ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 7 - 13 กุมภาพันธ์ 2568 |
---|---|
เผยแพร่ |
บทความพิเศษ | ภาสกร ประมูลวงศ์
Songs in The Key of Life
: With the pride by Spandau Ballet
เรียกมันว่า ‘ศักดิ์ศรี’
Spandau Ballet วงนิวโรแมนติกที่ขึ้นย่อหน้าศักราชใหม่ให้กับวงการเพลงอังกฤษ
พวกเขาสร้างชื่อให้ตัวเองอย่างเป็นทางการด้วยเพลง True ทั้งๆ ที่ก่อนหน้าก็พอมีซิงเกิลบ้างประปราย แต่ก็แค่ละแวกบ้านเท่านั้น
ชื่อวงมาจากตลกร้าย โรเบิร์ต เอมส์ (Robert Elms นักจัดรายการทางวิทยุชื่อดังของ BBC) เพื่อนสนิทของวงที่ไปเจอตัวอักษรเขียนไว้บนฝาผนังในบาร์แห่งหนึ่ง
Spandau Ballet หมายถึงการตัดสินประหารชีวิตนักโทษที่คุก “สแปนเดาว์” กรุงเบอร์ลินด้วยการแขวนคอ
จังหวะที่ร่างห้อยต่องแต่งกลางอากาศ นั่นแหละคือที่มาของ “ลีลาบัลเล่ต์ในแบบสแปนเดาว์”
ชื่อนี้ในช่วงแรกมีการต่อต้านบ้างประปราย แต่หลังจากคุ้นหูก็เหมือนกับการยอมรับไปในที
เด็กหนุ่มจากฮาร์ดฟอร์ดเชียร์เริ่มฟอร์มวงในปี 1979 โดยได้แรงบันดาลใจมาจากแนวโพสต์พังก์ The Sex Pistols (แหงแซะ)
ล้มลุกคลุกคลานลองโน่นลองนี่จนถึงปี 1983
ทันทีที่ซิงเกิล True ออกวางแผง เมื่อนั้นอังกฤษก็เล็กเกินไปสำหรับพวกเขา ถ้าใครตามงานของ Spandau Ballet มาตั้งแต่แรกจะพบว่า True เหมือนคนที่ตายแล้วไปเกิดใหม่
เพราะมันไม่มีสัดส่วนทางดนตรีเหมือน SB ในระยะเริ่มแรกเลย
นั่นอาจเป็นเพราะความรักแรกพบของแกรี่ เคมป์ (Gary Kemp) ที่มีต่อ แคลร์ กอร์แกน (Clare Grogan) นักร้องสาวสุดซ่าส์แห่งวง Altered Images วงนิวเวฟหัวก้าวหน้าจากสกอตแลนด์วงนั้น
“ผมแทบไม่เป็นอันกินอันนอน” แกรี่สารภาพ
“ผมตกหลุมรักเธอเข้าอย่างจัง ศรรักปักใจจนวันๆ แทบไม่คิดจะทำอะไร นอกจากฟังเพลงอัล กรีน กับ มาร์วิน เกย์”
เพราะฉะนั้น อย่าแปลกใจที่ True จะมีคอรัสไลน์ที่กลิ่นออกไปทางบลูอายโซลเต็มๆ
แม้ความรักไม่สมหวัง แต่ความสำเร็จของอัลบั้ม True (1983) กลับสมประสงค์เกินคาด
หลังจากทัวร์โปรโมตพอหอมปากหอมคอ วงก็กลับเข้าห้องอัดเตรียมทำอัลบั้มชุดต่อไปตามประสาน้ำขึ้นให้รีบโกย
“ผมพบว่ามันยากขึ้นว่ะ” แกรี่หล่นคำพูดนี้ในหนังสืออัตชีวิตส่วนตัว I Know This Much : from Soho to Spandau
“ผมเกิดอาการตัน คิดอะไรไม่ออก มันเหมือนเป็นคำสาปจากเพลงฮิตที่หล่นทับจนกลายเป็นความกดดัน”
กระทั่งสตีฟ นอร์แมน (Steve Norman) มือแซ็กของวง มอบหนังสือเล่มหนึ่งที่บรรยายถึงการทำงานออกแบบเสื้อผ้าของปิกัสโซ่ ให้กับคณะบัลเล่ต์รัสเซีย
การแสดงนั้นมีชื่อว่า Parade นั่นคือที่มาของอัลบั้มชิ้นต่อไป
ถึงแม้จะมีเงินมีทองจนพอจะลืมตาอ้าปากได้
ทว่า พื้นเพของ Spandau Ballet นั้นมาจากชนชั้นแรงงาน
ความร่ำรวยมิอาจทำให้พวกเขาตัดขาดหลงลืมไปจากกำพืดดั้งเดิม
เพลงในทุกอัลบั้มถ้าเราเงี่ยหูฟังดีๆ จะมีอยู่สองสามแทร็กที่กลั่นมาจากก้นบึ้ง
มันไม่ใช่เพลงรักบ้าบอที่หวังแค่ยอดขายกับการไต่อันดับในชาร์ต หรือเพลงเต้นรำดิ้นให้ลืมโลก
หากแต่มันสะท้อนถึงสภาวะและความคิดของคนในสังคมท่ามกลางบริบทนั้นๆ
ใช่ ผมกำลังพูดถึง With The Pride
“เราต่างมีตัวตนในโลกใบนี้ ไม่ว่าจะเป็นภูผาหินหรือดินทราย” เพลงเริ่มต้นด้วยประโยคดั่งว่า ท่ามกลางยุค 80’s ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนถ่างออกจนแทบไม่เห็นฝั่ง
คนงานในเหมือนถ่านหินผู้ยากไร้ต้องทำงานอาบเหงื่อต่างน้ำแลกค่าแรงหยิบมือเพียงเพื่อประคองครอบครัวให้อยู่รอดไปวันๆ
ไหนจะปัญหายาเสพติดแพร่ระบาดหนัก
ไหนจะปัญหาแหล่งเสื่อมโทรมที่กระจายไปทั่วหัวเมืองใหญ่
ตอนนั้นขนาดจะไปซื้อเบเกิลเจ้าดังที่ Brick Lane เพื่อนฝรั่งยังแซวว่า ให้สวมเสื้อเกราะไปด้วยเพราะมีการขู่วางระเบิดจากกลุ่ม IRA ชนิดรายวัน
ไหนจะอัตราคนว่างงานสูงเป็นประวัติการณ์ เมื่อรวมกับสงครามหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ เพียงเท่านี้ก็เพียงพอแล้วที่จะเสกให้อังกฤษกลายเป็นประเทศที่มีปัญหาล้นมือทั้งที่มองเห็นด้วยตากับซุกไว้ใต้พรม
จึงไม่แปลกที่โทนี่ แฮดลีย์ (Tony Hadley) จะพร่ำก่นตะโกนร้องซ้ำๆ ในเพลงว่า “กูทนไม่ไหวแล้ว (I can’t take anymore)”
ผู้คนได้แต่หวังว่าปัญหาจะคลี่คลาย เมื่อรัฐบาลเปลี่ยนมือจากเจมส์ คัลลาฮาน (James Callaghan) พรรคแรงงานไปสู่การขึ้นบ้านใหม่เลขที่ 10 ถนนดาวน์นิ่งของนางสิงห์เหล็ก มาร์กาเร็ต แธตเชอร์ (Margaret Thatcher)
ทว่า ปัญหายังโหมประดังเหมือนคนเลือดไหลไม่หยุดเผลอๆ หนักกว่าเดิมด้วยซ้ำ
แถมลามไปบ้านใกล้เรือนเคียงอย่าง สกอตแลนด์ เวลส์ ไอร์แลนด์เหนือ เฉลี่ยความย่ำแย่เผื่อกันไปแบบทั่วถึง
โดยมีวาทกรรม A land of haves and have nots จารึกไว้กันลืมพอให้แสบๆ คันๆ
ถ้าใครได้ดูภาพยนตร์เรื่อง Billy Elliot นั่นแหละคือวิถีของชนชั้นแรงงานที่ถูกนายทุนเอาเปรียบจนโงหัวไม่ขึ้น
คำปลอบใจที่แลดูเหมือนเป็นคำตอบกลายๆ จาก Spandau Ballet ในฐานะตัวแทนชนชั้นที่ต่ำลงไปต่อคำถามว่า แล้วเราจะอยู่กันอย่างไร? อยู่ในเพลงลำดับที่ 7 จากอัลบั้ม Parade
นั่นคือ “อยู่ด้วยศักดิ์ศรี”
“ในบรรดาอัลบั้มของสแปนเดาว์ บัลเล่ต์ ผมชอบ Parade มากที่สุด” โทนี่ แฮดลีย์ เคยกล่าวไว้เมื่อครั้ง ReUnion เพื่อมาทำงานเฉพาะกิจ Once More (2009) เป็นการนำเพลงเก่ามาทำดนตรีและลงเสียงร้องใหม่ ท่ามกลางเพลงฮิตในอดีต 11 เพลง (เพลงใหม่ 2 เพลง)
With The Pride เป็นหนึ่งในบรรดาเพลงที่ถูกเลือกมาบรรจุในอัลบั้ม และทำได้อย่างไพเราะจับจิตเหลือเกิน
สอดคล้องกับเนื้อเพลงที่เขียนโดยแกรี่ เคมป์ ผู้จรดปากกาได้งดงามราวบทกวี
รูปคนว่างงานต่อคิวเพื่อรอลุ้นรายวัน บ้างก็ได้บ้างก็เหลว
หรือรูปผู้คนออกมาประท้วงด้วยเรื่องสารพัดเรื่อง ดูจะเป็นภาพอันคุ้นตาในสภาพสังคมของอังกฤษในยุค 80’s
คนหาเช้ากินค่ำพอตกค่ำกลับถึงบ้าน ได้แต่หวังว่าจะมีเศษมันฝรั่งในหม้อใบเก่ากับขนมปังแข็งๆ ที่กินเหลือจากคนทั้งครอบครัว เพียงประทังชีวิตต่อจนถึงวันพรุ่งนี้ที่ยังมาไม่ถึง
“ท่ามกลางความหิวจนกินได้ทุกอย่าง เมื่อพบความจริงว่าไม่มีอะไรจะมาตกถึงท้อง ที่พอทำได้คือดิ้นรนกันไปตามมีตามเกิด” เนื้อร้องท่อนหนึ่งอธิบายไว้เด่นชัดถนัดตา
แต่พวกเขามีอย่างหนึ่งที่เศรษฐีเงินล้านไม่มี
…เรียกมันว่า “ศักดิ์ศรี”
ในกาลสมัยที่เซอร์วินสตัน เชอร์ชิลล์ เป็นนายกรัฐมนตรี มิใช่ชนชั้นแรงงานเหล่านี้หรอกหรือที่อาสาเป็นทหาร เดิมพันด้วยความตายไปร่วมรบในสมรภูมิสงครามโลก
จนเมื่อสงครามสงบ คนเหล่านี้เปลี่ยนยูนิฟอร์มทิ้งปืนแล้วจับงานที่อู่ต่อเรือ สร้างทางรถไฟ เป็นคนงานเหมืองถ่านหินค่าจ้างหยิบมือเพื่อให้เพื่อนร่วมชาติได้อบอุ่นในค่ำคืนอันเหน็บหนาว
ในช่วงสุดสัปดาห์ เราจะเห็นพวกเขาในสนามฟุตบอลประจำตำบลเพื่อชมสโมสรโนเนมบ้านๆ ในมือมีเบียร์ราคาถูก ซื้อตั๋วยืนในราคาที่นับเศษเหรียญก้นกระเป๋า
สังเกตไหม ไม่ว่าเราจะแลตาไปทางไหน สรรพสิ่งรอบตัวล้วนมาจากหยาดเหงื่อพวกเขาทั้งสิ้น
จนถึงวันนี้ “ตัวตน” ยังปรากฏอยู่ทั่วหัวระแหง จึงไม่แปลกที่พวกเค้าจะรักและหวงแหน “ศักดิ์ศรี”
“ศักดิ์ศรี” คำสองพยางค์ที่นักการเมืองหลายคนสะกดไม่เป็น
อยู่ด้วยศักดิ์ศรี ดีกว่าถูกหยาม
ถึงใครว่าทราม แค่ความเข้าใจ
เกิดมาเป็นคน รวยจนแค่ไหน
เหลือที่ว่างไว้ เผื่อให้ศรัทธา
เชิดหน้าอ้าปาก ลำบากทนสู้
กล้ำกลืนฝืนดู ผู้ครหา
ก้มหน้าทำงาน ไม่พาลระอา
สักวันคงมา ถ้าผ้าไม่โยน
อยู่ด้วยศักดิ์ศรี ดีกว่าถูกหยัน
เปลี่ยนไฟมอดพลัน ให้มันลุกโชน
รักตัวให้บ่อย ค่อยรักหัวโขน
ไม่ต้องตะโกน คนรู้นั้นมี
เพราะแม้เงินทอง ก่ายกองล้นฟ้า
หากไร้เมตตา ด้อยค่าเหลือที่
รักษาไว้เถิด เกิดมาทั้งที
คุณแห่ง “ศักดิ์ศรี” งามดีแก่ตน ฯ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022