ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 7 - 13 กุมภาพันธ์ 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | พื้นที่ระหว่างบรรทัด |
ผู้เขียน | ชาตรี ประกิตนนทการ |
เผยแพร่ |
พื้นที่ระหว่างบรรทัด | ชาตรี ประกิตนนทการ
พิพิธภัณฑสถานสร้างชาติ (4)
การจัดแสดง “โบราณวัตถุ” และ “ศิลปวัตถุ” ของ “พิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร” เมื่อ พ.ศ.2469 เป็นอย่างไร และสะท้อนความเปลี่ยนแปลงในเชิงความหมาย ตลอดจนบทบาทหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์สมัยใหม่ในสังคมไทยอย่างไร ทั้งหมดนี้คือประเด็นที่ยังไม่มีการวิเคราะห์อย่างจริงจังเท่าที่ควร
หนังสือ “อธิบายว่าด้วยหอสมุดวชิรญาณ แล พิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร” พ.ศ.2470 และหนังสือ “โบราณวัตถุในพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร” พ.ศ.2471 ให้ข้อมูลการจัดแสดงในคราวนั้นไว้น่าสนใจ พอจะสรุปโดยสังเขปดังนี้
อาคารที่ได้รับการปรับเป็นพื้นที่จัดแสดงได้แก่ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน, พระที่นั่งพุทไธสวรรย์, พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย และหมู่พระวิมาน
การจัดแสดงมีเกณฑ์การจัดจำแนกวัตถุต่างๆ ออกเป็น 2 แนวทางใหญ่ คือ
หนึ่ง จำแนกวัตถุตามประเภทของวัสดุที่ใช้ก่อสร้าง เช่น ทำจากสำริด หิน เครื่องประดับมุก ดินเผา ผ้า ฯลฯ
และสอง จำแนกตามลักษณะการใช้สอย เช่น พระราชยาน ศาสตราวุธ ตู้พระธรรม หนังสือ จารึก ฯลฯ

ที่มา : สำนักจดหมายเหตุแห่งชาติ
เมื่อจำแนกแยกเป็นกลุ่มแล้ว ภายในแต่ละกลุ่มจะมีวิธีการแบ่งกลุ่มย่อยสำหรับการจัดแสดงอีกขั้นหนึ่ง ซึ่งในส่วนนี้จะมีวิธีที่แตกต่างกันไปหลายแบบ จะไม่ขอลงรายละเอียด ณ ที่นี้
แต่มีวิธีการจัดแสดงแบบหนึ่งที่ถูกใช้ในหลายส่วนอย่างมีนัยยะสำคัญ คือ การแบ่งวัตถุออกเป็นยุคสมัยต่างๆ ตามโครงเรื่อง “ประวัติศาสตร์ศิลปะสกุลดำรง-เซเดส์” ได้แก่ ทวารวดี ศรีวิชัย ลพบุรี เชียงแสน สุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์
ควรกล่าวไว้ก่อนว่า ณ ช่วงเวลานั้น แนวทางการแบ่งยุคสมัยระหว่าง สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กับ ยอร์ช เซเดส์ ยังมีความแตกต่างกันในรายละเอียดเล็กน้อย กล่าวคือ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ แบ่งเป็น 7 สมัยตามที่กล่าวมาข้างต้น
ในขณะที่ ยอร์ช เซเดส์ จะแบ่งออกเป็น ทวารวดี ศรีวิชัย ลพบุรี เชียงแสนรุ่นเก่า สุโขทัย เชียงแสนรุ่นหลัง และอู่ทอง (ไม่ได้พูดถึงวัตถุในยุครัตนโกสินทร์)
ย้อนกลับมาที่การจัดแสดงในปี พ.ศ.2469 อาคารต่างๆ มีการจัดวางในส่วนสำคัญๆ ดังต่อไปนี้
พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน ปรับพื้นที่ยกให้เป็นพื้นที่ของหอพระสมุดวชิรญาณ ทำหน้าที่เก็บหนังสือตลอดจนเอกสารจดหมายเหตุต่างๆ พร้อมทั้งจัดแสดงวัตถุในส่วนที่เป็น ตู้ลายทอง, พระบรมรูปรัชกาลที่ 4, หีบโบราณสำหรับใส่พระไตรปิฎก, ผ้าโบราณ และที่สำคัญที่สุดคือ ศิลาจารึกที่รวบรวมมาจากที่ต่างๆ ในประเทศสยาม
พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ส่วนใหญ่จัดแสดงสิ่งของที่มีอยู่เดิมภายในพระที่นั่งฯ โดยมีการเพิ่มสิ่งของจัดแสดงที่น่าสนใจคือ พระพิมพ์ต่างๆ ซึ่งจัดแสดงไว้ในตู้ 6 ตู้ (ตู้ทั้งหมดเคยตั้งอยู่ที่หอพระสมุดฯ เดิม ณ ตึกถาวรวัตถุ) โดยการจัดแสดงใหม่ พระพิมพ์ในตู้จะถูกจำแนกแยกออกเป็นสมัยต่างๆ 7 สมัยตามโครงเรื่องประวัติศาสตร์ศิลปะสกุลดำรง-เซเดส์

ที่มา : สำนักจดหมายเหตุแห่งชาติ
อาคารต่อมาคือ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัยและเฉลียงรอบหมู่พระวิมาน ซึ่งเป็นส่วนจัดแสดงสำคัญที่สุด (ในทัศนะผม) ที่ทำหน้าที่อธิบายประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ของสยาม ความมีอารยธรรมอันยาวนาน และผลิตซ้ำความชอบธรรมในขอบเขตดินแดนแห่งรัฐสยามที่เพิ่งสถาปนาขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5
พระที่นั่งองค์นี้เมื่อครั้งยังเป็น “พิพิธภัณฑ์วังหน้า” ทำหน้าที่เป็นคลังเก็บวัตถุจัดแสดงต่างๆ แต่ในคราวปรับปรุงใหญ่ พ.ศ.2469 ถูกปรับเป็นพื้นที่จัดแสดงวัตถุในหมวดประเภทวัสดุ สำริด, โลหะโบราณ และหิน
ในส่วนวัตถุที่ทำจากสำริดและโลหะ จัดแสดงภายในพระที่นั่งฯ ส่วนวัตถุที่ทำจากหิน จัดแสดงในส่วนมุขกระสันด้านหลังของพระที่นั่งฯ และยาวเชื่อมต่อไปจนถึงพื้นที่เฉลียงโดยรอบของหมู่พระวิมาน
การจัดแสดงในแต่ละหมวดของวัสดุการก่อสร้าง เดาได้ไม่ยากนะครับว่าจะต้องถูกจัดแสดงแยกตามยุคสมัย 7 สมัยตามโครงเรื่องประวัติศาสตร์ศิลปะสกุลดำรง-เซเดส์
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ อธิบายการจัดแสดงในส่วนวัตถุที่ทำจากสำริดเอาไว้ความตอนหนึ่งว่า
“…ส่วนสิ่งของที่จัดตั้งในพิพิธภัณฑสถานตอนพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ล้วนเครื่องสัมฤทธิ์แลโลหะ…ที่ริมเสาในประธานจัดตั้งเทวรูปขนาดใหญ่ เทวรูปเหล่านี้เปนของสร้างที่กรุงสุโขทัย ครั้งพระร่วงก็มี สร้างครั้งกรุงศรีอยุธยาก็มี เปนฝีมือช่างไทยทั้งนั้น ไม่มีที่ไหนเหมือน…ทางเฉลียงตั้งตู้ช่องละ 2 ใบ ไว้พระพุทธรูป รูปพระโพธิสัตว์ แลเทวรูปของโบราณอันหล่อด้วยโลหะเรียงตามสมัยโดยลำดับ นับแต่เฉลียงทิศใต้ข้างด้านหน้าวงประทักษิณไป เปนของสร้างครั้งสมัยทวารวดี สมัยศรีวิชัย สมัยลพบุรี สมัยเชียงแสน สมัยสุโขทัย สมัยกรุงศรีอยุธยา สมัยรัตนโกสินทร…ที่ริมพระที่นั่งบุษบกมาลาข้างใต้ พระเศียรพระพุทธรูป เมืองกำแพงเพ็ชร์ พระเศียรพระพุทธรูปมาแต่วัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รอยพระพุทธบาทหล่อทองสัมฤทธิ์ ครั้งกรุงสุโขทัย ตรงกลางรูปโคอุศุภราช เดิมอยู่ที่วัดพระพุทธบาท ข้างเหนือพระเศียรพระพุทธรุปแสนแสว้ มาแต่วัดยางกวงเมืองเชียงใหม่…”
น่าสังเกตด้วยว่า นอกจากจะมีการจัดแสดงวัตถุไล่เรียงตาม 7 ยุคสมัยในพื้นที่เฉลียงรอบพระที่นั่งฯ แล้ว พื้นที่โถงหลักตรงกลางของพระที่นั่งฯ ซึ่งเป็นพื้นที่ใหญ่ที่สุด และเป็นพื้นที่ตรงกลางของแนวแกนกลุ่มอาคารหลักของวังหน้า ได้ถูกเลือกให้เป็นพื้นที่จัดแสดงเฉพาะในส่วนของโบราณวัตถุในสมัยสุโขทัย อยุธยา และบางส่วนของศิลปะเชียงแสน เช่น พระแสนแสว้ (ยอร์ช เซเดส์ จัดกลุ่มว่าเป็นสมัยเชียงแสนรุ่นเก่า)
การออกแบบพื้นที่จัดแสดงเช่นนี้ สะท้อนให้เราเห็นถึงการให้ความสำคัญกับสามยุคสมัยนี้เป็นพิเศษ
หากเราย้อนกลับไปดูการแบ่งยุคสมัยทางศิลปะของ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ และ ยอร์ช เซเดส์ ก็จะเข้าใจได้ทันที เพราะทั้งสองท่านอธิบายตรงกันว่า เชียงแสน สุโขทัย และอยุธยา (รวมถึงรัตนโกสินทร์ด้วย) คืองานศิลปะฝีมือช่างไทยแท้ ส่วนในยุคสมัยอื่นเป็นงานศิลปะของชนชาติอื่น เช่น มอญ อินเดีย ขอม เป็นต้น
ในหนังสือตำนานพุทธเจดีย์สยามเขียนย้ำประเด็นนี้ไว้ชัดว่า พุทธเจดีย์สมัยทวารวดี ศรีวิชัย และลพบุรี คือสมัย “ก่อนไทย” ส่วนพุทธเจดีย์สมัยเชียงแสน สุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์ คือสมัยของคนไทย
ด้วยเหตุนี้จึงอาจกล่าวได้ว่า การจัดแสดงภายในพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย คือจุดเปลี่ยนยุคแรกเริ่มของการจัดแสดงโบราณวัตถุโดยให้ความสำคัญกับแนวคิดชาตินิยมไทย ผ่านการให้ความสำคัญมากที่สุดต่อโบราณวัตถุในสามยุคสมัยนี้
ในความเป็นจริง พื้นที่โถงกลางพระที่นั่งฯ มีการจัดแสดงโบราณวัตถุในยุคสมัยอื่นด้วย เช่น พระโพธิสัตว์ศิลปะศรีวิชัยจากไชยา แต่ก็เป็นเพียงส่วนน้อยมากๆ หากเทียบกับโบราณวัตถุในยุคสมัยของคนไทย
การจัดแสดงในส่วนต่อมาคือ บริเวณมุขกระสันพระที่นั่งฯ ไปจนถึงเฉลียงรอบหมู่พระวิมาน
ในส่วนนี้ถูกออกแบบให้เป็นพื้นที่จัดแสดงวัตถุที่ทำจากหิน ซึ่งก็จัดแสดงแยกออกเป็น 7 ยุคสมัยเช่นเดียวกัน ดังที่ ยอร์ช เซเดส์ อธิบายไว้ความตอนหนึ่งว่า
“…เครื่องศิลาของโบราณที่เปนชิ้นใหญ่ ยังจัดตั้งรายตามเฉลียงพระวิมานไปตลอดโดยรอบ ทางด้านใต้ เครื่องศิลาสมัยทวารวดี…สมัยศรีวิชัย…แลเครื่องศิลาฝีมือช่างขอม ได้มาแต่เมืองลพบุรีบ้าง…เมืองนครราชสิมาบ้าง…นครวัดบ้าง ทั้งเครื่องศิลาฝีมือช่างไทย ครั้งกรุงสุโขทัยบ้าง ครั้งกรุงศรีอยุธยาบ้าง แลเครื่องศิลาสมัยเชียงแสน…”
เป็นการตอกย้ำอีกครั้งให้เราเห็นชัดถึงเป้าหมายของการจัดแสดงโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนครว่าเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ใด
ไม่เพียงแค่นี้นะครับ การจัดแสดงในส่วนอื่นๆ ก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน แม้จะมิได้จัดเรียงออกเป็น 7 ยุคสมัยครบถ้วนเหมือนในพระที่นั่งอิศราวินิจฉัยและเฉลียงโดยรอบหมู่พระวิมาน
แต่การใช้คำนิยามที่กำหนดยุคสมัยโบราณวัตถุต่างๆ ตามโครงเรื่องเดียวกัน ก็เป็นเสมือนการกำหนดโครงความคิดในการมองโบราณวัตถุทั้งหมดให้แก่ผู้เข้ามาชมพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนครให้เป็นไปในกรอบเดียวกัน
เป็นกรอบการมองโบราณวัตถุและศิลปวัตถุภายใต้ความหมายชุดเดียวกันเพื่อสนับสนุนโครงเรื่องประวัติศาสตร์รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม และสนับสนุนแนวคิดชาตินิยมไทยยุคแรกเริ่ม
ประเด็นที่น่าสนใจคือ แม้ในเวลาต่อมา สังคมไทยจะเกิดการปฏิวัติ 2475 ที่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตย แต่โครงเรื่องการจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์ไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร ก็แทบจะไม่มีความเปลี่ยนแปลงอะไรเลย
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022