฝุ่นพิษ-PM 2.5”

แน่นอนไม่ใช่เรื่องใหม่ เกิดขึ้นมาหลายปีแล้ว และเป็นที่รู้กันว่าเมื่อถึงฤดูฝุ่นแต่ละปีจะการพูดถึงสาเหตุของปัญหา และวางมาตรการแก้ไขกันหัวหมุน

ทว่า “ไม่เคยได้ผล” เพราะทุกคนต่างรู้ว่าการจัดการแก้ปัญหานี้ จะรอให้แก้แบบ “ไฟลนก้น” ไม่มีทางเอาอยู่ ด้วยต้นเหตุของปัญหาอย่างที่รู้กันว่ามีความซับซ้อนเกี่ยวข้องกับเหตุปัจจัยที่ควบคุมได้ยากมากมาย

การก่อสร้างในเมืองที่ไม่ควบคุมผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การขนส่งสาธารณะที่ไม่เอื้อให้ผู้คนลดใช้ยานพาหนะส่วนตัวทั้งเพื่อทำมาหากิน และเพื่อเดินทางธรรมดา วิธีการเก็บเกี่ยวพืชผลการเกษตร และการเตรียมดินเพื่อการเพาะปลูกในฤดูกาลใหม่ซึ่งเกี่ยวข้องกับต้นทุนการผลิต และผลประกอบการที่พอกับการยังชีพของเกษตรกร

ที่สำคัญคือ “สำนึกในการทำธุรกิจของทุนใหญ่” ที่ถูกครหามาตลอดว่าสร้างผลกำไร ความร่ำรวยแบบไม่รู้จักพอโดยไม่เคยตระหนักถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับส่วนรวม กับชีวิตผู้คนร่วมสังคม

 

หากหวังผลในการแก้ไขให้สำเร็จทั้งบริหารด้วยความตั้งใจ กล้าพอที่จะใช้ความเด็ดขาด วางมาตรการล่วงหน้าแล้วเอาจริงกับแผนงานอย่างย่อเนื่อง ไม่ใช่สุกเอาเผากินเมื่อเกิดปัญหา

ประหลาดที่วิธีการแบบนี้ ทุกคนรู้ แต่ไม่มีใครทำ ไม่มีคนไหนกล้าทำ ทั้งผู้มีอำนาจระดับประเทศ และระดับท้องถิ่น

ด้วยเหตุนี้เองเมื่อฤดูฝุ่นมาถึง ประชาชนทั้งหลายจึงอัดแน่นด้วยความเจ็บช้ำน้ำใจ เพราะสองหูเต็มไปด้วยเสียงเตือนถึงมหันตภัยจากโรคร้ายที่จะตามมาในระดับคร่าชีวิตได้ตั้งในระยะสั้น ระยะยาว สองตาละห้อยกับภาพขมุกขมัวของบรรยากาศในเสียงถอนหายใจด้วยความหดหู่จากสภาวะที่หวังพึ่งใครไม่ได้เลย แม้กระทั่งตัวเอง

ดังนั้น จึงไม่แปลกเมื่อผลสำรวจล่าสุดของ “นิด้าโพล” ที่ทำเรื่อง “กรุงเทพฯ เมืองในฝุ่น” จะสะท้อนความคิดของประชาชนออกมาในทางสิ้นหวัง

ร้อยละ 74.43 ระบุว่า มีความรุนแรงมาก, ร้อยละ 18.55 ค่อนข้างมีความรุนแรง, ร้อยละ 5.88 เห็นว่าไม่ค่อยมีความรุนแรง และร้อยละ 1.14 ไม่มีความรุนแรงเลย

 

สําหรับความเห็นต่อมาตรการของผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ

การสั่งการหรือขอความร่วมมือให้ปิดสถานศึกษาและทำงานที่บ้าน (Work from Home) ร้อยละ 33.82 ระบุว่า ช่วยแก้ไขปัญหาได้พอสมควร, ร้อยละ 33.21 ช่วยแก้ไขปัญหาได้น้อยมาก, ร้อยละ 24.50 ระบุว่า ไม่ช่วยแก้ไขปัญหาเลย และร้อยละ 8.47 เห็นว่าช่วยแก้ไขปัญหาได้มาก

การให้ประชาชนใช้บริการรถเมล์และรถไฟฟ้า BTS – MRT ฟรี 7 วัน ร้อยละ 34.89 ระบุว่า ช่วยแก้ไขปัญหาได้น้อยมาก, ร้อยละ 33.89 ระบุว่า ไม่ช่วยแก้ไขปัญหาเลย, ร้อยละ 24.50 เห็นว่า ช่วยแก้ไขปัญหาได้พอสมควร และร้อยละ 6.72 ระบุว่า ช่วยแก้ไขปัญหาได้มาก

 

ชัดเจนเมื่อถามถึงประสิทธิภาพในการแก้ไขของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ร้อยละ 41.15 ตอบว่า ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ, ร้อยละ 35.34 ระบุว่า ไม่มีประสิทธิภาพเลย, ร้อยละ 20.38 ระบุว่า ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ และร้อยละ 3.13 ระบุว่า มีประสิทธิภาพมาก

ซึ่งจะว่าไปแล้วผู้รับผิดชอบหน่วยงานของรัฐ หากมีสำนึกต่อหน้าที่อยู่บ้าง ไม่ต้องมีใครถามย่อมรู้ถึงประสิทธิภาพการทำงานตัวเองอยู่แล้ว จากผลการวัดคุณภาพอากาศที่เครื่องมือทันสมัยรายงานให้เห็นทั่วกันทุกวันทุกวี่ ท่ามกลางความระทดท้อของประชาชนกับการใช้ชีวิตภายใต้การทำหน้าที่ตามความผิดชอบของผู้กินเงินเดือนจากภาษีที่ประชาชนจ่ายให้เหล่านี้

นักการเมืองที่เกรงใจนายทุน เอาแต่ช่วยรักษาผลประโยชน์ของนักธุรกิจมากกว่าที่จะใส่ใจต่อสุขภาพประชาชนอย่างจริงจัง ใช้อำนาจจัดการได้แค่ปลายเหตุซึ่งกระทบต่อการทำมาหากินของคนระดับล่างเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ทั้งที่รู้ว่าการจัดการที่ถูกต้องคือมาตรการระยะยาวที่ต้องทำอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง และเด็ดขาดกับทุกฝ่าย

รู้ทั้งรู้กันทั้งนั้น แต่ไม่ทำ