รักประชาธิปไตย ใส่ใจการเลือกตั้ง | คำ ผกา

คำ ผกา

คำ ผกา | รักประชาธิปไตย ใส่ใจการเลือกตั้ง

การเลือกตั้ง อบจ. ผ่านพ้นไปแล้วอย่างคึกคักมีชีวิตชีวา ฉันอยากให้เราตั้งข้อสังเกตในภาพใหญ่ก่อนว่า นี่เป็นสัญญาณที่ดีมากของการก่อร้างสร้างประชาธิปไตยในประเทศนี้ ย้อนหลังสัก 20 ปีฉันคิดว่าการเลือกตั้ง อบจ.ไม่เคยครอบครองพื้นที่ข่าวทั้งกระแสหลักกระแสรองแบบนี้มาก่อน

พูดให้เว่อร์ๆ ว่า สมัยก่อนถ้าไม่มียิงกันตาย การเลือกตั้งท้องถิ่นก็ไม่ขึ้นหน้าหนึ่งสื่อใหญ่

เมื่อสัก 20 ปีย้อนหลังไป ภาพของการเลือกตั้งท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็น อบจ. เทศบาลนคร เทศบาลเมือง เทศบาลตำบล ไปจนถึง อบต. ถูกมองว่า “ภูธร” ท้องถิ่น ประชาชนและสื่อ “ส่วนกลาง” พูดถึงพอผ่านๆ เป็นข้อมูล หรือหากจะวิเคราะห์ก็วิเคราะห์ในกรอบของการเมืองบ้านใหญ่ ว่าใครเป็นเครือข่ายของใครมากกว่าเรื่องการมีส่วนร่วมและความกระตือรือร้นทางการเมืองของประชาชน

มิไยที่นักรัฐศาสตร์อย่าง เวียงรัฐ เนติโพธิ์ จะพยายามชี้ให้เห็นถึงพลวัตของการเมืองท้องถิ่นที่ทำให้ประชาธิปไตยในระดับรากหญ้ามีพัฒนาการที่น่าสนใจรวมถึงการเปลี่ยนผ่านจากนักเลง เจ้าพ่อ ระบบอุปถัมภ์สู่การเป็นตัวแทนประชาชน มีอำนาจรัฐ มีงบประมาณอยู่ในมือ ทั้งนี้ ไม่ได้บอกว่า นักการเมืองท้องถิ่นเป็น “คนดี” แต่มันดีที่เราได้เข้าใจความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการอีกทั้งการต่อรองระหว่างการเมืองระบบอุปถัมภ์

และการสร้างเครือข่ายที่เปลี่ยนไปในแต่ละจังหวัดหรือภูมิภาคที่ไม่เหมือนกัน “ก้าวหน้า” ไม่เท่ากัน เกิดจากปัจจัยอะไรบ้าง

 

แต่ “เรื่องเล่า” กระแสหลักเกี่ยวกับการเมืองท้องถิ่นและนักการเมืองท้องถิ่นก็ยังเป็นภาพจำเรื่อง “เสาไฟกินรี” การฮั้วประมูล การคอร์รัปชั่น ยิ่งเคสยิงกันตายที่ปราจีนบุรีล่าสุดก็ตอกย้ำภาพจำเหล่านี้ให้ชนชั้นกลางในเมืองยิ่งรู้สึกว่า การเมืองมันฟอนเฟะเหลือเกินแล้ว นักการเมืองดีๆ ไม่มีที่อยู่ที่ยืน นำไปสู่การปราศรัยหาเสียงของพรรคประชาชนในเกือบทุกเวทีว่า พรรคการเมืองอื่นๆ มันเลว มันแจกเงินเช่น มุข “วันจ่าย” ของศิริกัญญา ตันสกุล ในเวทีหาเสียง อบจ. อันนำไปสู่การวางตำแหน่งแห่งที่ของพรรคส้มว่า “พรรคฉันเป็นคนดี ไม่ซื้อเสียง” พรรคอื่นเป็นคนไม่ดี เพราะใช้เงิน

แต่การเลือกตั้งนายกฯ อบจ.ปี 2568 กลายเป็น “วาระแห่งชาติ” ที่ฉันคิดว่าเกิดจาก

หนึ่ง ในรัฐธรรมนูญปี 2540 ทำให้เกิดการแข่งกันกันระหว่างพรรคใหญ่สองพรรคคือไทยรักไทยกับประชาธิปัตย์ แต่รัฐธรรมนูญ 2560 และบริบททางการเมืองหลังรัฐประหารปี 2557 ยาวมาจนถึงการเลือกตั้งปี 2562 และรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา 2 ที่ทำให้เกิดการตื่นตัวทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ที่เกิดมาก็มีชีวิตอยู่ภายใต้รัฐบาลรัฐประหาร คนเหล่านี้สามารถนิยามตัวตนของพวกเขากับพรรคการเมืองอย่างพรรคก้าวไกล/ประชาชน เพราะพูดภาษาเดียวกัน ขณะที่โหวตเตอร์พรรคเพื่อไทยที่ยังเหนียวแน่นกับพรรค ยิ่งมีคู่แข่งมาชิง “ตลาด” เดียวกันก็ยิ่งทำให้ต้องเหนียวแน่นกับพรรคเพื่อไทยมากกว่าที่เคยเป็น พร้อมกันนั้นพรรคขนาดกลางกับภูมิใจไทยก็เห็นช่องว่างทางการ “ตลาด” ที่ตัวเองสามารถขยายฐานเสียงไปได้

นั่นคือภาคใต้ที่เคยเป็นฐานเสียงของประชาธิปัตย์ทั้งหมด เพราะโหวตเตอร์กลุ่มนี้กลืนไม่ลงทั้งเพื่อไทย ทั้งก้าวไกล/ประชาชน

 

ดังนั้น ภูมิทัศน์การเมืองไทยตอนนี้จึงเป็นการแข่งขันกันระหว่าง เพื่อไทย-ประชาชน-ภูมิใจไทย และการเลือกตั้ง อบจ.ครั้งนี้คือภาพจำลองของการเลือกตั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในอีกสองปีข้างหน้า ทั้งสามพรรคจึงทุ่มเทสรรพกำลัง กลยุทธ์ในการรณรงค์หาเสียงราวกับเป็นการเลือกตั้งระดับชาติ การเลือกตั้งท้องถิ่นจึงกลายเป็นวาระระดับชาติที่สื่อกระแสหลัก สื่อส่วนกลางให้ความสำคัญเท่าๆ กับการเลือกตั้งใหญ่ ซึ่งฉันเห็นว่าเป็นพัฒนาการการเมืองไทยที่เป็นบวก หากเราเชื่อว่าความเข้มแข็งของประชาธิปไตยเกิดจากการเมืองท้องถิ่นที่เข้มแข็ง

สอง ตัวละครสำคัญของการเมืองไทยคืออดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร สวมบทบาทผู้ช่วยหาเสียงของแคนดิเดตนายกฯ อบจ. พรรคเพื่อไทย คงไม่ต้องสาธยายมากว่า ปรากฏการณ์นี้สร้างแรงกระเพื่อมในวงกว้างอย่างไร เพราะ

– ไม่มีใครคิดว่า ทักษิณจะได้กลับเมืองไทย

– ไม่มีใครคิดว่าทักษิณจะได้กลับเมืองไทยโดยมีสวัสดิภาพและอิสรภาพทั้งทางกายและทางใจ

– ไม่มีใครคิดว่าทักษิณจะได้กลับเมืองไทยโดยมีสวัสดิภาพและอิสรภาพทั้งทางกายและทางใจพร้อมกับความไฮเปอร์แอ็กทีฟทางการเมืองเหมือนคนอายุ 24 ไม่ใช่ 74

 

เมื่อทักษิณลงมาลุยเป็นผู้ช่วยหาเสียง พ่วงตำแหน่ง สทร. องคาพยพทางการเมืองอื่นๆ จึงต้องลุกขึ้นมาทำตัวไฮเปอร์แอ็กทีฟไปด้วย สภาวะการเมืองไทยตอนนี้คือ นักการเมืองทุกคน ทุกพรรคถูกกระตุ้นให้ต้องขยันไปโดยปริยาย เพราะถ้าขี้เกียจ เห็นทีจะแพ้พรรคเพื่อไทยแน่ ส่วนนักการเมืองในพรรคเพื่อไทยเองที่เคยเช้าชามเย็นชาม หากพ่อใหญ่ทักษิณทุ่มเทลงพื้นที่ช่วยขนาดนี้แล้วยังลักไก่ไม่ทำงานก็ไม่น่าจะรอด

ดังนั้น หากมองภาพใหญ่ว่า ทุกพรรคการเมืองกำลังแข่งกันทำงานอย่างหนัก สุดท้ายคนที่ได้ประโยชน์คือประชาชน หากพรรคประชาชนคิดว่ากติกาไม่เป็นธรรม ทำไมเลือกตั้งวันเสาร์ คิดว่ามีการใช้เงินซื้อเสียง สิ่งที่พรรคประชาชนต้องทำคือไปกดดัน กกต.ไปตามจับโกงการเลือกตั้ง ซึ่งหากพรรคประชาชนตามจับโกงการเลือกตั้งได้ ถามว่าใครได้ประโยชน์ คำตอบคือประชาชนได้ประโยชน์

หรือหากบ้านใหญ่ของทุกพรรคการเมืองจะขับเคี่ยวกันอย่างหนักเพื่อชัยชนะในการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะขับเคี่ยวด้วยนโยบาย ด้วยผลงาน หรือด้วยการใช้เงินไปแจกดื้อๆ ถามว่าสุดท้ายใครได้ประโยชน์ คำตอบก็ยังเป็นประชาชนอยู่ดี หากเรามีความเคารพในสติปัญญาของเพื่อนร่วมชาติ เราจะไม่มันกลัวเรื่องการซื้อเสียง เพราะฉันพูดเสมอว่า ในแต่ละครั้งของการตัดสินใจว่าจะเอาหนึ่งเสียงของเราไปให้ใครนั้น ประชาชนแต่ละคนมีเหตุผลแตกต่างกัน เหตุผลของแต่ละคนตั้งอยู่บนเงื่อนไขและต้นทุนในชีวิตที่ไม่เหมือนกัน ไม่เท่ากัน

ดังนั้น อย่าดูถูกการตัดสินใจของคนอื่นว่าต่ำต้อยกว่าตนเอง และสิ่งที่ต้องจำไว้ให้แม่นมั่นคือ การตัดสินใจในคูหาแต่ละครั้งมันเป็นภาวะ “ชั่วขณะ” และชัยชนะในการเลือกตั้งมีอายุสั้นมากนั่นคือ 4 ปี ดังนั้น อย่ากลัวการเลือกผิด เพราะไม่ว่าจะเลือกผิดหรือเลือกถูก เราจะได้เลือกใหม่เสมอทุกๆ 4 ปี และในระหว่าง 4 ปีมันคือการเรียนรู้ทางการเมืองและประสบการณ์ทางการเมืองของเราทั้งสิ้น

 

มองในภาพที่เล็กลงมา สำหรับพรรคเพื่อไทย ฉันคิดว่าคนที่หวังดีต่อพรรคเพื่อไทยต้องกล้าสะท้อนจุดอ่อนพรรคด้วยเช่นกัน เพราะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าแม้แต่ในจังหวัดเชียงใหม่พรรคก็ชนะแบบ “เหนื่อย” มาก เมื่อเทียบว่า พรรคมีทั้งอดีตนายกฯ ทักษิณ มีแพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกฯ พรรคเป็นแกนนำรัฐบาล อยู่ในสถานะที่ได้เปรียบทุกอย่าง ยังลุ้นชัยชนะกันแบบหืดขึ้นคอ ไม่นับลำพูนที่พรรคประชาชนเอาชนะไปได้แบบไม่มีอะไรให้เซอร์ไพรส์

ประการแรก การเลือกตั้ง อบจ.ครั้งนี้วาทกรรมตระบัดสัตย์ที่พรรคส้มประดิษฐ์มาเพื่อดิสเครดิตพรรคเพื่อไทย ไม่มีผลต่อการตัดสินใจ ถ้าเราสำรวจบทสนทนาของผู้คนในการเลือกตั้ง อบจ.ครั้งนี้เราจะรู้เลยว่ามีแต่ส้มฮาร์ดคอร์ หรือส้มโดยลัทธิเท่านั้นที่ท่องคำว่าตระบัดสัตย์ ดังนั้น คะแนนที่ได้มาไม่เยอะ หรือชัยชนะที่ได้มาโดยไม่ทิ้งห่าง จะมาโทษว่าเป็นเพราะโดนพรรคส้มใส่ร้ายไม่ได้อีกต่อไปแล้ว

ในฐานะคนเชียงใหม่ และคนสันทราย ฉันบอกได้เลยว่าประชาชนเลือกผู้นำในระดับท้องถิ่นจากผลงานจริงๆ และอย่ามาปฏิเสธเลยว่าตลอดหลายปีที่ผ่านมา ในหลายท้องที่ในหลายอำเภอ เราไม่เห็นนักการเมืองจากพรรคเพื่อไทยลงมาคลุกคลีหรือทำงานกับประชาชนเลย

อย่าว่าแต่ทำงาน งานบุญ งานบวชงานศพแบบพื้นๆ ที่ใช้แต่แรงงานและเวลา ก็ไม่เห็นว่าจะมีใครในนามพรรคเพื่อไทยลงพื้นที่ไปพูดคุยกับประชาชน

 

จําเคส วิทยา ทรงคำ ที่ชาวบ้านเรียกว่า วิทยา ลืมคำ ได้หรือไม่ นี่คือตัวอย่างของ ส.ส. นักการเมืองที่เห็นประชาชนเป็นของตาย ทำงานแบบเช้าชามเย็นชาม คิดว่าพรรคเพื่อไทยไม่มีวันล่มสลาย ฉันจะอาศัยบารมีพ่อใหญ่โทนี่เพื่อให้ได้มาซึ่งคะแนนเสียงจากประชาชนตลอดไป สุดท้ายก็สอบตก กรณีวิทยา ทรงคำ อย่าอ้างว่าสอบตกเพราะกระแสส้มมาแรง ต่อให้กระแสส้มมาแรงขนาดไหน ถ้าลุงวิทยาทำหน้าที่ ส.ส.อย่างขยันขันแข็ง จัดตารางพบปะชาวบ้าน ประชาชน สลับกับการทำงานในสภาให้โดดเด่น หากจะต้องสอบตกเพราะกระแส มันก็จะเป็นการสอบตกที่มีศักดิ์ศรี มีลุ้น มีคนเอาใจช่วย แต่การสอบตกของวิทยา ทรงคำ แม้แต่ “นางแบก” ก็บอกว่า “ดีแล้วที่สอบตก” เพราะเราไม่ควรไปสนับสนุนใครก็ตามที่ห่วยมากๆ เพียงเพราะเราเกลียดอีกคนมากกว่า

กรณีเชียงใหม่นั้น ปีนี้เจอน้ำท่วมไปสองครั้งใหญ่ คนเชียงใหม่ประทับใจการทำงานของรัฐบาล ของผู้ว่าฯ และของเทศบาลต่างๆ มากกว่าของ อบจ. ฉันไม่ได้บอกว่า อบจ.ไม่ทำงาน แต่ถ้าทำงานแล้วประชาชนไม่เห็น ไม่จดจำ การทำงานนั้นก็ไม่นำไปสู่คะแนนเสียงใช่หรือไม่?

ส่วนผู้สมัคร ส.อบจ. ไม่ต้องพูดถึง ที่บ้านฉัน ฉันได้ยินแต่เสียงรถแห่ของคะแนนเสียงจากพรรคประชาชน แต่ไม่ได้ยินเสียงรถแห่ใดๆ ของพรรคเพื่อไทยเลย ลองคิดดูว่า หากเราเป็นชาวบ้าน ระหว่างคนที่มาหาเราทุกวัน มาขอคะแนนเราทุกวัน กับใครก็ไม่รู้ ไม่เคยเห็นหน้า ไม่ได้ยินเสียงเลย ต่อให้พาท่านทักษิณมาปราศรัยวันเว้นเวัน มันก็ไม่ช่วยอะไร เพราะการชื่นชมเคารพอดีตนายกฯ ทักษิณก็เรื่องหนึ่ง แต่ความรักในตัวทักษิณจะไม่ทำให้เราเอาคะแนนของเราไปให้กับคนที่ไม่คู่ควร

นอกจากนี้ การเมืองท้องถิ่นถึงที่สุดแล้ว มันไม่เป็นหนึ่งเดียวกับการเมืองระดับชาติ เช่น ฉันเป็นนางแบกพรรคเพื่อไทย สนับสนุนพรรคทุกอย่างในระดับปรัชญาทางการเมือง และฉันก็สุดแสนจะ “ขี้จ๊ะ” พรรคส้มในความขี้นอกแต่อวดหลวก แต่หากตัวบุคคลที่ส่งมาทำงานการเมืองในระดับท้องถิ่นเป็นคนที่ทำงานเก่งจริงๆ พัฒนาท้องถิ่นให้มีความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีอย่างมีนัยสำคัญจริงๆ ถึงที่สุดในวันเลือกตั้ง ฉันก็จะเลือกคนที่ทำงานตอบสนองท้องถิ่นที่จับต้องได้ แม้จะสังกัดพรรคที่ฉันไม่ชอบ

 

ยกตัวอย่างเช่น นายกเทศบาลที่ฉันมีสิทธิเลือกตั้งอยู่นี้ท่านไม่สังกัดพรรคการเมืองใดเลย และผลงานดีมาก ดีแบบไร้ที่ติ และพิสูจน์ผลงานมาตลอดว่าทำแต่สิ่งที่ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ขยัน เข้าถึงง่าย งานของเทศบาลคึกคัก มีชีวิตชีวา ถนนสะอาด แม่น้ำสะอาด ไม่มีปัญหาเรื่องขยะ และสาธารณูปโภค เมื่อเขาลงเลือกตั้งอีกครั้งไม่ว่าเขาจะไปสังกัดพรรคไหน ฉันก็เลือก และหากเพื่อไทยส่งใครก็ไม่รู้มาแข่ง นางแบกเพื่อไทยอย่างฉันก็ไม่เลือก เพราะคนเราชอบรักตัวเองมากกว่ารักพรรคที่เราสนับสนุนอยู่แล้ว

เพราะฉะนั้น การบ้านสำหรับพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งปี 2570 น่าจะเป็นเรื่องของการหาตัวผู้สมัคร ส.ส. เพราะในทางอุดมการณ์และในทางนโยบายพรรคเพื่อไทยมีคู่แข่งคือพรรคประชาชน ส่วนในทางเครือข่ายบ้านใหญ่ พรรคเพื่อไทยมีคู่แข่งคือพรรคภูมิใจไทย ไม่นับว่า พรรคประชาชนเขาก็สรุปบทเรียนแล้วว่าเขาต้องมีบ้านใหญ่บ้าง และเคสที่เขาประสบความสำเร็จคือลำพูน และนครนายกที่เกือบชนะ และยังไม่นับว่า ภูมิใจไทยมีแต้มต่อตรงที่ไปกินพื้นที่ในเขตเก่าของประชาธิปัตย์มาหมดแล้ว

สภาพของพรรคเพื่อไทยจึงเหมือนแซนด์วิช ถูกประกบด้วยพรรคประชาชนที่ขายอุดมการณ์ ขายนโยบาย อีกด้านหนึ่งถูกประกบด้วยภูมิใจไทยที่ขยายความแข็งแกร่งเรื่องเครือข่ายการทำงานพื้นที่และระบบอุปถัมภ์ในแบบที่เป็นจุดแข็งเดียวกันกับพรรคเพื่อไทย ความยากของเพื่อไทยจะเพิ่มขึ้นอีกหากพรรคประชาชนลงมาเล่นเกมบ้านใหญ่ด้วยในการเลือกตั้งระดับชาติ โดยอ้างว่าเลือกเฉพาะบ้านใหญ่ที่เป็น “คนดี” หรือพรรคภูมิใจไทยที่ตอนนี้ซุ่มทำงานด้านนโยบายและการเชื่อมต่อกับคนรุ่นใหม่อย่างไม่กระโตกกระตาก

ถามฉันในฐานะนางแบกพรรคเพื่อไทย ฉันบอกได้เลยว่าหวั่นใจอย่างยิ่ง อย่างที่สุดที่เพื่อไทยจะกลายเป็นพรรคอันดับสาม!!!!

ไม่ใช่เพราะทักษิณสิ้นมนต์ขลัง แต่เพราะย่ามใจว่ามีทักษิณมาช่วย ดังนั้น แค่นอนอยู่บ้านเฉยๆ ถึงเวลาใกล้ๆ เลือกตั้งก็ขอให้อดีตนายกฯ ทักษิณมาช่วยหาเสียงแค่นี้ก็ชนะแล้ว

เพราะฉะนั้น หากพรรคเพื่อไทยมุ่งหวังจะชนะเลือกตั้ง อันดับแรกต้องเลิกคิดว่าประชาชนจะเลือกตัวเองเพราะ “ทักษิณ” ประชาชนเขารักทักษิณ แต่ความรักทักษิณจะไม่เอ่อล้นมาที่แคนดิเดต หากแคนดิเดตคนนั้นห่วย ขี้เกียจ ไม่มีผลงาน หรือทำงานแบบเดิมๆ ไม่อัพเดตกับโลกภายนอก เน้นการทำงานแบบ “เดินตามนาย”

โลกเปลี่ยนไปมาก ประชาชนไทยในวันนี้ได้รับการ empower ทางการเมืองด้านกลับจากการอยู่กับรัฐบาลประยุทธ์มาสิบปี เงื่อนไขนี้ทำให้ประชาชนหวงสิทธิ์และเสียงของตนเองมากขึ้น และไม่อยากเสียเวลากับตัวบุคคลที่ใช้การไม่ได้แม้จะมาจากพรรคที่เขารัก

 

จากการประเมินของฉัน จุดอ่อนที่สุดของพรรคเพื่อไทยน่าจะเป็นเรื่องแคนดิเดตที่เป็นตัวบุคคลที่มักเห็นพรรคเป็นของตายพอๆ กับที่เห็นประชาชนเป็นของตายแล้วไม่ทำงาน (คงต้องยกเว้นบางเคส เช่น ส.ส.ซึ่งทำงานพื้นที่เก่งมาก ขยันมากอย่าง สุรชาติ เทียนทอง ต้องแพ้การเลือกตั้งที่ผ่านมา เพราะการแบ่งเขตใหม่ของ กกต. บวกกับกระแสพรรคก้าวไกล)

และจุดแข็งที่สุดของพรรคเพื่อไทยคือการทำนโยบายที่ ณ วันนี้ ยังไม่มีใครสู้ได้

ส่วนเรื่องวาทกรรมตระบัดสัตย์นั้นจบแล้ว เลือกตั้งปี 2570 จะเกิดปรากฏการณ์ตระบัดสัตย์กันเป็นว่าเล่น รวมทั้งพรรคประชาชนก็จะเข้าขบวนข้ามขั้วด้วยแน่นอน ถึงวันนั้นคงสามารถสร้างคำอธิบายมากล่อมด้อมตัวเองได้ไม่ยาก

นั่นเป็นโจทย์ของพรรคเพื่อไทย ซึ่งพรรคอาจจะบอกว่า ไม่จริง ไม่เห็นด้วย นี่เป็นการมองจากคนนอกที่ไม่รู้กระบวนการทำงานในพรรค จริงๆ ซึ่งก็ไม่เป็นไร

 

แต่ในฐานะประชาชนที่มองผลประโยชน์ของตัวเองเหนือชัยชนะของพรรคที่ตนเองเชียร์ ฉันมองเห็นแต่ด้านบวกของทุกปรากฏการณ์ทางการเมืองในเวลานี้ ไม่ว่าจะเป็นการตื่นตัวทางการเมืองของประชาชนในการเลือกตั้งท้องถิ่น

ทุกพรรคการเมืองทำงานหนักมาก เพื่อเอาชนะใจประชาชนในแบบของตนเอง

ม็อบแบบของจตุพร พรหมพันธุ์ และพวกปลุกไม่ขึ้น

วาทกรรมล้มประชาธิปไตยขายไม่ออก

ปัญญาชน นักวิชาการ ถูกหยุมหัวเป็นว่าเล่น

เสรีภาพสื่อเต็มร้อย

ประชาธิปไตยมีเท่านี้ ทุกพรรคการเมืองต่างเป็นคู่แข่งของกันและกันและไม่ใช่ศัตรู

พรรคการเมืองที่ทำงานการเมืองแบบเห็นพรรคการเมืองเป็นศัตรู พรรคการเมืองนั้นจะเติบโตด้วยการมีความเกลียดชังและอุปสรรคเป็นอาหาร

จงระวังเรื่องนี้ให้มาก