ขอต้อนรับประธานาธิบดีทรัมป์ (3) จากเศรษฐี สู่มหาเศรษฐี

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ | สุรชาติ บำรุงสุข

 

ขอต้อนรับประธานาธิบดีทรัมป์ (3)

จากเศรษฐี สู่มหาเศรษฐี

 

“ถ้าใครมาหยามคุณ จงสู้กลับ ต้องโหด [และ] ต้องอึดเข้าไว้”

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

 

ในยุคเริ่มต้นความเป็น “เซเลบ” ของโดนัลด์ ทรัมป์ นั้น ทุกคนรู้ดีว่าเขาเริ่มต้นจากความเป็น “เศรษฐีอสังหาฯ” ในแบบที่กล้าบุก กล้าลงทุน ซึ่งก็ดูจะเป็นภาพสะท้อนถึงบุคลิกของทรัมป์ในแบบที่เขาเป็น หรือว่าที่จริงแล้วตัวตนของเขาก็เป็นดังคำพูดในข้างต้นของบทความ

ถ้าเราดูเส้นทางชีวิตของทรัมป์ จะเห็นได้ว่าทรัมป์เริ่มต้นจากการเป็นนักธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ และหลังจากกลายเป็นเศรษฐีแล้ว เขาเริ่มสนใจวงการสื่อสารมวลชน จนในที่สุดจึงตัดสินใจเล่นการเมือง

ดังนั้น บทความนี้จะลองหันกลับไปดู “ปูมหลัง” ทางธุรกิจ ที่เป็นจุดเริ่มต้นส่งให้ทรัมป์เข้ามามีบทบาททางด้านอื่นๆ จนกลายเป็น “คนดัง” ในสังคมอเมริกัน และกลายเป็นประธานาธิบดีอเมริกันในที่สุด

นักอสังหาริมทรัพย์ที่อื้อฉาว!

 

ทรัมป์เริ่มต้นชีวิตทางธุรกิจกับบริษัทของพ่อ คือ “Trump Management” ที่เป็นธุรกิจบ้านเช่าของชนชั้นกลางในนิวยอร์ก และเมื่อเขาสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีในปี 1968 นั้น เขาได้รับเงิน “ขวัญถุง” ก้อนใหญ่จากพ่อ (คิดเป็นจำนวน 1 ล้านเหรียญตามมูลค่าเงินในปี 2019) ต่อมาเขาทดลองเข้าไปลงทุนในธุรกิจการแสดงด้วยเงิน 7 หมื่นเหรียญ เพื่อทำรายการชื่อ “Paris Is Out” แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จแต่อย่างใด

ชีวิตในวงการอสังหาฯ ของทรัมป์เริ่มอย่างจริงจัง เมื่อเขาก้าวขึ้นมาเป็นประธานบริษัท Trump Management ในปี 1971 อันเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างแบรนด์ของเขาคือ “The Trump Organization” และเขาได้ใช้แบรนด์นี้ในการขยายธุรกิจต่างๆ ขณะเดียวกันเขาได้ย้ายมาปักหลักในเมืองแมนฮัตตัน และเข้าร่วมในการทำโครงการขนาดใหญ่ แตกต่างจากเดิมที่เน้นธุรกิจบ้านเช่าของชนชั้นกลางที่อยู่ชานเมืองที่อยู่ในควีนส์หรือในบรู๊กลิน พร้อมทั้งยังมีการออกแบบด้วยสถาปัตยกรรมใหม่ๆ ให้เป็นที่สนใจของสื่อ

น่าสนใจว่าในปี 1973 กระทรวงยุติธรรมฟ้องบริษัทของทรัมป์ในข้อหาของการแบ่งแยกผิว เพราะบริษัทไม่ตอบรับกับผู้เช่าที่เป็นคนผิวดำ โดยกระทรวงยุติธรรมได้ทดลองส่งคนผิวดำเข้าไปขอเช่าห้องในอพาร์ตเมนต์ของโครงการ มักได้รับการปฏิเสธทุกราย แต่ถ้าเป็นคนผิวขาวแล้ว พวกเขาจะได้รับการชักชวนให้เขามาอยู่ แม้ทางโครงการจะแก้ตัวว่าไม่ใช่การคัดคนผิวสีออกจากใบสมัคร แต่เป็นการคัดคนรายได้ต่ำ ที่อาจไม่สามารถจ่ายค่าเช่าได้ออกไป

คดีนี้จบลงด้วยการประนีประนอมที่จะไม่มีการเอาผิดบริษัทของทรัมป์ แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่เป็นภาพสะท้อนความเป็น “ฝ่ายขวา” ที่ไม่รับในเรื่องความเท่าเทียมของคนผิวสี คือมีทัศนะแบบแบ่งแยกผิวสี จนอาจกล่าวได้ว่าทรัมป์มีความเป็นขวามาตั้งแต่ต้น

ทรัมป์นอกจากจะเป็นนักอสังหาฯ แล้ว เขายังสนใจในการสร้างตึกสูง อันเป็นจุดเริ่มต้นหนึ่งที่สำคัญในการเข้ามาลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ด้วยการพัฒนาโรงแรมใจกลางเกาะแมนฮัตตัน ที่อยู่ติดกับสถานีรถไฟกลางเมืองนิวยอร์ก (Grand Central Terminal) ในปี 1978 คือโรงแรมแกรนด์ไฮแอท (Grand Hyatt Hotel) โรงแรมที่เป็นสถาปัตยกรรมที่เป็นการก่อสร้างด้วยอิฐแบบเดิม ถูกเปลี่ยนให้เป็นโรงแรมเรือนกระจกแบบใหม่สวยหรู จนกลายเป็นสัญลักษณ์หนึ่งในความทันสมัยของนิวยอร์ก

โรงแรมนี้เปิดให้บริการในปี 1980 และด้วยสถาปัตยกรรมแบบใหม่ที่ทรัมป์กล้าเปลี่ยนรูปโฉมของโรงแรมให้มีความเป็นสมัยใหม่ จึงส่งผลให้ชื่อของเขาเป็น “ดาวเด่น” ของวงการอสังหาฯ และเป็นที่รู้จักมากขึ้นในวงการสื่ออีกด้วย

 

ในปี 1981 ทรัมป์เข้าซื้อตึกเก่าในนิวยอร์ก และพัฒนาให้เป็นที่พักอาศัย ที่ผู้เช่าสามารถเป็นเจ้าของร่วมได้ (apartment cooperative) และอาคารนี้คือ “Trump Plaza” ในเวลาต่อมา อีกทั้งในปี 1983 ทรัมป์ประสบความสำเร็จในการทำโครงการใหญ่อีกครั้ง คือการพัฒนาอสังหาฯ ที่เป็นอาคารสูง 58 ชั้นในย่านใจกลางเมืองของนิวยอร์กคือ “Trump Tower” ในความสำเร็จเช่นนี้ ทรัมป์ได้กลายเป็น “แถวหน้า” ของนักพัฒนาอสังหาฯ ของอเมริกา

แต่เขาก็เป็นบุคคลที่สร้างความอื้อฉาวได้เสมอ ในการซื้ออาคารเก่าเพื่อพัฒนาเป็นตึกใหม่ที่ทันสมัยของ Trump Tower นั้น ทรัมป์ได้สัญญาที่จะให้ภาพนูนต่ำ (has-relief) ที่อยู่ในส่วนหน้าของอาคารแก่พิพิธภัณฑ์ด้านศิลปะของนิวยอร์ก (The Metropolitan Museum of Arts) เพราะเป็นสิ่งที่มีคุณค่าในงานศิลปะ แต่บริษัทของเขากลับออกคำสั่งให้บริษัทก่อสร้างทุบตึกดังกล่าวทิ้งทั้งหมด ทั้งที่เขามีคำสัญญาไว้ก่อนแล้ว

นอกจากนี้ ในการก่อสร้าง Trump Tower นี้ มีการนำเอาคนงานชาวโปแลนด์ที่เข้าเมืองผิดกฎหมายมากกว่า 200 คน เข้ามาทำงาน และจ่ายค่าแรงเพียง 4-5 ดอลลาร์ต่อชั่วโมงสำหรับการทำงาน 12 ชั่วโมง ซึ่งทรัมป์แก้ตัวว่าเขาไม่ค่อยได้ไปสถานที่ก่อสร้าง เลยไม่รู้เรื่องคนงานชาวโปแลนด์เหล่านั้น

ดังนั้น คงไม่แปลกนักที่ทรัมป์จะกลายเป็น “นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่อื้อฉาว” ในสังคมอเมริกัน

 

ขยายธุรกิจ

ทรัมป์ก็เหมือนนักธุรกิจทั่วไป เมื่อธุรกิจของเขาเติบใหญ่ในนิวยอร์กแล้ว เขาจึงเริ่มขยับไปนิวเจอร์ซีย์ ด้วยการลงทุนทำโรงแรมและกาสิโน แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก ธุรกิจโรงแรมและกาสิโนประกาศภาวะล้มละลายถึง 6 ครั้งในช่วงปี 1991-2009 เพราะไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ (ไม่ได้มีความหมายว่า ตัวของทรัมป์เองล้มละลาย แต่เป็นเรื่องการล้มละลายของบริษัท) ซึ่งคงต้องยอมรับว่าเขาเป็น “นักเจรจาต่อรอง” ที่เก่งมาก จนทำให้ธุรกิจโรงแรมและกาสิโนเหล่านั้น ดำเนินการต่อไปได้ด้วยการเจรจากับเจ้าหนี้ทั้งหลาย

รายการธุรการที่ล้มละลาย 6 แห่งของทรัมป์เป็นธุรกิจโรงแรมและกาสิโนในนิวเจอร์ซีย์ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในสังคมอเมริกัน ได้แก่ Trump Taj Mahal (ล้มละลาย 1991) Trump Plaza Hotel and Casino (ล้มละลาย 1992) Plaza Hotel (ล้มละลาย 1992) Trump Castle Hotel and Casino (ล้มละลาย 1992) Trump Hotels and Casino Resorts (ล้มละลาย 2004) และ Trump Entertainment Resorts (ล้มละลาย 2009) [นักศึกษาไทยในชายฝั่งด้านตะวันออกของสหรัฐในยุคนั้น น่าจะต้องเคยได้ยินชื่อสถานบันเทิงเหล่านี้บ้างไม่มากก็น้อย]

แต่สุดท้ายธุรกิจเหล่านี้ไม่ได้ล้มหายไปเลย ด้วยฝีปากการเจรจาต่อรองกับบรรดาเจ้าหนี้ ดังนั้น จึงน่าสนใจว่าบุคลิกในฐานะของการเป็น “นักเจรจาต่อรอง” ในทางธุรกิจนั้น ปัจจัยเช่นนี้จะมีส่วนในการเจรจาในเวทีระหว่างประเทศอย่างไรในยุคของ “ทรัมป์ 2” โดยเฉพาะการต่อรองที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสงครามยูเครน หรือสงครามการค้าก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ในการฝ่าฟันธุรกิจของทรัมป์นั้น เมื่อเขาประสบปัญหาทางด้านการเงินในการสร้างตึกระฟ้าใจกลางเกาะแมนฮัตตันในปี 2012 ทรัมป์ได้รีไฟแนนซ์ด้วยเงินกู้จากธนาคารของรัฐบาลจีนคือ Bank of China

และกรณีนี้เป็นจุดเริ่มต้นในการที่ธนาคารของจีนเข้ามาเป็นผู้ให้เงินกู้ในวงการธุรกิจอเมริกัน แม้ในปีเดียวกันนี้เอง ธนาคารจีนได้ขายหนี้ของทรัมป์ออกไป

 

ธุรกิจกีฬา

ทรัมป์เป็นนักธุรกิจที่ไม่เคยหยุดนิ่ง เขากล้าที่จะ “ลุย” ไปในธุรกิจต่างๆ นอกจากการเข้าไปพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ที่แม้จะประสบกับภาวะล้มละลายในด้านธุรกิจโรงแรมและกาสิโน บริษัททรัมป์ได้เข้าไปเป็นผู้บริหารสนามกอล์ฟหลายแห่งทั้งในสหรัฐและทั่วโลก

จากรายงานที่เปิดเผย กล่าวถึงรายได้จากสนามกอล์ฟของเขาในปี 2015 มีประมาณ 382 ล้านเหรียญอเมริกัน กระนั้น การเข้าไปทำสนามกอล์ฟบางแห่งของเขาเป็นภาพสะท้อนด้านลบทางการเมือง เพราะเกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างบริษัทของเขากับประชาชนท้องถิ่นในสกอตแลนด์ตั้งแต่ปี 2006

ต่อมาในปี 2016 เขาสัญญาว่าสนามกอล์ฟแห่งนี้จะเป็นแหล่งจ้างงานถึง 6,000 อัตรา แต่ในความเป็นจริงแล้ว สนามแห่งนี้กลับสร้างงานได้เพียง 200 อัตราเท่านั้น อีกทั้งสนามกอล์ฟยังมีผลในทางลบต่อระบบนิเวศ เพราะได้ทำลายระบบเนินทรายของชายหาด ซึ่งก็สะท้อนชัดประการหนึ่งว่า ทรัมป์เป็นมหาเศรษฐีที่ไม่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และผลพวงจากเรื่องเช่นนี้จะพบในเวลาต่อมาว่า ทรัมป์ไม่สนใจเรื่องโลกร้อน

ทรัมป์นอกจากจะสนใจกับเรื่องธุรกิจอสังหาฯ ในรูปแบบต่างๆ เช่นที่กล่าวในข้างต้นแล้ว เขายังสนใจที่จะลงทุนในธุรกิจการกีฬาอื่นนอกจากกอล์ฟคือ การซื้อทีมฟุตบอลอเมริกัน “New Jersey Generals” แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จในทางธุรกิจเท่าใดนัก

ต่อมาเขาเข้าไปมีส่วนในการแข่งขันจักรยานในอเมริกาในปี 1989 และ 1990 ด้วยการจัด “Tour de Trump” หรือเดิมมีความพยายามที่จะตั้งชื่อการแข่งนี้ว่า “Tour de Jersey” เพื่อหวังจะเป็นทั้งจุดขายและจุดแข่งกับการแข่งจักรยานในยุโรปคือ Tour de France ของฝรั่งเศส หรือ Giro d’Italia ของอิตาลี

แต่ในความเป็นจริงแล้ว การแข่งขันดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จแต่อย่างใด และในปี 1990 เขาได้ถอนการสนับสนุนของเขาออก ซึ่งทำให้ในเวลาต่อมาชื่อของการแข่งขันต้องเปลี่ยนเป็น “Tour DuPont” แทน หรือในปี 2012 เขามีแผนซื้อทีมฟุตบอลของสกอตแลนด์คือ “The Rangers” แต่ก็ยกเลิกไป

ดังนั้น คงไม่แปลกนักที่จะกล่าวว่าทรัมป์เป็น “นักธุรกิจการกีฬา” คนหนึ่ง เป็นแต่เพียงเขาไม่ประสบในธุรกิจด้านนี้แต่อย่างใด อาจคล้ายกับธุรกิจโรงแรมและกาสิโน ที่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าใดนัก

 

กล้าได้-กล้าเสีย

จากที่กล่าวมาแล้วในข้างต้น จะเห็นถึงบุคลิกของความเป็นนักธุรกิจในแบบ “กล้าได้-กล้าเสีย” ต้องยอมรับในมุมหนึ่งว่า ทรัมป์เป็นคนไม่กลัวการขาดทุนทางธุรกิจ อาจจะเป็นเพราะเขามั่นใจในแบบของ “นักธุรกิจใหญ่” ว่า เขาสามารถประนอมหนี้กับผู้ให้กู้ทั้งหลายได้เสมอ เพราะในทางกลับกัน ก็ไม่มีผู้ให้กู้คนใดหรือธนาคารใดอยากที่จะเผชิญกับ “ปัญหาหนี้สูญ”

ในสภาวะเช่นนี้ ทำให้เมื่อเขาก้าวเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองด้วยการเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐ เขาจึงดูมีทัศนะต่อปัญหาต่างๆ ทั้งความมั่นคงและการเมืองระหว่างประเทศ เป็นไปในแบบของ “นักธุรกิจ” ที่เชื่อว่าทุกอย่างขึ้นอยู่กับการเจรจาต่อรอง และการต่อรองนี้ สหรัฐจะต้องได้รับผลตอบแทนมากที่สุดเป็นหลัก ภายใต้แนวคิด “America First”

ฉะนั้น การดำเนินนโยบายของสหรัฐในยุคของทรัมป์จึงวางอยู่บนทิศทางที่ทรัมป์จะแสดงบทบาทในฐานะ “นักเจรจาต่อรอง” ซึ่งก็น่าสนใจอย่างมากว่า การเจรจาต่อรองของผู้นำทำเนียบขาวในเวทีภูมิรัฐศาสตร์โลกจะดำเนินไปอย่างไรในอนาคต!