เข็นจีดีพีโต แก้ปากท้อง-หนี้ครัวเรือน ช่วย รบ.อิ๊งค์อยู่ครบเทอม

เข็นจีดีพีโต

แก้ปากท้อง-หนี้ครัวเรือน

ช่วย รบ.อิ๊งค์อยู่ครบเทอม

 

“ภาวะเศรษฐกิจไทยโตต่ำ” เป็นสิ่งที่เราได้ยินกันมานาน

หลายคนอาจจะมองว่าไกลตัว แต่เศรษฐกิจที่โตต่ำนั้น สอดคล้องกับการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งทุกคนคงรู้สึกรายได้หายาก การเงินตึงตัว เริ่มชักหน้าไม่ถึงหลัง จนลามไปถึงการไม่มีเงินใช้หนี้

หนี้ครัวเรือนไทย จึงอยู่ในแนวโน้มเติบโตสูงมาตลอดหลังจากวิกฤตโควิด-19 ซึ่งในขณะนั้น ใครๆ ก็คิดว่าวิกฤตจบคงกลับมาลืมตาอ้าปากได้

แต่จนถึงวันนี้ ผ่านโควิดมาราว 4-5 ปีแล้ว หนี้ครัวเรือนไทยก็ยังสูง นับตั้งแต่ปี 2562 หรือก่อนโควิด-19 สัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยต่อจีดีพี อยู่ที่ 84.1% ปี 2563 ที่ 94.2% ปี 2564 ที่ 94.6% ปี 2565 ที่ 91.6% ปี 2566 ที่ 91.4%

ล่าสุดสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รายงานว่า ในไตรมาสสอง ปี 2567 หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่ารวม 16.32 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ปรับลดลงจาก 89.6%

ทำให้เห็นว่าที่ผ่านมาหนี้ครัวเรือนสูงระดับมากกว่า 90%มานาน ซึ่งการที่หนี้ครัวเรือนสูงระดับนี้หมายถึง คนไทยมีรายได้ 100 บาท แต่มีหนี้ต้องจ่ายมากถึง 90 บาท

 

แน่นอนว่า รัฐบาลปัจจุบัน นำโดย “แพทองธาร ชินวัตร” ให้ความสำคัญกับนโยบายการปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบ ยกเป็นวาระแรก ในคำแถลงนโยบายต่อรัฐสภา

เพราะหากทำสำเร็จ หรือดีกว่าทุกรัฐบาล จะเป็นผลงานชิ้นโบแดง พิสูจน์ศักยภาพนายกรัฐมนตรีหญิงของไทย

เช่นเดียวกับหลายรัฐบาลที่ความสนใจแก้หนี้เช่นกัน ทั้งอดีตนายกรัฐมนตรี “เศรษฐา ทวีสิน” ที่มีผลงานแรกคือ มาตรการพักหนี้เกษตรกร ผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

โดยแนวคิดมาตรการพักหนี้ มีมาตั้งแต่รัฐบาล “ทักษิณ ชินวัตร” “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” แม้แต่ ในยุครัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ยังมีการออกมาตรการแก้หนี้มากถึง 9 ครั้ง

 

กลับมาที่รัฐบาลแพทองธาร ช่วงปลายปี 2567 ได้ออกโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ภายใต้ความร่วมมือของ 5 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมธนาคารไทย สมาคมธนาคารนานาชาติ และสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ

เป็นมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย และผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่มีสถานะค้างชำระหนี้เกิน 30 วัน แต่ไม่เกิน 356 วัน หรือ 1 ปี ครอบคลุมลูกหนี้รวมจำนวน 2.1 ล้านบัญชี เป็นลูกหนี้ 1.9 ล้านราย และมียอดหนี้รวมประมาณ 8.9 แสนล้านบาท

ประกอบด้วย 2 มาตรการ ได้แก่

มาตรการที่ 1 “จ่ายตรง คงทรัพย์” ช่วยลูกหนี้สินเชื่อบ้าน รถ และเอสเอ็มอีขนาดเล็ก ช่วยปรับโครงสร้างหนี้และลดค่างวดในปีที่ 1 เหลือ 50% ในปีที่ 2 เหลือ 70% ในปีที่ 3 เหลือ 90% และ “พักภาระดอกเบี้ย” เป็นระยะเวลา 3 ปี โดยค่างวดที่จ่ายจะนำไปตัดชำระเงินต้นทั้งหมด ขณะที่ “ดอกเบี้ยที่พักไว้ตลอดระยะเวลา 3 ปี จะได้รับการยกเว้น” ตามเงื่อนไข

และมาตรการที่ 2 “จ่าย ปิด จบ” ช่วยลดภาระหนี้ให้แก่ลูกหนี้บุคคลธรรมดาที่เอ็นพีแอล แต่มียอดคงค้างหนี้ไม่สูง (ไม่เกิน 5,000 บาท) โดยเป็นการปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้ชำระหนี้ขั้นต่ำเพียง 10% ของยอดหนี้คงค้างเพื่อ “ปิดหนี้ได้ทันที” เพื่อให้ลูกหนี้รายย่อยที่มีหนี้เสียและยอดหนี้ไม่สูง สามารถเปลี่ยนสถานะการเป็นหนี้ จาก “หนี้เสีย” เป็น “ปิดจบหนี้” และเริ่มต้นใหม่ได้เร็วขึ้น

 

ณ วันที่ 28 มกราคม 2568 โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” มีลูกหนี้ผู้แสดงความประสงค์เข้าร่วมโครงการและอยู่ระหว่างตรวจสอบสิทธิ์แล้ว 4.97 แสนราย เป็นจำนวน 5.76 แสนบัญชี ยังไม่นับรวมส่วนที่ลงทะเบียนตรงกับสถาบันการเงิน

โดย “พิชัย ชุณหวชิร” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุถึงการหาแนวทางแก้ไขหนี้สิน กลุ่มที่เป็นหนี้เสียเรื้อรังเกิน 1 ปีขึ้นไป มองว่าแนวทางลดดอกเบี้ย ลดเงินงวดแบบโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ไม่ใช่แนวทางสำหรับกลุ่มนี้ เพราะฉะนั้น ต้องติดตามกันต่อไปว่ารัฐบาลจะออกมาตรการแบบไหน

และรัฐบาลยังเดินหน้าช่วยเหลือลูกหนี้ของประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน หรือนอนแบงก์ ซึ่งใช้กลไกที่รัฐบาลจะให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือซอฟต์โลน 5 หมื่นล้านบาท เพื่อลดภาระต้นทุนให้นอนแบงก์ และให้นอนแบงก์นำเงินดังกล่าวไปใช้ช่วยเหลือลูกหนี้

 

ทั้งนี้ การช่วยเหลือจะใช้แนวทางเดียวกับโครงการคุณสู้ เราช่วย คือ

1. กรณีลูกหนี้ที่มีปัญหาการผ่อนชำระ จะช่วยลดภาระการผ่อนชำระ และลดดอกเบี้ย

2. กรณีลูกหนี้ที่มีสถานะหนี้เสีย หรือเอ็นพีแอล ที่มียอดหนี้ต่ำกว่า 5,000 บาท ให้ผ่อนชำระบางส่วน และปิดจบหนี้ได้เลย โดยทุกมาตรการนั้นนอนแบงก์รับภาระส่วนหนึ่ง และรัฐบาลช่วยรับภาระส่วนหนึ่ง

สิ่งสำคัญสำหรับการแก้ไขหนี้ คือการทำให้ประชาชนมีรายได้เพิ่ม หนี้ก็จะลดลง เพราะฉะนั้น การแก้ไขหนี้รัฐบาลที่ผ่านมาดูออกดอกออกผลช้าก็อาจเป็นเพราะไทยมีปัญหาทางโครงสร้าง คือ เศรษฐกิจที่เจริญเติบโตต่ำกว่าศักยภาพ

โดยจีดีพีปี 2562 ขยายตัว 2.1% ปี 2563 หดตัว 6.1% ปี 2564 ขยายตัว 1.6% ปี 2565 ขยายตัว 2.5% ปี 2566 ขยายตัว 1.9% และปี 2567 คาดว่าจะขยายตัว 2.5% ซึ่งยังไม่ถึงระดับศักยภาพ

การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจหรือจีดีพีนั้น มีความสำคัญต่อเรื่องของรายได้ในกระเป๋าของประชาชน

เช่นเดียวกับภาวะอัตราเงินเฟ้อปี 2567 ระดับเพียง 0.6% ต่ำกว่า 1% เป็นการสะท้อนถึงการที่ประชาชนไม่มีเงินที่จะจับจ่ายมากนัก

 

เพราะฉะนั้น การที่เงินของประชาชนน้อย ยิ่งทำให้ภาระค่าใช้จ่ายหนัก หนี้สินชำระไหวบ้างไม่ไหว้บ้าง ที่แย่คือ ปัญหาการค้างชำระหนี้ หรือทิ้งหนี้ไม่จ่ายแล้ว ลามไปถึงหนี้บ้าน หนี้รถยนต์ ซึ่งตามหลักเศรษฐศาสตร์แล้ว เป็นหนี้ที่คนจะไม่ค่อยค้างชำระ เพราะเป็นทรัพย์สินสำคัญ

ฉะนั้น หากรัฐบาลแพทองธาร เดินหน้าผลักดันเศรษฐกิจในเจริญเติบโตได้ในระดับศักยภาพ 3% ต่อปี และเพิ่มนโยบายให้อัตราเงินเฟ้อเข้ากรอบมากกว่า 1% จะเป็นการบรรเทาปัญหาหนี้ครัวเรือนได้

เพราะจะทำให้ชนชั้นกลางที่พอมีรายได้กลับมามีกำลังใช้หนี้ ปัญหาหนี้จะเหลือเฉพาะไม่กี่กลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือจริงๆ และรัฐบาลจะได้โฟกัสแค่กลุ่มนั้นๆ และมีโอกาสที่หนี้จะเข้าสู่เป้าหมาย 80% ต่อจีดีพีในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

ถือเป็นงานสุดหินของรัฐบาลแพทองธาร ในการผลักดันเศรษฐกิจไทยให้โต เพื่อกดหนี้ครัวเรือนลง

ส่งให้ “รัฐนาวาแพทองธาร” อยู่ครบเทอมเช่นกัน!!