เลาะชายป่าริมแม่น้ำคาน รำลึก ‘อองรี มูโอต์’ และ ‘ออกุสต์ ปาวี’ อนุสรณ์สถานชาวฝรั่งเศสแห่งอินโดจีน

บทความพิเศษ | ยุวดี วัชรางกูร

 

เลาะชายป่าริมแม่น้ำคาน

รำลึก ‘อองรี มูโอต์’ และ ‘ออกุสต์ ปาวี’

อนุสรณ์สถานชาวฝรั่งเศสแห่งอินโดจีน

 

นครหลวงพระบาง เมืองเอกของแขวงหลวงพระบาง แหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมสองสายน้ำ ได้แก่ แม่น้ำโขง และแม่น้ำคาน เป็นหมุดหมายของนักเดินทางทั่วโลกนานนับหลายร้อยปี

ไกลออกไปจากใจนครทางตะวันออก ณ บ้านผานม มีสถานที่แห่งหนึ่งจารึกร่องรอยการมาเยือนของนักสำรวจชาวฝรั่งเศสคนสำคัญสองรุ่น ผู้มีบทบาทสร้างการรับรู้เกี่ยวกับชาวอินโดจีนแก่ชาวตะวันตก และส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างราชอาณาจักรในภูมิภาคอุษาคเนย์ช่วงต้นสมัยรัตนโกสินทร์

บริเวณดอนแก่งนูน ริมแม่น้ำคาน เป็นสถานที่กึ่งลับสำหรับกลุ่มคนจำนวนหนึ่งที่ตั้งใจเสาะหาสุสานของ อองรี มูโอต์ ( Alexandre Henri Mouhot ) นักนิรุกติศาสตร์วัย 35 ปี ในฐานะนักสำรวจธรรมชาติวิทยาผู้เดินทางมาสยามสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเดินทางต่อไปยังราชอาณาจักรกัมพูชาและราชอาณาจักรลาวในแต่ละคราว กระทั่งจบชีวิตด้วยโรคมาลาเรียหรือไข้ป่า ริมแม่น้ำคาน บ้านผานม ในปี พ.ศ.2404

ผลงานการบันทึกพร้อมภาพร่างลายเส้นของมูโอต์สร้างแรงบันดาลใจใหญ่หลวงแก่นักสำรวจรุ่นต่อๆ มา ดังเช่นที่เขาเคยยกย่องบันทึกของ เซอร์จอห์น เบาว์ริ่ง ( Sir John Bowring ) ผู้เดินทางมายังอุษาคเนย์และสยามสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าเป็นแรงขับสำคัญให้เขาต้องการเห็นโลกตะวันออกด้วยตาตนเอง

เขาจึงเสนอโครงการขอรับทุนสำรวจจาก ‘ราชสมาคมภูมิศาสตร์และสมาคมสัตววิทยาแห่งกรุงลอนดอน’ ได้เดินทางมาสัมผัสดินแดนอุษาคเนย์สมความตั้งใจ

สุสาน อองรี มูโอต์ ถูกย้ายจากจุดฝังร่างเดิมริมแม่น้ำคาน มาสร้างใหม่บนเนินเขาริมน้

การเดินทางรอบสุดท้ายจากบางกอก ผ่านลพบุรี ข้ามเทือกเขาดงพญาไฟ ผ่านชัยภูมิ ขึ้นไปทางเมืองเลย ผ่านเมืองปากลาย ข้ามแม่น้ำสู่หลวงพระบาง เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ.2404 มูโอต์นักผจญภัยมาพร้อมลูกหาบชาวสยามสองคนชื่อ ไพร และ แดง โชคร้ายเขาป่วยหนักขณะสำรวจป่าริมแม่น้ำคาน บันทึกชิ้นสุดท้ายของเขาเกิดขึ้นก่อนเสียชีวิตเพียงสิบวัน

วันที่ 10 พฤศจิกายน 2404 มูโอต์สิ้นลมหายใจภายในเพิงพักริมน้ำคาน พลิ้วน้ำแสนงามและป่าสงัดโดยรอบประหนึ่งพยานการเดินทางไกลสู่อ้อมกอดพระเจ้า ดังความปรารถนาของเขาในบันทึกชิ้นสุดท้าย

มูโอต์น่าจะได้สั่งเสียลูกหาบผู้ซื่อสัตย์ไว้ก่อนแล้ว ไพรกับแดงช่วยกันฝังร่างเขาไว้ที่นั่น และนำบันทึกล้ำค่ารวมถึงข้าวของส่วนตัวของมูโอต์ไปมอบแก่เจ้าหน้าที่กงสุลอังกฤษในบางกอก เพื่อส่งต่อไปยังภรรยาชาวอังกฤษของมูโอต์ที่ลอนดอน

ครั้นคณะสำรวจแม่น้ำโขงชาวฝรั่งเศสชุดหลังเดินทางมาถึงดอนแก่งนูน แม่น้ำคานบ้านผานม เพื่อเตรียมเดินทางต่อไปยังลี่เจียงทางตอนใต้ของจีน พวกเขาเสาะหาหลุมศพของมูโอต์จนพบ และได้ย้ายร่างของเขาออกจากพื้นที่ โดยสร้างสุสานจำลองไว้บนเชิงเขาริมแม่น้ำคาน จนถึงปัจจุบัน

รูปปั้น ออกุสต์ ปาวี ผู้ที่เดินทางสู่ลาว ช่วงสมัยรัชกาลที่ห้าของสยาม

บันทึกสำคัญของมูโอต์ตีพิมพ์ในวารสารราชสมาคมฯ เป็นภาษาฝรั่งเศส ต่อมาได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษในชื่อ Travels in the central parts of Indo-China (Siam), Cambodia, and Laos : during the years 1858, 1859, and 1860.

ห่างจากสุสานมูโอต์ขึ้นไปทางเนินด้านหลังไม่ไกล ปรากฏรูปปั้นจำลองบุรุษผู้หนึ่งระบุนาม Jean Marie August Pavie หรือที่ชาวสยามเรียกขานว่า มองซิเออร์ปาวี นักสำรวจชาวฝรั่งเศสผู้เดินทางสู่อินโดจีนและสยามสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

นักประวัติศาสตร์อาวุโสอย่าง ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เคยวิเคราะห์เกี่ยวกับการสร้างอนุสาวรีย์ปาวีเคียงสุสานมูโอต์ ทั้งที่เป็นคนละช่วงสมัยว่า น่าจะต้องการแสดงคุณูปการของบุคคลทั้งสองที่มีส่วนช่วยให้ลาวหลุดพ้นจากอิทธิพลของสยามในสมัยนั้น

เหตุการณ์ รศ.112 หรือ พ.ศ.2436 สมัยรัชกาลที่ห้า ปาวีมีบทบาทสำคัญทำให้เจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสได้ลาวมาอยู่ในปกครอง ปาวีเป็นกงสุลประจำบางกอก ดูแลโคชินไชน่า กัมพูชา หลวงพระบาง เขาสร้างเครือข่ายอิทธิพลจากแม่น้ำโขงตอนกลาง ไปจรดสิบสองปันนาตอนใต้ของจีน

เดินเลาะน้ำคาน ช่วงแก่งนูน

ข้อมูลจากมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ เปิดเผยว่าเหตุการณ์กบฏฮ่อ เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ลาวมาอยู่ใต้อาณัติฝรั่งเศส พวกฮ่อเข้ายึดหลวงพระบางโดยที่กองทัพสยามไม่สามารถช่วยเหลือได้ ขณะที่ปาวีในฐานะผู้ช่วยกงสุลในหลวงพระบางมานาน 17 ปี ได้นำ พระเจ้าสักรินทรฤทธิ์ (เจ้าคำสุก) เจ้ามหาชีวิตองค์ที่ 12 แห่งราชอาณาจักรล้านช้างหลวงพระบาง เสด็จฯ หนีภัยฮ่อ ข้ามแม่น้ำโขงมาฝั่งขวาที่เมืองปากลาย ได้สำเร็จ

เมื่อรวมกับสถานการณ์ความขัดแย้งกรณีพระยอดเมืองขวาง ที่เมืองคำม่วน สะหวันนะเขต ฝรั่งเศสจึงดำเนินการเชิงรุกด้วยนโยบายการทูตเรือปืน อ้างสิทธิเหนือดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง

ที่สุดแล้วสยามยินยอมทำหนังสือสัญญา ลงวันที่ 3 ตุลาคม ร.ศ.112 ชดใช้ค่าเสียหายให้ฝรั่งเศส ทั้งต้องสละอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนลาว ต้องไม่มีเรือรบอยู่ในตนเลสาบของกัมพูชา โดยฝรั่งเศสใช้กองทหารยึดเมืองจันทบุรีและตราดไว้เป็นประกันช่วง พ.ศ.2435-2447

อนุสรณ์สถานของชาวฝรั่งเศสสองคนสองสมัย บนเนินชายป่าริมแม่น้ำคาน บ้านผานม แขวงหลวงพระบาง สปป.ลาว จึงเป็นสถานที่น่าสนใจสำหรับกลุ่มคนที่นิยมเรียนรู้ประวัติศาสตร์ไร้พรมแดนสองฝั่งโขง ในฐานะ ‘ประวัติศาสตร์ร่วมแห่งภูมิภาคอุษาคเนย์’

ทางตรงข้าม…สถานที่กึ่งลับแห่งนี้อาจเป็นของแสลงสำหรับคนบางกลุ่ม ขึ้นกับว่าบุคคลนั้นๆ เลือกสวมแว่นแบบใดต่อการอ่านอดีต ผ่านประวัติศาสตร์นิพนธ์ฉบับต่างๆ

แวะถามชาวบ้าน หาทางลงริมน้ำดอนแก่งนูน
พลิ้วแม่น้ำคานช่วงตื้นสวยงามมาก เป็นจุดท่องเที่ยวของหนุ่มสาวลาว
อนุสรณ์สถานของนักสำรวจธรรมชาติคนดัง