ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 7 - 13 กุมภาพันธ์ 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | มองบ้านมองเมือง |
ผู้เขียน | ปริญญา ตรีน้อยใส |
เผยแพร่ |
ช่วงเวลาราวหกสิบปีก่อน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สิทธิ์ บริษัทวังใหม่ จำกัด เข้าพัฒนาพื้นที่หลายร้อยไร่ ย่านสวนหลวง ให้เป็นย่านการค้าทันสมัย ที่กลายเป็นต้นทางการสร้างศูนย์การค้าแบบใหม่
ประกอบด้วย ตึกแถวรายล้อม ตลาด และโรงภาพยนตร์ มีการตัดถนนมากมาย เพื่ออำนวยความสะดวก ทั้งการเข้าถึงและมีที่จอดรถหน้าร้านค้า แทนย่านการค้ารุ่นเก่า ที่ใช้วิธีจอดรถริมถนน นอกจากกีดขวางการจราจรแล้ว ยังแย่งผิวจราจร ที่ปริมาณรถยนต์เริ่มหนาแน่นมากขึ้นในตอนนั้น
ช่วงเวลาราวสี่สิบปีก่อน การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ให้สิทธิ์ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด เข้าพัฒนาพื้นที่ตรงทางแยกถนนพหลโยธิน และถนนลาดพร้าว เป็นอาคารศูนย์การค้าขนาดใหญ่ ประกอบด้วยร้านค้า ห้างสรรพสินค้า โรงแรม อาคารสำนักงาน และที่จอดรถ กว่าสองพันคัน
แทนศูนย์การค้าตึกแถวรุ่นเก่า ที่มีปัญหาที่จอดรถไม่พอเพียง และความไม่สะดวกในการช้อปปิ้งกลางแดด ที่กลายเป็นต้นแบบศูนย์การค้าอีกมากมาย ทั้งในกรุงเทพฯ และภูมิภาค ในเวลาต่อมา
มาถึงช่วงเวลาปัจจุบัน สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ได้ให้สิทธิ์ บริษัท เฟรเซอร์ ประเทศไทย จำกัด เข้าพัฒนาพื้นที่ตรงทางแยกวิทยุ เป็นอภิมหาศูนย์การค้า ประกอบด้วยอาคารสูงระฟ้าสิบหลัง ที่เป็นทั้งสำนักงาน โรงแรม อาคารพักอาศัยรวม ทั้งแยกกัน และรวมกัน อีกทั้งศูนย์การค้า และที่จอดรถใต้ดินกว่าหมื่นคัน แทนศูนย์การค้าแบบเดิมๆ ที่ไม่สามารถรองรับวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ และนักท่องเที่ยวจากนานาประเทศ
จึงคาดการณ์ได้ว่า อนาคตของศูนย์การค้า หรือย่านการค้า ของกรุงเทพฯ หรือของไทย จะแปรเปลี่ยนไปอย่างแน่นอน เหมือนที่เคยเปลี่ยนจากตลาดน้ำ มาเป็นตึกแถวริมถนน มาเป็นกลุ่มตึกแถวที่มีถนนล้อมรอบ มาเป็นอาคารขนาดใหญ่ ที่รวมกิจกรรมต่างๆ ไว้ด้วยกัน จนมาเป็นหมู่อาคารในพื้นที่เดียวกัน อย่างที่เห็นของ วันแบงค็อก
ทั้งนี้ ศูนย์การค้ารุ่นเก่า จะออกแบบว่าผังอำนวยความสะดวกผู้ใช้อาคาร เฉพาะภายในโครงการ แต่จะสร้างปัญหากับถนนและพื้นที่โดยรอบ
แต่สำหรับโครงการวันแบงค็อก ได้ร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร ขยายผิวจราจร บนถนนโดยรอบโครงการทั้งถนนวิทยุ ถนนพระรามที่สี่ ถนนอรุณมักกินนอน และซอยปลูกจิตต์
รวมทั้งร่วมกับการทางพิเศษฯ เชื่อมถนนภายในโครงการ กับทางด่วนได้โดยตรง
ยังมีส่วนสำคัญอีกเรื่องหนึ่ง ที่ทางโครงการไม่ได้ประชาสัมพันธ์ให้สาธารณชนรับรู้ ทั้งที่เป็นเรื่องใหญ่ ใช้เงินลงทุนจำนวนมาก คือ อาคารวันพาวเวอร์ ที่เป็นศูนย์รวมระบบประกอบอาคารและบริเวณ ของทั้งโครงการ
ช่วงเวลาที่ผ่านมา อาคารใหญ่พิเศษหรืออาคารสูงแต่ละอาคาร จะติดตั้งระบบประกอบอาคาร ได้แก่ ระบบปรับอากาศ ระบบไฟฟ้า ระบบไฟฟ้าสำรอง ระบบประปา ระบบสำรองน้ำใช้ ระบบระบายน้ำฝน และน้ำเสีย และระบบบำบัดน้ำและของเสีย ระบบจัดเก็บและรวมขยะ รวมทั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ที่กำลังเพิ่มมากขึ้น
สำหรับโครงการวันแบงค็อก แทนที่จะสร้างและติดตั้งทุกระบบในแต่ละอาคาร กลับใช้วิธีรวมไว้ในอาคารเดียว เหมือนเช่นในต่างประเทศ นอกจากลดต้นทุน งานระบบและเครื่องกลต่างๆ แล้ว ยังสะดวกในการดูแลรักษา ซ่อมบำรุง ลดจำนวนช่างรับผิดชอบ เพิ่มประสิทธิภาพ และควบคุมคุณภาพแล้ว
ยังสามารถบูรณาการทุกระบบ ทุกอาคารเข้าด้วยกัน จึงลดค่าใช้จ่าย และลดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม ซึ่งเป็นข้อพิจารณาสำคัญในการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน ตามข้อตกลงเรื่องโลกร้อน คาร์บอนเครดิต และแนวคิดเอสซีจี
ยังมีข้อดีในเรื่องการใช้พื้นที่ในแต่ละอาคาร เพราะนอกจากพื้นที่งานระบบอาคารจะลดลง ทำให้ได้พื้นที่ใช้งานเพิ่มขึ้นแล้ว พื้นที่งานระบบต่างๆ ที่เคยอยู่ใต้อาคารหรือใต้ดิน และบนยอดอาคารจะหายไป ทำให้ใช้ประโยชน์เป็นที่จอดรถใต้ดินได้มากขึ้น และเป็นรูฟสเปส roof space ได้ในทุกอาคาร
เสียดายว่า เรื่องดีๆ แบบนี้ ไม่มีการประชาสัมพันธ์ให้เรื่องดีๆ แบบนี้ มีคนนำไปปฏิบัติทำตาม
ถ้าทุกโครงการ ทุกย่าน ทุกชุมชน ทุกเทศบาล คิดถึงภาพรวม บูรณาการทุกเรื่องที่เกี่ยวกับสาธารณูปโภคและการจราจร ปัญหาชาวบ้านบ่น เรื่องท่อ เรื่องสาย เรื่องรถติดก็จะหมดไป •
มองบ้านมองเมือง | ปริญญา ตรีน้อยใส
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022