กินลม ชมเกาะ (4)

ญาดา อารัมภีร

เนื่องจากว่าที่พ่อตาและแม่ยายต่างฝ่ายต่างตกลงกับว่าที่เขยจีนและเขยไทยโดยไม่ปรึกษาหารือกันก่อน เหตุการณ์จึงเป็นดังที่ “นิราสตังเกี๋ย” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ) เล่าว่า

“ตาบ้องไล่จะส่งกับองค์เจ๊ก หางเปียเล็กรวยอู๋กินหมูหัน

ยายรำพึงก็จะให้เจ้าลายพลัน จำเพาะวันเดียวพ้องถึงสองคน”

เมื่อเกิดเหตุขัดแย้งขึ้นอย่างไม่คาดคิด ทำเอาตาบ้องไล่ (ตาม่องล่าย) และยายรำพึงจนปัญญาหมดทางแก้ไข

“ไม่ตกลงงงอยู่จึ่งรู้เรื่อง ตาก็เคืองยายก็แค้นกว่าแสนหน

ต้องค้างค้านการวิวาห์เข้าตาจน ลงนั่งบ่นพึมพำกรรมของกู”

 

แม้สองตายายจะผิดหวังคั่งแค้นแค่ไหน ก็ไม่อาจเทียบได้กับหลากหลายอารมณ์ความรู้สึกของสองหนุ่มที่ประดังพรั่งพรูออกมาไม่หยุดยั้ง

นอกจากจะผิดหวัง ยังกลัดกลุ้มรุ่มร้อนใจ อับอายขายหน้า เคียดแค้นชิงชังอีกฝ่ายหนึ่งจนตัดสินใจปะทะกันด้วยกำลังทั้งหมดที่มีอยู่

“๏ ฝ่ายเจ้าจีนเจ้าลายโดนรายนึก พอรู้สึกกำสรดแสนอดสู

เมื่อดักลันปลาไหลมาได้งู มีศัตรูเพราะผู้หญิงต้องชิงนาง

ก็ต่างคนต่างเหี้ยมเตรียมทหาร จะรบราญเจ้าบุรีที่มีหาง” (หาง = หางเปีย)

ตาบ้องไล่ (ตาม่องล่าย) จึงแก้ไขสถานการณ์มิให้ลุกลามใหญ่โตด้วยการที่

“ตาบ้องไล่ให้ขยั้นเข้ากั้นกาง พูดเปนกลางว่าอย่าแย่งจะแบ่งปัน”

หนึ่งหญิง สองชาย จะแบ่งกันอย่างไร ใครๆ ก็คาดไม่ถึงว่าวิธีแก้ปัญหาของตาบ้องไล่ (ตาม่องล่าย) จะนำไปสู่จุดจบสะเทือนขวัญ

“ฉวยลูกสาวฉีกกลางขว้างให้เขย มันตกเลยอยู่เปนเกาะจำเพาะขัน

เรียกว่าเกาะนมสาวเท่าทุกวัน อยู่ฟากจันทบุรีมีพยาน

อีกซีกหนึ่งไปถึงตวันตก อดห่อหมกบ่าวสาวทั้งคาวหวาน”

ตาบ้องไล่ (ตาม่องล่าย) คว้าตัวลูกสาวสุดที่รักมาฉีกร่างออกจากกันเป็นสองซีก ซีกหนึ่งขว้างไปทางเมืองจีน กลายเป็น “เกาะนมสาว” ใน จ.จันทบุรี (ปัจจุบันอยู่ที่ ต.บางกะไชย อ.แหลมสิงห์ จ.จันทบุรี)

อีกซีกหนึ่งขว้างไปทางทิศตะวันตก กลายเป็น “เกาะนมสาว” ใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ (ปัจจุบันอยู่ที่ ต.สามร้อยยอด อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์)

เป็นอันว่า ทั้งเขยจีนเขยไทย ‘สวรรค์ล่ม’ ด้วยน้ำมือว่าที่พ่อตานี่เอง

 

ทันทีที่เจ้าลายเห็นนางโดย (ยมโดย) สาวสวยกลายเป็น ‘ศพ’ ไปต่อหน้าต่อตา หนุ่มไทยทำใจไม่ได้เลยตายตามในที่สุด

“เจ้าลายเห็นศพโศกโรคบันดาล ไม่กลับบ้านเลยตายในสายชล

เดี๋ยวนี้ยังเปนเขานอนยาวเหยียด ไม่น่าเกลียดเหมือนมนุษย์สุดฉงน”

‘เขานอนยาวเหยียด’ นี้คือ “เขาเจ้าลาย” หรือ เขานางพันธุรัต หรือ เขานางนอน ที่ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี

ส่วนบรรดาเครื่องขันหมากทั้งหลายกลายเป็น “เขาขันหมาก” หรือ “เขาสามร้อยยอด” เทือกเขาหินปูนเรียงตัวในแนวเหนือใต้ ระหว่าง อ.ปราณบุรี กับ อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์

“โต๊ะฝาชีพานกระจับกลับวิกล ตั้งอยู่จนทุกวันไม่อันตราย

เขาเรียกสามร้อยยอดตลอดหมด ฉันไม่ปดพูดเพ้อละเมอหมาย

แต่ทองมั่นนั้นถมลงจมทราย ตกอยู่ฝ่ายนครังบางตพาน

เปนกำเนิดเกิดประจำธรรมชาติ สุกสะอาดสืบมาอาวสาน

เปนทองของเจ้าลายที่วายปราณ อยู่นมนานตั้งกัปไม่นับปี”

นอกจากขันหมากก็ยังมี ‘ทองมั่น’ หรือ ‘ทองหมั้น’ ของเจ้าลายที่จมทรายอยู่แถวๆ บางสะพาน (บางตพาน) กลายเป็นแหล่งกำเนิดทองเนื้อเก้า ทองคำบริสุทธิ์ ราคาสูง

เรียกขานกันว่า ‘ทองบางสะพาน’

 

ฝ่ายว่าที่เขยจีน ‘ไทยจือ’ หรือ ‘ไท่จื่อ’ (= รัชทายาทจีน) เห็นสภาพของนางโดย (ยมโดย) ก็หมดอาลัยตายอยาก จำใจยอมรับชะตากรรม และทำเพื่อนางในดวงใจเป็นครั้งสุดท้าย

“๏ ฝ่ายเจ้าจีนสิ้นอาไลยก็ให้โหย เห็นนางโดยซีกเดียวเขียวเปนผี

ก็ทำศพกว่าจะเสร็จเจ็ดราตรี กับสิ่งที่เปนขันหมากไม่อยากเอา

ทั้งโรงโขนโรงหนังคลังใส่ของ ก็เลยกองอยู่เหมาะเปนเกาะเขา

ทั้ง ‘ขันหมาก’ และ ‘โรงโขนโรงหนังคลังใส่ของ’ เจ้าจีนมองแล้วยิ่งเสียดแทงใจ จึงทิ้งไว้กลายเป็น “เขาขันหมาก” และ “เกาะโรงโขนโรงหนัง” (รายละเอียดอยู่ใน “กินลม ชมเกาะ (3)”)

‘นายแวว’ หรือ ‘หลวงนรเนติบัญชากิจ’ ผู้แต่ง “นิราสตังเกี๋ย” ได้ทิ้งท้ายไว้อย่างมีอารมณ์ขันว่า

“เรื่องตาเถ้าบ้องไล่ยายรำพึง

แสนสงสารเจ้าจีนแผ่นดินเผง ถอดกางเกงค้างเปล่าเข้าไม่ถึง

ต้องกลับไปภาราทำหน้าตึง สิ้นความหึงหม้ายหอเพราะพ่อตา”

อย่างไรก็ดี แม้การแก้ปัญหาด้วยความรุนแรงของตาบ้องไล่ (ตาม่องล่าย) จะจบลงด้วยโศกนาฏกรรม แต่ก็ทำให้เกิดตำนานความเป็นมาของสถานที่ต่างๆ ใน จ.ประจวบคีรีขันธ์และจังหวัดอื่นๆ ตามชายทะเลอ่าวไทยทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตกเล่าขานสืบต่อกันมาจนทุกวันนี้

มีรายละเอียดมากมายเพิ่มขึ้นจากเรื่องเดิม

 

“นิราสตังเกี๋ย” เล่าถึงการเดินทางต่อไปว่า

“๏ เรือกลไฟใช้จักรไม่พักผ่อน ตะวันรอนล่วงลับพยับหล้า

แล่นโขยดโดดคลื่นฝืนชลา ข้ามอ่าวสาครขั้นจันทบูร”

‘จันทบูร’ ก็คือ ‘จันทบุรี’ กวีบรรยายถึง “เกาะช้าง” และ “เกาะขี้” ซึ่งล้วนมีรูปลักษณ์ครือๆ กันกับชื่อเกาะ

“พอเช้าตรู่สุริยนขึ้นดั้นเด่น มองไม่เห็นทิวไม้ไกลฝั่งฝา

ถึงเกาะช้างรูปลม้ายคล้ายคชา ยืนจังง่าหูผึ่งเหมือนหนึ่งเปน (คชา = ช้าง)

ทั้งเกาะขี้มีอยู่กองมองไม่หาย แต่ว่ากลายเปนหินก็สิ้นเหม็น

ล้วนแต่สิ่งสำคัญปันประเด็น ยังคิดเห็นถูกต้องของประจำ”

“เกาะช้าง” ข้างต้นนี้เป็นหนึ่งในสถานที่ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เสด็จพระราชดำเนินเยือนบ่อยครั้งระหว่าง พ.ศ.2416-2444

(ปัจจุบันเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของ อ.เกาะช้าง จ.ตราด เกาะนี้มีหาดทรายขาวละเอียดทอดยาวคู่น้ำทะเลสีฟ้าสวยใส มีที่พักหลากหลายรูปแบบ มากด้วยอาหารทะเลสด อิ่มอร่อยแล้วนั่งเรือมาดชมป่าชายเลนด้านหลังเกาะ หรือเพลินอารมณ์กับนานากิจกรรม อาทิ ดำน้ำ ดูปะการัง ขี่ช้าง เล่นน้ำกับช้าง อาบน้ำให้ช้าง เป็นต้น)

 

ไกลออกไปจากเกาะช้างและเกาะขี้ คือ “เกาะกูด” และ “เกาะกง” ซึ่งอยู่ใน จ.ตราดเช่นเดียวกัน (ปัจจุบันเกาะทั้งสองเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทะเลงาม ธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ดึงดูดนักท่องเที่ยวไทยและเทศทุกสารทิศมาเยี่ยมชมอย่างต่อเนื่อง) นายแววเล่าไว้ใน “นิราสตังเกี๋ย” ว่า

“๏ ถึงเกาะกูฏแล่นครรไลไกลเปนหมอก จะพิศออกเหลือตาไม่น่าขำ

แล่นมาถึงเกาะกงนี่กงกำ ใครมาทำเรือแพแต่เมื่อไร

คือตาบ้องลากกงวงมันกว้าง บรรทุกช้างหนักจี๋จนขี้ไหล

ต้องทิ้งอยู่เปนเขาไม่เอาไป เปนกงใหญ่แลหลามสิ้นความเพียร

แต่เขมรเขาประสงค์กงคือเกาะ เรียกกันเพราะเขตสมุทสุดเกษียร

เปนแว่นแคว้นฝ่ายสยามอยู่จำเนียร มีทะเบียนเขตรขั้นจันทบูร”

“นิราสตังเกี๋ย” แต่งในสมัยรัชกาลที่ 5 ระบุชัดเจนว่าทั้งเกาะกูฏ (เกาะกูด) และเกาะกงเป็นของประเทศไทยเรามาช้านาน

ดังข้อความว่า ‘เปนแว่นแคว้นฝ่ายสยามอยู่จำเนียร มีทะเบียนเขตรขั้นจันทบูร’ อยู่ติดกับเขตเมืองจันทบูร หรือจันทบุรี

ที่ไทยให้ชื่อว่า “เกาะกง” มาจากตำนานเรื่อง ตาบ้องไล่ (ตาม่องล่าย) ลากกง ‘กง’ ในที่นี้มาจากคำว่า ‘กงกำ’ กง คือ ส่วนรอบของล้อเกวียนหรือล้อรถ ส่วน ‘กำ’ คือ ซี่ล้อเกวียนหรือล้อรถ

เรื่องมีอยู่ว่า ตาบ้องไล่ (ตาม่องล่าย) ลากกงซึ่งมีวงกว้างบรรทุกช้างมา น้ำหนักมากจนลากไม่ไหว เลยทิ้ง ‘กงใหญ่’ ไว้ไม่เอาไปด้วย

‘แต่เขมรเขาประสงค์กงคือเกาะ เรียกกันเพราะเขตสมุทสุดเกษียร’

ข้อความนี้หมายถึง เกาะกงอยู่สุดเขตแดนไทย พ้นไปก็เป็นเขมร เขมรในสมัยนั้นเรียกว่า “เกาะกง”

ดร.สัจภูมิ ละออ ผู้เชี่ยวชาญภาษาเขมรให้ความกระจ่างว่า คำว่า ‘เกาะ’ และ ‘กง’ ในภาษาเขมร มีความหมายเดียวกับคำว่า เกาะ ในภาษาไทย “เกาะกง” จึงหมายถึง เกาะที่ชื่อ กง นั่นเอง

เรามาถึง “เกาะกูดเกาะกง” ก็สุดเขตแผ่นดินไทยตามที่ “นิราสตังเกี๋ย” บันทึกไว้ “กินลม ชมเกาะ (4) “ถึงจุดหมายปลายทาง

ชมแค่ ‘เกาะในบ้านเรา’ ไม่ไปไกลถึง ‘บ้านเขา’ •

 

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี | ญาดา อารัมภีร