คุยกับทูต | วิชยันติ เอทิริสิงเห ศรีลังกา ‘ไข่มุกแห่งมหาสมุทรอินเดีย’ (2)

คุยกับทูต | วิชยันติ เอทิริสิงเห

ศรีลังกา ‘ไข่มุกแห่งมหาสมุทรอินเดีย’ (2)

 

“อาชีพนักการทูตเป็นส่วนหนึ่งของความฝันในวัยเด็กของดิฉัน เมื่อได้เข้ามารับใช้ชาติ เป็นเจ้าหน้าที่ประสานงานต่างประเทศของศรีลังกา ทำให้ดิฉันมีความสุขมาก แม้จะต้องผ่านความท้าทายจากการสอบและกระบวนการคัดเลือกที่มีการแข่งขันกันสูงในสายงานต่างประเทศก็ตาม

ความท้าทายอีกประการหนึ่งคือ ต้องรู้จักสร้างสมดุลชีวิตทำงานและชีวิตส่วนตัว (ในฐานะภรรยาและแม่) ไม่ให้เอียงไปด้านใดด้านหนึ่งจนมากเกินไป”

นางเอทิริสิงเห อารัจจิลาเค ศรียานี วิชยันติ เอทิริสิงเห (Mrs. Edirisinghe Arachchilage Sriyani Wijayanthi Edirisinghe) เอกอัครราชทูตศรีลังกาประจำประเทศไทย เปิดเผยถึงความมุ่งมั่นไล่ตามความฝัน

นางวิชยันติ เอทิริสิงเห (H.E.Mrs. E.A.S.Wijayanthi Edirisinghe) เอกอัครราชทูตศรีลังกาประจำประเทศไทย

ในความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการ

หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) ที่มีความสำคัญต่อศรีลังกา

“ศรีลังกามีความสำคัญทางพื้นที่ยุทธศาสตร์ในโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่เป็นจุดตัดของเส้นทางเดินเรือหลักในมหาสมุทรอินเดีย ความร่วมมือในอนาคตภายใต้ BRI อาจนำมาซึ่งโอกาสมากมายสำหรับทั้งศรีลังกาและจีน รวมถึงความท้าทายที่ต้องได้รับการแก้ไข

ศรีลังกาและจีนได้หารือกันในหลากหลายด้าน เช่น การเสริมสร้างเศรษฐกิจและการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล และความร่วมมือในเวทีพหุภาคีเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ทวิภาคีบนพื้นฐานของความเท่าเทียมทางอำนาจอธิปไตยและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ

การที่ศรีลังกายังคงร่วมมือกับจีนภายใต้โครงการ BRI ก็เพื่อพัฒนาพื้นที่โครงสร้างพื้นฐาน โอกาสทางเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน การท่องเที่ยวและการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม การแก้หนี้ยั่งยืนรวมทั้งโครงการเพื่อความยั่งยืนในวิสัยทัศน์ระยะยาว ความร่วมมือของศรีลังกามุ่งเน้นไปยังโครงการที่ยั่งยืนและเป็นประโยชน์ร่วมกันในการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว การกำกับดูแลที่โปร่งใส การปฏิบัติทางการค้าที่เป็นธรรม และการเคารพต่อลำดับความสำคัญในท้องถิ่น

ซึ่งจะเป็นสิ่งสำคัญในการส่งเสริมความไว้วางใจและหลีกเลี่ยงความท้าทายที่อาจเกิดขึ้น”

ดัมบุลละ วัดถ้ำแห่งศรีลังกา

การเตรียมการของศรีลังกา

เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

“ศรีลังกาเข้าใจถึงความเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากส่งผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตความเป็นอยู่และอนาคตของเรา เรากำลังดำเนินการอย่างจริงจังโดยมุ่งมั่นที่จะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และมุ่งเน้นไปที่พลังงานหมุนเวียนเพื่อตอบสนองความต้องการไฟฟ้า 70% ภายในปี 2030

นอกเหนือจากนโยบายแล้ว เรายังดำเนินการปลูกป่าทดแทน ปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ และส่งเสริมการเกษตรที่ยั่งยืนเพื่อให้มีวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า

และไม่ใช่เป็นเพียงความพยายามของรัฐบาลเท่านั้น แต่เป็นภารกิจร่วมกันในการปกป้องสิ่งแวดล้อม เพื่อให้มั่นใจว่าโลกจะดีขึ้นสําหรับอนาคตของคนรุ่นใหม่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจึงเป็นความท้าทายร่วมกัน ศรีลังกาตั้งใจที่จะทำหน้าที่อย่างมีสมรรถนะทั้งในการยืดหยุ่นและปรับตัวต่อโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว”

สีคิริยะ (Sigiriya) คือป้อมปราการและปราสาทโบราณ เป็นมรดกโลกหนึ่งในแปดแห่งของประเทศศรีลังกา

บทบาทของศรีลังกาในการประชุมอาเซียน

ว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคง

ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ARF)

“ศรีลังกามีบทบาทสำคัญในฟอรั่มภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Regional Forum – ARF) ในฐานะหุ้นส่วนที่มุ่งมั่นในการส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพ และความร่วมมือในภูมิภาค การมีตำแหน่งที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์ในมหาสมุทรอินเดีย ทำให้เรามีบทบาทสำคัญในด้านความมั่นคงทางทะเล ซึ่งถือเป็นลำดับความสำคัญของ ARF

ศรีลังกามีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการอภิปรายเกี่ยวกับการจัดการภัยพิบัติ การปราบปรามการค้ามนุษย์ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการบูรณาการทางเศรษฐกิจ สอดคล้องกับเป้าหมายร่วมกันของฟอรั่ม ในการส่งเสริมความร่วมมือและการเจรจากับประเทศสมาชิกอาเซียน ศรีลังกาพยายามที่จะเสริมสร้างความร่วมมือในภูมิภาคและรับมือกับความท้าทายร่วมกัน

ขณะเดียวกันก็มีส่วนสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืนและความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันในภูมิภาค”

วัดถ้ำดัมบุลลา (The Golden Rock Temple-Dambulla)

กล่าวถึงวัฒนธรรมไทยที่น่าสนใจที่สุด

ในฐานะชาวต่างชาติที่มาพำนักในราชอาณาจักรไทยได้ไม่นาน

“ดินแดนแห่งรอยยิ้มนี้ เต็มไปด้วยความอบอุ่น ความสุภาพ และความอ่อนน้อมถ่อมตน ดึงดูดใจให้เกิดมิตรภาพที่ดีต่อกันอย่างแท้จริง

อิทธิพลของศาสนาพุทธนั้นมีอิทธิพลต่อท่าทีและการประพฤติปฏิบัติต่างๆ ของคนไทยในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมในวัฒนธรรมไทย เพราะเรามีความผูกพันทางประวัติศาสตร์และการแบ่งปันมรดกทางพุทธศาสนาร่วมกัน

พุทธศาสนาไม่ได้เป็นเพียงศาสนาเท่านั้น แต่เป็นวิถีชีวิต การที่ได้เห็นพระสงฆ์ ตลอดจนพิธีกรรมทางศาสนาในวัด และการถวายเครื่องบูชาประจำศาลต่างๆ สะท้อนถึงธรรมชาติทางจิตวิญญาณอันล้ำลึกของวัฒนธรรมไทย คุณค่าของความมีสติและลดความยึดติดในวัตถุนั้นปรากฏอยู่อย่างแยบยลในหลายแง่มุม”

เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2024 เอกอัครราชทูตศรีลังกาเป็นเกียรติในงานนวราตรี (Navaratri Pooja) ณ วัดแขก สีลม

การส่งเสริมวัฒนธรรมและมรดก

ของศรีลังกาในประเทศไทย

“นอกเหนือจากชาและพุทธศาสนาที่เป็นที่รู้จัก ศรีลังกามีมากกว่าที่เห็น วัฒนธรรมและมรดกของเราถูกผูกโยงเข้ากับเนื้อแท้ของชาวศรีลังกา ในดินแดนแห่งเรื่องราวอันลึกซึ้งและประเพณีที่สวยงาม ตั้งแต่ซากปรักหักพังของพระราชวังและป้อมปราการโบราณของสีคิริยะ (Sigiriya) ไปจนถึงทิวทัศน์ทางธรรมชาติที่สวยงาม เช่น เนินเขาที่ปกคลุมไปด้วยหมอก และชายหาดที่สวยงามบริสุทธิ์

ศรีลังกาเป็นสถานที่ที่ประวัติศาสตร์ ธรรมชาติ และจิตวิญญาณของผู้คนมาบรรจบกัน อาหารศรีลังกาเป็นเอกลักษณ์ สะท้อนถึงความหลากหลายนี้ โดยทุกมื้ออาหารจะบอกเล่าเรื่องราวของวัฒนธรรมและรสชาติอันอุดมสมบูรณ์จากเกาะของเรา

ข้าวแกงศรีลังกาแบบดั้งเดิม
อัปปัม (Appam) หรือฮอปเปอร์ส (Hoppers) เป็นแพนเค้กบางๆ ชนิดหนึ่งที่ทำจากแป้งข้าวหมักและกะทิ

สิ่งที่ดิฉันอยากจะแบ่งปันกับคนไทยอย่างแท้จริงนั่นคือ คนศรีลังกาเป็นคนนุ่มนวล ใจดี มีวัฒนธรรมน้ำใจ มีสัมมาคารวะ ให้การต้อนรับที่อบอุ่น ซึ่งถือเป็นหัวใจของศรีลังกา ดิฉันเชื่อว่า หากเราได้รู้จักเรื่องราวและวัฒนธรรมของกันและกัน ก็จะทราบว่า เรามีความเชื่อมโยงที่เป็นความสัมพันธ์อันพิเศษระหว่างกันอย่างลึกซึ้งเพียงใด

ซึ่งดิฉันหวังว่าความเชื่อมโยงดังกล่าวนี้จะช่วยกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นต่อไป” •

 

รายงานพิเศษ | ชนัดดา ชินะโยธิน

Chanadda Jinayodhin