รวมเรื่องสั้น เพลงรัตติกาลรักในห้วงคะนึง ผู้เขียน คาสึโอะ อิชิงุโระ

บทความพิเศษ | มีเกียรติ แซ่จิว

 

รวมเรื่องสั้น

เพลงรัตติกาลรักในห้วงคะนึง

ผู้เขียน คาสึโอะ อิชิงุโระ

 

ชีวิตเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่

กว่าการรักใครสักคน

Nocturnes หรือในชื่อภาษาไทย ‘เพลงรัตติกาลรักในห้วงคะนึง’ รวมเรื่องสั้นขนาดยาว 5 เรื่องของ คาสิโอะ อิชิงุโระ นักเขียนรางวัลโนเบล และเป็นเจ้าของสถิติรางวัลต่างๆ อีกมากมาย มีผลงานลือลั่นเป็นที่จดจำและถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์อย่าง Remains of the Day, Never Let Me Go หรือในผลงานดิสโทเปียอีกเรื่องอย่าง Klara and The Sun ก็ถูกนำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์แล้วเช่นกัน

เพลงรัตติกาลรักในห้วงคะนึง เสน่ห์เรื่องสั้นอวลเสียงดนตรีทั้ง 5 เรื่องในเล่มนี้ มีความน่าสนใจ แตกต่างกันออกไป แต่มวลรวมทั้งหมดครอบคลุมลื่นไหลในเรื่องเดียวกัน คือผ่านเข้ามาแล้วจรจากไป หันกลับมามองอีกครั้ง ภาพ เหตุการณ์ ณ ห้วงเวลาเหล่านั้น เปลี่ยนฉาก เปลี่ยนตัวละคร สลายหายไปหมดแล้ว

โดยในบทความชิ้นนี้ ผู้เขียนขอหยิบยกเรื่องสั้น ‘นักร้องอมตะ’ กับ ‘เพลงรัตติกาลรัก’ (เรื่องสั้นลำดับที่ 1 กับ 4) มากล่าวถึงในภาพกว้าง ในแง่มุมของ ‘คนในความทรงจำ’ และ ‘กำลังใจจากคนแปลกหน้า’

“นิรันดร์กาลกลายเป็นเรื่องนานเกินไป”

ท่ามกลางชีวิตที่พลิกผันขึ้นและตกต่ำ (การผจญภัยในเรื่องราวกับอีเลียตของโฮเมอร์) เพื่อเดินทางกลับมาบ้านเกิดเพื่อมาเจอคนรักอีกครั้ง ในฉากที่ทริสแทน (แบรด พิตต์) มอง ‘ซูซานนาห์’ (จูเลีย ออร์มอน) ที่ได้แต่งงานกับพี่ชายของเขา ฝ่ายชายเกิดคำถามว่าทำไมเธอจึงไม่รอเขา

เธอจึงตอบเพียงสั้นๆ ว่า “นิรันดร์กาลกลายเป็นเรื่องนานเกินไป”

ภาพยนตร์อย่าง Legends of the Fall (1994) จึงสื่อสารบอกเราได้เป็นอย่างดีว่า ความรักไม่มีคำว่ายืนยงนิจนิรันดร์ รักแปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลาที่หมุนผ่าน

ในเรื่องสั้น ‘นักร้องอมตะ’ ก็เล่าเรื่องราวทำนองนั้น เพียงแต่บริบทในเรื่องแตกต่างกันออกไป

โดยใจความสำคัญของเรื่องคือ การจะกลับมาเจิดจรัสได้เหมือนวันวานอีกครั้งของ ‘โทนี การ์ดเนอร์’ นักร้องดังในอดีตที่ปัจจุบันพ้นสมัยของตนไปแล้ว นักร้องจำต้องตัดสินใจเลิกรากับ ‘ลินดี’ ภรรยาทั้งที่ยังรักกันอยู่

แต่เมื่อต่างฝ่ายต่างตกลงใจที่จะทำตามเจตนารมณ์ของตนแล้ว ก็ไม่มีความหมายใดที่จะรั้งหรือยืดเยื้อกันอีกต่อไป

การเดินทางมาเยือนเวนิส ล่องเรือ และร้องเพลงร่ำลากันเป็นครั้งสุดท้าย (ฉากดังกล่าวราวโรมิโอยืนขอความรักจากจูเลียต ต่างกันตรงที่โทนียืนร้องเพลงอยู่บนเรือและลินดีเพียงเปิดหน้าต่างทิ้งไว้) จึงเป็นฉากที่แสนโรแมนติกและเศร้าในคราเดียวกัน

โดยเรื่องราวทั้งหมดเล่าผ่านมุมมองของ ‘ยาเน็ค’ นักดนตรีหนุ่มที่ในวัยเด็กได้รับอิทธิพลการฟังเพลงมาจากแม่ที่เป็นแฟนเพลงตัวยงของโทนี การ์ดเนอร์

“ผมเข้าใจที่คุณพูด พ่อหนุ่ม และผมก็รู้ว่ามันอาจจะทำร้ายจิตใจคุณบ้าง แต่ก็เป็นเช่นนั้นแหละ ก็นะ มันเกี่ยวกับลินดีเหมือนกัน สิ่งที่เรากำลังทำอยู่ตอนนี้เป็นการดีสำหรับเธอด้วย เธอยังไม่แก่ คุณเห็นเธอแล้ว เธอยังสวย เธอจำเป็นต้องออกไปเสียตั้งแต่ตอนนี้ ขณะที่ยังมีเวลา จะได้พบกับความรักอีกสักครั้ง แต่งงานอีกสักหน เธอจำเป็นต้องออกก่อนจะสายเกินไป” (หน้า 45)

เรื่องสั้นดังกล่าวชวนตั้งคำถามเลยไปถึงหนังสือ ‘อนันตกาล’ (เขียนโดย เจน ฮอว์กิง) ภรรยาผู้เคยอยู่เคียงข้างประคับประคองเป็นมือเป็นเท้าแทน ‘สตีเฟ่น ฮอว์กิง’ มาโดยตลอด จวบจนประสบความสำเร็จในชีวิต แต่สุดท้ายก็เลิกรากันไป (ในบันทึกหลายตอน เธอเขียนออกจะเคารพและชื่นชมอัจฉริยะผู้นี้)

หรืออย่างในประวัติจอห์นนี่ แคช ในภาพยนตร์ Walk the Line นั่นก็เช่นเดียวกัน ราวกับว่าจุดสูงสุดของคนคนหนึ่งต้องแลกอะไรกลับคืนมาเสมอ และในวันที่ตกต่ำของใครสักคน ก็ต้องการ ‘พลังงานใหม่ๆ’ ในชีวิตคืนกลับเข้ามา (เช่นความหมายในบทเพลงสุดซึ้ง Shallow ที่แบรดลีย์ คูเปอร์ กับ เลดี้ กาก้า ร้องร่วมกันในหนังดัง A Star Is Born)

‘ไม่ว่าจะมองในแง่ไหน จะได้กลับมาดังหรือไม่ เขาก็ยังคงเป็นผู้ยิ่งใหญ่ตลอดกาล’ (หน้า 47)

จากมุมมองของคนที่ชื่นชอบรักในเสียงเพลงและเป็นแรงบันดาลใจในการเล่นดนตรีมาโดยตลอด ประโยคดังกล่าว จึงบอกได้เป็นอย่างดีว่า ความเป็นไอดอล ภาพจำที่มี จะยังคงมิเสื่อมคลาย และจะยังคงอยู่ในใจเสมอมา

ส่วนเหตุผลสำหรับศิลปิน การตัดสินใจเลือกทางเดินสายใหม่ ออกจากชีวิตของคนรักเก่า นั่นเป็นเรื่องส่วนตัวของศิลปิน แฟนเพลงรักในผลงาน มิใช่มองที่ตัวตน

 

‘เพลงรัตติกาลรัก’ เป็นเรื่องสั้นอีกเรื่องที่ให้ความหมายของ ‘คนแปลกหน้า’ ความต่างสถานะทางสังคมของคนสองคนที่บังเอิญโคจรมาพบกันในช่วงพักรักษาตัวหลังการผ่าตัดศัลยกรรมใบหน้าที่โรงแรมเบเวอรี่ฮิลส์อันหรูหราชั้นบนสุดของหมอคนดัง

คนหนึ่งเป็นนักแซ็กโซโฟนชื่อ ‘สตีฟ’ ที่เล่นดี แต่ไม่ดัง เพราะหน้าตาธรรมดาๆ ของเขา (และการที่เขาตกลงใจมาทำศัลยกรรม เพื่อหวังให้ ‘เฮเลน’ คนรักกลับมารักเขาอีกครั้ง)

ส่วนอีกคนเป็นสาวเซเลปคนดังแวดวงดาราและมหาเศรษฐี ‘ลินดี การ์ดเนอร์’ ที่ในชีวิตจริงไม่ได้สวยงามเหมือนในงานเลี้ยงสังสรรค์อย่างใน The Great Gatsby ของเอฟ.สกอตต์ ฟิตซ์เจอรัลด์

แต่สองขั้วที่แตกต่างกัน กลับจูนเข้าหากันได้เป็นอย่างดี เพราะหลงใหลในเสียงเพลงเหมือนกัน

และที่มากไปกว่านั้น ผู้เขียนอิชิงุโระยังได้เชื่อมต่อจากเรื่องสั้น ‘นักร้องอมตะ’ เข้ากับเรื่องนี้ได้อย่างกลมกลืนและแนบเนียน

‘ผมมีความรู้สึกเลือนรางว่าลินดีเพิ่งหย่ากับโทนี การ์ดเนอร์ เมื่อไม่นานมานี้ แต่ด้วยความที่ผมเป็นคนไม่ประสาในข่าวซุบซิบดารา จึงคิดว่าผมอาจเข้าใจผิดก็ได้ ไม่เช่นนั้นแล้ว ทำไมเธอถึงได้เต้นรำแบบนี้ จมอยู่ลึกในเสียงดนตรีอย่างพออกพอใจอยู่คนเดียว?’ (หน้า 165)

ส่วนหนึ่งจึงเหมือนเป็นภาคขยายตัวละครลินดีกับเรื่องราวถัดจากนั้นของเธอ

ส่วนอีกด้านหนึ่งเรื่องนี้เหมือนเป็นการ ‘ผลักไปข้างหน้า’ ของใครสักคน เหมือนเข้ามาหาเพื่อเป็นแรงผลักส่งในช่วงเวลาสั้นๆ และให้ข้อคิดเตือนใจสำหรับการก้าวออกไปสู่วันใหม่ๆ เติบโตและไม่เสียเวลามองย้อนกลับอดีตที่ผ่านมาอย่างที่ตัวเธอเคยประสบ

“นี่แน่ะ ฟังนะ ที่รัก ฉันหวังว่าภรรยาคุณจะกลับมา ฉันหวังเช่นนั้นจริงๆ แต่ถ้าเธอไม่กลับมา คุณก็ต้องเริ่มมองภาพอย่างที่มันเป็น เธออาจจะเป็นคนที่ยอดเยี่ยม แต่ชีวิตเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่กว่าการรักใครสักคน คุณต้องออกไปให้พ้นนะสตีฟ คนแบบคุณ คุณไม่เหมาะที่จะอยู่ในฝูงชน”

“ดูฉันสิ เมื่อฉันถอดผ้าพันแผลออก ฉันจะดูเหมือนที่ฉันเคยเป็นเมื่อยี่สิบปีก่อนหรือเปล่า? ฉันไม่รู้ มันนานมาแล้วตั้งแต่ฉันเปลี่ยนสามีแต่ละคน แต่ฉันยังออกไปตรงนั้นและเดินหน้าต่อไปอยู่ดี” (หน้า 212)

 

ฉากรุ่งเช้าหลังผจญยามค่ำคืนก่อนวันงานเลี้ยงรับรางวัลดนตรีอันน่าจะหาไม่ได้อีกแล้วได้สิ้นสุดลง การร่ำลา แยกย้ายจากกัน ให้ความรู้สึกประหนึ่งว่า ‘มันจะไม่กลับมาอีกแล้ว’ กลายเป็นภูตพรายหรือหนึ่งราตรีกาลแล้วจรจาก เหมือนกำลังนั่งดูภาพยนตร์ Room in Rome (2010) ที่เพียงค่ำคืนหนึ่งก็ให้อารมณ์ความรู้สึกมากมายราวกับว่าได้รู้จักกันมาทั้งชีวิต

‘นั่นคือช่วงเวลาที่ผมได้เป็นเพื่อนบ้านของลินดี การ์ดเนอร์ ผมหวังว่าเธอคงโชคดี สำหรับผม ยังเหลืออีกหกวันกว่าจะได้เปิดเผยโฉมหน้า และอีกนานกว่านั้นก่อนจะได้รับอนุญาตให้เป่าแซ็ก แต่ผมชินกับชีวิตตอนนี้แล้ว ผมใช้เวลาผ่านไปได้อย่างค่อนข้างน่าพอใจ เมื่อวานผมได้รับโทรศัพท์จากเฮเลน เธอถามว่าผมเป็นยังไงบ้าง และเมื่อผมบอกว่าผมได้รู้จักลินดี การ์ดเนอร์ เธอก็ประทับใจอย่างมาก’ (หน้า 214)

เราจะมีสิ่งยืนยันที่เรียกได้ว่า ‘ช่วงเวลาที่งดงาม’ กับใครสักคนได้สักกี่ครั้งในชีวิตหนึ่ง ชีวิตเป็นสิ่งที่ไม่นิรันดร์กาล ไม่จีรังยั่งยืนนาน ผ่านมาแล้วผ่านไป ไม่มีใครสามารถ ‘กักขังเวลา’ คงความหนุ่มสาวได้ตลอดกาล (แม้ว่าเราจะเปิด Forever Young ฟังสักกี่รอบก็ตาม)

ยังจำคำของคนรับใช้ชาวอังกฤษผู้ภักดีแห่งคฤหาสน์ดาร์ลิงตันฮอลล์ในนวนิยาย The Remains of the Day ได้ไหม

บางคราวเราก็สูญเสียบางสิ่งบางอย่างไปกับวันเวลาที่ไม่เคยเป็นตัวของตัวเองมาเนิ่นนาน จนกระทั่งวันหนึ่ง หากให้ก้าวออกไปสู่เส้นทางเดินใหม่ๆ ก็จะรู้สึก ‘…ไม่สบายใจ ถ้าจะเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตเก่าๆ มากจนเกินไป’ (ในที่นี้คือการอุทิศตนรับใช้นายมาโดยตลอดหลายสิบปี จนโลกทั้งใบแทบจะเรียกได้ว่าอยู่ในคฤหาสน์แห่งนี้)

ลินดี การ์ดเนอร์ จึงเป็นตัวละครที่มองโลกตามความเป็นจริง จากประสบการณ์ผ่านร้อนผ่านหนาวในชีวิตมามากกว่าสตีฟ เธอจึงมองโลกอย่างคนเข้าใจชีวิต นั่นคือการกลับมารักตัวเอง

การที่สตีฟได้มาพบกับลินดีในช่วงเวลาสั้นๆ จึงยืนยันความไม่บังเอิญอย่างหนึ่งได้เป็นอย่างดีว่า เขาไม่ใช่คนแรกที่กำลังสูญเสียคนรักไป และชีวิตต้องดำเนินต่อไป

อย่าสูญเสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์กับการรักใครสักคนที่ไม่มีใจให้เราแล้ว บางทีชีวิตเองนั่นแหละ ที่จะขับเคลื่อนสิ่งใหม่ๆ เข้ามาสู่ชีวิตของเรา หากเราเลือกที่จะเชื่อมั่นตัวเอง

‘บางทีอย่างที่เธอบอก ผมต้องการมุมมองกว้างๆ เพราะชีวิตเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่กว่าการรักใครสักคน บางทีนี่อาจเป็นจุดเปลี่ยนที่แท้จริงของผม ชื่อเสียงโด่งดังกำลังรอผมอยู่ บางทีเธออาจพูดถูกก็ได้’ (หน้า 215)