
ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 7 - 13 กุมภาพันธ์ 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | สิ่งแวดล้อม |
ผู้เขียน | ทวีศักดิ์ บุตรตัน |
เผยแพร่ |
ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 กลายเป็นประเด็นร้อนฉ่าจนนายกฯ แพทองธาร ชินวัตร ที่กำลังเข้าร่วมประชุมกับผู้นำโลกในเวทีเวิร์ลด์อีโคโนมิก ฟอรั่ม เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ ต้องถ่างตาออกมานั่งบัญชาการข้ามเวลาให้หน่วยงานต่างๆ ร่วมมือแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน เกษตรกรต้องหยุดเผาหญ้า เผาอ้อย คุมเข้มรถปล่อยควันพิษ
และทันทีที่กลับมาถึงเมืองไทยก็สั่งประชุมด่วน ย้ำกับผู้ว่าฯ ทั่วประเทศอีกหน แถมยังผลักดันวิกฤตนี้ให้เป็นวาระอาเซียนร่วมกันแก้
ภาพแสดงถึงความขึงขังของนายกฯ ในการแก้วิกฤต “ฝุ่นพิษ” ครั้งนี้ ถ้าเกิดขึ้นเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนหรือต้นธันวาคมปีที่แล้ว มั่นใจว่าจะได้แต้มความนิยมสูงปรี้ด อาจไล่จี้ “ลิซ่า” ศิลปินเคป๊อปเสียด้วยซ้ำ
เพราะปัญหาฝุ่นพิษเป็นปัญหาที่คนเกือบค่อนประเทศร่วมประสบชะตากรรมเดียวกัน ไม่ว่าคนนั้นจะรวยเป็นหมื่นล้านหรือจนกินมื้ออดมื้อ
คอลัมน์สิ่งแวดล้อม ฉบับเมื่อกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เคยหยิบยกเรื่องฝุ่นพิษมาบอกเล่าให้ฟังว่ารัฐบาลชุดก่อนๆ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และรัฐบาลยุคเศรษฐา ทวีสิน แก้ปัญหาไม่สำเร็จ
ขณะที่เมืองใหญ่ๆ ทั้งเชียงใหม่ กรุงเทพมหานครมีคุณภาพอากาศแย่ลงมาจนกลายเป็นเมืองเปื้อนฝุ่นพิษติดอันดับโลก
เมื่อมาถึงรัฐบาลอุ๊งอิ๊ง ก็แอบชมว่า มีความพยายามแก้ปัญหาอยู่บ้าง อย่างเช่น กรมฝนหลวง กระทรวงเกษตรฯ ส่งเครื่องบินบินไปทะลวงชั้นบรรยากาศด้วยน้ำแข็งแห้ง น้ำเย็นเปิดช่องระบายฝุ่น ดูดซับฝุ่นแล้วก็ทำฝนเทียมล้างฝุ่น
วิธีการของกรมฝนหลวงที่คิดค้นมานั้นนำไปใช้ในหลายพื้นที่ที่เชื่อว่าเป็นจุดกำเนิดฝุ่น รวมทั้ง กทม.ที่ผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ควบคุมบริหารอยู่
ปรากฏว่า ปฏิบัติการของกรมฝนหลวงล้มเหลว ไม่สามารถระบายฝุ่นออกจาก กทม.ได้อย่างที่หมายปั้นไว้เช่นเดียวกับพื้นที่อื่นๆ ค่ามาตรฐานฝุ่นพิษก็ไม่ได้ลดลง
การเอาชนะฝุ่นพิษด้วยการทะลวงชั้นบรรยากาศด้วยวิธีการดังกล่าวนี้ จึงเป็นเรื่องยากเพราะท้องฟ้ากว้างใหญ่ไพศาล ลำพังเอาน้ำแข็งกระจิ๊ดเดียวพ่นไปในอากาศระดับความสูง 7,000 ฟุตให้เกิดฝนเทียมอาจทำได้แค่เป็นช่วงเป็นบางเวลา และได้ผลเพียงบางพื้นที่เท่านั้น ถ้าไม่มีก้อนเมฆ ไม่มีความชื้นในอากาศมากเกิน 60 เปอร์เซ็นต์ก็ไร้ประโยชน์
ในฤดูหนาวปริมาณฝุ่นที่สะสมในชั้นบรรยากาศสูงมาก เป็นฝุ่นที่มาจากการเผาอ้อย ฟางข้าว ซังข้าวโพด ควันพิษที่พ่นจากปล่องโรงงานอุตสาหกรรม ปลายท่อไอเสียรถยนต์ ฝุ่นจากพื้นที่ก่อสร้างขนาดใหญ่ เมื่อบวกกับมวลอากาศเย็นที่แผ่ลงมาจากจีน กระแสลมไหลเวียนบางเบามาก ปริมาณฝุ่นสะสมจนหนาแน่นปกคลุมเมือง ผู้คนมองไม่เห็นอะไรในระยะไกลๆ
ฉะนั้น การเจาะชั้นบรรยากาศให้ฝุ่นพิษระบายออกจนอากาศในเมืองสะอาด ค่าฝุ่นลดลงต่ำกว่ามาตรฐาน แต่หากกรมฝนหลวงทำได้จริงจะเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์และจะได้รับการยกย่องจากทั่วโลกอย่างแน่นอน
ดีไม่ดีอาจขายเทคนิคนี้ให้ประเทศที่เจอปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 สร้างรายได้ระเบิดเถิดเทิง
สถิติฝุ่นพีเอ็ม 2.5 เกิดขึ้นต่อเนื่องมาเป็นเวลานับสิบปี กลายเป็นปัญหาวิกฤตของประเทศไทยไปแล้ว ทั้งเกิดผลกระทบต่อสุขภาพ คนเป็นโรคปอดระบบทางเดินหายใจเพิ่มสูงขึ้น ภูมิคุ้มกันลดลง ยังมีผลต่อการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวหดหาย รายได้ประเทศตกวูบ
เวลานี้วิกฤตฝุ่นทำให้ผู้คนตั้งแต่ภาคเหนือ อีสานจรดกรุงเทพมหานคร พากันตื่นตัวแก้ปัญหาแบบตัวใครตัวมัน แทบทุกบ้านมีเครื่องฟอกอากาศ มีหน้ากากอนามัย และทุกวันนั่งส่องแอพพ์ในมือถือตรวจสอบคุณภาพอากาศก่อนออกไปทำกิจวัตรนอกบ้าน
วันไหนถ้าค่าฝุ่นพิษอยู่ในแดนส้มหรือแดง ก็ควานหาหน้ากากอนามัยใส่ก่อนไปทำงาน หรือไม่ก็โทรศัพท์ขอเจ้านายเวิร์กฟรอมโฮม กิจกรรมกลางแจ้งเลิก หยุดวิ่งหยุดเดินในยามเช้าหรือเย็น เพราะไม่มีใครเสี่ยงอยากให้อวัยวะตา จมูกและปอดเปื้อนฝุ่น
ดังนั้น จึงเป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างที่นายกฯ แพทองธารไม่ได้นั่งบัญชาการก่อนฝุ่นจะก่อตัวเป็นวิกฤตของชาติ เพิ่งมานั่งหัวโต๊ะประกาศปราบฝุ่นเมื่อไม่มีกี่วันที่ผ่านมา ทั้งๆ ที่ฝุ่นอาละวาดมานานเกือบ 2 เดือนเต็มๆ
เช่นเดียวกับคุณชัชชาติ ที่เพิ่งมาโชว์ภาพปราบฝุ่นหลังเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในโชเซียลโจมตีคุณชัชชาติอย่างหนักหน่วง แถมเอาวิสัยทัศน์แก้ปัญหาฝุ่นก่อนเข้ามาเป็นผู้ว่าฯ กทม. ย้อนเกล็ดคุณชัชชาติ คุณชัชชาติก็เลยสวนกลับ “อย่าเอาความรู้สึกมาแก้ ต้องใช้หลักวิทยาศาสตร์”
ฝ่ายวิจารณ์ก็ยังไม่หยุด ไปจุดข้อมูลงัดเอาคำพูดของคุณชัชชาติเมื่อปี 2563 ที่เขียนในโชเซียลว่า “แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองของกรมควบคุมมลพิษเป็นแผนที่มีประโยชน์ทำได้ทันที อย่างน้อยแก้ปัญหาในระยะสั้น กำหนดให้ฝุ่นพิษเป็นสาธารณภัย ใช้กลไกระบบศูนย์สั่งการแบบเบ็ดเสร็จ (Single Command) ภายใต้กฎหมายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 มีผู้ว่าฯ กทม. ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นผู้บัญชาการ”
คำถามจึงย้อนกลับมาที่คุณชัชชาติซึ่งได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม.ด้วยคะแนน 1.38 ล้านเสียงมากเป็นประวัติการณ์ ทำไมจึงไม่ใช้กฎหมายฉบับนี้เพื่อแก้ปัญหาฝุ่นถล่มเมือง?
ในทางกลับกัน คุณชัชชาติกลับโบ้ยให้พ้นความรับผิดชอบด้วยข้ออ้าง กทม.ไม่มีอำนาจสั่งการ เช่น เรื่องรถเมล์ รถบรรทุกปล่อยควันดำเป็นหน้าที่ของกรมการขนส่งทางบก กทม.ไม่เกี่ยว หรือเรื่องโรงงานปล่อยควันพิษ เป็นหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม
ดังนั้น ถ้าให้ประเมินความสามารถของคุณชัชชาติในการบริหารจัดการฝุ่นพิษใน กทม. น่าจะได้เกรดเฉียดๆ F
คราวนี้เราไปดูแผนปฏิบัติการของรัฐบาลจีนยุค “สี จิ้นผิง” ในการปราบฝุ่นพีเอ็ม 2.5 กันดีกว่า
เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว รัฐบาลจีนรู้ว่า ฝุ่นพิษจะมากับความหนาวแน่จึงประกาศมาตรการควบคุมการใช้ถ่านหินและการปล่อยก๊าซพิษสู่ชั้นบรรยากาศอย่างเข้มงวดและสมเหตุสมผล” (strictly and resonably) เพื่อปรับปรุงคุณภาพอากาศ
ในแผนปฏิบัติการดังกล่าวตั้งเป้าไว้ว่าในปี 2568 นี้ จีนจะลดอัตราการปล่อยฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ลง 10 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับ 5 ปีก่อน และจะคุมจำนวนวันที่มีค่าฝุ่นพิษรุนแรงน้อยกว่า 1%
รัฐบาลจีนเล็งเป้าพื้นที่ใหญ่ที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงจำนวนมาก เช่น ปักกิ่ง เทียนสินและเหอเป่ย ให้ลดปริมาณลง 10% เมื่อเทียบกับปี 2563 และ 5% ในพื้นที่สามเหลี่ยมแม่น้ำแยงซี
ขณะเดียวกันยังรณรงค์ใช้พลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานทางเลือกเพิ่มขึ้น 20% ของปริมาณการใช้พลังงานทั้งหมดในปีนี้
ส่วนรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าที่ปลอดมลพิษ ทางรัฐบาลสนับสนุนให้ติดตั้งเครื่องชาร์จแบตเตอรี่แบบด่วนบนทางหลวงไม่น้อยกว่า 80% ครอบคลุมภูมิภาคสำคัญๆ เช่น ปักกิ่ง เทียนสิน และเซี่ยงไฮ้ แผนนี้ตั้งเป้าให้เสร็จในปี 2568
การขนส่งสาธารณะทั้งทางเรือและทางราง จะเพิ่มปริมาณอีก 10-12% เปรียบเทียบกับปี 2563
ทั้งหมดนี้เป็นแผนของรัฐบาลจีนที่สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานโดยย่อ ซึ่งในรายละเอียดน่าจะมียุ่บยั่บมากกว่านี้
ถ้าย้อนเวลากลับไปก่อนปี 2556 ปัญหามลพิษทางอากาศในจีนรุนแรงมากมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจทุกปี เฉลี่ยปีละ 267,000 ล้านหยวน และแต่ละปีมีผลกระทบต่อสุขภาพผู้คน มีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรกว่า 1 ล้านคน และผลผลิตทางเกษตรลดลง
ในเวลานั้น กรุงปักกิ่งได้รับฉายาว่า “เมืองแห่งหายนะทางอากาศ” (Beijing’s Apocalype) ชาวเมืองต่างเกิดภาวะเครียดและโกรธแค้นที่อากาศเป็นพิษรุนแรง ส่วนเมืองอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น เทียนสิน เหอเป่ย เซี่ยงไฮ้ เซินเจิ้น กวางโจว ก็เปื้อนไปด้วยมลพิษทางอากาศเช่นกัน
เมืองที่กล่าวมานั้น ไม่มีเมืองไหนที่คุณภาพอากาศเป็นไปตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก กำหนดพีเอ็ม 2.5 ไว้ที่ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
รัฐบาลจีนทนดูสภาพนี้ไม่ไหว จึงตัดสินใจประกาศแผนปฏิบัติการ 3 ปีสงครามฟ้าใส (Three-year Action Plan for winning the Blue Sky War) เริ่มตั้งแต่ปี 2556
ตามแผนของรัฐบาลจีน ตั้งเป้าลดค่าฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ในเมืองต่างๆ รวม 231 แห่งให้ได้อย่างน้อย 18% ภายในปี 2558
การควบคุมให้เมืองต่างๆ ทำตามข้อบังคับที่รัฐบาลจีนประกาศไว้ได้ผลมาก เมืองหลักๆ มีค่าฝุ่นลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ จนได้รับการยกย่องจากนานาชาติว่า จีนต่อสู้กับมลพิษทางอากาศได้อย่างน่าอัศจรรย์ คุณภาพชีวิตของชาวจีน ค่าเฉลี่ยอายุยีนยาวขึ้น 2.4 ปี และคุณภาพอากาศดีขึ้นมาก
ถ้าเทียบกับแผนของรัฐบาลอังกฤษที่แก้ปัญหามลพิษทางอากาศในกรุงลอนดอน ที่ประสบปัญหาร้ายแรงช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรม ในปี 2433 ซึ่งมีชาวลอนดอนเสียชีวิตเพราะคุณภาพอากาศเลวร้ายมากถึง 8,000 คน ปรากฏว่า แผนปฏิบัติการของจีนทำได้เร็วกว่าอังกฤษมากถึง 2 เท่าตัว
นี่คือความสำเร็จของรัฐบาลจีนในการปราบ “ฝุ่นพิษพีเอ็ม 2.5”
เรียนรู้ “จีน” เรียนรู้ “ไทย” แล้ว อยากถามผู้อ่านว่าควรประเมินความสามารถในการบริหารรัฐบาล “อุ๊งอิ๊ง” และผู้ว่าฯ กทม.ด้วยเกรดอะไร? •
สิ่งแวดล้อม | ทวีศักดิ์ บุตรตัน
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022