A Verse for Nights สำรวจเส้นทางแห่งกาลเวลา ผ่านวัตถุหลากยุคสมัย

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

A Verse for Nights

สำรวจเส้นทางแห่งกาลเวลา

ผ่านวัตถุหลากยุคสมัย

 

ในตอนนี้เราขอนำเสนอเรื่องราวของศิลปินที่ร่วมแสดงงานในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024 กันอีกครา คราวนี้เป็นคิวของศิลปินผู้มีชื่อว่า ดุษฎี ฮันตระกูล ศิลปินร่วมสมัยชาวไทย ผู้ทำงานในสื่ออันหลากหลาย ทั้งจิตรกรรม, ประติมากรรม, เซรามิก ภาพวาดลายเส้น, ภาพถ่าย, ศิลปะสื่อผสม, ศิลปะจัดวาง, ภาษาและวรรณกรรม

ผลงานของเขาเป็นการจับคู่เปรียบระหว่างวัตถุในประวัติศาสตร์และความทรงจำ ความเหมือนและไม่เหมือนจริง ความประณีตจริงจังและความอิสระเสรีได้อย่างสนุกสนานและน่าสนใจ

เนื้อหาในผลงานของเขายังครอบคลุมประเด็นทางโบราณคดี, มานุษยวิทยา, ประเด็นทางสังคมวัฒนธรรม และการสังเกตระบบนิเวศพื้นฐานในเมืองใหญ่

หลังจากสำเร็จการศึกษาปริญญาโทสาขาวิจิตรศิลป์ จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ในปี 2013 ดุษฎีเลือกที่จะใช้กระบวนการทำงานเซรามิก และเทคนิคทางศิลปะอันหลากหลาย เพื่อสร้างพื้นที่ทางศิลปะอันแปลกใหม่ที่ได้แรงบันดาลใจจากสิ่งที่พบเห็นในชีวิตประจำวัน และประสบการณ์ที่เคยได้รับมาในชีวิต

ผลงานของเขาโดดเด่นด้วยแนวคิดอันลึกซึ้งละเมียดละไม เกี่ยวกับการพยายามทำความเข้าใจสิ่งมีชีวิตรอบๆ ตัว เพื่อสำรวจความเป็นไปได้ของชีวิต ท่ามกลางความรีบเร่งของสังคมเมืองในยุคปัจจุบัน

ในเทศกาลศิลปะ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ครั้งนี้ ดุษฎีนำเสนอผลงาน A Verse for Nights ที่จัดแสดงภายในพื้นที่ของ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ทางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เปิดโอกาสให้มีการเข้าไปใช้พื้นที่แสดงงาน และอนุญาตให้หยิบยืมศิลปวัตถุและโบราณวัตถุในคลังสะสมของพิพิธภัณฑ์มาจัดแสดงร่วมกับงานศิลปะร่วมสมัยในนิทรรศการ รวมถึงจัดแสดงร่วมกับผลงานชุดนี้ของดุษฎีอีกด้วย

ผลงานศิลปะที่ใช้สื่อหลากหลายประเภทของดุษฎี ถูกจัดแสดงภายในตู้จัดแสดงโบราณวัตถุของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ทั้งผลงานประติมากรรมทองเหลืองรูปชิ้นส่วนของมือที่ชำรุดแตกหัก, ถุงมือที่มีไข่นกกระทาติดเป็นพรืด, กิ่งไม้แห้ง และ กอหน่อไม้ วางเรียงเคียงข้างกับโบราณวัตถุของพิพิธภัณฑ์อย่าง ภาชนะดินเผา และกำไลสำริด ที่ค้นพบในแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง แหล่งมรดกทางวัฒนธรรมยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ความบังเอิญที่น่าสนใจก็คือ ในนิทรรศการครั้งก่อนๆ ดุษฎีเคยทำงานวาดเส้นที่ได้แรงบันดาลใจจากภาพถ่ายกำไลสำริดในยุคบ้านเชียง ที่มีต้นแบบมาจากกำไลตัวจริงที่อยู่ในคอลเล็กชั่นของพิพิธภัณฑ์ศิลปะ Los Angeles County (LACMA) ในลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา ที่เปิดให้คนทั่วไปดาวน์โหลดแบบสาธารณะ

ดุษฎีสนใจกำไลเหล่านี้ตรงที่อารยธรรมบ้านเชียงนั้นเป็นสังคมเพาะปลูกสังคมแรกๆ ของโลก และกำไลเหล่านี้ก็เป็นเครื่องแต่งกายที่ใช้บอกสถานภาพ ตัวตน และชนชั้นของผู้สวมใส่ และด้วยความที่กำไลเหล่านี้เป็นงานฝีมือที่ช่างฝีมือในยุคก่อนประวัติศาสตร์ทำขึ้นมา ดุษฎีจึงหยิบเอามาทำซ้ำด้วยวิธีการเชิงช่างที่ต่างกัน ซึ่งก็คือการเอาภาพเหล่านี้มาให้คนวาดขึ้นใหม่ เพื่อทำให้กลายเป็นวัตถุร่วมสมัยที่มีชีวิตอยู่ได้ในยุคปัจจุบัน

ดังนั้น การแสดงผลงานประติมากรรมดินเผาของดุษฎีร่วมกับภาชนะดินเผาและกำไลสำริดในยุคบ้านเชียง นอกจากจะเป็นการสร้างบทสนทนาข้ามกาลเวลาระหว่างโบราณวัตถุในยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่สร้างขึ้นโดยช่างยุคโบราณกับศิลปวัตถุที่สร้างขึ้นโดยศิลปินร่วมสมัยในยุคปัจจุบันแล้ว ยังเป็นการเติมเต็มความฝันและแรงบันดาลใจในอดีตของตัวศิลปินเองอีกด้วย

ที่น่าสนุกก็คือ ผลงานศิลปะร่วมสมัยของดุษฎีถูกจัดแสดงคละเคียงไปกับโบราณวัตถุของพิพิธภัณฑ์อย่างแนบเนียน จนทำให้ผู้ชมอาจแยกไม่ออกว่าชิ้นไหนเป็นงานศิลปะร่วมสมัยในยุคปัจจุบัน หรือชิ้นไหนเป็นโบราณวัตถุในยุคก่อนประวัติศาสตร์กันแน่

และถ้าโบราณวัตถุในยุคก่อนประวัติศาสตร์ยังไม่เก่าพอ ดุษฎียังพาเราเดินทางย้อนเวลากลับไปยังยุคดึกดำบรรพ์ ในอีกตู้จัดแสดงหนึ่ง ด้วยการจัดแสดงผลงานของเขาร่วมกับฟอสซิล หรือซากดึกดำบรรพ์ของสัตว์ทะเลอายุนับล้านปี และซากกระดูกมนุษย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์

ผลงานศิลปะเซรามิกรูปเปลือกหอย ซึ่งหล่อจากเปลือกหอยต้นแบบที่ศิลปินเก็บจากชายหาดเมืองพัทยา ที่แทบจะดูเหมือนเปลือกหอยของจริงอย่างไม่ผิดเพี้ยน เปลือกหอยเหล่านี้ที่เก็บมาจากชายหาดที่ถึงแม้จะมีอายุเก่าแก่มากกว่าร้อยปี แต่ก็ยังอ่อนเยาว์นัก เมื่อเทียบกับซากสิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์และกระดูกมนุษย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่จัดแสดงอยู่เคียงข้าง บนผนังเหนือฟอสซิลและประติมากรรมเซรามิกยังมีภาพวาดลายเส้นฝีมือลูกชายวัยหกขวบของดุษฎีจัดแสดงอยู่ด้วยอย่างน่ารักน่าชัง

นอกจากการสำรวจอารยธรรมก่อนประวัติศาสตร์และสิ่งมีชีวิตในยุคดึกดำบรรพ์แล้ว ดุษฎียังเล่นกับอุปนิสัยในการสำรวจค้นหาของมนุษย์ในผลงานอีกชุดในอีกตู้แสดงงาน โดยเป็นการสำรวจสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญานอกโลก ด้วยภาพวาดลายเส้นดินสอสี ที่คัดลอกจากภาพถ่ายหลักฐานการค้นพบ วัตถุบินที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้ (Unidentified Flying Object) (UFO) หรือที่เรียกกันในยุคปัจจุบันว่า ปรากฏการณ์ทางอากาศที่ไม่สามารถอธิบายได้ (Unidentified Aerial Phenomena) (UAP)

ที่น่าสนใจก็คือ ภาพวาดเหล่านี้ถูกจัดแสดงเหนือประติมากรรมเซรามิกรูปร่างคล้ายมนุษย์หน้าตาท่าทางแปลกประหลาดน่าพิศวง ที่ได้แรงบันดาลใจจากหุ่นปั้นฮานิวะ (Haniwa) ซึ่งถูกค้นพบในสุสานโบราณของญี่ปุ่น ดูๆ ไปก็คล้ายกับรูปปั้นดินเผาลึกลับในยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่ถูกสงสัยว่าเป็นหลักฐานการมาเยือนของมนุษย์ต่างดาวในยุคโบราณเมื่อหลายหมื่นปีที่แล้วอย่างมีนัยยะสำคัญ

แถม UFO หรือที่เราเรียกกันว่า “จานบิน” ก็มีหน้าตาเหมือน “จานข้าว” ที่ถูกทำขึ้นได้โดยแป้นหมุนเซรามิก ดังนั้น เทคโนโลยีที่ใช้ในการปั้นจานข้าว ก็อาจจะกระตุ้นให้เราจินตนาการไปถึงเทคโนโลยีต่างดาวอันไกลโพ้นที่สามารถเดินทางข้ามจักรวาลได้ด้วยเช่นกัน

ภายในตู้จัดแสดงเดียวกันยังมีประติมากรรมรูปกองดินสอสี ที่ทำให้ผู้ชมอย่างเราเชื่อมโยงไปถึงภาพวาดลายเส้นดินสอสีที่จัดแสดงบนผนังตู้ได้อย่างน่าสนุก และถ้าเราสังเกตดูดีๆ เราจะเห็นขี้จิ้งจกติดแหมะอยู่บนงานประติมากรรมในตู้หลายชิ้น เหมือนมีจิ้งจกตัวดีมาแอบขี้ทิ้งเอาไว้บนงานของเขา ซึ่งขี้จิ้งจกที่ว่านี้ก็ไม่ใช่ขี้จิ้งจกจริงๆ แต่อย่างใด หากแต่เป็นประติมากรรมขนาดจิ๋วรูปขี้จิ้งจกที่ทำขึ้นจากเซรามิกต่างหาก!

“เหตุผลที่มีขี้จิ้งจกวางแหมะอยู่บนงาน เพราะจิ้งจกเป็นสัตว์ที่อยู่ร่วมกับเรา เป็นตัวแทนของวงจรชีวิตในบ้าน จิ้งจกไม่ใช่สัตว์เลี้ยง แต่มันก็อยู่ร่วมกับมนุษย์ได้ และใช้ชีวิตร่วมกับวิวัฒนาการมนุษย์มาโดยตลอด ผมชอบขี้จิ้งจก เพราะดีไซน์มันสวย สีขาวกับดำ ดูเป็นมินิมอลแบบกวนตีนดี เราก็เลยลองปั้นออกมาเป็นเซรามิก พอทำเสร็จ วันรุ่งขึ้นก็มีจิ้งจกมาขี้ข้างๆ งานชุดนี้เต็มไปหมด ผมก็รู้สึกว่าเรากับจิ้งจกกำลังคุยกันอยู่ เหมือนมันมาบอกว่า ‘นี่เป็นถิ่นหากินของกู รู้หรือเปล่า? มึงอย่ามายุ่ง!’ เป็นการทำความเข้าใจถึงวงจรชีวิตในอีกรูปแบบหนึ่ง”

ความมินิมอลที่ว่านี้ยังเชื่อมโยงไปกับแท่นวางผลงานอันเรียบง่ายไร้การประดับประดา ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากผลงานเฟอร์นิเจอร์ศิลปะในรูปชั้นวางของ ของ โดนัลด์ จัดด์ (Donald Judd) ศิลปินชาวอเมริกันตัวพ่อแห่งกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะ มินิมอลลิสม์ (Minimalism) อยู่ไม่น้อย

ดุษฎียังสร้างความเชื่อมโยงที่น่าสนใจว่า ในช่วงยุค 60s ระหว่างที่สหรัฐอเมริกาส่งทหารไปรบในสงครามเวียดนาม ในช่วงเวลาเดียวกัน ชาวอเมริกันก็ขุดพบแหล่งอารยธรรมบ้านเชียงในประเทศไทย ในขณะเดียวกับที่ศิลปินอเมริกันกำลังริเริ่มกระแสเคลื่อนไหวมินิมอลลิสม์ในสหรัฐอเมริกา นั่นหมายความว่าเมื่อมองในมุมกว้าง กระแสเคลื่อนไหวมินิมอลลิสม์, การค้นพบอารยธรรมบ้านเชียง และสงครามเวียดนาม นั้นมีความเชื่อมร้อยระหว่างกันอยู่ด้วยกาลเวลานั่นเอง

ด้วยรายละเอียดอันประณีต พิถีพิถัน หากเต็มไปด้วยความอิสรเสรีไร้กฎเกณฑ์ และความหมายซ่อนเร้นอันลึกซึ้งแหลมคม แต่เปี่ยมไหวพริบและอารมณ์ขันชวนหัวในผลงานชุดนี้ของดุษฎี ที่บอกเล่าเรื่องราวของวิวัฒนาการมนุษย์และสิ่งมีชีวิตต่างๆ ที่ข้ามผ่านกาลเวลานับล้านปีจวบจนปัจจุบัน นั้นทำหน้าที่ไม่ต่างอะไรกับเครื่องมือที่กระตุ้นให้ผู้ชมอย่างเรา กลับมาครุ่นคิดว่า ที่ทางของมนุษย์อย่างเรา นั้นอยู่บนตำแหน่งแห่งหนใดบนเส้นเวลาของประวัติศาสตร์อันยาวนานเช่นนี้ และเรามีเป้าหมายอะไรต่อไปกันแน่? เพราะท้ายที่สุดแล้ว วัตถุสิ่งของธรรมดาๆ หรือแม้แต่การกระทำใดก็ตามของเราในวันนี้ ก็จะกลายเป็นอารยธรรมโบราณให้ผู้คนได้สำรวจค้นหาในอนาคตเช่นเดียวกัน

ผลงาน A Verse for Nights โดย ดุษฎี ฮันตระกูล จัดแสดงในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ตรวจสอบรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.bkkartbiennale.com/

ขอบคุณภาพจากศิลปิน ดุษฎี ฮันตระกูล, BAB 2024 •

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์