ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 7 - 13 กุมภาพันธ์ 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | On History |
ผู้เขียน | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ |
เผยแพร่ |
เมื่อพูดถึงอะไรที่เรียกว่า “กามเทพ” อันหมายถึง เทพเจ้าผู้ครองไว้ซึ่งความรักแล้ว คนทั่วไปก็มักจะนึกถึง เทพเจ้าเด็กตัวน้อย หน้าตาน่ารักน่าชัง ที่มีปีกอยู่กลางหลัง และถือธนูกับลูกศร ที่ดลบันดาลให้ผู้คนตกอยู่ในสภาวะตกหลุมรักได้ของพวกฝรั่ง ที่รู้จักกันในชื่อของ “คิวปิด” (Cupid, ชื่อนี้เรียกอย่างโรมัน ส่วนชาวกรีกเรียก อีรอส [Eros]) ไปเสียหมด จนใครหลายคนมักจะเข้าใจผิดกันไปว่า เทพเจ้าแห่งความรักนี้มีอยู่เฉพาะในปรัมปราคติของชาวตะวันตกเท่านั้น
แต่อันที่จริงแล้ว ในเทพปกรณ์ของโลกตะวันออกก็มีเทพเจ้าผู้ครองไว้ซึ่งอำนาจของความรักวาสนาของผู้คนบนโลกด้วยเช่นกัน เช่น เทพเย่เหล่า (หรือที่ชาวไทยมักจะเรียกกันว่า “ผู้เฒ่าจันทรา”) ผู้ใช้ด้ายแดงคอยผูกมัดวาสนา ให้เกิดเป็นบุพเพสันนิวาส ของผู้คนต่างๆ เป็นต้น
แต่ที่ผมอยากที่จะพูดถึงในที่นี้มากกว่า คือเทพเจ้าแห่งความรัก ในจักรวาลของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ที่รู้จักกันในชื่อของ “กามเทพ” ที่ทรงไว้ซึ่งคันธนูกับลูกศร เหมือนกันกับเจ้าคิวปิดตัวน้อยของพวกฝรั่ง (อันที่จริงแล้ว คิวปิดก็ไม่ได้มีรูปลักษณ์เป็นเด็กตัวจิ๋วเสมอไป เทพปกรณ์ที่โด่งดังเกี่ยวกับเทพองค์นี้อย่างเรื่อง คิวปิดกับนางไซคี [Psyche] เล่าถึงความรักแบบหนุ่มสาวระหว่างทั้งคู่เสียด้วยซ้ำ) เพียงแต่พ่อพราหมณ์เขาได้พรรณนาถึงรายละเอียดของคันธนูกับลูกศรของกามเทพ ไว้อย่างละเอียดและหวานหยดย้อยเลยทีเดียว
จะให้ไม่หวานไปได้ยังไงไหวล่ะครับ ก็ตำราของพ่อพราหมณ์เขาพรรณนาว่า คันธนูของพระกามเทพทำมาจากชานอ้อย แถมยังมีสายธนูที่เรียงร้อยมาจากฝูงผึ้งที่เรียงตัวกันเป็นคันสายไว้โน้มศรอีกต่างหาก
นอกจากนี้ ลูกศรของพระกามเทพที่มีอยู่ทั้งหมด 5 ดอก ยังมีหัวลูกศรทำมาจากดอกไม้ที่แตกต่างกัน 5 ชนิด ให้ฤทธิ์และรสชาติแห่งรักที่แตกต่างกัน 5 ประการ อันได้แก่
1. ศรดอกจำปากะ (บางท่านแปลว่าคือ บัวหลวง) ให้รสรักรุนแรงถาโถม
2. ศรดอกอัมรา (คือดอกมะม่วง) มอบความรักแสนอบอุ่น
3. ศรดอกนาคเกสร (คือดอกลั่นทม แต่บางท่านว่าเป็นดอกบัวขาบ) กำเนิดรักเนิบนาบยะเยียบเย็น
4. ศรดอกกิตติคุม? (บางท่านแปลว่า ดอกอโศก) ก่อแรงรักจนร้อนรุ่ม
และท้ายสุดคือ 5. ศรดอกมะลิ ปลิดรักจนสิ้นสูญ ไม่สมหวัง
รสรักที่เกิดจากลูกศรทั้ง 5 แบบข้างต้นนี้ ก็คงจะเป็นรูปแบบของความรัก ตามอย่างที่พ่อพราหมณ์ หรือกวีในวัฒนธรรมแบบพราหมณ์-ฮินดู เขาจำแนกเอาไว้นั่นเอง
ลักษณะพิเศษอีกอย่างหนึ่งของ “กามเทพ” ในความเชื่อของพราหมณ์ก็คือ เป็นผู้ที่ไม่มีรูปร่าง จึงได้ชื่อว่า “อนงค์” (ซึ่งก็แปลว่า ไม่มีรูปร่าง นั่นแหละ)
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ฝ่ายพราหมณ์เขามีเทพปกรณ์ที่แต่งเอาไว้อธิบายเหตุอยู่ในคัมภีร์ปุราณะหลายฉบับ เช่น มัสยปุราณะ, ปัทมปุราณะ, ศิวะปุราณะ และวามนปุระ เป็นต้น โดยตำราพราหมณ์เหล่านี้ล้วนแต่เล่าถึงการที่กามเทพกลายเป็นผู้ที่ไม่มีรูปร่าง โดยเกี่ยวข้องกับการปราบจอมอสูรผู้เก่งกล้า ที่มีชื่อว่า “ตารกาสูร” ซึ่งผมจะสรุปเป็นใจความรวมๆ ให้ดังนี้นะครับ
ตารกาสูรเป็นบุตรของ วัชรังคะ อันเป็นอสูรตนสำคัญซึ่งได้บำเพ็ญตบะอย่างยิ่งใหญ่ ตั้งแต่แรกเกิด ตารกาสูรจึงมีบิดาของตนเองเป็นตัวอย่างว่า หากบำเพ็ญตบะอย่างหนักก็จะทำให้มีรับพรจากเทพเจ้าจนมีอำนาจมาก ดังนั้น ตารกาสูรจึงได้บำเพ็ญตบะอย่างอุกฤษฏ์เพื่อให้ได้อำนาจมากยิ่งขึ้น จนทำให้พระพรหมทรงพอพระทัยแล้วประทานพรแก่ตารกาสูรว่า มีเพียงทารกอายุ 7 วันเท่านั้น ที่จะฆ่าตารกาสูรได้ แต่เด็กทารกที่ฟันน้ำนมยังไม่ขึ้นที่ไหนจะฆ่าใครได้กันล่ะครับ ยิ่งเมื่อเป็นจอมอสูรระดับนี้ด้วยแล้ว
ตารกาสูรจึงมีอำนาจมากขึ้นด้วยพรของพระพรหมนี้เอง และได้เริ่มต่อสู้กับเหล่าทวยเทพแล้วรุกขึ้นไปยังสรวงสวรรค์
เหล่าเทวดาที่พ่ายแพ้ในสงครามครั้งนั้น ก็ได้พาไปเข้าเฝ้าพระพรหมเพื่อขอความช่วยเหลือ พระพรหมจึงบอกถึงความลับเกี่ยวกับพรที่พระองค์ประทานแก่อสูรตนนี้ และบอกว่าทารกผู้ที่จะปราบตารกาสูรลงได้นั้นยังไม่ถือกำเนิดขึ้นมา เพราะทารกที่ว่านี้จะเกิดจากพระอิศวร (องค์เดียวกันกับพระศิวะ) ซึ่งไม่ได้มีคู่ครองในขณะนั้น กับนางปารวตี ผู้เป็นธิดาของท้าวหิมาลัย
อย่างไรก็ตาม ในขณะนั้นพระอิศวรยังยึดมั่นอยู่กับรักแรก และการสำนึกบาปหลังจาก “นางสตี” ชายาองค์แรกได้สิ้นพระชนม์ลง และไม่คิดที่เปิดที่ว่างให้ใครเข้ามาเติมเต็มชีวิตรักของพระองค์อีก
แต่นางปารวตี ก็คือนางสติในชาติที่แล้วที่มาเกิดใหม่ และนางต้องการให้พระอิศวรเป็นสามีในชาตินี้เช่นกัน จึงได้เริ่มบำเพ็ญตบะเพื่อการนี้ พระอินทร์จึงส่งกามเทพมาปลุกเร้าความรักในหัวใจของอิศวร ด้วยวิธีบางอย่างแต่จิตใจอันเข้มแข็งของพระอิศวรนั้นก็ไม่ได้สั่นคลอนเลยสักนิด จนในที่สุดเมื่อพระกามเทพแผลงศรแห่งรักเข้าใส่พระอิศวร ก็ถูกเผาเป็นเถ้าถ่านโดยพระพิโรธจากพระเนตรดวงที่สามของพระมหาเทพ ที่ประดับอยู่ตรงกลางพระนลาฏ (หน้าผาก) ของพระองค์ ซึ่งหากเมื่อพระเนตรดวงนี้ได้เปิดขึ้นแล้ว ก็จะเกิดไฟบรรลัยกัลป์ขึ้นมาล้างโลก
และก็เป็นไฟบรรลัยกัลป์นี้เอง ที่ไปเผาเอาพระกามเทพเสียจนเป็นจุณ นับแต่นั้นเป็นต้นมา กามเทพจึงไม่มีรูปร่าง และถูกเรียกในอีกชื่อหนึ่งว่า “อนงค์”
(ไม่ว่าจะเป็นด้วยฤทธิ์แห่งลูกศรของกามเทพหรือไม่ก็แล้วแต่ หลังจากนั้นพระอิศวรก็ตกหลุมรักกับนางปารวตี ซึ่งก็ถูกนับถือว่าคือองค์เดียวกันกับพระแม่อุมา จนให้กำเนิดเป็นพระขันธกุมาร ซึ่งก็ไปปราบตารกาสูรได้ในที่สุด)
ใครหลายคนเคยหล่นทัศนะให้ผมฟังว่า การที่พ่อพราหมณ์เขาแต่งนิทานให้กามเทพเป็นเทพผู้ไม่มีรูปร่างนั้น เป็นการเปรียบเปรยถึงลักษณะของความรักว่า ไม่มีรูปร่างหน้าตาที่ชัดเจน ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าจะเป็นจริงตามนั้นหรือเปล่าหรอกนะครับ แต่เห็นว่าก็ฟังดูโรแมนติกดี เลยเอามาเล่าสู่กันฟังเท่านั้นเอง
ในศาสนาพุทธ ซึ่งก็เป็นศาสนาที่มีต้นกำเนิดอยู่ในอนุทวีปอินเดียเหมือนกันนั้น ก็มีเรื่องราวเกี่ยวกับ “กามเทพ” แต่ในศาสนาพุทธนี้กามเทพมีรูปร่าง และอวัยวะครบ 32 ประการ (ที่จริงหากว่ากันตามปกรณัมแล้ว ก็ดูเหมือนจะมีเกิน 32 เสียด้วยซ้ำ) เพียงแต่ดูรูปร่างหน้าตาแล้วไม่เหมือนจะเป็นเทพเจ้า แถมยังถูกปกปิดชื่อเสียงเรียงนาม ตามอย่างที่พวกพ่อพราหมณ์เขาเรียกไว้ก่อนเสียจนมิดอีกต่างหาก
ในพุทธประวัติตอนหนึ่งเล่าถึงช่วงเวลาสำคัญก่อนที่พระพุทธองค์จะตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ขณะเจริญวิปัสสนาประทับอยู่ใต้ต้นโพธิ์ ก่อนการตรัสรู้ พระยามารที่ชื่อ “พระวัสสวตีมาร” ได้ยกทัพไพร่พลมารร้ายทั้งหลายมาราวีเจ้าชายสิทธัตถะเพื่อขัดขวางไม่ให้บรรลุถึงสัมมาสัมโพธิญาณได้
ในแง่บุคลาธิษฐาน “พระยาวัสสวตีมาร” ในพุทธประวัติตอนดังกล่าว เป็นหัวหน้าใหญ่ของเหล่ามารทั้งหลาย แต่ในขณะเดียวกันปรัมปราคติของพุทธศาสนาเองก็ถือว่า พระยาวัสสวตีมาร เป็นราชาแห่ง ปรนิมมิตวัสวตี สวรรค์ชั้นที่หก อันเป็นสวรรค์ชั้นสูงสุดในฉกามาพจรภพ หรือสวรรค์ทั้ง 6 ห้องฟ้า ก่อนจะถึงดินแดนของเหล่าพรหม คือพรหมโลก
แต่ทำไม ตามคติในศาสนาพุทธ พระยามาร ถึงกลายเป็นราชาผู้ปกครองฉกามาพจรภพ?
ในหนังสือเรื่อง “มาร” ที่ปราชญ์ควบตำแหน่งอดีตอธิบดีกรมศิลปากรอย่าง คุณธนิต อยู่โพธิ์ ได้ศึกษาเปรียบเทียบและสรุปร่องรอยหลักฐานทางวรรณคดีต่างๆ แล้วเอาไว้ว่า “วัสสวตีมารเทพบุตร” ในศาสนาพุทธก็คือ “พระกามเทพ” ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู
ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่พระยาวัสสวตีมารจะทรงคันธนูและลูกศรอยู่ในมือ ก็เพราะมีต้นแบบมาจากพระกามเทพนี่เอง
ใครที่อ่านพุทธประวัติตอนมารผจญคงจำได้ว่า พระยามารแผลงศรจนมืดฟ้ามัวดินเข้าใส่พระโพธิสัตว์สิทธัตถะ (ศาสนาพุทธเถรวาท ถือว่าเจ้าชายสิทธัตถะเป็นพระโพธิสัตว์) แต่แล้วศรเหล่านั้นกลับกลายเป็นดอกไม้นานาชนิดร่วงหล่นลงสู่พื้นดิน
โรแมนติกทีเดียวนะครับ เพราะถ้าจะว่ากันตามนี้สิ่งที่พระพุทธองค์ทรงสละได้เป็นสิ่งสุดท้ายก่อนจะตรัสรู้ ไม่ใช่บาปบุญในเรื่องทางโลกที่ไหนไกล เป็นเรื่องธรรมดาๆ อย่าง “ความรัก” นี่เอง
แต่ความรักในที่นี้จะหมายถึง ความรักระหว่างญาติพี่น้อง พ่อแม่ บุตรธิดา หรือความสัมพันธ์ในทำนองนี้อะไรอื่นๆ ก็เรียกว่าความรัก ไม่ต่างจากความรักระหว่างชายหญิง
หรือความรักไม่ว่าจะมีสักกี่ร้อยพันชนิด ก็ไม่อาจทำให้จิตใจที่มุ่งสู่พระนฤพานหวั่นไหวได้?
ผมเอาเรื่องของ “กามเทพ” ในความเชื่อแบบแขกอินเดีย มาเล่าให้ฟังกัน ในบรรยากาศใกล้วันแห่งความรักแบบนี้ โดยหวังใจไว้ว่าจะอ่านสนุกกันนะครับ •
On History | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022