พยัคฆ์แห่งมาลายา : เติงกู มะห์หมูด มะห์ยิดดีน กลายเป็น ‘ผู้ร้าย’ ในประวัติศาสตร์ไทยได้อย่างไร | ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

ตุลวิภาคพจนกิจ | ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

 

พยัคฆ์แห่งมาลายา

: เติงกู มะห์หมูด มะห์ยิดดีน

กลายเป็น ‘ผู้ร้าย’

ในประวัติศาสตร์ไทยได้อย่างไร

 

อาทิตย์ก่อนผมแนะนำหนังสือใหม่ที่เล่าถึงชีวประวัติของเติงกู มะห์หมูด มะห์ยิดดีน (Tengku Mahmood Mahyiddeen) ผู้นำจารีตคนสุดท้ายของประชาชนมลายูมุสลิมปาตานี และเป็นลูกคนสุดท้องของอดีตรายาคนสุดท้ายของอาณาจักรปาตานีก่อนถูกรวมศูนย์เข้าไปอยู่ใต้รัฐสยาม ชีวิตที่ควรจะโรยด้วยกลีบกุหลาบ ผันแปรไปเป็นชีวิตแบบสามัญชนแต่ยังมีฐานะและบารมีของชนชั้นนำเก่า ที่ผู้คนในดินแดนนั้นพร้อมให้ความภักดีและตั้งความหวังให้เป็นผู้นำพาไปสู่ความหวังของรัฐปาตานีที่เป็นเอกราช

ตลอดชีวิตของเติงกู มะห์หมูด มะห์ยิดดีน จึงเต็มไปด้วยการค้นหาหนทางที่จะนำพาคนอื่นไปสู่ทางออกที่ไม่มีใครรู้ว่าจะสำเร็จหรือไม่

ที่สำคัญคู่ต่อสู้ของปาตานีไม่ใช่รัฐเล็กที่มีความทัดเทียมกัน ตรงกันข้ามคู่ต่อกรของปาตานีคือรัฐสยามไทยที่มีความยิ่งใหญ่ทั้งทางกำลังและทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ยิ่งกว่านั้นสยามยังได้พี่เลี้ยงและที่ปรึกษาในเรื่องสำคัญทางระหว่างประเทศที่ให้ความโอบอ้อมและพิทักษ์ความเป็นเจ้าของสยามมาโดยตลอด เขาคือจักรภพอังกฤษ

พิจารณาเพียงเท่านี้ก็พอคาดเดาได้ว่า อนาคตในการต่อสู้เพื่อเอกราชของปาตานีเป็นความฝันที่ยากจะบรรลุความเป็นจริงได้เลย

เมื่อหนทางในการต่อสู้เพื่อนาคตของเติงกู มะห์หมูด มะห์ยิดดีน และปาตานีไม่อาจเป็นจริงได้ การอ่านชีวประวัติของเขาจะมีประโยชน์อะไรเล่า ผมคิดว่ามีและมีมากด้วย หากพิจารณาในบริบทปัจจุบันของการดำเนินการเจรจาสันติภาพ (สุข) ระหว่างฝ่ายขบวนการต่อสู้ของประชาชนปาตานีในนามบีอาร์เอ็น (Barisan Revolusi Nasional) หรือขบวนการปฏิวัติแห่งชาติมลายู กับฝ่ายรัฐบาลไทยผ่านคณะเจรจาสันติภาพ ซึ่งมีข้อถกเถียงและปัญหาที่ต้องร่วมกันคลี่คลายจนกว่าจะได้การเจรจาสันติภาพที่แท้จริงและยั่งยืน ปมเงื่อนที่เป็นอุปสรรคใหญ่ของทั้งสองฝ่าย ผมคิดว่าได้แก่ความเชื่อที่เป็นอุดมการณ์ทางการเมืองของทั้งสองฝ่ายที่ตรงข้ามกันโดยสิ้นเชิง ประเด็นที่เป็นใจกลางของอุดมการณ์นี้คือความเชื่อเรื่องลัทธิชาตินิยมไทยกับมลายู

ที่น่าสนใจคือทั้งสองฝ่ายวางสมมุติฐานในชาตินิยมของตนไว้ในประวัติศาสตร์ของชาติตน แล้วปฏิเสธความเป็นชาติของอีกฝ่ายตลอดมา ตรงนี้คือหุบเหวของประวัติศาสตร์ไทย เพราะมันไม่ใช่ประวัติศาสตร์ในความหมายทางวิชาการ หากแต่เป็นมายาคติทางการเมืองเท่านั้น (myth-history) ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ได้ใช้ประโยชน์ของประวัติศาสตร์เลยแม้แต่นิดเดียว

แทนที่จะกล่าวหาว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดสร้างความเข้าใจที่ผิด ด้วยการยึดถืออุดมการณ์และความเชื่อที่เป็นมายาคติ ในกรณีนี้คืออุดมการณ์ชาตินิยมและมายาคติเรื่องความเป็นเจ้าเหนือดินแดนในอดีต นั่นคือคติชาตินิยมไทยและความเป็นเจ้าเหนือดินแดนมลายูทางใต้ของอาณาจักรไทยมานับศตวรรษ ถ้าเริ่มต้นอภิปรายกันด้วยปัญหาการเมืองแบบนี้ คงยากที่จะบรรลุความเข้าใจร่วมกันได้ เพราะอุดมการณ์ชาตินิยมเป็นความคิดเชิงนามธรรมแต่อาศัยรูปธรรมของสถาบันหลักของชาติทั้งหมด เช่น ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มาเป็นตัวเล่าและเดินเรื่อง ซึ่งในพล็อตเรื่องก็มีพระเอกและผู้ร้ายเป็นแกน

เพราะฉะนั้น ในตัวมันเองอุดมการณ์ชาตินิยมไทยจึงไม่ใช่ประวัติศาสตร์

ตรงนี้เองที่ต้องให้ความสำคัญต่อวิธีวิทยาทางประวัติศาสตร์ ซึ่งมีสมมุติฐานว่าประวัติศาสตร์คือการสนทนาหรือวิสาสะอันไม่รู้จบระหว่างอดีตกับปัจจุบัน คนที่เคยเรียนวิชาประวัติศาสตร์นิพนธ์มาบ้างคงคุ้นๆ กับข้อความข้างต้นนี้ แน่นอนมาจากคำบรรยายและต่อมาเป็นหนังสือคลาสสิคว่าด้วยประวัติศาสตร์ของ อี.เอช. คาร์ นักประวัติศาสตร์โดยการปฏิบัติซึ่งทำให้เขาตระหนักถึงอิทธิพลและความบิดเบือนในประวัติศาสตร์เป็นอย่างดี

กลับมาที่ความหมายของประวัติศาสตร์อีกนิด นอกจากจะเป็นการสนทนาระหว่างอดีตกับปัจจุบันแล้ว ถ้าจะกล่าวให้ชัดเจนก็ต้องระบุด้วยว่า คือการสนทนาระหว่างเหตุการณ์ในอดีตกับเหตุการณ์ที่กำลังก่อรูปขึ้นในปัจจุบัน ดังนั้น ประวัติศาสตร์นิพนธ์หรือแนวทางและวิธีการเขียนประวัติศาสตร์ ซึ่งคือการให้การศึกษาและความเข้าใจในอดีตแก่สังคมปัจจุบันจึงมีความหมายสำคัญ

เพราะมันจะเป็นปัจจัยในการช่วยและขยายมุมมองและทัศนะต่อเหตุการณ์ในอดีตให้ถูกต้องและเป็นประโยชน์ต่อความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

 

เหตุการณ์ในอดีตที่เป็นหนามยอกอกรัฐไทยมาตลอดคือความเชื่อว่าผู้นำปาตานีต้องการแยกดินแดนออกไปจากรัฐไทยและโดยการใช้กำลังความรุนแรง นี่คือสัจธรรมทางประวัติศาสตร์ของรัฐไทยและฝ่ายความมั่นคง แต่ถ้าเรายอมรับนิยามของประวัติศาสตร์ข้างบนนี้ว่าคือการเจรจาระหว่างเหตุการณ์ในอดีตกับเหตุการณ์ที่จะก่อตัวขึ้นในอนาคต การกลับไปศึกษาค้นคว้าถึงการเกิดและแพร่กระจายของเหตุการณ์ความไม่สงบในปาตานีอย่างถูกต้องและเป็นธรรมต่อตัวละครทั้งหมด เราอาจได้ความเข้าใจและความรับรู้ต่อปัญหาความไม่สงบในอีกแบบที่ต่างไปจากที่เราเชื่อกันมาโดยไม่เคยสงสัยเลยก็ได้ และนั่นก็คือการทำให้รัฐไทยมีสายตาและสมองที่แหลมคมและมองลงไปถึงด้านลึกของปัญหาในปาตานีได้อย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน

ผมเสนอหนังสือชีวประวัติของเติงกู มะห์หมูด มะห์ยิดดีน เป็นการบ้านนอกเวลาราชการ ผู้เขียนหนังสือคือโมฮัมหมัด ซัมเบอรี มาเล็ก นักเขียนชีวประวัติมีชื่อของมาเลเซีย นำเสนอภาพลักษณ์ของเติงกู มะห์หมูด มะห์ยิดดีน ในฐานะของนักสู้เพื่อเอกราชของปาตานีอย่างหนักแน่น รองรับด้วยหลักฐานข้อมูลมากมาย กล่าวได้ว่าเขาเป็นนักประวัติศาสตร์ที่สมบูรณ์ยิ่งคนหนึ่ง สิ่งสำคัญที่เขาทำเหมือนกับนักประวัติศาสตร์ทั้งหลายคือการตีความและสร้างความเข้าใจในบทบาทของเติงกู มะห์หมูด มะห์ยิดดีน ว่าดำเนินไปอย่างไรภายใต้บริบทและปัจจัยแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกอย่างไร

ประเด็นที่ผมคิดว่าน่าสนใจสำหรับนักประวัติศาสตร์ไทยและประวัติศาสตร์ไทยคือการตีความที่ตรงข้ามกัน ในขณะที่ฝ่ายมาเลเซียเชื่อว่าเติงกู มะห์หมูด มะห์ยิดดีน เป็นวีรบุรุษผู้พยายามกู้เอกราชให้แก่ปาตานีและใช้วิธีการสันติวิธีด้วยไม่นิยมการใช้กำลังและความรุนแรง ฝ่ายรัฐไทยเชื่อว่าเขาเป็น “ผู้ร้าย” หรือหัวหน้าขบวนการแบ่งแยกดินแดน ข้อหาศักดิ์สิทธิ์สำหรับรัฐและฝ่ายความมั่นคงของสยามไทย

เช่นนี้แล้วฝ่ายประชาชนและผู้สนใจปัญหาประวัติศาสตร์ ไม่ใช่เรื่องประวัติการเมืองนี้ ควรจะเชื่อฝ่ายไหน

 

ระหว่างอ่านชีวประวัติของเติงกู มะห์หมูด มะห์ยิดดีน ผมพยายามหาข้อมูลประวัติศาสตร์ว่าเมื่อไรที่ไหนที่เขาเริ่มตั้งขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราชของปาตานีด้วยกำลัง คำตอบคือไม่มี แต่เขาเข้าร่วมในองค์กรต่อสู้ของคนปาตานีมาแต่แรกเริ่มหลังจากการจับดำเนินคดีกับฮัจญีสุหลง เช่น ฆีมปาร์ (GAMPAR) และอีกหลายองค์กรที่เสนอให้ใช้กำลังในการต่อสู้ แต่เขาปฏิเสธวิธีการนี้ตลอดมา

บทบาทที่ทำให้ทางการไทยเชื่อว่าเขาอยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวของกลุ่มประชาชนปาตานีในการร้องขอ 7 ข้อ เนื่องจากฮัจญีสุหลงได้เดินทางไปพบปะปรึกษากับเติงกู มะห์หมูด มะห์ยิดดีน ถึงที่บ้านริมหาดเซอ มุด อาปี ในกลันตัน เพื่อปรึกษาข้อเสนอของรัฐบาลสยามเพื่อเจรจาในการยุติปัญหาในภาคใต้ขณะนั้น แต่ยังไม่ทันได้ดำเนินการอะไร ทางการไทยก็เข้าจับกุมตัวฮัจญีสุหลงและพรรคพวกเสียก่อน ด้วยข้อหาคบคิดก่อกบฏ แม้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ตัดสินว่า

“แผนการร้ายในคราวนั้นถึงจะรุนแรงสักปานใดก็ตาม ฝ่ายโจทย์ก็สืบไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เจตนาจะให้เอกราชของรัฐเสื่อมหรือเจตนาจะแบ่งแยก 4 จังหวัดให้เป็นแคว้นหนึ่งต่างหาก เหตุผลโดยทั่วๆ ไปจำเลยที่ 1 ยังคำนึงถึงรัฐบาลไทยอยู่…อนึ่ง การที่จำเลยที่ 1 ไปติดต่อกับตนกูมะฮะยิดดินก็ไม่ปรากฏว่าได้กระทำการใดเพื่อให้เกิดเหตุร้ายแก่ประเทศจากภายนอก จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา 105 และมาตรา 109 คงมีความผิดเฉพาะมาตรา 104 ตามที่ศาลชั้นต้นชี้ขาดไว้เท่านั้น”

(คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ วันที่ 7 เดือนมิถุนายน พุทธศักราช 2493 การเน้นเป็นของผู้เขียน)

 

แม้ศาลอุทธรณ์ได้ตัดสินแล้วว่าการติดต่อระหว่างฮัจญีสุหลงกับมะห์ยิดดีนนั้นไม่ใช่การก่อการจากภายนอกเพราะไม่มีหลักฐาน แต่ความรับรู้เรื่องฮัจญีสุหลงและมะห์ยิดดีนคิดทำการแยกดินแดนยังไม่เลือนหายไปจากความทรงจำของรัฐไทยและฝ่ายความมั่นคงตลอดมา ทั้งสองคนยังคงเป็น “ผู้ร้าย” ในประวัติศาสตร์ไทยมาอย่างไม่เปลี่ยนแปลง

ในทัศนะของรัฐไทย ประวัติศาสตร์คือการไม่สนทนาและไม่ขยายกรอบการมองเหตุการณ์ในอดีตให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ของความเปลี่ยนแปลงใดๆ ในปัจจุบันเลย เป็นการมองประวัติศาสตร์อย่างหยุดนิ่งและตายตัวที่สุด

ในโลกยุคโลกาภิวัตน์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างสูงจึงเท่ากับเป็นการมองอย่างถอยหลัง และเป็นการใช้ประวัติศาสตร์อย่างผิดๆ เพราะไม่ได้ทำให้มีความเข้าใจในอดีตและปัจจุบันได้อย่างถูกต้องเลย

ความเข้าใจในอดีตอย่างถูกต้องไม่ใช่การให้ความชอบธรรมแก่การกระทำของบุคคลในเหตุการณ์ ไม่ใช่การเลือกข้าง (ทางการเมือง) ถ้าจะเลือกก็คือระหว่างความจริงกับความเท็จ การเมืองและอำนาจที่ไม่วางอยู่บนความจริงก็ยากที่จะมีอนาคตอันสดใสได้

พยัคฆ์แห่งมาลายา : ชีวประวัติเติงกู มะห์หมูด มะห์ยิดดีนผู้ต่อสู้เพื่อเอกราช โดย โมฮัมหมัด ซัมเบอรี มาเล็ก เขียน ฮาร่า ชินทาโร่ แปล กรุงเทพฯ อิลลูมิเนชั่นส์ เอดิชั่นส์, 2567.