เสี้ยวดอกขาว ผักยืนต้น กลิ่นหอม

มกราคม-กุมภาพันธ์ เป็นเวลาออกดอกงดงามและกลิ่นหอมของต้นเสี้ยวดอกขาว ที่คนทั่วไปรู้จักว่าเป็นไม้ประดับและนิยมนำมาเป็นต้นไม้จัดสวน แต่ประโยชน์ด้านอาหารและยาสมุนไพรนั้น ต้นเสี้ยวดอกขาวมีความโดดเด่นเช่นกัน

เสี้ยวดอกขาว จัดเป็นผักชนิดหนึ่งด้วยนิยมนำมาทำอาหารกินได้ทั้งใบ ดอกและผล จะเรียกว่าเป็น “ผักยืนต้น” ก็ไม่ผิดเพราะเสี้ยวดอกขาวเป็นไม้ยืนต้นสูงถึง 10-25 เมตรทีเดียว ผลัดใบ เป็นใบเดี่ยวออกสลับ กว้าง กลม เป็นสองซีกแบบใบชงโค โคนเว้ารูปหัวใจ ดอกสีชมพูอ่อนหรือสีขาว กลีบตั้งมีเส้นริ้วในสีเหลืองแดงชัดเจน มีกลิ่นหอม กลีบดอก 5 กลีบ ผล (ฝัก) ยาวเมื่อแก่จะแตกออกได้

เสี้ยวดอกขาว มีชื่อท้องถิ่น เช่น เปียงพะโก เสี้ยวดอกขาว (ภาคเหนือ) โพะเพ่ (กะเหรี่ยง) เสี้ยว (ภาคอีสาน) ชื่อสามัญในภาษาอังกฤษ Mountain Ebony หรือ St. Thomas Tree มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Bauhinia variegata L. ถ้าสืบสาวต้นทางก็พบว่าเป็นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในอัสสัม บังกลาเทศ จีนตอนใต้ แถบหิมลายาตะวันออก อินเดีย ลาว เมียนมา เนปาล ปากีสถาน ปานามา เวียดนาม และก็มีต้นกำเนิดในไทยด้วย ถ้าใครนิยมชมไพรก็จะพบมากตามป่าเบญจพรรณภาคเหนือและภาคตะวันตกเฉียงใต้ ภาคอื่นๆ ก็น่าจะพบเช่นกัน

ที่สำคัญช่วงเวลานี้เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์จะออกดอกให้เชยชมและนำมากินได้

 

ในวัฒนธรรมร่วมทั้งสิบสองปันนา อินเดีย ลาว ไทย ใช้ส่วนของดอกเป็นอาหาร โดยนำดอกไปต้มแล้วเอามาผัดกิน หรือนำมา “ยำดอกเสี้ยว” หรือ “ชุบแป้งทอด” ส่วนยอดอ่อนทำแกง เช่น ใส่ในแกงหน่อไม้ ที่จริงทั้งดอกและใบอ่อนก็นำมาแกงได้ บางคนชอบแนวกินกับน้ำพริกก็จะนำใบอ่อนและฝักอ่อนมาต้มกินเป็นผักเคียงได้อร่อย บางคนก็นำมาทำดองกับเกลือกินได้อีกรสชาติหนึ่ง เมล็ดก็กินได้

ในอินเดียและเนปาล มีเมนูอาหารอย่างหนึ่งที่เรียกว่า “อาชาร์” (achaar) จะนำดอกบานและดอกตูมของต้นเสี้ยวดอกขาวมาต้มรวมกัน (ต้มไม่นาน) แล้วนำไปผสมกับมันฝรั่งต้มบดหยาบ พริกเขียวสับ หัวหอมสับ ถั่วลันเตาสด ใบผักชี และเครื่องเทศ เช่น ทิมมูร์ เกลือ พริกไทย ผงขมิ้น ผงงาคั่ว ผงยี่หร่า และผงผักชี จากนั้นเติมน้ำมันมัสตาร์ดที่อุ่นแล้วและเมล็ดลูกซัด (Fenugreek) ซึ่งเป็นถั่วชนิดหนึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Trigonella foenum-graecum L. ลงไปในส่วนผสม แล้วเติมน้ำมะนาวหรือน้ำมะนาวเข้มข้น ปรุงรสตามใจชอบ จากนั้นจึงเสิร์ฟอาชาร์ทันที

อาชาร์เป็นส่วนสำคัญของอาหารที่เสิร์ฟในช่วงเทศกาลโกเด จาตรา (Ghode Jatra festival) หรือเทศกาลม้า (Horses Festival) ของเนปาล

ในด้านประโยชน์สมุนไพรกล่าวถึงสรรพคุณทางยาว่า ดอกใช้เป็นยาดับพิษไข้ ฝักแก่มีรสหวาน ใช้เป็นยาถ่าย ยาระบาย จึงเหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการท้องผูกเป็นประจำ เปลือกมีสารฝาดแทนนิน (tannin)

สำหรับทางการแพทย์พื้นบ้านโดยเฉพาะที่อินเดีย มีการนำเปลือกปรุงในยาหลายชนิด เช่น บำรุงร่างกาย ขับพยาธิ สมานแผล โดยนำเปลือกมาทุบให้แหลกใช้พอกแผลสด และยังใช้รักษาโรคผิวหนังรวมทั้งโรคเรื้อนด้วย นอกจากนี้ น้ำคั้นจากเปลือกใช้เป็นยาแก้อาการท้องร่วงที่เกิดจากเชื้ออะมีบา และบรรเทาโรคอาการกระเพาะอาหารที่ทำงานผิดปกติ หรือจะใช้ส่วนของตาอ่อนหรือรากนำมาต้มน้ำแก้อาการอาหารไม่ย่อย ใช้เป็นยาบำรุงธาตุ โรคหืดและฝี ดอกแห้งใช้รักษาโรคริดสีดวงทวาร บิด ท้องเสีย พยาธิ และโรคกระเพาะอื่นๆ รากยังใช้แก้พิษงู

ในตำราอายุรเวทกล่าวไว้ว่า ยาต้มจากเสี้ยวดอกขาวช่วยในการทำความสะอาดและรักษาบาดแผล รักษาโรคผิวหนังและอาการอักเสบ เปลือกต้นนำมาบดเป็นยาพอกสามารถใช้รักษาโรคต่อมน้ำเหลืองอักเสบได้ ยาต้มที่ทำจากเปลือกเสี้ยวดอกขาวร่วมกับฝักของต้นหมากฝรั่งอาหรับหรือกระถินหนาม (มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Vachellia nilotica (L.) P.J.H.Hurter & Mabb.) และดอกทับทิม ใช้กลั้วคอสำหรับรักษาโรคในช่องปาก

และในตำรายาอายุรเวทมีการกล่าวถึงยาต้มเสี้ยวดอกขาวนำมาใช้ในอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศด้วย

 

ทางการแพทย์พื้นบ้านของเนปาลมีการใช้คล้ายๆ กับการแพทย์พื้นบ้านอินเดีย แต่ที่อินเดียมีการศึกษาวิจัย เมื่อปี ค.ศ.2013 พบว่าสารสกัดด้วยอะซีโตนและเมทานอลจากเปลือกไม้ของเสี้ยวดอกขาว สามารถยับยั้งเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิด และพบว่าการศึกษาในระดับสัตว์ทดลองมีฤทธิ์ยับยั้งการอักเสบ มีฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็ง ป้องกันการเกิดมะเร็งตับในหนูทดลอง ในปัจจุบันเริ่มมีการศึกษาเพิ่มขึ้นแสดงให้เห็นว่าสารสกัดจากใบเสี้ยวดอกขาว มีสารไฟโตเคมีคัลหลายชนิดที่มีฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย และความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระได้อย่างมีประสิทธิภาพที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับพืชอื่นๆ อีกหลายชนิด จึงมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็ง

เสี้ยวดอกขาวปลูกสวยงามแล้วยังเป็นผักยืนต้นกินได้ยาวๆ เป็นอาหารเพื่อสุขภาพ เป็นสมุนไพร และเป็นต้นไม้ส่งเสริมระบบนิเวศเนื่องจากเป็นพืชที่ปลูกแล้วจะดึงดูดแมลง เช่น ในไทยจะมีผีเสื้อชนิดหนึ่ง ที่คล้ายๆ นกฮัมมิ่งเบิร์ด (ไม่มีในไทยเป็นนกขนาดเล็กมาก) หรือนกตัวเล็กในไทย เช่น นกกินปลี ก็จะมากินน้ำหวาน จึงช่วยรักษาสมดุลในระบบนิเวศ คิดจะเพิ่มพื้นที่สีเขียว ให้นึกถึงเสี้ยวดอกขาวกันด้วย

 

สมุนไพรเพื่อสุขภาพ | โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งพาตนเอง

มูลนิธิสุขภาพไทย www.thaihof.org