33 ปี ชีวิตสีกากี พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ (110)

พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์

บทความพิเศษ | พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์

 

33 ปี ชีวิตสีกากี

พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ (110)

 

เริ่มงานที่สตูล

วันจันทร์ที่ 28 มกราคม 2534

ผมแต่งเครื่องแบบชุดคอแบะพร้อมสายโยง คาดกระบี่ยาว เพื่อรายงานตัวผู้บังคับบัญชา เบื้องต้นได้รายงานตัวต่อ พ.ต.ท.สมชาย อุทัยแสง รอง ผกก.ภ.จว.สตูล และได้พบกับ ร.ต.อ.ชาญเทพ เสสะเวช ซึ่งย้ายมาดำรงตำแหน่ง สว.สภ.ต.ฉลุง อ.เมือง จ.สตูล ในคำสั่งเดียวกับผม

จากนั้นจึงได้เข้ารายงานตัวต่อ ร.อ.เคียงศักดิ์ ธรรมราชรักษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล

และในเวลานั้น พ.ต.ท.สุวรรณ ทองนอก สวป.สภ.อ.ควนกาหลง ก็มารายงานตัวด้วยเช่นกัน

ร.ต.อ.อรัญ มหาทรัพย์ ได้พาผมไปพบ นายถาวร บุญยะวันตัง นายอำเภอเมืองสตูล เพื่อทำความรู้จักและประสานงานเมื่อปฏิบัติหน้าที่

และกลับมารายงานตัวต่อ พ.ต.อ.วีระ ปานจันทร์ ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดสตูล ซึ่งไม่ใช่คนแปลกหน้าต่อกันเพราะผมเคยทำงานร่วมกัน เมื่อผู้กำกับยังเป็นสารวัตรใหญ่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองระนอง ส่วนผมเป็นนายตำรวจที่จบมาใหม่ยังเป็นวัยละอ่อน ต่อมายังได้พบกันในหลายโอกาสที่หาดใหญ่

ผมมีภาพจำของสารวัตรใหญ่ที่เป็นตำรวจนักบู๊ จนผมประทับใจ และคิดว่า ยังคงมั่นคงในแนวทางของนักสู้

ครั้งนี้ผมมีตำแหน่งสูงขึ้น ผู้กำกับยังคงเอกลักษณ์ของการเป็นคนใจร้อน บางครั้งแสดงอารมณ์โมโหและฉุนเฉียว จนผมรู้สึกผิดหวังกับสิ่งที่แสดงออกและกระทำต่อผม จนความประทับใจนั้นหดหายไป

เป็นคนละคนกับสารวัตรใหญ่คนที่ผมเคยรู้จักมาก่อน

 

ในทุกโรงพัก ตำแหน่งที่เป็นสารวัตร จะมีห้องทำงานเป็นของตัวเองแยกเป็นสัดส่วนไม่ไปปะปนกับรองสารวัตรแล้ว ทำให้มีสมาธิในการทำงาน สามารถใช้ความคิดพิจารณาคดีได้อย่างละเอียดรอบคอบ ไม่มีใครรบกวน สามารถอยู่ดูสำนวนการสอบสวนได้ทั้งคืน มีหน้าที่ปกครองควบคุมดูแลการปฏิบัติของรองสารวัตรสืบสวนสอบสวนซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา พร้อมทั้งให้คำปรึกษา แนะนำ

ผมไม่ต้องเข้าร้อยเวรสอบสวนคดีอาญาจราจรอีกต่อไป แต่จะต้องรับผิดชอบบรรดาคดีอาญาที่เกิดขึ้นในพื้นที่รับผิดชอบทั้งหมด ต้องตรวจสำนวนการสอบสวนและสั่งการไม่ให้เกิดข้อบกพร่องหรือเกิดความเสียหาย

หากเป็นคดีอุกฉกรรจ์ หรือคดีสำคัญที่ยุ่งยากซับซ้อน จะต้องดำเนินการสอบสวนด้วยตัวเอง คดีอาญาทั่วๆ ไป รองสารวัตรสืบสวนสอบสวน ดำเนินการเอง

ผมเริ่มทำงานและตรวจจำนวนสำนวนการสอบสวนที่มีอยู่ทั้งหมดในเวลานั้นของ สภ.อ.เมืองสตูล มีจำนวนเท่าใด และมีใครรับผิดชอบ

ส่วนตอนกลางคืน ได้ร่วมออกตรวจกับชุดสืบสวน ซึ่งเป็นงานอีกด้านที่ผมต้องรับผิดชอบวางแผนจับกุมคนร้าย

ผมจะออกตรวจเช่นนี้กับตำรวจชุดสืบสวนบ่อยมากเกือบทุกคืนในช่วงแรกๆ เมื่อรู้พื้นที่มากขึ้น รู้สถานการณ์อาชญากรรมมากขึ้น จึงลดการตรวจลงไปในระหว่างที่ผมยังกำกับควบคุมชุดสืบสวน ทำงานทั้งกลางวันและกลางคืน

เวลานั้นผมมีไฟที่แรงกล้า มีพละกำลัง จึงสนุกกับการทำงานให้กับชาวเมืองสตูล

 

ความรู้พื้นฐานทั่วๆ ไปของ สภ.อ.เมืองสตูล ซึ่งจะต้องจำไว้ในหัว มีตามนี้

อำเภอเมืองสตูล ตั้งอยู่ทางใต้สุดของประเทศไทย ชายฝั่งตะวันตกติดทะเลอันดามัน มีเกาะเล็กเกาะใหญ่ จำนวน 63 เกาะ เกาะที่สำคัญ คือ เกาะตะรุเตา อำเภอเมืองสตูล ตั้งอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร 973 กิโลเมตร

มีพื้นที่ทั้งหมด 886,816 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 554,260 ไร่ พื้นที่ทั่วไปเป็นพื้นราบ และเนินเขา อีกส่วนเป็นเกาะ อยู่ตามแนวชายฝั่งและกลางทะเลอันดามัน

โดยพื้นราบส่วนหนึ่งเป็นป่าชายเลน มีชายฝั่งทะเลยาวประมาณ 35 กิโลเมตร สภาพอากาศมี 2 ฤดู คือ ฤดูฝนกับฤดูร้อน ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม จนถึงเดือนธันวาคม ฤดูร้อนเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน

ฝนจะตกมากในเดือนสิงหาคม กันยายน และพฤษภาคม โดยรับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงเหนือ และตะวันออกเฉียงใต้ อาณาเขตติดต่อพื้นที่ต่างๆ ดังนี้

ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอควนโดน

ทิศใต้ ติดต่อกับรัฐเปอร์ลิส ประเทศมาเลเซีย และทะเลอันดามัน

ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอควนโดน และรัฐเปอร์ลิส ประเทศมาเลเซีย

ทิศตะวันตก ติดต่อกับกิ่ง อ.ท่าแพ และทะเลอันดามัน

 

สถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดสตูล และถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันดับหนึ่งของประเทศ คือ อุทยานแห่งชาติตะรุเตา เป็นอุทยานทางทะเลแห่งแรกของประเทศไทย ตั้งอยู่กลางทะเลลึกของอำเภอเมืองสตูลและติดต่ออำเภอละงู มีพื้นที่ทั้งผืนน้ำและเกาะ 51 เกาะ ขนาด 1,490 ตารางกิโลเมตร เกาะตะรุเตาเป็นเกาะใหญ่สุด พื้นที่ 151 ตารางกิโลเมตร เป็นที่ตั้งของสำนักงานและที่พักของนักท่องเที่ยว บนเกาะยังมีสภาพเป็นป่าดงดิบอุดมสมบูรณ์ มีสัตว์ป่าชุกชุม

ในอดีตเป็นสถานกักกันนักโทษทางการเมือง คือ กบฏบวรเดช ยังมีหมู่เกาะราวี เกาะอาดัง เกาะหลีเป๊ะหรือลิเป๊ะ เกาะหินงาม และเกาะไข่

อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ที่ทำการอยู่ที่บริเวณอ่าวนุ่น ต.ปากน้ำ อ.ละงู มีพื้นที่ตลอดแนวชายฝั่งอำเภอละงู อำเภอทุ่งหว้า จนถึงจังหวัดตรัง มีเกาะต่างๆ คือ เกาะลิดี เกาะเขาใหญ่ เกาะปูโหลน และเกาะเภตราของจังหวัดตรัง

อุทยานแห่งชาติทะเลบัน มีพื้นที่ 210 ตารางกิโลเมตร อยู่ติดชายแดนมาเลเซีย พื้นที่ป่าดงดิบบนเทือกเขาสันกาลาคีรีไปตามพรมแดนไทย-มาเลเซียในทะเล จึงมีพื้นที่ส่วนหนึ่งอยู่ในทะเลสุดชายแดนไทยด้านทิศใต้จดรัฐเปอร์ลิส มีป่าไม้ที่มีคุณค่า มีถ้ำและน้ำตกที่สวยงาม

ยังมีถ้ำลอดปูยู อยู่หมู่ที่ 3 ตำบลปูยู และสวนสาธารณะเขาโต๊ะพญาวัง เขาโต๊ะหยงกงในเขตเทศบาลเมืองสตูล

และความที่ผมเป็นตำรวจจราจรมาก่อน จึงสนใจชื่อถนนหนทางในพื้นที่ที่ไปอยู่ และต้องทึ่งปนฉงน เมื่อเมืองสตูลมีชาวมุสลิมอยู่กันมาก กับมีชื่อถนนที่สละสลวยเมื่อนำมาเรียบเรียงแต่ละถนนคล้องจองเข้ากันได้กับไทยมุสลิมและไทยพุทธ ตามนี้เลย

ถนนบินตำมะหงงอุทิศ สมันตประดิษฐ์ สถิตยุติธรรม หัตถกรรมศึกษา ศุลกานุกูล เรืองฤทธิ์จรูญ สตูลธานี บุรีวานิช สฤษดิ์ภูมินารถ ยาตราสวัสดี สินีวิถี ภูมีจรดล เยาวชนศึกษา คูหาประเวศน์ วิเศษมยุรา ประชาอุทิศ ติรสถิต อภัยนุราชรำลึก หรือยุทธการกำธร

แต่ละชื่อฟังแล้วไพเราะมาก ต้องขอบคุณ อดีตสรรพสามิตจังหวัดสตูล นายแจ่ม ดีประวัติ ที่ตั้งชื่อไว้เมื่อครั้งก่อนโน้น พ.ศ.2481

 

สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองสตูลตอนนั้นตั้งอยู่ที่ถนนสตูลธานี ต.พิมาน อ.เมือง จ.สตูล โดยอยู่ภายในบริเวณเดียวกับตำรวจภูธรจังหวัดสตูล มีสถานีตำรวจในปกครอง 1 สถานี คือ สถานีตำรวจภูธรตำบลฉลุง

สถานภาพกำลังพลของหน่วยในช่วงปี 2534 สภ.อ.เมืองสตูล ชั้นสัญญาบัตร มีกำลังอนุญาต 20 นาย มีตัวคนจริง 12 นาย ในจำนวน 12 นายที่เป็นตัวคนจริงและอยู่ปฏิบัติหน้าที่ แยกเป็น สารวัตร 4 นาย รองสารวัตรฝ่ายสอบสวน 4 นาย และรองสารวัตรฝ่ายป้องกันปราบปราม 4 นาย คงขาดกำลังในส่วนนี้อีก 8 นาย คือ รอง สวส. 1 นาย รอง สว.ปป. 2 นาย รอง สว.ส. 3 นาย รอง สว.ธุรการ 1 นาย และรอง สว.จราจร อีก 1 นาย

ชั้นประทวน กำลังที่ได้รับอนุญาต 176 นาย มีตัวคนจริง 147 นาย คงขาดกำลังอีก 29 นาย

เครื่องมือสื่อสาร มี 25 เครื่อง ใช้การได้ 12 เครื่อง

ยานพาหนะ รถยนต์มี 7 คัน ใช้การได้ 6 คัน

รถจักรยานยนต์มี 19 คัน ใช้การได้ 17 คัน

ปัญหาอุปสรรคในการปฏิบัติหน้าที่

เครื่องมือสื่อสารมีไม่เพียงพอ

การจัดกำลังสายตรวจไม่สามารถทำได้เต็มที่ เพราะกำลังไม่เพียงพอ

รถยนต์ส่วนใหญ่สายตรวจใช้ในราชการมานาน จึงไม่มีประสิทธิภาพและสะดวกต่อการปฏิบัติหน้าที่

รถจักรยานยนต์มีน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่ที่ต้องรับผิดชอบ

การตรวจตราปราบปรามความผิดทางทะเล และการออกปฏิบัติงานในเขตพื้นที่ที่ตั้งอยู่ตามแนวชายฝั่ง และกลางทะเล ไม่สามารถที่จะกระทำได้โดยสะดวก เพราะไม่มียานพาหนะ (เรือ) ที่สามารถใช้การได้ เมื่อมีคลื่นลมแรง และ สภ.อ.เมืองสตูล ยังไม่มีเรือไว้ใช้การ ในขณะนี้มีเพียงเรือของตำรวจภูธรจังหวัดสตูลใช้การอยู่ แต่เป็นเรือขนาดเล็กมาก ไม่เหมาะสมกับพื้นที่

ข้อมูลเหล่านี้เมื่อเป็นนายตำรวจจะต้องจดจำพื้นที่ที่ตัวเองรับผิดชอบไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหน ให้ทราบข้ออ่อนข้อด้อย แล้วหาทางแก้ไข ให้ผู้ใต้บังคับบัญชาสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และถึงแม้จะอยู่ในสภาพที่จำกัดมากมาย

เมื่อเกิดเหตุการณ์ร้ายแรง สังคมจะเรียกร้องหาความรับผิดชอบจากนายตำรวจในพื้นที่

แต่ไม่เคยมีใครพูดถึงความจริงเหล่านี้