ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 7 - 13 กุมภาพันธ์ 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | การศึกษา |
เผยแพร่ |
ในที่สุด ก็เริ่มเห็นความชัดเจน ในส่วนของการเดินหน้านโยบายแจกอุปกรณ์เสริม นักเรียนและครู ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายหาเสียงในช่วงเลือกตั้งปี 2566 ของพรรคเพื่อไทย ที่เคาะสนิมนโยบายประชานิยม จากโครงการวันแท็บเล็ตเปอร์ชายด์ หรือ 1 แท็บเล็ต 1 นักเรียน ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งถูกส่งไม้ต่อจากรัฐบาล ‘ทักษิณ ชินวัตร’…
ประสบปัญหามากมาย ไล่ตั้งแต่การจัดซื้อจัดจ้าง การคัดเลือกบริษัท คุณภาพอุปกรณ์ ไปจนถึงสัญญาณอินเตอร์เน็ตที่ไม่เสถียร ไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ รวมถึงข้อกังขาในเรื่องการทุจริต จนส่งผลให้โครงการดังกล่าวในช่วงนั้น ไม่เกิดประโยชน์เท่าที่ควร และถูกยกเลิกไปในสมัยรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในปี 2557
กว่า 10 ปีผ่านไป เพื่อไทยได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แม้ไม่ได้โควต้านั่งคุม ศธ. แต่ก็ส่งไม้ต่อให้พรรคร่วมอย่างภูมิใจไทย ที่ต้องรับมือ ดำเนินการให้เกิดประสิทธิภาพและประโยชน์สูงสุด…
ดังนั้น ในรายละเอียด “จึงต้องทำมีความแตกต่าง” นอกจากแจกอุปกรณ์เสริมแล้ว กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดย พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ยังขยายให้ครอบคลุมไปถึงการจัดทำเนื้อหา หรือคอนเทนต์เพื่อบรรจุในอุปกรณ์เสริม จัดระบบคลาวด์ จัดเก็บข้อมูลได้มากขึ้น รวมไปถึงแก้ปัญหาข้อบกพร่องเรื่องสัญญาณอินเตอร์เน็ต
“ทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้นโยบายเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา หรือ Anywhere Anytime…”
ล่าสุด คณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใต้รัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หรืออุ๊งอิ๊ง เห็นชอบโครงการส่งเสริมการศึกษาเท่าเทียมด้วยระบบดิจิทัลพัฒนาทักษะและเครดิตพอร์ตโฟลิโอ (The Digital Skill/Credit Portfolio : Empowering Educations) โดยอนุมัติงบประมาณ 4,214,738,090 บาท และโครงการจัดหาอุปกรณ์การเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมสนับสนุนการเรียนรู้ทุกที่ ทุกเวลา หรือ Anywhere Anytime งบประมาณ ระยะที่ 2 ปี งบฯ ผูกพันตั้งแต่ปี 2569-2573 จำนวน 29,765,253,600 บาท
นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) อธิบายว่า การเห็นชอบครั้งนี้เป็นการอนุมัติงบประมาณต่อเนื่อง และงบประมาณผูกพันสำหรับการแจกอุปกรณ์เสริมการสอนของนักเรียนและครู ไม่ว่าจะเป็นแท็บเล็ต โครมบุ๊ก โน้ตบุ๊ก หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ในรูปแบบเช่าใช้งาน พร้อมสัญญานอินเตอร์เน็ตคุณภาพสูง
โดยในปี 2568 ได้ขอจัดสรรเครื่องอุปกรณ์ดังกล่าวให้แก่นักเรียน จำนวนกว่า 6 แสนคน ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 ในกลุ่มโรงเรียนคุณภาพชุมชนและโรงเรียนขยายโอกาส
ส่วนปี 2569 ได้ขอจัดสรรงบประมาณไปจำนวน 2.9 หมื่นล้านบาท สำหรับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่เหลือทั้งหมด ประมาณ 1.2 ล้านคน ซึ่งในงบประมาณของปี 2569 จะขยายผลไปยังนักเรียนชั้นมัธยมต้นในโรงเรียนคุณภาพ คาดว่า จะมีเด็กและครูได้รับอุปกรณ์เสริมการเรียนการสอนรวมกว่า 1.8 ล้านคน ถือเป็นการยกระดับมาตรฐานคุณภาพการศึกษาไทยที่จะได้เห็นภาพอย่างชัดเจน
นอกจากนี้ ยังได้เห็นชอบให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ดำเนินโครงการส่งเสริมการเรียนรู้อาชีวศึกษาทุกที่ทุกเวลา งบประมาณ 3,302 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการจัดหาอุปกรณ์การเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมสนับสนุนการเรียนรู้ทุกที่ทุกเวลา 3,212 ล้านบาท สำหรับแจกให้ครูและนักเรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) 1-3 จำนวน 159,332 ราย
และโครงการผลิตสื่อวีดิทัศน์ หรือสื่อโทรทัศน์เพื่อการศึกษาอาชีวศึกษา 90,000 บาท โดยอนุมัติก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ ระยะเวลา 4 ปี (ปีงบประมาณ 2569-2572) เพื่อดำเนินโครงการเช่นกัน
สําหรับการดำเนินโครงการส่งเสริมการศึกษาเท่าเทียมด้วยระบบดิจิทัลพัฒนาทักษะและเครดิตพอร์ตโฟลิโอนั้น ถือเป็นโครงการใหม่ที่ ศธ.จัดทำขึ้นในปีงบประมาณ 2569 โดยมอบหมายให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการดำเนินงาน ซึ่งเครดิตพอร์ตโฟลิโอจะนำมาใช้กับผู้เรียนของ ศธ.ทุกสังกัด เป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลบันทึกประวัติการเรียนของเด็กตั้งแต่เริ่มเข้าสู่ระบบการศึกษาภาคบังคับ ไปจนถึงจบการศึกษาว่าเด็กแต่ละคนได้เรียนรู้อะไรบ้าง ทั้งวิชาการและวิชาชีพ หรือขาดทักษะในด้านไหน หรือมีจุดเด่น จุดด้อยทางสมรรถนะการเรียนรู้อย่างไร
“ที่สำคัญระบบดังกล่าวจะมีการจัดทำแผนที่สถานศึกษา หรือ School mapping ทำหน้าที่คล้ายครูแนะแนวชี้นำเป็นเข็มทิศด้านการเรียนรู้ให้แก่เด็ก โดยชี้นำจากสิ่งที่เด็กต้องการจะเป็นและวิเคราะห์ว่าเด็กยังขาดความรู้ด้านไหนอยู่บ้าง ซึ่งความรู้ที่ขาดก็จะเชื่อมโยงไปเรียนได้ในแพลตฟอร์มของโครงการ Anywhere Anytime
โครงการนี้จะเกิดประโยชน์กับสถานประกอบการในการค้นหาผู้เรียน เพื่อป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงานด้วย เพราะอนาคตผู้เรียนไม่จำเป็นต้องจบตามวุฒิการศึกษาแต่หากมีทักษะที่ตรงกับสถานประกอบการก็สามารถมีการจ้างงานได้ และสามารถนำมาเชื่อมโยงกับระบบธนาคารหน่วยกิตด้วยเช่นกัน” นายสุรศักดิ์กล่าว
ขั้นตอนจากนี้ ศธ.จะไปคุยกับสำนักงบประมาณ เพื่อจะบรรจุงบประมาณในส่วนนี้ในปี 2569…
ย้อนกลับไปดูการดำเนินการเรื่องดังกล่าวในช่วงที่ผ่านมา ไล่เรียงตั้งแต่ เริ่มจัดทำคอมเทนต์ แม้จะถูกตัดงบฯ ไปกว่า 4 พันล้าน แต่การดำเนินการก็ถือว่ามีความคืบหน้าไปตามลำดับ
โดยสำหรับงบฯ ปี 2567 ศธ.ได้รับงบฯ สำหรับเช่าคลาวด์และพัฒนาคอนเทนต์ ซึ่งดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างตรวจรับงาน คาดการณ์ว่าจะแล้วเสร็จตามเวลาที่กำหนด
ส่วนปีงบฯ 2568 จะเริ่มดำเนินการเช่าอุปกรณ์เสริมเพื่อแจกนักเรียนและครู โดยมีการกำหนดสเป๊กและจัดทำร่างขอบเขตงานหรือทีโออาร์เสร็จเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะเป็นแท็บเล็ต หรือโน้ตบุ๊ก เพียงแต่ขอให้เป็นไปตามสเป๊ก คุณสมบัติ ซอฟต์แวร์ภายในที่กำหนด คาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้ เหลือเพียงหารือรายละเอียดบางส่วนกับกรมบัญชีกลาง ซึ่งยังมีข้อกังวลอีกเล็กน้อย
ในส่วนของคุณสมบัติของบริษัทที่จะเข้าร่วมประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ หรืออี-บิดดิ้ง นั้น เสมา 2 ยืนยันว่า ค่อนข้างให้ความสำคัญกับมาตรฐานและคุณภาพ โดยบริษัทที่จะเข้าร่วมอี-บิดดิ้ง จะต้องเป็นบริษัทที่ได้มาตรฐาน มีผลงานและไม่เคยมีปัญหากับภาครัฐ เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและทุกอย่างต้องเป็นไปตามข้อกฎหมาย
ขณะนี้เหลือเพียงรอให้กรมบัญชีกลางให้ความไฟเขียวสเป๊กและทีโออาร์ที่เสนอไป ก็สามารถดำเนินการได้ทันที เชื่อว่าจะไม่มีปัญหา หากทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนคาดว่าจะสามารถเช่าอุปกรณ์เสริม เพื่อแจกนักเรียนได้ทันภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2568 นี้แน่นอน…
ถือเป็นโครงการใหญ่ ที่ใช้งบประมาณค่อนข้างมาก จึงทำให้สังคมจับตา โดยเฉพาะเรื่องการทุจริต ซึ่งเป็นข้อกังวลของหลายฝ่าย
ดังนั้น หากทุกขั้นตอนสามารถตอบคำถามสังคมได้ชัดเจน โปร่งใส เชื่อว่า โครงการนี้จะเป็นอีกหนึ่งโครงการดีๆ ที่จะมาช่วยพลิกโฉมการศึกษาไทย •
| การศึกษา
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022