ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 7 - 13 กุมภาพันธ์ 2568 |
---|---|
เผยแพร่ |
บทความพิเศษ | ธเนศวร์ เจริญเมือง
รำลึก 144 ปี (พ.ศ.2424-2568)
คาร์ล บ๊อค – นักสำรวจชาวนอร์เวย์
เยือนสยาม-ล้านนา (จบ)
หลายประเด็นของการเสวนาที่เชียงใหม่
หลายประเด็นที่ได้นำเสนอมาจากการเสวนา “รำลึกครบรอบ 140 ปี หนังสือวัดวาอารามและช้างในราชอาณาจักรสยาม” ของคาร์ล บ๊อค ที่สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ซึ่งมีทั้งข้อสังเกต การสันนิษฐาน และคำถามหรือข้อสงสัย และเป็นทัศนะ แน่นอน ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ข้อสังเกตและคำถามเหล่านั้นมีมากเนื่องจากหนังสือของบ๊อคเขียนถึงแผ่นดินล้านนา ที่บ๊อคเรียกว่า “ลาว”
และคำถามก็คงเหมือนคนท้องถิ่นล้านนาในช่วงทศวรรษ 2420 ว่า ในเมื่อคุณมาจากทวีปอื่น นับถือศาสนาอะไร เหตุใดจึงนำพระพุทธรูปที่มีค่าในแผ่นดินของพวกเขาไป
การที่กล่าวว่าเพราะยังไม่มีกฎหมายสงวนรักษาโบราณวัตถุ ก็หมายความว่าใครอยากได้อะไรของแผ่นดินไหนก็ทำได้ทั้งนั้นใช่หรือไม่
และเหตุใดเมื่อนำออกไปบรรจุเป็นกล่องจำนวนมาก เจ้าหน้าที่สยามไม่มีปฏิกิริยาใดๆ ต่อเรื่องนี้หรืออย่างไรกัน
หรือว่าเป็นดั่งที่บ๊อคเขียนไว้หลายๆ ครั้งในหลายบทว่าคนท้องถิ่นเห็นแก่เงิน จ่ายเพียงไม่กี่รูปี ทุกอย่างก็สะดวกราบรื่น
และคำสั่งที่สั่งลงมา ก็ต้องดูด้วยว่าสั่งมาจากระดับไหน จากกรุงเทพฯ ระดับใด จากเมืองเชียงใหม่ ลำปาง เชียงราย หรือฝาง ระดับเจ้าเมือง หรือเจ้าอุปราช หรือปลัดเมือง หรือไม่มีลายเซ็นของผู้ใด เป็นเพียงข้อความสั่งการเฉยๆ ซึ่งส่งผลให้บ๊อคต้องรีบไปหาคำสั่งที่มีลายเซ็นของชั้นสูงมาหลายครั้ง
จากงานของบ๊อค ล้านนาขาดความเป็นเอกภาพ แต่ละเมือง เช่นที่เชียงใหม่ เจ้าหลวงกับเจ้าอุปราชแข่งขันกันชิงอำนาจ เป็นไปตามระบบการแต่งตั้งที่สยามกำหนดไว้ เพื่อให้เจ้านายถ่วงดุลอำนาจกัน เจ้าหลวงไม่มีอำนาจเด็ดขาด และแต่ละเมืองต่างเป็นอิสระไม่ขึ้นต่อกัน และเจ้าหลวงของแต่ละเมืองก็ไม่อาจควบคุมเมืองในระดับล่าง เช่น เจ้าฝาง เจ้าเมืองพร้าว ก็ไม่ขึ้นต่อเจ้าหลวงเชียงใหม่อย่างชัดเจน
การเดินทางไปมาหาสู่กันก็ใช้เวลามาก แม่น้ำ เรือ และท่าเรือ ก็ไม่มีการปรับปรุงดังที่บ๊อคให้ข้อสังเกต จะพัฒนาเศรษฐกิจและการค้าประเทศล่าอาณานิคมจะต้องพัฒนาการบริหารงานของเมืองขึ้นอีกหลายด้าน แต่สยามเป็นรัฐกึ่งเมืองขึ้น
บ๊อคมองเห็นความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติของสยามและลาว คำถามจึงมีว่าจะจัดการอย่างไร ในเมื่อสยามมิได้เป็นอาณานิคมของใคร แต่รอบบ้านสยามเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตกทั้งหมด
ประเด็นสุดท้าย
บ๊อคกับมรดกสู่อนาคต
สรุป จากงานนิทรรศการที่ มช. เราได้เห็นการแสดงภาพของพระพุทธรูปหลายขนาดและหลายแบบในงานนี้รวม 60 กว่าภาพ แต่กล่าวกันว่า ที่บ๊อคนำออกแสดงจริงที่พิพิธภัณฑสถาน นครออสโล มีจำนวนมากกว่านั้น คือราว 100 องค์ แต่ไม่มีการเปิดเผยว่ามีโบราณวัตถุอื่นๆ ด้วยหรือไม่
แต่อย่างน้อย บ๊อคก็ได้แสดงให้ความเป็นคนรักชาติ รักแผ่นดินของเขา เขาแบ่งส่วนหนึ่งของโบราณวัตถุสำคัญหลายชิ้นจากล้านนาและสยามเหนือไปไว้ที่แผ่นดินแม่ ในฐานะที่เป็นชาวนอร์เวย์ บ๊อคก็คงอยากแสดงความเป็นชาตินิยมของเขาบ้าง ด้วยการนำกลับไปแสดงที่นั่น เพื่อให้ชาติของเขาได้ครอบครองสมบัติเก่าแก่เหมือนอังกฤษและนักล่าอาณานิคมชาติอื่นๆ ทำ และเพื่อให้นอร์เวย์มีฐานะทัดเทียมกับชาติอื่นๆ ในยุโรป
จากการเปิดเผยของ คุณนับเก้า เกียรติฉวีพรรณ นักศึกษาภาควิชาประวัติศาสตร์ มช. ได้มีการค้นพบในระบบออนไลน์ว่า นอกจากที่ออสโลยังมีที่พิพิธภัณฑสถานที่กรุงเวียนนา ออสเตรีย มีพระพุทธองค์ที่บ๊อคนำไปแสดงที่นั่น รวม 6 องค์ตามที่เว็บของพิพิธภัณฑ์แจ้งไว้, ที่บริติช มิวเซียม กรุงลอนดอน
ปรากฏว่า ที่บ๊อคนำไปไว้ที่นั่น มีทั้งพระพุทธรูป วิหารจำลอง สถูปสำริดจำลอง เครื่องเงิน เครื่องประดับ เครื่องเขิน ลูกเป้ง เครื่องดนตรี เครื่องจักสาน หมวก ปลอกหมอนปัก ผ้าเช็ด น้ำต้น ถุงย่าม เสื้อผ้า ผ้าซิ่น และทั้งหมดอยู่ปะปนกับสิ่งที่บ๊อคนำมาจากบอร์เนียว และมีบางส่วนจากสยาม
ข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า คาร์ล บ๊อค ไม่เพียงแต่เป็นนักธรรมชาติวิทยาและขนซากสัตว์กลับมาเท่านั้น หากปฏิบัติตนไม่ต่างจากนักล่าอาณานิคมรายอื่นๆ ที่ได้นำเอาโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุจำนวนไม่น้อยออกจากประเทศที่เขาไปเยือน และเห็นได้ว่ามีการแบ่งสรรให้ทั้งอังกฤษในฐานะผู้ดูแลรับผิดชอบการเดินทางของเขาในครั้งนั้น และเขาก็ย่อมมีสิทธิที่จะเก็บส่วนหนึ่งไว้ที่นอร์เวย์
ส่วนที่ออสเตรียและที่อื่นๆ (ถ้ามี) ก็ต้องค้นคว้าต่อว่ามีการซื้อขาย หรือแลกเปลี่ยนกันด้วยวัตถุประสงค์อื่นใดและอย่างไร
อีกเรื่องหนึ่งก็คือ เด็กหญิงวัย 6 ขวบ เด็กหญิงชาวล้านนาที่มีหนวดเคราและขนทั้งตัว ถูกมองเป็นมนุษย์ประหลาด และได้ถูกคาร์ล บ๊อค นำตัวลงไปที่กรุงเทพฯ กระแสข่าวหนึ่งบอกว่าเธอไปพร้อมกับพ่อและแม่ของเธอ ต่อมาพ่อเสียชีวิต เธอถูกพรากจากแม่ (อีกข่าวหนึ่งบอกว่าพ่อและแม่ไม่ยอมให้ลูกไปกับคนต่างชาติเพราะเกรงจะเกิดเรื่องไม่ดี) เด็กน้อยจึงถูกลักตัวไป
ไม่มีใครทราบว่าเธอชื่ออะไร เธอถูกบ๊อคนำตัวไปยุโรป และส่งให้วิลเลียม เลโอนาร์ด ฮันต์ (William Leonard Hunt) และต่อจากนั้น ได้ถูกนำไปแสดงในฐานะมนุษย์เพราะคล้ายลิง (เพื่อยืนยันว่าคนเราสืบเชื้อสายมาจากลิง) และมีการขายให้นักจัดการแสดงให้ผู้คนได้ชมที่ลอนดอน และถูกนำตัวไปแสดงต่อที่สหรัฐ ในนาม “เครา ฟารินี” (Krao Farini) ตามชื่อของผู้จัดการคนใหม่
ชื่อที่เรียกกันที่ลอนดอน และสหรัฐ คือ “เครา” ซึ่งน่าจะเป็นชื่อตั้งโดยคนสยามที่พบ ตั้งแต่ที่เชียงใหม่หรือกรุงเทพฯ เพราะเธอมีขนรอบปากและคาง “เครา” กลายเป็นดาวดวงเด่นของคณะละครสัตว์
เธอใช้เวลาราว 20 ปีในการออกแสดงโชว์ที่ยุโรปและอเมริกาเหนือ และเสียชีวิตด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ที่นครนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 16 เมษายน ค.ศ.1926 (2469) อายุ 49 ปี (จึงคาดว่าเธอเกิดในช่วง พ.ศ.2420-2469)
คำถามข้อหนึ่งคือ บ๊อคนำเธอออกจากครอบครัว, ล้านนา และสยามอย่างไร ด้วยวิธีใด ด้วยอำนาจของใคร และด้วยเงินจำนวนเท่าใด
จากเรื่องที่กล่าวมา ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธรูป โบราณวัตถุอื่นๆ และสิ่งของเครื่องใช้แปลกๆ สำหรับโลกตะวันตก รวมทั้ง “คนประหลาด” น่าจะทำให้เราเห็นว่า การทำธุรกิจที่ชาวตะวันตกออกแสวงหาจากโลกในส่วนอื่นๆ ของโลกนี้ในช่วงเวลานั้นมีหลายรูปแบบมาก และการร่วมมือกันและแบ่งสรรผลประโยชน์ระหว่างอำนาจของประเทศเจ้าภาพและผู้มาเยือน ตลอดจนภาคเอกชนของแต่ละประเทศมีความลึกซึ้ง ซับซ้อน
จำเป็นต้องอาศัยข้อมูลรอบด้าน และพิจารณาลงไปในรายละเอียดของหลายๆ กรณีเพื่อให้เห็นบทบาทของการร่วมมือและปฏิบัติการเหล่านั้นว่าประเทศตะวันตกได้รับประโยชน์อย่างไร ชาติด้อยพัฒนาต้องเผชิญข้อจำกัดและปัญหาต่างๆ อย่างไร? ฯลฯ
ประเด็นสุดท้าย ในช่วงปี 2564 ได้มีเอกสารของกระทรวงการต่างประเทศไทยตอบคำถามเรื่องข้อห่วงกังวลของสถานทูตไทยที่นอร์เวย์ว่าอาจมีการเรียกร้องขอทวงคืนพระพุทธรูปจากไทยหรือไม่
ฝ่ายกระทรวงได้ตอบไปว่าไม่มีนโยบายดังกล่าว เพราะการกระทำของคาร์ล บ๊อค เกิดขึ้นก่อน “พ.ร.บ.ว่าด้วยโบราณสถาน ศิลปวัตถุ โบราณวัตถุ พ.ศ.2477” จึงไม่ขัดต่อกฎหมาย และกรมศิลปากรไม่เคยมีมติที่จะติดตาม ตรวจสอบ หรือขอทวงคืนจากนอร์เวย์แต่อย่างใด
ต่อเรื่องนี้ สถานทูตไทยในต่างประเทศก็คงมีประสบการณ์บ้างแล้วดังกรณีคนไทยในสหรัฐเรียกร้องให้สถาบันศิลปะแห่งชิคาโก สหรัฐ คืนทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ในปี พ.ศ.2531 หลังคาดกันว่าถูกขโมยไปจากปราสาทพนมรุ้ง บุรีรัมย์ ในปี พ.ศ.2503
เรื่องของคาร์ล บ๊อค กับพระพุทธรูปจำนวนมากที่ถูกนำไปจากล้านนา เมื่อ 144 ปีก่อน ไม่เพียงแต่มีความสลับซับซ้อนในเรื่องการนำออกจากที่ตั้ง ออกจากล้านนาและแผ่นดินสยาม หากแต่ทุกวันนี้ 100 กว่าปีผ่านไป มีผู้คนในล้านนาและในประเทศนี้รับรู้กันสักกี่คน มีกี่คนที่เคยเห็นและเคยอ่านหนังสือเล่มนี้ ที่แปลเป็นภาษาไทยมาเมื่อ 64 ปีก่อน และจะมีกี่คนที่จะได้อ่านบทรายงาน ข้อสังเกตและการวิเคราะห์ของบทความชิ้นนี้ หากลองขึ้นไปเวียงพร้าว เวียงฝาง ฯลฯ จะมีลูกหลานคนใดเคยได้ยินเรื่องราวที่กล่าวในหนังสือเล่มนี้บ้าง กับชะตากรรมของเด็กหญิงที่มีขนทั่วร่างกาย และบ๊อคไม่ยอมพูดถึงเรื่องนี้ในหนังสือแม้แต่คำเดียว
คาร์ล บ๊อค เข้าเฝ้าฯ ในหลวงรัชกาลที่ 5 และกราบบังคมทูลเข้ามาศึกษาสัตว์ของแผ่นดินนี้ และที่เขานำเอาพระพุทธรูปจำนวนมาก โดยไม่เคยระบุจำนวน และของมีค่าอื่นๆ ไปด้วย และเด็กหญิงคนหนึ่ง และอื่นๆ อีกที่เราไม่ได้รับรู้ ยังมีอีกเท่าใด เขาจะอธิบายเรื่องราวเหล่านั้นว่ากระไร และที่ถวายความเคารพสูงสุดแด่องค์ประมุขของสยาม พร้อมกับน้อมอุทิศหนังสือที่เขาเขียนให้ บ๊อคได้แสดงความขอบคุณในเรื่องใดบ้าง?
144 ปีผ่านไปแล้ว แต่ก็คงยังไม่มีอะไรสายบนโลกใบนี้ เราคงจะได้ถกเรื่องนี้กันอีก เมื่อคนเวียงฝาง คนล้านนา และพี่น้องคนไทยในจังหวัดต่างๆ มากกว่านี้ ได้ทราบเรื่องราวเหล่านี้มากขึ้นๆๆ ในอนาคต…
เอกสารประกอบ
https://www.silpa-mag.com/history/article_823682
https://www.thepeople.co/history/the-legend/25740
https://www.britishmuseum.org/collection/term/BIOG121369?id=BIOG121369&page=1#page-top
www.britishmuseum.org https:www.facebook.com/share/p/1Da5BjimKC/
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022