ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 7 - 13 กุมภาพันธ์ 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | วิรัตน์ แสงทองคำ |
ผู้เขียน | วิรัตน์ แสงทองคำ |
เผยแพร่ |
ว่าด้วยทศวรรษธนาคารพาณิชย์ใหญ่ของไทย ภายใต้เครือข่ายระดับโลก
พิจารณาภาพรวมจากรายงานผลประกอบการปีล่าสุด (2567) ปรากฏว่าธนาคารใหญ่ๆ ถือได้ว่าเกาะกลุ่มกันเป็นธนาคารขนาดใหญ่ มีเพียง 5 แห่ง ให้ภาพหนึ่งซึ่งชัดเจน สะท้อนบุคลิกสังคมธุรกิจไทยมิติหนึ่ง เกี่ยวกับภาวะครอบงำโดยธุรกิจใหญ่ ซึ่งขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
เป็นภาพต่อเนื่องตลอดช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมา พิจารณาเฉพาะกำไร (โปรดดูข้อมูลประกอบ-ธนาคารใหญ่ กำไร 2567) ยกกรณีธนาคาร 4 แห่งแรก เทียบเคียงกับข้อมูลชุดเดียวกันเมื่อช่วงปี 2554-2555 เวลานั้นกำไรยังอยู่ในระดับ 20,000 ล้านบาท ส่วนธนาคารอันดับ 5 ยังอยู่ในระดับไม่ถึง 10,000 ล้านบาท
ถือได้ว่าเป็นธุรกิจที่เติบโตขึ้นอย่างมาก ว่ากันเฉพาะตัวเลข แค่ธนาคารใหญ่เพียงแห่งเดียว ก็มีกำไรมากกว่าธนาคารขนาดเล็กในระบบรวมกันทั้งหมดแล้ว
สิ่งที่ย้อนแย้งพอประมาณ โดยเฉพาะเกี่ยวกับธนาคารใหญ่ 4 แห่ง กำไรในปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นอย่างน่าสนใจ
ขณะที่บทวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจโดยธนาคารเอง กลับเป็นไปทำนอง
“ท่ามกลางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่มีแรงส่งที่จำกัดและไม่ทั่วถึง กอปรกับปัญหาด้านเสถียรภาพโครงสร้างเศรษฐกิจและหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ทำให้ศักยภาพการเติบโตของสินเชื่อและรายได้ในภาพรวมถูกลดทอนลง…” อ้างจากถ้อยแถลงธนาคารกรุงศรีอยุธยา (20 มกราคม 2568)
เป็นเรื่องหนึ่งให้ผู้คนควรสนใจ วิตกวิจารณ์กันต่อไป อาจเชื่อมโยงไปมิติอื่นๆ ทางสังคม ก็ย่อมได้
ทว่า ทีนี้ เวลานี้ให้ความสนใจธนาคารใหญ่อันดับที่ 5 ด้วยความสัมพันธ์ ว่าด้วยพัฒนาการระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ในการปรับตัวมาตลอดกว่า 2 ทศวรรษ หลังวิกฤตการณ์ทางเศรฐกิจครั้งใหญ่ ส่งผลสั่นไหวครั้งสำคัญต่อระบบธนาคารไทย โครงสร้างได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ธนาคารระดับโลกเข้ามามีบทบาทมากขึ้น จากปรากฏการณ์เกี่ยวกับธนาคารขนาดเล็กในระยะแรกๆ ไปสู่ธนาคารขนาดใหญ่
ว่าอย่างเจาะจง เป็นตอนต่อจากเรื่องเคยนำเสนอไว้ (“ธนาคารญี่ปุ่นในไทย“ มติชนสุดสัปดาห์ ปลายปี 2566) คาบเกี่ยวในวาระการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เดินหน้ามาครบทศวรรษ
โครงสร้างระบบธนาคารไทยเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ด้วยปรากฏการณ์ที่แตกต่าง เมื่อทศวรรษที่แล้ว (ปลายปี 2556) เมื่อธนาคารยักษ์ใหญ่แห่งญี่ปุ่น เข้ามาถือหุ้นใหญ่ที่สุดอย่างเบ็ดเสร็จ เป็นดีลธนาคารขนาดใหญ่ที่สุดกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา
MUFG กลุ่มธนาคารอันดับหนึ่งแห่งญี่ปุ่น เข้ามาถือหุ้นธนาคารกรุงศรีอยุธยา (มักเรียกกันสั้นๆ ว่า ธนาคารกรุงศรี) ในสัดส่วนข้างมากที่สุด ข้อมูลล่าสุด (อ้างอิงจาก Fact sheet ของธนาคารเองระบุว่า MUFG Bank ถือหุ้นใหญ่ที่สุดในสัดส่วน 76.88%) ที่น่าสนใจ แม้ไม่ได้เปลี่ยนชื่อ แต่เติมข้อสำคัญไว้โลโก้ว่า “A member of MUFG, a global financial group” (เท่าที่สังเกตมีมาตั้งแต่ปี 2558)
ที่น่าสังเกตต่ออีก ทุกครั้งที่มีถ้อยแถลงอย่างเป็นทางการ มักแถมท้ายด้วยข้อมูลพื้นฐาน เกี่ยวกับ MUFG ไว้
“…เป็นหนึ่งในกลุ่มสถาบันทางการเงินชั้นนำระดับโลก มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ ณ กรุงโตเกียว ด้วยประวัติศาสตร์อันยาวนานในการดำเนินธุรกิจกว่า 360 ปี มีเครือข่ายสำนักงานราว 2,000 แห่ง ในกว่า 40 ประเทศทั่วโลก และมีพนักงานกว่า 120,000 คน MUFG นำเสนอบริการทางการเงินที่หลากหลายครอบคลุมทั้งธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ทรัสต์แบงกิ้ง ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจบัตรเครดิต ธุรกิจสินเชื่อเพื่อรายย่อย ธุรกิจหลักทรัพย์จัดการกองทุน ธุรกิจเช่าซื้อ…MUFG จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์โตเกียว ตลาดหลักทรัพย์นาโกยา และตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก…”
จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญเปิดฉากขึ้นกลางปี 2556 เมื่อ MUFG เข้าถือหุ้นใหญ่ที่สุดในธนาคารกรุงศรี
ถือเป็นดีลใหญ่ที่สุดในระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ทั้งในแง่สัดส่วนถือหุ้นและเงินลงทุน
นับได้ว่า ตั้งแต่ต้นปี 2558 ธนาคารกรุงศรียุคใหม่เกิดขึ้น เมื่อได้ควบรวมกับ BTMU สาขากรุงเทพฯ (วางรากฐานในสังคมไทย มาจาก Yokohama Specie Bank ตั้งแต่ปี 2479) ภาพยุทธศาสตร์ที่จับต้องได้อย่างหนึ่งต่อจากนั้น คือความพยายามขยายเครือข่ายระดับภูมิภาคอย่างเป็นจังหวะ
เปิดสำนักงานตัวแทนที่ประเทศเมียนมา (2558) แรกๆ ดูเป็นภาพต่อ คาบเกี่ยวก่อนหน้านั้นในการบุกเบิกธุรกิจเช่าชื้อและไมโครไฟแนนซ์ใน สปป.ลาว (2557) แผนการเป็นเรื่องเป็นราวมากขึ้นเมื่อขยายเครือข่ายสู่ประเทศกัมพูชา ด้วยการเข้าซื้อกิจการไมโครไฟแนนซ์ (2559) ต่อมาสักพัก (ปี 2563) กิจการนั้นได้ยกระดับเป็นธนาคารพาณิชย์
จากนั้นได้เข้าซื้อกิจการสินเชื่อผู้บริโภคชั้นนำ ในประเทศอินโดนีเซีย (2565) ดีลนี้มีฐานลูกค้าในอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 6 ล้านราย และมีเครือข่ายสาขาครอบคลุมทั่วประเทศ ในปีเดียวกันสร้างเครือข่ายธุรกิจในประเทศฟิลิปปินส์
ทั้งนี้ ที่สังเกตเครือข่ายธุรกิจในภูมิภาคส่วนใหญ่ให้ความสำคัญ ธุรกิจสินเชื่อผู้บริโภค (Consumer Finance)
ความเคลื่อนไหวเชิงยุทธศาสตร์ข้างต้น เป็นไปตามแบบแผนธุรกิจธนาคารกรุงศรี ดูมีความแตกต่างจากธนาคารใหญ่ไทยอยพอสมควร เมื่อมองผ่านดัชนีที่สำคัญๆ ในฐาน “ผู้นําธุรกิจสินเชื่อบุคคล สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ และบัตรเครดิต และโดยมีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดที่ 25%, 23% และ 15% ตามลําดับ” (จาก Fact Sheet)
เมื่อพิจารณาโครงสร้างสินเชื่อของธนาคารกรุงศรี จะพบว่ามีความหลากหลาย โดยให้ความสำคัญกับรายย่อย (Retail) เป็นพิเศษมีสัดส่วนมากที่สุดถึง 47% รองลงไปเป็นธุรกิจไทย (24%) ธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (18%) และบริษัทญี่ปุ่น/บริษัทข้ามชาติ (11%) ตามลำดับ (อ้างจาก Presentation, September 2024)
ทั้งนี้ทั้งนั้น สอดคล้องกับข้อมูลพื้นฐาน (คัดมาบางตอน)
“…สาขาธนาคารกว่า 572 สาขา (เป็นสาขาที่ให้บริการทางการเงินในรูปแบบปกติ 532 สาขา และสาขาที่ให้บริการเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ 40 สาขา) และช่องทางการขายกว่า 32,458 แห่งทั่วประเทศ นอกจากนี้ เป็นผู้ออกบัตรเครดิตรายใหญ่ที่สุดของประเทศ โดยมีจำนวนบัญชีบัตรเครดิตและสินเชื่อเพื่อการผ่อนชำระ/สินเชื่อส่วนบุคคลมากกว่า 10.1 ล้านบัญชี…ทั้งยังเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจสินเชื่อเพื่อผู้มีรายได้น้อย”
เรื่องราวธนาคารกรุงศรี มีตำนานที่ตื่นเต้น ก่อตั้งมาเกือบศตวรรษ ณ เมืองหลวงเก่าของไทย ช่างบังเอิญปัจจุบันเป็นที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง ในนั้นมีเครือข่ายการผลิตธุรกิจญี่ปุ่นหลายร้อยแห่งอยู่ด้วย เชื่อว่าบทบาทธนาคารใหญ่อันดับ 5 มีความสำคัญไม่น้อยในภาพใหญ่ ในแง่ยุทธศาสตร์ธุรกิจให้ภาพกว้าง กับบทบาทที่เป็นไป
ด้านหนึ่งอาจสร้างแรงกดดัน อีกด้านหนึ่งเป็นบทเรียนอ้างอิง ให้กันธนาคารใหญ่ไทยดั้งเดิมและสังคมธุรกิจไทยด้วย •
วิรัตน์ แสงทองคำ | www.viratts.com
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022